สัมภาษณ์พิเศษ : อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปชป.ได้ส.ส.เกิน 100 อยู่แล้ว

สัมภาษณ์พิเศษ – หมายเหตุ : นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองและการเลือกตั้ง ที่ประกาศจะขอรับผิดชอบหากกวาดเก้าอี้ส.ส.ได้ไม่ถึง 100 เสียง การจับขั้ว-แบ่งฝ่ายทางการเมือง บานปลายจนเกิดความขัดแย้งเช่นเดียวกับปี 2553 รวมถึงการวางตัวคนรุ่นใหม่เป็นทายาททางการเมือง

ผมคิดว่าประชาชนมีความคาดหวังการเลือกตั้งในเบื้องต้น คือ ได้สิทธิการมีส่วนร่วมและมีความหวังว่าจะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาดีขึ้นโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ฉะนั้น ผมอยากมองปีนี้ว่า การเลือกตั้งเป็นเรื่องของโอกาส เป็นโอกาสของประเทศ เป็นโอกาสของประชาชน ดังนั้น จึงอยู่ที่แต่ละฝ่าย จะทำให้โอกาสและความหวังนั้นเป็นจริงได้หรือไม่ ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการที่มีการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรมก่อน ซึ่งจะมีได้

ปัจจัยหลักอยู่ที่ผู้มีอำนาจจะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริต เที่ยงธรรมหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนโดยเข้าใจว่า ผู้มีอำนาจจะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้คิดว่าตอนนี้ผู้มีอำนาจจะมามีส่วนได้ส่วนเสียกับการเลือกตั้ง แต่ไม่ลงส.ส. จึงทำให้สามารถเลี่ยงข้อกฎหมาย โดยตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เอง ตัวคสช. และตัวรัฐมนตรีที่มาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งจะต้องแสดงออกให้เห็นว่า ทุกฝ่ายจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการเลือกตั้งจะสุจริตและเป็นธรรม

ถ้าไม่ทำตรงนี้ ผลเสียจะเกิดกับประเทศโดยรวม เพราะถ้าเราไม่เริ่มต้นจากการเลือกตั้งที่เป็นคำตอบ สุดท้ายความเสี่ยงต่อการไม่ยอมรับ ความเสี่ยงต่อความขัดแย้ง ความเสี่ยงต่อปัญหาเดิมๆ ก็จะมีมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นประโยชน์กับใครเลย

หลังการเลือกตั้งเรามีข้อจำกัดที่ส.ว. มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่การใช้อำนาจตรงนั้น ถ้าไปทำในลักษณะฝืนความต้องการของประชาชน ก็จะเป็นการเชื้อเชิญให้เกิดความขัดแย้งขึ้น ฉะนั้น สิ่งที่ประชาชนตั้งความหวังไว้เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ในเบื้องต้นทั้งผู้มีอำนาจ ทั้งส.ว. จะต้อง ไม่ทำให้ประชาชนผิดหวังและทำให้ปีนี้เป็นปีที่ประเทศไทยและคนไทยสามารถก้าวออกจากวงจรหรือวัฏจักรเดิมๆ ได้

ส่วนการเลือกตั้ง ก็อยู่ที่ประชาชนจะเลือกใคร และรัฐบาล ถ้าได้ตามที่ประชาชนหวัง อย่างน้อยก็เป็นการตั้งต้นที่ดีที่จะให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ส่วนรัฐบาลจะดีหรือไม่ดี ไม่มีใครไปรับประกันได้

การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะปรับยุทธวิธีการต่อสู้เพื่อให้เป็นทางหลักอย่างไร

ตอนนี้ผมคิดว่าแนวทางที่เรานำเสนอเป็นหลักให้กับบ้านเมืองได้ชัดเจนที่สุด ทั้งนโยบายต่างๆ และกระบวนการที่เราทำมาแล้ว ยืนยันความเป็นประชาธิปไตยในพรรคและความเป็นสถาบันของพรรคชัดเจนกว่าพรรคการเมืองอื่น

มีนโยบายที่ประชาชนจับต้องได้ เช่น นโยบายด้านการศึกษา เกิดปั๊บรับเงินแสน ซึ่งนโยบายนี้ไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นสวัสดิการที่ผ่านกระบวนการการศึกษาจากฝ่ายวิชาการ ซึ่งเป็นไปตามสากลด้วยซ้ำ นี่คือความแตกต่าง

ผมคิดว่านโยบายนี้แก้ปัญหาได้และเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว นี่เป็นเพียงแนวคิดนโยบายข้อหนึ่งข้อเดียวที่เราเพิ่งนำเสนอไป โดยจะมีนโยบายด้านอื่นๆ ตามมาอีก ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และทุกเรื่องเพราะเรื่องปากท้องของประชาชนถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด พรรคจะต้องมีคำตอบให้กับคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้ใช้แรงงานและกลุ่มอื่นๆ โดยเป็นนโยบายที่ปฏิบัติได้และยั่งยืน ไม่ใช่พูดเพื่อความถูกใจอย่างเดียว

การลงพื้นที่ก่อนการเลือกตั้ง คิดว่าจะเกิดความรุนแรง อะไรหรือไม่

ผมคิดว่าทุกพรรคการเมืองคงอยากให้การเลือกตั้งราบรื่น ผมไม่ค่อยเห็นเหตุผลเท่าไรที่การลงพื้นที่หาเสียงจะไม่ราบรื่น เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ก็ต้องเข้ม ที่ผ่านมา ผมเคยวิจารณ์กกต. เมื่อปี 2554 ว่าในวันที่ผมถูกขัดขวางไม่ให้ไปหาเสียงเลือกตั้ง กกต.จะต้องวินิจฉัยให้ชัดว่าการกระทำ แบบนี้เหมือนกับการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ แต่กกต. ชุดนั้นไม่ได้ตัดสินอะไร จึงทำให้มีปัญหาลุกลาม ออกไป

ดังนั้น กกต.ชุดนี้ต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าการทำหน้าที่ หรือการออกกฎระเบียบไม่ได้เอนเอียงเข้าข้างใคร เพราะวันนี้มาตรา 44 อาจจะคุ้มครองเขาได้ แต่วันข้างหน้ามาตรา 44 คุ้มครอง ไม่ได้แล้ว และหากกกต.ไม่ฟังเสียงของคนส่วนใหญ่ก็จะพาประเทศไปสู่ความเสี่ยงจนเกิดความขัดแย้งต่อไป

  • ประเมินหรือไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้ส.ส. ทั้งบัญชีรายชื่อและส.ส.เขตกี่ที่นั่งในการเลือกตั้ง ครั้งนี้

ผมว่ายังเร็วเกินไปที่จะประเมินตอนนี้ เพราะต้องดูคู่แข่ง รอดูว่าจะมีพรรคการเมืองกี่พรรค ส่งผู้สมัครกี่เขต เพราะตอนนี้หลายพรรคก็มีความสับสนอยู่ อย่างคู่แข่งสำคัญที่สุด คือพรรคเพื่อไทย พื้นที่เขารายงานมาว่าบางเขตเหมือนจะไม่ได้ส่ง แต่มีของพรรคไทยรักษาชาติส่ง เราก็ต้องมาประเมินกันอีกที แต่คิดว่าประชาธิปัตย์ ได้ที่นั่งส.ส.กว่า 100 อยู่แล้ว

  • รัฐบาลใหม่จะมีเวลาบริหารประเทศนานแค่ไหน

ผมคิดว่าอยู่ที่ว่าใครเป็น และเป็นกับใคร ด้วยวิธีการใด ถ้าผสมกันแบบร้อยพ่อพันแม่ คิดถึงแต่ตำแหน่งแบ่งเค้กกัน ผมคิดว่าก็จะกลับไปสู่ภาวะเดิมๆ และอยู่ได้ไม่นาน ถ้ารัฐบาลตั้งขึ้นโดยฝืนความต้องการของประชาชน ก็มีความสุ่มเสี่ยงว่าจะอยู่ได้ไม่นาน แต่ถ้าเป็นการรวบรวมเสียงที่เห็นได้ชัดว่าประชาชนสนับสนุนและสามารถทำตามนโยบายที่หาเสียงได้ และไม่มีการทุจริต ผมไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลจะอยู่ได้ไม่นาน

  • ที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์ ระบุว่าการเมืองมี 3 ขั้ว แต่หลังการเลือกตั้งจะเหลือเพียงฝ่ายค้านกับรัฐบาล ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นทางหลักจะเลือก เข้าขั้วไหน

พรรคประชาธิปัตย์เราจะเป็นรัฐบาลก็ต่อเมื่อเรามองว่ารัฐบาลนั้นบริหารและแก้ปัญหาประชาชนได้ตามแนวทางของเรา ถ้าทำไม่ได้ เราก็ไม่ควรไปเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็ตาม ถ้าไปบริหารประเทศแล้วทุจริต หรือไปบริหารแล้ว เห็นชัดๆ ว่าจะล้มเหลว เราก็ไม่เอาด้วย เพราะเราต้องไปร่วมรัฐบาลด้วยความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาให้กับประชาชน

  • สมาชิกพรรคอาจกดดันให้ต้องร่วมรัฐบาล จะตัดสินใจอย่างไร

ผมมั่นใจว่าคนประชาธิปัตย์รู้ว่ามาอยู่ที่พรรคนี้แล้วเป็นอย่างไร เราเป็นพรรคที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสถาบัน และผมยังเชื่อว่าขณะนี้สมาชิกพรรคเข้าสู่สนามเลือกตั้งด้วยความมั่นใจว่าประชาธิปัตย์จะเป็นทางหลักของประเทศได้

  • หากผลการเลือกตั้งออกมาพรรคได้ที่นั่งไม่เป็นไปตามเป้า จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร

ผมเคยประกาศไปแล้วว่าหากได้ส.ส.ไม่เกิน 100 เสียง ผมพร้อมจะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค

  • หลังการเลือกตั้งมองว่าจะมีเหตุให้กลายเป็นชนวนความขัดแย้งเหมือนปี 2553 หรือไม่

ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ถ้าทุกฝ่ายทำอย่างที่ผมพูดคือ ให้การเลือกตั้งเป็นธรรมและการตั้งรัฐบาลเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน และคนที่ไปเป็นรัฐบาล ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลัก ก็ไม่เกิดความขัดแย้ง

แต่หากการเลือกตั้งไม่เป็นธรรม ไม่สุจริต ก็มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้วที่จะเกิดปัญหาและเกิดการไม่ยอมรับ

  • มองอย่างไรหลังการเลือกตั้ง อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความขัดแย้งจนเกิดพฤษภาทมิฬรอบสองได้

ผมมองว่าอย่าไปฝืนใจประชาชน ก็จะไม่เกิดความขัดแย้งขึ้น

  • การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นคาดว่าปชป.จะได้กี่ที่นั่ง

ยังไม่ฟันธงถึงการตั้งเป้ากวาดเก้าอี้ส.ส. เนื่องจากมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ขอเวลาดูช่วงเปิดรับสมัครก่อนว่าจะมีพรรคการเมือง ผู้สมัครจำนวนเท่าไร เพราะเท่าที่ฟัง แม้จะมีพรรคที่จดทะเบียนแล้ว 90 กว่าพรรค แต่พรรคที่สามารถส่งผู้สมัครได้จำนวนมาก ไม่ได้มีเยอะขนาดนั้น เนื่องจากกฎหมายมีข้อกำหนดมาก อีกทั้งหลายพรรคประกาศชัดว่าจะไม่ส่งผู้สมัครครบทุกเขต

แต่หากคิดตามตัวเลขเดิมที่ปชป. เคยได้ 160 ที่นั่ง ด้วยการนำคะแนนดิบที่พรรคเคยได้ 9.8 ล้านเสียงมาเป็นฐาน และคำนวณตามระบบสัดส่วนปันส่วนผสมที่รัฐธรรมนูญกำหนด จะออกมาที่ 140 ที่นั่ง แต่ครั้งนี้ มีจำนวนคู่แข่งเพิ่มขึ้นมาก ก็ต้องดูว่า จะรักษาฐานเสียงไว้ได้แค่ไหน และจำนวน 140 ที่นั่งเป็นตัวเลขอ้างอิง หากเราทำได้เยอะกว่านี้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ พอสมควร แต่ถ้าถอยลงมาระดับหนึ่ง ก็คงไม่แปลกใจเพราะ คู่แข่งมันเยอะ แต่เราก็คงไม่ถอยเยอะ

ผมคิดว่าทางบวกมีมากกว่าทางลบ ผมมั่นใจได้เลยว่าเราไม่มีต่ำกว่าร้อยแน่นอน หน่วยงานไหนที่มาปรามาสว่าปชป.จะต่ำร้อย ให้ไปดูแลพรรคที่อิงกับผู้มีอำนาจจะดีกว่า ว่าจะทำให้ถึง 100 ที่นั่งได้หรือเปล่า ที่ผมมั่นใจว่าเราจะได้เกินร้อยเพราะเรามี คำตอบให้กับประชาชนสำหรับประเทศหลังการเลือกตั้งที่ดีกว่า ผมว่าประชาชนไม่ต้องการอยู่ในสภาพแบบนี้ เขาไม่ต้องการวนเวียนอยู่กับการทุจริต จนเกิดการปฏิวัติ เราได้ทำการบ้านกับปัญหาเหล่านี้มาอย่างเต็มที่ เราจึงมั่นใจว่าเรามีคำตอบให้กับประชาชน เพราะนโยบายเราไม่ได้แช่แข็งอยู่ที่เดิม แต่มันเป็นไปตามสภาพปัญหาของประชาชนเป็นตัวตั้ง

  • ขณะนี้มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ถูกมองว่าเป็นทายาทสืบทอดอำนาจในปชป. เช่น หลานนายอภิสิทธิ์ ลูกชาย นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรค ลูกชายนายชวน หลีกภัย

ปชป.ไม่มีระบบสืบทอดอำนาจ กรณีหลานชายผม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม ยืนยันได้ว่าไม่ใช่ทายาททางการเมืองที่จะมาสืบทอดต่อจากผม เขาเดินมาสมัครด้วยตนเอง ที่ผ่านมาผมแทบจะไม่ได้พูดคุยกัน แต่ผมเปิดโอกาสให้เขาและคนรุ่นใหม่เต็มที่ ยืนยันได้ว่าปชป.ไม่มีทายาทสืบทอดอำนาจอยู่แล้ว ขนาดเลือกหัวหน้าพรรคก็ต้องให้สมาชิกพรรคทั้งหมดเลือกแล้วจะมีทายาทอย่างไร

ตอนนี้คนรุ่นใหม่หลายคนเข้ามาเสริมการทำงานของพรรค ส่วนอนาคตเป็นเรื่องระบบของพรรคที่จะว่ากันไป แต่ที่ถูกมองว่าเป็นทายาท ก็ต้องเข้าใจว่าความเป็นญาติปฏิเสธไม่ได้ ต้องดูว่าคนเลือกเข้ามามีความสามารถ มีความรู้ ด้วยตัวเองหรือไม่

ขณะนี้คนรุ่นใหม่ของพรรคที่เข้ามา ที่เห็นก็มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความเป็นอิสระ และคิดว่าเขารู้ว่าอยู่ในพรรคประชา ธิปัตย์ ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง ไม่สามารถอิงผู้ใหญ่หรือใครคนใดคนหนึ่งได้ ประวัติศาสตร์ของพรรคตลอด 70 ปี ก็เป็นแบบนั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน