เปิดใจ2หัวหน้าพรรคพร้อมทุกขั้ว

เปิดใจ2หัวหน้าพรรคพร้อมทุกขั้ว หมายเหตุ สัมภาษณ์เปิดใจ 2 ผู้นำพรรคการเมือง น..กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กับ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ซึ่งถูกจับตามองว่าพร้อมเข้าร่วมรัฐบาล ไม่ว่าขั้วไหนจะชนะเลือกตั้ง

กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา

การเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าดูตามกระแสที่เกิดขึ้นในทางการเมือง ดูเหมือนพรรคการเมืองแตกป็น 2 ขั้ว แต่ส่วนตัวไม่อยากตอกย้ำความแตกแยก ขอให้ดูนโยบายของแต่ละพรรคเป็นหลักจะดีกว่า อย่าไปมองว่าพรรคไหนจะเป็นขั้วทหารหรือขั้วเผด็จการ พรรคไหนจะเป็นขั้วประชาธิปไตย เพราะเชื่อว่าทุกพรรคต่างมีเจตนารมณ์ที่จะเข้ามาดูแลทุกข์สุขของประชาชน โดยพยายามเสนอนโยบายแก้ไขปัญหาปากท้อง ปัญหาสังคม ปัญหาการศึกษา ปัญหาของบ้านเมืองด้วยกันทุกพรรค

จึงขอให้เน้นมองเรื่องนโยบายของพรรคดีกว่า ขออย่ามองว่าพรรคนี้เป็นฝ่ายเผด็จการ พรรคนี้เป็นฝ่ายประชาธิปไตยเลย เพราะความแตกแยกมันจะไม่มีที่สิ้นสุด ขอให้ยึดตามหลักของพรรคชาติไทยพัฒนา ที่นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ได้วางเอาไว้คือก้าวข้ามความขัดแย้ง มาสู่การพัฒนาประเทศ

ส่วนที่พรรคชาติไทยพัฒนาถูกมองว่าเป็นพรรค พร้อมเสียบเข้าร่วมรัฐบาลนั้น ต้องย้อนดูประวัติศาสตร์ถึงบทบาทของชทพ.ในอดีต ตั้งแต่สมัยเป็นพรรคชาติไทย เราเคยเป็นมาแล้วทุกบทบาท เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เคยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เคยเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน เคยเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน เป็นมาหมดแล้วทุกรูปแบบ

จุดยืนของพรรคชาติไทยตั้งแต่สมัยพ่อบรรหาร หรือสมัยนี้ที่ตัวเองมานำ ก็ยังเป็นจุดยืนเดิมคือ เราจะเลือกทางเดินที่จะทำให้ประเทศชาติก้าวหน้าไปได้ ซึ่งสอดคล้องกับสโลแกนของพรรคชาติไทยพัฒนาคือ ก้าวข้ามความขัดแย้งเพื่อให้ประเทศชาติก้าวเดินต่อไปได้

เหตุการณ์ในอดีตบ่งบอกว่าเราเลือกทางที่จะ ทำให้ประเทศชาติก้าวเดินได้ โดยไม่ได้จ้องจะเสียบอย่างเดียว คือเมื่อสมัยที่พรรคชาติไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นายบรรหารเป็นนายกฯ เราถูกพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างหนัก อาจถือได้ว่าหนักที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็ว่าได้ ทำให้เกิดการยุบสภา แล้วรัฐบาลของพรรคความหวังใหม่ ของพล..ชวลิต ยงใจยุทธ ก็เข้ามาบริหารประเทศ อยู่ได้ 9 เดือนก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น จนเกิดการเปลี่ยนแปลง

พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้ง รัฐบาล ซึ่งขณะนั้นจะจัดตั้งไม่ได้ถ้าไม่มีพรรคชาติไทยเข้าร่วมด้วย แต่ตอนนั้นบาดแผลที่ถูกพรรคประชาธิปัตย์อภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างหนักหน่วง ทั้งที่ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงก็มีเยอะมาก ถ้าจำได้ เช่น สัญชาติของนายบรรหาร ที่ถูกขุดมาหมด ทำให้ความรู้สึกเจ็บช้ำในครอบครัวเรายังมีอยู่เยอะมาก แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ติดต่อมาว่าขอให้พรรคชาติไทยเข้าร่วมรัฐบาลด้วย ไม่อย่างนั้นจะไปต่อไม่ได้ เพราะเสียงไม่พอ

ทีมของพรรคประชาธิปัตย์นำโดยพล..สนั่น ขจรประศาสน์ และนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ต้องมาคุยด้วยถึงที่บ้าน นายบรรหารก็เชิญทั้งคุณหญิงแจ่มใสกับตัวเองออกมาพูดคุยด้วย เพราะตอนอภิปรายถูกเกี่ยวโยงด้วยหลายเรื่อง ตอนนั้นคุณหญิงแจ่มใสยังทำใจไม่ได้เลย แต่เมื่อนายบรรหารฟังพรรคประชาธิปัตย์พูดมา ก็ขอให้พวกเราต้องแยกให้ออก เรื่องที่มีความรู้สึกเจ็บช้ำก็ต้องเก็บเอาไว้ เพราะถ้าพรรคชาติไทยไม่เข้าร่วมกับประชาธิปัตย์จะเสียงไม่พอ ประเทศเดินต่อไปไม่ได้

ในที่สุดพรรคชาติไทยก็ตัดสินใจเข้าร่วม นั่นคือเป็นการบอกให้เห็นว่าเรายินดีทำและเลือกการตัดสินใจที่จะทำให้ประเทศ ชาติเดินหน้าไปได้ไม่ว่าความรู้สึกส่วนตัวจะเป็นอย่างไร

อีกเหตุการณ์หนึ่งคือ ครั้งหนึ่งสมัยพรรคไทยรักไทยได้คะแนนถล่มทลาย 300 กว่าเสียง ทั้งที่ก่อนเลือกตั้งนั้นนายทักษิณ ชินวัตร เคยคุยกับนายบรรหาร ไว้ว่าเลือกตั้งเสร็จแล้วเรามาร่วมกันทำงานด้วยกัน แต่ผลออกมาว่าพรรคของท่านได้คะแนนเลือกตั้งถล่มทลาย ตั้งเป็นรัฐบาลพรรคเดียวได้อย่างเบ็ดเสร็จ เมื่อนายทักษิณโทร.มาว่าผลออกมาเป็นแบบนี้ พ่อจึงตอบกลับไปทันทีว่าไม่ต้องห่วงให้จัดตั้งรัฐบาลไปเลย เรายินดีไปเป็นฝ่ายค้าน แล้วก็ค้านอย่างมีเหตุผลด้วย

เรื่องนี้จึงเป็นบทพิสูจน์ที่ชี้ให้เห็นว่า เราไม่ได้จ้องเสียบในเมื่อเขาจัดตั้งได้อย่างท่วมท้น เราก็ไม่จำเป็นจะต้องเข้าไปร่วมกับเขา เราก็เป็นฝ่ายค้านไป

ทั้งสองเหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นและพิสูจน์ ว่าพรรคชาติไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาไม่ได้รออย่างเดียวที่จะต้องเสียบเป็น รัฐบาล เราพร้อมเป็นฝ่ายค้าน และบางครั้งเราไม่ได้อยากร่วมรัฐบาล แต่เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้เราก็ร่วม สรุปว่าจุดยืนของพรรคชาติไทยพัฒนา คือทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้ประเทศชาติติดอยู่กับที่ พร้อมที่จะทำงานทุกบทบาท

ส่วนเสียงวิจารณ์ว่าเป็นพรรคปลาไหลนั้น ถูกเรียกมาตั้งแต่ยุคก่อนๆ มันจบไปตั้งนานแล้ว เราก็ไม่สามารถห้ามคนพูดได้ อย่างคำว่าจ้องจะเสียบ ที่จริงถามว่าพรรคอื่นไม่เหมือนกันหรือ มีพรรคไหนที่โดยธรรมชาติแล้วไม่อยากเป็นรัฐบาล ขอให้ความเป็นธรรมกันนิดหนึ่ง

คำพระท่านว่า เขาว่าเราดีเราก็ไม่ได้ดีอย่างเขาว่า เขาว่าเราไม่ดีเราก็ไม่ได้ไม่ดีอย่างเขาว่า เราเป็นของเราแบบนี้ ดังนั้น ถ้าเราคิดว่าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ก็ไม่ควรหวั่นไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ แต่ถ้าคำไหนที่วิจารณ์แล้วเรารู้สึกว่าเป็นอย่างนั้นเราก็ควรน้อมรับและนำมา ปรับปรุง

ส่วนหลังการเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลที่เข้ามาใหม่จะอยู่ได้นานแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับสิ่งแรกคือผลการเลือกตั้งจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่ มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมของกระบวนการเลือกตั้งในครั้งนี้ อย่างที่พูดไปแล้วคืออยู่ที่บทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้งเอง

สิ่งที่สองคือ เรื่องคะแนนเสียงหลังการเลือกตั้งว่าแต่ละพรรคการเมืองจะได้เท่าไร สิ่งที่สามคือการจับขั้วเป็นพันธมิตรจัดตั้งรัฐบาล ว่าจะออกมาในรูปแบบอย่างไร ฉะนั้นถาม ตอนนี้จึงยังตอบไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลังเลือกตั้งจะไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงเหมือนปี 2553 ถ้ามีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างนั้น ผลเสียหายจะเกิดกับประชาชนทุกคน เศรษฐกิจประเทศ เสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ จะไม่มีใครได้บวกเลย ทุกคนต่างมีบทเรียนและได้เรียนรู้กันมาแล้ว

เทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา

ผมมองว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ คะแนนเสียงของแต่ละพรรคการเมืองจะเป็นตัวชี้วัดเสถียรภาพของรัฐบาลในอนาคต แล้วจะทำให้มองได้ถึงสิ่งต่างๆ ทุกอย่างหากเสถียรภาพของรัฐบาลเข้มแข็งทุกอย่างก็มั่นคง ซึ่งผมเข้าใจว่าสื่อคงอยากจะถามว่ามันจะเกิดเหตุวุ่นวายขึ้นหรือไม่ ก็คงต้องอยู่ที่คะแนนเสียงของประชาชนเป็นหลัก หากมีพรรคการเมืองได้เสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เราคงมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ

ผมคิดว่าวันนี้ประเทศบอบช้ำมามาก วันนี้คนไทยต้องการอยู่สงบ ซึ่งผมมีความมั่นใจลึกๆ ว่าพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนอยากเห็นประเทศชาติสงบ ดังนั้น หลังการเลือกตั้งจบแล้ว ทุกคนก็คงยอมรับผลการเลือกตั้ง ผมมีความมั่นใจเช่นนั้น

ประกอบกับที่ผ่านมาเราเว้นว่างการเลือกตั้ง มากกว่า 5 ปี การเลือกตั้งหนนี้จึงจะเป็นการพิสูจน์ได้หลายอย่าง คนอยากเลือกตั้งก็มีเยอะ ฉะนั้น คะแนนเสียงทุกคะแนนเสียงของประชาชนครั้งนี้จะเป็นการตัดสินเสถียรภาพของ รัฐบาลในอนาคตอย่างแน่นอน

ส่วนจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนว่าจะ กลับมาวุ่นวายอีกนั้น ที่ผ่านมาพวกเรามีบทเรียนกันมากและประเทศชาติไม่ได้ประโยชน์อะไรกับสิ่งที่ เกิดขึ้นนั้น และทุกคนคงเข้าใจว่า นั่นคือสิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้น และส่วนตัวผมคิดว่าก็ไม่น่าจะมีเกิดขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม มีผู้ใหญ่หลายคนที่ได้เสนอไอเดียรัฐบาลหลังการเลือกตั้งหนนี้ น่าจะเป็นรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งถ้าเป็นรัฐบาลแห่งชาติก็หมายความว่าจะไม่มีฝ่ายค้าน ทุกคนมาร่วมกันแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ร่วมกันสร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจ สร้างเสถียรภาพให้กับบ้านเมืองและสร้างเสถียรภาพให้กับการเมือง เพราะถ้าการเมืองเข้มแข็งเมื่อไหร่เศรษฐกิจก็ไปโลด เหมือนในสมัยรัฐบาลน้าชาติ พล..ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี การเมืองเข้มแข็ง การเมืองมีเสถียรภาพ นักลงทุนก็มีความมั่นใจ เศรษฐกิจก็ดีขึ้น

ฉะนั้น หากพรรคการเมืองพร้อมใจกันแล้วมีรัฐบาลแห่งชาติได้ ผมคิดว่าเป็นทางออกหนึ่งให้กับประเทศเหมือนกัน ที่ทุกอย่างมาเหมือนเซ็ตซีโร่กันใหม่ แล้วพร้อมใจกัน มาร่วมกัน แล้วมาดูว่าเมื่อเลือกตั้งผ่านไปแล้ว อะไรเป็นปัญหาสำหรับการเลือกตั้ง เช่น กฎ กติกา อันไหนไม่ดีก็แก้ไขให้เหมาะสมกับประเทศ

แต่ทั้งนี้ผมไม่ทราบว่ารัฐบาลแห่งชาติจะเป็นไปได้หรือเปล่าแต่มีคนพูดกันมาก ว่าอยากเห็นแบบนั้น เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าไปได้

ส่วนหลังการเลือกตั้ง รัฐบาลใหม่จะอยู่ได้นานแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลได้เสียงข้างมากขนาดไหน หากได้เสียงผู้แทนราษฎรเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็แน่นอนว่าความแข็งแกร่งของรัฐบาลก็จะต้องมีมากขึ้น

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการเมืองโดยปกติก็แบ่งเป็นหลายขั้วอยู่แล้ว ชัดเจนว่า ฝั่งหนึ่งขั้วหนึ่ง อีกฝั่งหนึ่งก็ขั้วหนึ่ง ซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องของความคิดเห็น และนโยบายที่อาจจะแตกต่างกัน เลยมีความรู้สึกว่าเป็นสองขั้ว แต่เรามองว่าต่างก็ทำเพื่อประเทศชาติด้วยกันทุกฝ่าย

ส่วนที่พรรคชาติพัฒนาถูกมองว่าเป็นพรรคที่ พร้อมเสียบนั้น จริงๆ มันไม่ใช่ว่ารอเสียบ อาจด้วยว่าในอดีตที่ผ่านมาถ้ามีโอกาสเมื่อไรพรรคชาติพัฒนาก็ได้มีโอกาสไป ร่วมรัฐบาล ซึ่งถือเป็นโอกาสในการทำงาน และทุกคนก็รู้อยู่ว่าหากเป็นรัฐบาลแล้ว นโยบายต่างๆ ที่เสนอต่อประชาชนไว้ก็มีโอกาสนำไปทำให้ประชาชน เป็นการตอบโจทย์ที่นำเสนอต่อประชาชนไว้ตอนหาเสียงแล้วว่าเราทำได้ แต่ถ้าเป็นฝ่ายค้านก็ทำไม่ได้ ดังนั้นทุกคนก็อยากเป็นรัฐบาล

คำว่าเสียบผมคิดว่ามันเป็นคำพูดโจ๊กทางการ เมืองแต่ก็มีความหมายว่าคือการเข้าไปร่วมรัฐบาล ทั้งนี้ พรรคชาติพัฒนาเป็นพรรคขนาดกลาง เป็นพรรคที่ไม่มีปัญหากับใคร และไม่อยากสร้างปัญหาให้ใครด้วย และไปอยู่กับใครก็ไม่เคยมีปัญหา ดังนั้น ใครก็อาจคิดว่าถ้าเอามาร่วมรัฐบาลด้วยก็น่าจะดี

อย่างไรก็ดี การจะเข้าร่วมรัฐบาลนั้น ก่อนอื่นคงต้องดูก่อนว่าการเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ และถ้ารัฐบาลที่ได้มานั้นมาตามกติกา มาตามรัฐธรรมนูญ ถ้าผู้บริหารประเทศ รัฐบาล ครม.มาตามครรลองของประชาธิปไตย มาตามรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่ามาถูกต้อง เราก็ยอมรับได้

คลิกอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน