วิญญัติ จวก สนช. ออกกฎหมาย คิดถึงแต่ส่วนน้อย ไม่เคารพความยุติธรรม

วันที่ 5 ธ.ค. วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและ เสรีภาพ (สกสส.) ได้กล่าวถึง การที่ สนช. ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่มีนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ เป็นประธานได้พิจารณาเสร็จแล้ว ที่มีสาระสำคัญในมาตรา 5

การห้ามประชาชนเป็นโจทก์ฟ้องคดีผู้อื่นโดยไม่สุจริต หรือเพื่อกลั่นแกล้งกันโดยครอบคลุมถึงกรณีผู้ปฏิเสธคำสั่ง คำพิพากษาศาลในคดีที่ถึงที่สุดแล้ว โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เช่น คดีที่ศาลตัดสินลงโทษจำคุกหรือปรับ แต่จำเลยหลบหนีไป บุคคลผู้นั้นจะถูกตัดสิทธิไม่ให้มาฟ้องคดีอาญาต่อศาลเพราะกฎหมายไม่ควรให้สิทธิผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ว่า

เมื่อวานนี้ตนได้ทราบว่า สนช.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำนวน 5 มาตรา แบบชนิดที่ไม่ผิดความคาดหมายเพราะที่ผ่านมากฎหมายผ่านมือ สนช.หลายฉบับนับไม่ไหว

ก็จะกลายเป็นงานหนักของสภาที่มาจากประชาชนต่อไปจะต้องสังคยนาใหม่ทั้งหมด เพราะกฎหมายหลายฉบับที่ออกมาขัดต่อหลักนิติธรรม ขัดหลักสิทธิมนุษยชน ตอบโจทย์คนส่วนน้อยที่นั่งชูคออยู่ในอำนาจ ไม่เคยถูกกระทำย่ำยี

ฉะนั้นอย่าเข้าข้างตนเองว่าเพื่อความยุติธรรมแล้วต้องตัดสิทธิคนหนีคดี ตัดสิทธิ์พวกไม่สุจริต ไม่ให้ฟ้องคดีอาญาได้ ตรวนี้สะท้อนความต้องการแบบเห็นแก่ตัวมากไปหรือไม่

ตนเห็นว่าการตรากฎหมายที่มีผลจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลนั้นต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุและจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มิได้ ทั้งบุคคลย่อมเสมอภาคกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน จะเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุใดจะกระทำมิได้

ตามหลักการที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 26, 27 โดยอันที่จริงป.วิ อาญา ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจในทางที่จะวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายไว้แล้ว มาตรา 161 บัญญัติว่า “ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือยกฟ้องหรือไม่ประทับฟ้อง (วรรคสอง) โจทก์มีอำนาจอุทธรณ์คำสั่งเช่นนั้นของศาล

“ซึ่งจากบทบัญญัติข้างต้น อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของใครบางคน จึงมีการคิดค้นเครื่องมือเพื่อขจัดอุปสรรคทั้งปวง โดยให้เหตุผลดูดี เพื่อแก้ปัญหากรณีราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีเองโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยโดยไม่สุจริต แต่ตนไม่อาจเห็นด้วยกับกฎหมายนี้”

ตนจึงขอตั้งเป็นข้อสังเกต ดังนี้ ประการแรก ในยุคที่ สนช. ผู้มาจากการแต่งตั้งทั้งสิ้น กลับมาเป็นผู้ตรากฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพเกินสมควรแก่เหตุ กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเสมือนกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเองได้อย่างไร โดยเฉพาะมาตรา 5 ที่ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้ต่อจากมาตรา 161 แห่ง ป.วิ.อาญา ที่มีใช้บังคับอยู่แล้ว โดยร่างที่เสนอตอนต้นจากมีเนื้อหา คือ

มาตรา 161/1 ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์หากความปรากฏแก่ศาลว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ ศาลจะพิพากษายกฟ้องโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้องก็ได้ คำสั่งเช่นว่านี้ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่”

ตรงนี้จะเห็นว่า ร่างที่เสนอเข้าสู่ สนช. ยังมีความละอายของความเป็นนักกฎหมายไว้พอสมควร ที่ไม่ขยายความเป็นการตัดสิทธิหรือจำกัดสิทธิของบุคคล ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน เพราะจะขัดต่อหลักนิติธรรม ย่อมเป็นกฎหมายที่เลือกปฏิบัติในที่สุด

แต่ในชั้นกรรมาธิการ คนเสนอเพิ่มเติมใหม่จากร่างเดิม มีความรู้และเข้าใจกฎหมายแค่ไหนกัน หรือเพียงอ้างเหตุผลที่สรุปกันในเอกสารพิจารณาร่าง ของ สนช. แต่กลับให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างแรกและให้ความเห็นชอบร่วมกัน ตรงนี้แสดงออกถึงวุฒิภาวะเป็นบ่อนทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และหลักความเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย

ซึ่ง “มาตรา 161/1 ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ หากความปรากฎต่อศาลเองหรือมีพยานหลักฐานที่ศาลเรียกมาว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ ให้ศาลยกฟ้อง และห้ามมิให้โจทก์ยื่นฟ้องในเรื่องเดียวกันนั้นอีก”

วรรคสอง “การฟ้องคดีโดยไม่สุจริตตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงกรที่โจทก์จงใจฝ่าฝืนคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลในคดีอาญาอื่นซึ่งถึงที่สุดแล้วโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรด้วย”

ประการที่สอง กรรมาธิการและสมาชิกหลายคนต่างอภิปรายกันออกรสออกชาติว่า มุ่งที่จะครอบคลุมถึงกรณีผู้ปฏิเสธคำสั่ง คำพิพากษาศาลในคดีที่ถึงที่สุดแล้ว โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เช่น ศาลตัดสินลงโทษจำคุกหรือปรับ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม เช่น หลบหนีไป บุคคลผู้นั้นจะถูกตัดสิทธิไม่ให้มาฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้อีก เพราะกฎหมายไม่ควรให้สิทธิผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ตรงนี้ฟังดูดีไร้เจตนาแอบแฝง อ้างว่ามาศาลต้องมือสะอาด แต่รัฐหรือผู้ใช้อำนาจรัฐจะมือสกปรกโสโครกไม่ต้องดูกันอีกต่อไป เพราะราษฎรจะปกป้องสิทธิของตนเองตามรัฐธรรมนูญตามกฎหมายไม่ได้เชียวหรือ ในขณะที่บุคคลที่ถูกรัฐใช้อำนาจนั้นไม่เพียงแต่ถูกกล่าวหาและกระทบต่ออิสรภาพต่อบุคคลนั้นเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อความเป็นส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัวอีกด้วย

เมื่อบุคคลนั้นได้รับความเสียหายหรือถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรม สิทธิของเขาในฐานะผู้เสียหายจึงต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การจำกัดสิทธิในฟ้องคดีไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ก็ถือว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ กระทำมิได้

นายวิญญัติกล่าวต่อว่า หลักความเป็นผู้เสียหายถูกใช้ในประเทศไทยมานาน ซึ่งหลักการดําเนินคดีอาญาโดยรัฐ องค์กรในกระบวนการยุติธรรมของรัฐทุกองค์กรต้องร่วมกันค้นหาความจริงแท้ เพื่อพิสูจน์ว่า ข้อกล่าวหาว่า ความผิดอาญาได้เกิดข้ึนนั้น เป็นความจริงหรือไม่ และบุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดน้ันเป็นผู้กระทําความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่

ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้เสียหายจากการกระทำที่มิชอบด้วยเช่นกัน กระบวนการดําเนินคดีอาญาทั้งหมดจึงมี วัตถุประสงค์เพื่อสืบสวน สอบสวน ตรวจสอบ ค้นหาความจริงให้ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทํา ความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ตามหลักกฎหมายสากลได้รับรองถึงการค้นหาความจริงเพื่อพิสูจน์ความผิดของจําเลย คือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights 1948)

และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง (พลเมือง) และทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights 1966) ได้รับรองหลักการดําเนินคดีด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม จําเลยในคดีอาญาจะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีการพิสูจน์ว่ากระทํา ความผิด

รวมถึงได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าความผิดที่จําเลยถูกกล่าวหานั้นจะได้รับการพิสูจน์ บุคคลผู้ถูกกล่าวหาดําเนินคดีอาญาจะต้องได้รับการพิจารณาค้นหาข้อเท็จจริงให้ได้ว่าบุคคลนั้นเป็น ผู้กระทําผิดตามที่ถูกกล่าวหาและการพิสูจน์หาความจริงเกี่ยวกับข้อกล่าวหาของผู้ถูกกล่าวหา โดยตาม ป.วิ อาญามาตรา 28 บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล (1) พนักงานอัยการ (2) ผู้เสียหาย

ตรงนี้จะเห็นว่าในมุมที่ผู้ถูกกล่าวหาแม้จะเป็นใครก็เป็นมนุษย์ สิทธิปกป้องตนเอง สิทธิตามกฎหมายอันพึงมีก็ไม่ควรถูกตัดสิทธิเพียงเพราะถูกมองว่าไม่เคารพกระบวนการยุติธรรมย่อมไม่ได้สิทธิได้รับความคุ้มครองเช่นกัน มันมีที่ไหนกฎหมายแบบนี้

ประการที่สาม สนช. แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนี้ ไม่ใช่การขจัดปัญหาทางข้อกฎหมายหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายอย่างแท้จริง เพราะเป็นการให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งขัดต่อหลักการตรากฎหมาย เนื่องจากก่อนที่ศาลจะวินิจฉัยข้อเท็จจริงใด ศาลต้องแสวงหาข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์หาความจริง จึงจะรู้ได้ว่าคนของรัฐกระทำโดยสุจริตหรือกลั่นแกล้งหรือใช้ดุลพินิจฟ้องดำเนินคดีบุคคลโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

กระบวนการฟ้องคดีต้อศาลจากผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งต้องค้นหาความจริงโดยศาลจึงมีความจำเป็นและสำคัญยิ่ง ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายนี้ นอกจากจะจำกัดสิทธิของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ยังเป็นการเลือกปฏิบัติให้ใช้อำนาจโดยรัฐเท่านั้น จะว่าไปตัวอย่างหลายกรณีที่รัฐใช้อำนาจขัดต่อหลักนิติธรรมและไม่มีความเป็นธรรมก็มีให้เห็นกันดาดเดื่อน

“ว่ากันตรงๆร่างกฎหมายนี้ แสดงความเห็นแก่ได้ของฝ่ายที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจ ปราศจากการถูกตรวจสอบหรือความสุจริตนั่นเอง อย่างนี้ถ้าจะไม่เรียกว่า คนร่างกฎหมายไม่เคารพกระบวนการยุติธรรมไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยยชนก็คงไม่ผิดนักการออกกฎหมายตัดสิทธิของบุคคลเช่นนี้ ประเทศไหนเขาทำกัน หรือความเห็นแก่ตัวพบได้ที่นี่..ประเทศไทย” นายวิญญัติระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน