“ยิ่งลักษณ์”โวยนั่งอยู่ดีๆ ถูกเชือดแล้ว 15 คดี ข้องใจแก้น้ำท่วมปี”54 โดนคนเดียว ทั้งที่ท่วมตั้งแต่รัฐบาลอื่น จวกไร้ความเป็นธรรมใช้ ม.44 เร่งยึดทรัพย์คดีจำนำข้าว ส่งทนายยื่นป.ป.ช.ค้านตั้ง”สุภา”เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน 6 คดี “วิชา”อีก 1 คดี เหตุเป็นคู่ขัดแย้งอดีตนายกฯ “บิ๊กตู่”ย้ำเลือกตั้งปลายปี”60 กลางเวทีประชุมยูเอ็น “วิษณุ”แย้มกฎหมายประโยชน์ส่วนตนขัดกับผลประโยชน์ส่วนรวมส่งสนช.ปีนี้ ยันแค่ 4 ชั่วโคตรไม่ถึง 7 ชั่วโคตร ข้าราชการรับของเกินราคาที่กำหนด ถ้าส่งคืนหลวงใน 30 วันพ้นผิด สนช.เชิญกรธ.ร่วมจัดสัมมนาร่างกฎหมายลูก หวังเก็บข้อมูลให้ตรงกัน “สุรชัย”ชี้ถ้าคิดเซ็ตซีโร่กกต.ต้องไม่กระทบสิทธิกกต.เดิม

“บิ๊กตู่”นำไทยร่วมภาคีปารีส
เมื่อ วันที่ 22 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ระหว่างเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ระหว่างวันที่ 18-25 ก.ย. ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาว่า เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 21 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งช้ากว่าเวลาประเทศไทย 11 ชั่วโมง นายกฯได้เข้าร่วมกิจกรรมระดับสูงว่าด้วยการมีผลใช้บังคับของความตกลงปารีส ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ มอบสัตยาบันสารในการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีสให้แก่นายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ(ยูเอ็น)

พล.อ.ประยุทธ์ได้ประกาศการ เข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสของประเทศไทยว่า ถือเป็นก้าวที่สำคัญก้าวหนึ่งของไทย ต้องร่วมมือกันจำกัดการเพิ่มของอุณหภูมิโลก และเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว พวกเราจะผ่านภาวะวิกฤตนี้ไปได้ถ้าเราร่วมมือกัน ประเทศ ไทยได้จัดทำโรดแม็ป เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20-25 ภายใน ปี 2030 มุ่งใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน ฟื้นฟูป่าไม้และหยุดยั้งการบุกรุกป่า ลดการขนส่งทางถนนและเปลี่ยนเป็นทางราง เพิ่มการใช้รถยนต์เครื่องยนต์ไฮบริด และพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจควบคู่กับการปกป้องธรรมชาติอย่างสมดุล

เป็นประธานเปิดประชุมจี 77
จาก นั้นพล.อ.ประยุทธ์ในฐานะประธาน จี 77 ได้เยี่ยมชมสำนักงานจี77 ซึ่งอยู่ภายในสำนักงานสหประชาชาติ โดยมีนายมูราด อาห์เมีย เลขาธิการบริหารกลุ่ม 77 ต้อนรับ ต่อมาเวลา 10.00 น. ร่วมพิธีเปิดการประชุมและกล่าวถ้อยแถลงในฐานะกลุ่ม 77 และจีน ในการประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ (AMR) มีประธานสมัชชาสหประชาชาติ เลขาธิการยูเอ็น และผู้บริหารระดับสูงของยูเอ็น เข้าร่วมด้วย
โดยพล.อ.ประยุทธ์เป็นตัวแทนกลุ่ม 77 และจีน กล่าวถ้อยแถลงว่า กลุ่ม 77 และจีนเน้นการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ แต่ต้องไม่กระทบการซื้อและเข้าถึงยาต้านจุลชีพทั้งชนิดเดิมและที่ค้นพบใหม่ รวมทั้งวัคซีน และเครื่องมือตรวจวินิจฉัย โดยให้คำมั่นที่จะลงมือปฏิบัติในเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ การระดมกำลังคนและแหล่งเงินทุน การสนับสนุนด้านเทคนิคและด้านอื่นๆ เพื่อพัฒนาและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข

ชูปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เวลา 21.00 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถ้อยแถลงในการเปิดอภิปรายทั่วไปในการประชุมสมัชชาสหประชา ชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 หัวข้อ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน:แรงผลักดันสากลเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกของเรา” ว่าสันติภาพและความมั่นคงจะไม่ยั่งยืน หากขาดการพัฒนาที่เหมาะสม หรือสิทธิของประชาชนถูกลิดรอน ซึ่งทั้ง 3 เสาหลักของยูเอ็นมีความเชื่อมโยงและเกื้อกูลกันอย่างแยกออกจากกันมิได้ การแบ่งปันความรับผิดชอบ พร้อมกำหนดกรอบและทิศทางการพัฒนาร่วมกันของประเทศสมาชิก บทบาทของกลุ่มภูมิภาค กลุ่มการเมือง กลุ่มเศรษฐกิจ และกลไกความร่วมมือต่างๆ เป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายกฯ ได้นำเสนอประสบการณ์และบทเรียนของไทย ในการก้าวผ่านอุปสรรคด้านการพัฒนาโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง(SEP) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ที่เน้นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมบนแนวคิดความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน พร้อมปลูกฝังคุณธรรม และพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อให้สังคมพัฒนาได้อย่าง เข้มแข็งและยั่งยืน โดยได้แลกเปลี่ยนประสบ การณ์การนำหลัก SEP ไปประยุกต์ใช้ในประเทศกำลังพัฒนาแล้วกว่า 20 ประเทศ

ย้ำโรดแม็ปเลือกตั้งปี”60
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงสถานการณ์ภายในประเทศว่า รัฐบาลได้วางรากฐานเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย วันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ประชาชนได้ใช้สิทธิลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญตามวิถีทางประชาธิปไตย แล้ว และกำลังพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ ให้เสร็จ นำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปตามโรดแม็ปได้ในปลายปี 2560 การออกเสียงลงประชามตินี้สะท้อนถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะส่งเสริม กระบวนการประชาธิปไตย โดยตระหนักถึงเสียงสะท้อนจากประชาคมระหว่างประเทศ รัฐบาลเข้ามาเพื่อดูแลสถานการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย และความมั่นคงเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองดำเนินไปสู่สภาวะปกติสุขแล้ว รัฐบาลก็ผ่อนคลายมาตรการชั่วคราวที่ไม่จำเป็น เช่น การประกาศยกเลิกการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นต้น
นอก จากนี้รัฐบาลเน้นการแก้ปัญหาความมั่นคง การทุจริต การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมต่างๆ แก้ไขปัญหาที่ต้นตอซึ่งเป็นการวางรากฐานเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยที่ยั่งยืน และส่งเสริมธรรมาภิบาล หวังให้ประเทศไทยและคนไทยมีคุณภาพของสังคมโลกอย่างยั่งยืนต่อไป

“วิษณุ”แจงผุดกม.แค่ 4 ชั่วโคตร
ที่ ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดทำร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดอันเกิดจากประโยชน์ ส่วนตนขัดกับผลประโยชน์ส่วนรวมว่า วันนี้เราหยิบขึ้นมาใหม่ ในความหมายไม่ถึง 7 ชั่วโคตร จะแค่ 4 ชั่วโคตรคือผู้กระทำผิดเป็นโคตรที่ 1 ถ้าเอื้อประโยชน์ต่อลูกเป็นโคตรที่ 2 พ่อแม่เป็นโคตรที่ 3 เอื้อประโยชน์ต่อพี่น้องเป็นโคตรที่ 4 จบแค่นี้ ซึ่งขั้นตอนขณะนี้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจและตั้งคณะพิเศษขึ้นมาพิจารณา
ตนยังขอให้นำขึ้นเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้ดู พร้อมส่งให้กระทรวงต่างๆ ศึกษา หากคิดว่าหนักไป เบาไป หรือไม่ชัดเจน ให้บอกมาเพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขโดยให้เวลาเดือนเศษ เมื่อรวบรวมความเห็นได้และแก้ไขเรียบร้อยแล้วจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งก่อนนำเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อแก้ไข คาดว่าจะนำเข้า สนช.ได้ภายในปีนี้ และ สนช.มีเวลาพิจารณา 2 เดือน

ชาร์จโทรศัพท์นิดหน่อยได้
นาย วิษณุกล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ได้เข้มงวดถึงขนาดซองจดหมายตราครุฑใบเดียวก็ใช้ไม่ได้ ชาร์จโทรศัพท์นิดหน่อยก็ใช้ไม่ได้ เพราะมันมีข้อยกเว้นหลายอย่าง ถ้าเล็กน้อยก็ให้โอกาส ครม.หรือกระทรวงออกระเบียบว่าขนาดนี้ยอมให้ทำ ขนาดนี้ไม่ยอมให้ทำ และในกฎหมายนี้ยังรวมถึงใครไปเสนอโปรเจ็กต์ที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองมากกว่า ประโยชน์ต่อส่วนรวม คือถ้าเป็นประโยชน์ต่อส่วนตัว 100 เปอร์เซ็นต์ซวยแน่ แต่ถ้าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย แต่ของตัวเองได้ประโยชน์มากกว่า คนที่เสนอโปรเจ็กต์เหล่านี้ก็มีความผิดด้วย
“อย่างการรับของ ต่อไปจะเข้มงวดมาถึงข้าราชการด้วย ถ้ารับมาแล้วบอกว่ารับส่วนตัวแต่เกินอัตราราคาที่กำหนด ใครได้รับไว้ต้องส่งคืนราชการใน 30 วัน ถ้าส่งคืนถือว่าไม่ผิด ถ้าไม่ส่งผิด ถ้าไม่แน่ใจราคาให้ส่งไปก่อนแล้วค่อยตรวจสอบภายหลัง ทั้งหมดอยู่ในกฎหมายฉบับนี้” นายวิษณุกล่าว

เคสลูกบิ๊กติ๊กไม่เข้าข่าย
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีชื่อลูกชายพล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหมและน้องชายนายกฯ เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทที่เข้ามารับทำโครงการของกองทัพภาค 3 นายวิษณุกล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน กฎหมายฉบับนี้ยังไม่ออกมาบังคับใช้ และถึงจะบังคับใช้แล้วจะผิดหรือไม่ผิด ตนไม่รู้ ต่อข้อถามว่าแต่คนรับงานมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจ นายวิษณุกล่าวว่า ตรงนี้ไม่ได้มีปัญหา ไม่อย่างนั้นคนนามสกุลเดียวกับคนที่มีอำนาจก็ไม่ต้องทำมาหากิน เพราะคนที่มีอำนาจอนุมัติโครงการนั้นจะต้องไม่มีส่วนได้เสียกับโครงการนั้น ต่อให้เป็นลูกหรือญาติเสนอเรื่องและเจ้าตัวเป็นผู้มีอำนาจเซ็นอนุมัติ เจ้าตัวจะเซ็นไม่ได้ ต้องให้คนอื่นเป็นผู้เซ็นอนุมัติเพื่อเขาจะได้ใช้ดุลยพินิจ เจ้าตัวต้องมีน้ำใจ ไม่ลงไปเซ็นหรือแม้แต่เซ็นไม่อนุญาต
เมื่อ ถามถึงกรณีนางผ่องพรรณ จันทร์โอชา ภริยาพล.อ.ปรีชา ขอใช้เครื่องบินหลวง นายวิษณุกล่าวว่า ใครก็ยืมได้ เขามีดุลยพินิจที่ให้อนุญาตหรือไม่อนุญาต ผิดหรือไม่ ไม่ใช่อยู่ที่คนขอ แต่อยู่ที่คนอนุญาต

“ศรีสุวรรณ”ยื่นปปช.สอบ 5 บิ๊ก
ที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึงคณะ กรรมการป.ป.ช. ให้ตรวจสอบพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ท. สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล แม่ทัพภาค 3 พล.ท.สาธิต พิธรัตน์ อดีตแม่ทัพภาค 3 นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายก อบต.พิษณุโลก นายชลธร ปั่นเจริญ ผอ.สำนักงานทรัพยากรน้ำ ภาค 9 กรมทรัพยากรน้ำ
กรณี ใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ช่วยเหลือห้างหุ้นส่วนจำกัดของลูกชาย พล.อ.ปรีชา ได้รับงานก่อสร้างหน่วยงาน ในกองทัพภาค 3 ส่วนหน้า 7 โครงการ มูลค่า 97 ล้านบาท โครงการของสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 9 กรมทรัพยากรน้ำ 1 โครงการ มูลค่า 44.8 ล้านบาท และโครงการของอบจ.พิษณุโลก 3 โครงการ 13 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่า 155 ล้านบาท ในช่วงปี 2557-2559

เชื่อเอื้อลูกบิ๊กติ๊กได้งานทภ.3
นายศรี สุวรรณกล่าวว่า สิ่งที่เป็นพิรุธคือห้างหุ้นส่วนดังกล่าวนั้นจดทะเบียนวันที่ 4 พ.ค.2555 ด้วยทุนเริ่มแรก 1 ล้านบาท ต่อมาปี 2556 จดทะเบียนเพิ่มทุนเป็น 1.5 ล้านบาท ซึ่งในช่วงดังกล่าวพล.อ.ปรีชาเป็นแม่ทัพภาค 3 ถือว่ามีบารมีกว้างขวางในพื้นที่ จึงน่าเป็นเหตุสำคัญทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวเข้าประมูลงานและทำสัญญา ก่อสร้างในโครงการต่างๆ ของกองทัพภาค 3 ได้มาก
อีกทั้งมีทุน จดทะเบียนแค่ 1.5 ล้านบาท ยังไม่มีประสบการณ์เป็นรูปธรรมมากพอ แต่เหตุใดจึงผ่านเงื่อนไขประมูลงาน ได้เป็นคู่สัญญากับกองทัพภาค 3 จึงอยากให้ป.ป.ช. ไต่สวนว่ามีการเอื้อประโยชน์กันหรือไม่ สมาคมเห็นว่าน่าจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2542 พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 พ.ร.บ. ความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 และระเบียบสำนัก นายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ที่ผ่านมา คสช.เคยโจมตี ตำหนินักการเมือง ผู้มีอำนาจรัฐ เรื่องการใช้ตำแหน่งหน้าที่ทำสัญญารัฐ แต่เมื่อมาถึงยุคปฏิรูปที่ให้ความสำคัญเรื่องจริยธรรม ยังมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้น และเกิดขึ้นกับคนที่ใช้นามสกุลเดียวกับนายกฯ จึงอยากทราบว่านายกฯ จะจัดการเรื่องนี้อย่างไร

สนช.หารือ”มีชัย”จัดเวทีสัมมนา
ที่ รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความคิดเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกเกี่ยวกับวาระขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กร ธ.)ระบุอาจจะต้องเซ็ตซีโร่ว่า กมธ.กำลังรวบรวมความเห็นของทุกส่วนเกี่ยวกับกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ เพื่อนำไปสังเคราะห์ อาจจะจัดเวทีสัมมนา ซึ่งกรธ.ก็มีแนวความคิดนี้เช่นกัน ดังนั้น ต้นสัปดาห์หน้า ตนจะเข้าพบนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.เพื่อหารือในรายละเอียดว่าเวทีสัมมนาจะเป็นเวทีร่วมกันระหว่าง สนช.กับ กรธ.ได้หรือไม่ เพื่อเก็บข้อมูลมาพร้อมกันและตรงกัน
“ความ เห็นของแต่ละภาคส่วนที่เสนอมายังแตกต่างกันอยู่โดยเฉพาะประเด็นเซ็ตซีโร่ ซึ่งโดยหลักของการออกกฎหมายใหม่ ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าไปกระทบสิทธิของคนที่มีอยู่เดิม และการบังคับใช้กฎหมายใหม่ จะทำให้รอบของการดำรงตำแหน่งของคนที่อยู่ในองค์กรอิสระต่างๆ จะมีรอบที่ไม่ตรงกันหรือไม่ จะทำให้เกิดปัญหาการบังคับใช้ในอนาคตหรือไม่ ดังนั้น ขอเวลาไปคิดเรื่องเหล่านี้ เพราะที่สุดเรื่องนี้จะเข้าสู่กมธ. เพื่อนำความเห็นเหล่านี้กระจายให้สมาชิกสนช.ใช้พิจารณากฎหมาย โดยเฉพาะในขั้นตอนแปรญัตติ

กกต.ส่งตัวแทนแจงกม.ลูก
ผู้ สื่อข่าวถามว่ามองว่าการเซ็ตซีโร่องค์กรอิสระจะช่วยแก้ปัญหาทางการเมืองที่ ผ่านมาได้หรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า ต้องดูว่าปฏิรูปเรื่องไหน และเรื่องที่ปฏิรูปสอดคล้องกับปัญหาองค์กรอิสระแต่ละองค์กรที่มีอยู่หรือไม่ เมื่อถามว่ากรธ.จัดสัมมนารับฟังความเห็นการร่างกฎหมายลูกทั้งร่างพ.ร.บ.ว่า ด้วยพรรค การเมือง และร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 28 ก.ย.นี้ สนช.จะส่งคนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นหรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า สนช.ยังไม่ได้รับเชิญ
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยว่า กกต.จะไปพบกับ กรธ. 2 วันในสัปดาห์หน้า คือวันที่ 28 ก.ย. กรธ.เชิญตัวแทนกกต.ไปชี้แจงและร่วมสัมมนาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง และพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดย กกต.จะส่งตัวแทนไปชี้แจงและแจกเอกสารที่เกี่ยวข้อง 2 คนคือ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงาน กกต. และพ.ท.สดุดี ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม ผอ.สำนักกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ

แย้งกรธ.ยุบกกต.จังหวัด
นาย สมชัยกล่าวว่า วันที่ 29 ก.ย. กกต.จะไปพบ กรธ.เพื่อชี้แจงสาระสำคัญเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยกกต. มีตัวแทน 2 คน คือ นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. และนายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านการมีส่วนร่วม ซึ่งจะคุยกันในเรื่องที่เห็นต่างกับกรธ. คือการยุบกกต.จังหวัด ที่กกต.ยังเห็นว่าจำเป็นต้องมี แต่ต้องสรรหาคนที่เป็นกลางทางการเมืองและใช้วิธีที่ประหยัดงบประมาณมากขึ้น และเรื่องการสรรหา กกต.เพิ่มอีก 2 คน ที่ต้องมาจากโควตาสายสรรหา ซึ่งก่อนหน้านี้มีกระแสผลักดันให้มาจากสายศาล แต่เดิม กกต.มีสายศาล 2 คนอยู่แล้ว หากให้มาจากสายศาลอีก จะผิดจากข้อเท็จจริง และตามบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญจะทำไม่ได้

ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ ประธานคณะอนุกรรมการประชา สัมพันธ์และสำรวจความเห็นของประชาชน กรธ. ระบุได้เชิญทุกพรรคร่วมงานสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายลูก ในวันที่ 28 ก.ย.ว่า ยังไม่ได้รับจดหมายเชิญ ถ้าพรรคได้รับเชิญก็ไม่ขัดข้อง แต่เท่าที่ดูร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ออกมาหลังผ่านเวทีรับฟังความเห็น พบว่ามีการปรับตามข้อเสนอน้อยมาก แต่เป็นสิทธิ์ของผู้ที่มีหน้าที่ร่างกฎหมาย เรามีหน้าที่แค่ให้ข้อมูล

ชทพ.ส่ง”นิกร”ถกกม.ลูก
นาย สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) เปิด เผยว่า พรรคชาติไทยพัฒนา ตอบรับกรธ. เพื่อส่งตัวแทนเข้าร่วมเวทีสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ เลือกตั้ง ส.ส.ที่กรธ.จะจัดขึ้นในวันที่ 28 ก.ย.นี้ โดยจะส่ง นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ไปร่วมในฐานะที่ขณะนี้เป็นสภาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านการเมือง และยังเป็นคณะกรรมการพัฒนาพรรคการเมืองอยู่ด้วย ไปร่วมแสดงความเห็นในฐานะตัวแทนของพรรค

นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยังไม่เห็นจดหมายเชิญจากกรธ. แต่โดยพื้นฐานแล้วคงไม่มีปัญหา หากส่งจดหมายมาเชิญ เราก็ยินดีเข้าร่วมเพื่อระดมความเห็นให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด

“เรืองไกร”ยื้อศาลลงมติคำถามพ่วง
นาย เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า วันนี้ตนได้ส่งคำร้องทางไปรษณีย์ไปยังประธานศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ชะลอการวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญสอดคล้องกับคำถามพ่วงหรือไม่ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุจะวินิจฉัยในวันที่ 28 ก.ย.นี้ เพราะมองว่าก่อนจะวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว ประเด็นสำคัญศาลต้องดูว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติชอบด้วยกฎหมายหรือ ไม่
“กกต.ไม่ส่งเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนอย่างทั่ว ถึงก่อนทำประชามติ อาจทำให้ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ศาลเคยวินิจฉัยการหันคูหากาบัตรเลือกตั้งทำให้การ เลือกตั้งเป็นโมฆะมาแล้ว ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญควรดูเรื่องนี้ก่อนจะวินิจฉัยใน วันที่ 28 ก.ย.” นายเรืองไกรกล่าว

“ปึ้ง”จี้นายกฯเอาผิด”อภิสิทธิ์”
นาย สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า อยากฝากถึงพล.อ. ประยุทธ์หลังจากท่านเดินทางกลับจากการประชุมยูเอ็นว่า ขอให้รีบดูคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 56/2559 เรื่อง การคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐ และการดำเนินการต่อผู้รับผิด โดยเฉพาะเรื่องโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐตั้งแต่ปีการผลิต 2548/2549 จนถึงปีการผลิต 2556/2557 นั้น

ปรากฏว่าตามที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทยได้ไปยื่นเรื่องถึงพล.อ.ประยุทธ์เมื่อ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา มีประเด็นเรื่องโครงการรับจำนำข้าวสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่ง นายกฯ ได้รับจำนำข้าวเปลือกนาปีเมื่อเดือนมี.ค.2552 ที่ราคา 12,000 บาท/ตัน ขณะที่ราคาตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ 9,450 บาท/ตัน และปรากฏว่ารัฐบาลขณะนั้นมีปริมาณข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาล ณ เดือนมิ.ย.2552 สูงถึง 7.67 ล้านตัน โดยสามารถยืนยันได้จากรายงานของ ทีดีอาร์ไอเดือนต.ค.2553

โครงการรับจำนำข้าวของนายกฯอภิ สิทธ์ได้ทำมาก่อนที่จะเปลี่ยนโครงการไปเป็นการประกันราคาข้าว ก็อยากขอให้พล.อ.ประยุทธ์ได้โปรดดำเนินการตรวจสอบและใช้คำสั่งคสช.ฉบับนี้ ให้เท่าเทียมกัน และเรียกความเสียหายที่เกิดขึ้นในโครงการนี้เช่นกัน

ค้านตั้ง”สุภา-วิชา”ไต่สวนคดี”ปู”
เมื่อ เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานป.ป.ช. นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยื่นหนังสือเป็นครั้งที่ 8 ถึงพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. ผ่านนาย พูลศักดิ์ คูณสมบัติ รักษาราชการแทนผอ.สำนักการข่าวและกิจการพิเศษ เพื่อยืนยันการคัดค้านการแต่งตั้งน.ส.สุภา ปิยะจิตติ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ในคดีที่กล่าวหาน.ส.ยิ่งลักษณ์ 6 คดีจากทั้งหมด 15 คดี เช่น กรณีถูกกล่าวหาแทรกแซงหรือเอื้อบุคคลในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ เรื่องการบริหารจัดการน้ำ เรื่องการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ชุมนุมทางการเมือง และมี 1 คดีที่มีนายวิชา มหาคุณ อดีตป.ป.ช. ที่พ้นตำแหน่งไปแล้วแต่กลับมาเป็นอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงด้วย
สมัย ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ น.ส.สุภาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาและเป็นประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับ จำนำข้าว ก็มีเหตุให้ข้อมูลการปิดบัญชีหลุดถึงมือนักการเมืองฝ่ายค้านขณะนั้น นอกจากนี้ น.ส.สุภาและนายวิชายังเคยเป็นพยานเบิกความในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งถือเป็น คู่ขัดแย้งชัดเจน น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงเห็นว่าหากปล่อยให้น.ส.สุภาเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนฯ และนายวิชากลับมาเป็นอนุกรรม การไต่สวนฯอีก จะไม่ได้รับความเป็นธรรม

เจอสอบแก้ปัญหาน้ำท่วม
นาย นรวิชญ์กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เคยยื่นร้องคัดค้านมาแล้วถึง 7 ครั้งแต่ไม่เป็นผล ดังนั้น เพื่อรักษาสิทธิตามกระบวนการยุติธรรม และเพื่อให้คดีของอดีตนายกฯได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้องและเป็นธรรม จึงขอคัดค้านความเห็นของคณะกรรมการป.ป.ช. ตามหนังสือสำนักงานป.ป.ช.ที่ ปช 0012/1216 ลงวันที่ 29 ส.ค.2559 และเพื่อยืนยันหลักฐานทางเอกสาร และพฤติกรรมแห่งการปฏิบัติตนของน.ส.สุภาและนายวิชา ในฐานะประธานและอนุกรรมการไต่สวนฯว่าไม่เหมาะสม อย่างไร โดยเฉพาะประเด็นใหม่ที่มีการยื่นเพื่อขอคัดค้านเพิ่มเติมครั้งนี้ คือรายละเอียดการให้การในชั้นศาลในคดีจำนำข้าวของน.ส.สุภา
นายนรวิชญ์กล่าวว่า วันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ส่งหนังสือถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ แจ้งให้ทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหาน.ส.ยิ่งลักษณ์และ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง มีพฤติการณ์ร่วมกันกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น กรณีมีหน้าที่เกี่ยวข้องและ รับผิดชอบการเก็บกัก ควบคุม ระบาย หรือบริหารจัดการน้ำ เป็นเหตุให้เกิดมหาอุทกภัยในปี 2554 ซึ่งหนังสือดังกล่าวแจ้งให้น.ส. ยิ่งลักษณ์ลงนามรับทราบ และแจ้งกลับป.ป.ช.ภายใน 15 วัน โดยมีน.ส.สุภาเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนฯ

“ยิ่งลักษณ์”โวยโดน 15 คดี
เมื่อ เวลา 13.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มาจับจ่ายซื้ออาหารที่ตลาดเก่านางเลิ้ง ซึ่งติดกับทำเนียบรัฐบาล มีพ่อค้าแม่ค้า มาขอถ่ายรูปและให้กำลังใจเนืองแน่น พร้อมบอกว่า ที่แวะมาตลาดนางเลิ้งเพราะคิดถึงของอร่อยและพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งปกติก็แวะเวียนมาบ่อยๆ ส่วนที่ไม่ไปจับจ่ายสินค้าที่ตลาดผดุงกรุงเกษม ที่รัฐบาลเป็นผู้จัดหน้าทำเนียบรัฐบาล เพราะเกรงจะถูกเข้าใจผิดได้

น.ส.ยิ่ง ลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงคดีโครงการบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ว่า เป็นข้อกล่าวหาที่แจ้งโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนมา แต่ตอนตนเข้ามา น้ำได้ท่วมอยู่แล้วตั้งแต่รัฐบาลอื่น จึงไม่เข้าใจว่าทำไมจึงโดนอยู่คนเดียว หวังว่าป.ป.ช.จะให้ความเป็นธรรม ทุกวันนี้นั่งอยู่ดีๆ ก็ต้องมารับเรื่องหมด ตอนนี้มีถึง 15 คดีแล้ว จึงเป็นเหตุผลให้ตนส่งทนายคัดค้านต่อป.ป.ช.แต่ก็ได้รับการปฏิเสธทุกครั้ง จึงอยากร้องผ่านสื่อและสาธารณชนด้วย อยากให้ปฏิบัติเท่าเทียมกับคนอื่นๆ

ข้องใจทำไมใช้มาตรา 44
“จะ เห็นว่ามาตรฐานที่ทำกับคดีตนคดีมาเร็วมาก รับทุกเรื่อง พิจารณาทุกเรื่อง แต่คดีของผู้อื่นไม่คืบหน้าเลย ซึ่งตนพร้อมชี้แจงทุกคดีแต่ต้องอยู่ด้วยเหตุและผล ถ้าตั้งข้อกล่าวหาโดยไม่คำนึงถึงเหตุผล ใครอยากจะใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองก็เอามาใช้ มันก็ไม่มีวันจบ ทำให้สังคมเกิดข้อสงสัย จริงๆ แล้วทุกหน่วยงานที่ทำเรื่องกระบวนการเหล่านี้ควรให้ความเป็นธรรมกับทุกคน เชื่อว่าทุกคนยอมรับ แต่ตนร้องมาหลายครั้งแล้วก็ไม่ได้ความเป็นธรรมตั้งแต่ต้น ไม่รู้ว่าคดีที่เหลือจะเป็นเช่นเดียวกับคดีที่ตนได้รับมาหรือไม่ก็หวังว่าจะ ไม่เป็นแบบนั้น” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว
ส่วนเรื่องมาตรา 44 ที่ให้อำนาจกรมบังคับคดียึดทรัพย์ผู้ทำความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวนั้น เท่าที่ทราบกรมบังคับคดีต้องได้รับคำสั่งจากศาลปกครอง ซึ่งการใช้มาตรา 44 สิ่งแรกที่มองคือผลของคดีไม่ว่าจะเป็นอย่างไรยังไม่รู้ ฉะนั้นการออกคำสั่งมาตรา 44 มอบอำนาจให้กรมบังคับคดีก็เหมือนการชี้นำคดี ต้องขอร้องเพราะมันมีผลกับคดีอื่นๆ ที่อยู่ในชั้นศาล ถือเป็นความไม่ยุติธรรมที่ได้รับ ถ้ามั่นใจว่าข้าราชการทำถูกก็ไม่ต้องกลัวการถูกฟ้องร้อง แต่วันนี้ใช้มาตรา 44 กันถูกฟ้องร้อง ใครจะทำอะไรก็ได้ ขนาดอดีตนายกฯยังปกป้องและหาความยุติธรรมให้กับตัวเอง ไม่ได้แล้วประชาชนจะเรียกหาความยุติธรรมได้อย่างไร

วอนอย่าเร่งรัดด้วยวิธีนี้
น.ส.ยิ่ง ลักษณ์กล่าวว่า วันนี้สิ่งที่รัฐบาลต้องตอบว่าทำไมถึงไม่ใช้อำนาจตามปกติ ซึ่งเราได้ท้วงตั้งแต่ต้นแล้วว่าการพิจารณาในเรื่องความเสียหายตามหลักสากล ต้องไปร้องที่ศาลแพ่งและรัฐบาลก็ถือว่าเป็นคู่กรณีกับเรา ซึ่งต้องร้องศาลให้เป็นผู้ตัดสินว่าฝ่ายตนหรือรัฐบาลถูกหรือผิดกันแน่ ที่จะมาเรียกร้องค่าเสียหาย แต่รัฐบาลกลับไม่เลือกใช้วิธีฟ้องร้องตามกระบวนการยุติธรรม เพียงเพราะไม่ต้องการเสียค่าธรรมเนียมศาล และเพื่อร่นเวลาให้ง่ายขึ้น อย่างนี้เท่ากับรัฐบาลเป็นคู่กรณีกับตนโดยตรง และบวกกับการใช้มาตรา 44 คุ้มครองเจ้าหน้าที่ตั้งแต่สอบสวนจนถึงมอบอำนาจให้กับกรมบังคับคดี เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามกลับ
“เวลานี้อยากให้รัฐบาลมองภาพ รวม ความเดือดร้อนของประเทศเพราะวันนี้ประชาชนรอให้เศรษฐกิจต่างๆ กลับคืนมา ประชาชนอยู่ดีขึ้น ถือเป็นเรื่องใหญ่ ไม่อยากให้มาใส่เรื่องของดิฉันเป็นหลักจนลืมเรื่องอื่นๆ เพราะมีกระบวนการขั้นตอนอยู่แล้ว ไม่อยากให้เร่งรัดโดยใช้วิธีแบบนี้ สุดท้ายจะเป็นคำถามที่ประชาชนตั้งข้อสังเกต” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

รัฐบาลโต้ใช้มาตรา 44 เล่นงาน
นาย วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีมีผู้ระบุรัฐบาลใช้มาตรา 44 เพื่อยึดทรัพย์ในคดีโครงการรับจำนำข้าวว่า ไม่ได้ใช้มาตรา 44 เพื่อเล่นงาน คำพูดนี้บิดเบือนอย่างร้ายกาจที่สุด แต่เป็นการใช้พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดปี 2539 ที่เคยใช้เล่นงานมาหลายคดี เช่น คดีรถดับเพลิง ที่รวมแล้วกว่า 3,000 คดี ซึ่งคดีจำนำข้าว ถ้าจะถูกเล่นงานก็เล่นงานโดยพ.ร.บ.นี้ ปัญหาคือเมื่อเขาบอกว่าผิด จะเข้าไปยึดทรัพย์ ใครจะเป็นคนไปยึด กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์นั้น ตั้งขึ้นเพื่อให้ทำเรื่องการเงินและการค้า ไม่มีวัตถุประสงค์ไปยึดทรัพย์ ถ้าจะให้ยึด เขายึดไม่เป็น ไม่มีเจ้าหน้าที่ แต่หน่วยงานที่มีหน้าที่ยึดทรัพย์ในประเทศไทยคือกรมบังคับคดี แต่กฎหมายระบุจะยึดทรัพย์บังคับคดีได้เฉพาะที่ศาลมีคำพิพากษา ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้เขายึดทรัพย์ในคดีที่ศาลยังไม่พิพากษา ก็คือยึดตามคำสั่งปกครอง
พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดมีมาตั้งแต่ สมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกฯ แล้ว ต้องไปยึดทรัพย์โดยกรมบังคับคดี และสมัยน.ส. ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกฯ ก็เคยทำเรื่องตั้งกองยึดทรัพย์บังคับคดีตามคำสั่งปกครองขึ้นในกรมบังคับคดี แต่ก.พ.ร.ไม่อนุญาต เพราะยังไม่มีอำนาจตามกฎหมายจะไปยึดแล้วมาตั้งกองเตรียมยึดได้อย่างไร วันนี้เมื่อคำสั่งมาตรา 44 ออกมา ก็มีคำถามว่า ทำไมต้องรีบให้กรมบังคับคดีมีอำนาจก่อนศาลมีคำสั่ง ซึ่งจะก่อนหรือหลังไม่เกี่ยว เพราะกรมบังคับคดีไม่มีส่วนจะไปบอกว่าผิด และไม่ได้ตีปลาหน้าไซ เขาต้องรู้ว่าเขามีอำนาจเพื่อเตรียมการ และเขาเตรียมการแล้วแบบมืออาชีพ ติดต่อกรมที่ดิน ธนาคาร เพื่อให้รู้ว่าผู้ที่จะถูกยึดทรัพย์มีที่ดินตรงไหน มีเงินในธนาคารเท่าไร จะได้ยึดได้ ถ้าไม่ต้องยึด ก็หยุดไว้ไม่ต้องทำอะไร ขอย้ำว่าไม่ได้ใช้มาตรา 44 ไปยึด

“สรศักดิ์”เบียดนั่งว่าที่เลขาฯสภา
วัน ที่ 22 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่จะมีการคัดเลือกเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ แทนนางสายทิพย์ เชาวลิตถวิล ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ซึ่งคณะกรรมการสรรหาเลขาธิการสภา ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 เป็นประธาน มีมติเลือกให้นายสรศักดิ์ เพียรเวช รองเลขาธิการสภา ดำรงตำแหน่งแทน แต่เกิดกระแสวิจารณ์การคัดเลือก เนื่องจากนายสรศักดิ์ อาวุโสน้อยกว่าน.ส.สุภาสินี ขมะสุนทร รองเลขาธิการสภา ดูแลงานด้านต่างประเทศ ซึ่งดำรงตำแหน่ง มาแล้ว 2 ปี ขณะที่นายสรศักดิ์เลื่อนจากผอ.สำนักกฎหมาย มาเป็นรองเลขาฯสภาได้เพียง 10 เดือน แต่กลับได้รับการสรรหาให้เป็นว่าที่เลขาธิการสภาคนใหม่

รายงาน ข่าวจากสนช. เปิดเผยว่า ในชั้นคณะกรรมการสรรหาเลขาธิการสภา มีผู้สมัคร 6 คน โดยนางจันทร์เพ็ญ อานามวัฒน์ ขอสละสิทธิ์เพื่อไปเป็นที่ปรึกษา ทำให้น.ส.สุภาสินี เป็นอาวุโสอันดับหนึ่ง และนายสรศักดิ์ เป็นอาวุโสอันดับสอง ส่วนผู้สมัครคนที่ 4 ถึง 6 อาวุโสรองลงมา ดังนั้นแคนดิเดตในการสรรหา จึงเป็นน.ส.สุภาสินี และนายสรศักดิ์ ซึ่งที่สุดคณะกรรมการสรรหาลงมติเลือกนายสรศักดิ์

ขณะนี้งาน ใหญ่ของสภามีอยู่ 3 งานคือ งานสร้างรัฐสภาใหม่ งานรับสมาชิกทั้งส.ส.-ส.ว. และงานด้านการพิจารณากฎหมาย ทางคณะกรรมการสรรหาจึงคัดเลือก นายสรศักดิ์ โดยยึดหลักความเหมาะสม เพราะเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและดูแลโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบอยู่ก่อนแล้ว จึงเห็นว่าถ้ามีงานเร่งด่วนที่ต้องทำก็ต้องคัดเลือกคนที่สั่งแล้วทำงาน ถ้าสั่งแล้วไม่ทำ จะตายกันหมด โดยเฉพาะงานก่อสร้างรัฐสภา สนช.อยู่มาแล้ว 2 ปี ถ้าไม่เสร็จตายแน่ แต่การสรรหาดังกล่าวจะมีผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา (กร.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธาน โดย คณะกรรมการสรรหาเลขาธิการสภา จะเสนอชื่อนายสรศักดิ์ อีกครั้งในวันที่ 23 ก.ย.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน