สังคมข้องใจ สนช. ทำไมยื้อแต่งตั้ง กสม. ถามดังๆกลัวถูกตรวจสอบหรือไม่ ?

สังคมข้องใจ – ในวาระใกล้ถึงวันสิทธิมนุษยชนสากล ที่จะมาถึงในวันที่ 10 ธ.ค. ซึ่งองค์กรสหประชาชาติกำหนดให้วันนี้ของทุกปี เป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล

แต่สำหรับประเทศไทย หลังการทำรัฐประหาร ดูเหมือนว่าสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนถูกตั้งคำถาม และมีปัญหาเป็นอย่างมาก เนื่องจากการกำกับสิทธิการแสดงออก ของคนที่เห็นต่างจากรัฐบาล ที่ถูกนำตัวไปควบคุม และแจ้งข้อหา เป็นคดีความจำนวนมาก

ขณะเดียวกันเริ่มมีเสียงทวงถามถึงการแต่งตั้ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)ชุดใหม่ ที่ผ่านการลงมติเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่มีนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน จำนวน 7 คน ตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา

แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าว่า รายชื่อที่ผ่านการสรรหามาแล้วนั้น จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็น กสม. เพื่อเข้ามาเดินหน้าแก้ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนของไทยเมื่อใด

โดยเริ่มมีเสียงจากสังคม และกลุ่มคนทำงานด้านสิทธิ ที่ออกมาตั้งคำถามว่าเหตุที่ยื้อการแต่งตั้งดังกล่าว เพราะกลัวถูกตรวจสอบหรือไม่

สำหรับขั้นตอนในขณะนี้คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กสม. ของสนช.ที่กำหนดให้ต้องตรวจสอบแล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งก็คือวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา

แต่ทว่ากลับมีการขยายเวลาการตรวจสอบประวัติฯออกไปอีก 2 ครั้ง รวมเวลาที่ต้องยืดออกไปนานถึง 60 วัน ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า เพราะเหตุใดถึงต้องยืดการตรวจสอบประวัติของผู้ที่ผ่านการสรรหาออกไปเรื่อย หรือเพราะกลัวถูกตรวจสอบ

เนื่องจากรายชื่อที่ผ่านการสรรหาส่วนมากนั้น เป็นกลุ่มคนที่ทำงานด้านสิทธิ และด้านสังคม การยื้อ ดังกล่าวจึงเสมือนการส่งสัญญาณที่ไม่ชอบมาพากล

โดยตามรายงานพบว่า มี กมธ.บางราย ตั้งข้อกังขาต่อผู้ที่ผ่านการสรรหา ทั้งยังเหมารวมว่าส่วนใหญ่มาจากกลุ่มที่ทำงานด้านพัฒนาเอกชน และมีพฤติกรรมทางจริยธรรมที่อาจเป็นปัญหา

ทั้งที่ตามหลักการ ปารีส ที่กล่าวถึงสถานะและหน้าที่ของ กสม. ว่าต้องมาจากสมาชิกจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งเอ็นจีโอ สื่อ นักวิชาการ และหน่วยงานภาครัฐ ความไม่สอดคล้องและสวนทางกับหลักการปารีสของ กมธ. ทำให้เกิดความกังวลว่า กระบวนการสรรหาที่หลายฝ่ายพยายามอย่างหนักเพื่อยกระดับ กสม. ไทยจาก บี เป็น เอ คงไม่น่าจะเกิดขึ้น และส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาพลักษณ์ประเทศไทย

ทั้งที่รัฐบาลได้ประกาศสิทธิมนุษยชนให้เป็นวาระแห่งชาติ และเพิ่งประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีพื้นฐานในการเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุดังนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ที่สนช.ต้องเร่งพิจารณาเรื่องนี้โดยเร็ว และไม่มีการขยายเวลาการตรวจสอบประวัติฯอีกต่อไป เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนของไทย เดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบและเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2662 ตลอดจนทำให้ประเทศไทย เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติโดยเร็ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน