ประเด็นร้อน : เลื่อนจัดเลือกตั้ง ใครได้-ใครเสีย?

ประเด็นร้อน : ชัดเจนแล้วว่าตลอดปี 2562 ประเทศไทยจะมี 2 เหตุการณ์สำคัญ เรื่องแรก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม

เรื่องที่สอง การเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งแน่นอนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วว่า จะขยับโรดแม็ปวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ออกไปเป็นวันอาทิตย์วันใดวันหนึ่งของเดือนมีนาคม

นั่นก็เพราะว่ารัฐบาลคสช.ไม่สามารถออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การเลือกตั้งส.ส. ได้ทันในวันที่ 2 มกราคม ตามกำหนดไว้ในตอนแรก

สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น หลังมีประกาศสำนักพระราชวัง เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2562

ต่อมาวันที่ 10 มกราคม ได้มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช.เป็นประธาน

ภายหลังการประชุม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า

ในวันที่ 26 มกราคม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานที่ปรึกษาจะเสด็จฯ มาทรงเป็นประธานการประชุม ที่ทำเนียบรัฐบาล

การจัดงานพระราชพิธีฯ จะนำผลประชุมของวันที่ 10 มกราคม กราบบังคมทูล พร้อมขอพระราชวินิจฉัยบางเรื่อง

โดยพระราชพิธีฯ จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

การเตรียมการเบื้องต้น โดยจะมีขึ้นเกือบตลอดทั้งเดือนเมษายน เริ่มจากพิธีพลีกรรม หมายถึงพิธีตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เริ่มจากวันที่ 6 เมษายน ยาวไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน และต่อเนื่องไปถึงวันที่ 2-3 พฤษภาคม

พระราชพิธีเบื้องกลาง ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม ซึ่งวันสำคัญที่สุดคือวันที่ 4 พฤษภาคม คือวันบรมราชาภิเษก และต่อไป จะเรียกว่า วันฉัตรมงคล

กิจกรรมต่อเนื่องเบื้องปลาย โดยจะมี พิธีต่อเนื่อง เช่น วันที่ 8-9 พฤษภาคม คือ วันพืชมงคล รวมถึงกิจกรรมในส่วนของรัฐบาลและประชาชน ที่จะจัดน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย อาทิ กิจกรรมด้านศาสนา เช่น สวดมนต์ กิจกรรมจิตอาสา

กิจกรรมเหล่านี้ไม่กระทบต่อสถานการณ์บ้านเมือง การประชุมวันที่ 26 มกราคม จะได้ทราบรายละเอียดครบทุกประการ

สำหรับคณะกรรมการอำนวยการการจัดงาน พระราชพิธีฯ มีการแบ่งเป็นคณะกรรมการด้านต่างๆ 7 คณะ ประกอบด้วย

คณะกรรมการฝ่ายพิธีการ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นประธาน, คณะกรรมการฝ่ายรักษาความปลอดภัย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม เป็นประธาน

คณะกรรมการฝ่ายโครงการต่างๆ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯและรมว.ยุติธรรม เป็นประธาน, คณะกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ เป็นประธาน

คณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองเสนองบประมาณ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯเป็นประธาน, คณะกรรมการด้านการจัดทำจดหมายเหตุ และคณะกรรมการด้านการประสานงาน

สําหรับความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

ตามขั้นตอนจากนี้ รัฐบาลจะรายงานผลการประชุมเกี่ยวกับพระราชพิธีฯให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต. รับทราบ เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดวันเลือกตั้ง

สำหรับพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง รัฐบาลยังไม่อยู่ในสถานะที่จะประกาศได้ แต่ก็คาดว่าจะประกาศได้ภายในเดือนมกราคมนี้ และจะมีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม

อย่างไรก็ตามรัฐบาลยืนยันจะไม่ใช้มาตรา 44 ขยายกรอบเวลาการเลือกตั้ง ที่ต้องดำเนินการภายใน 150 วันนับตั้งแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561

“เมื่อพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ต้องประกาศภายใน 90 วัน และอำนาจในการออกพ.ร.ฎ. เลือกตั้งเป็นอำนาจของรัฐบาล เมื่อประกาศแล้ว ภายใน 5 วัน กกต.ต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน” นายวิษณุ เครืองาม ระบุ

เป็นความชัดเจนในความไม่ชัดเจน

เพราะตราบใดที่ยังไม่มีพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ถึงจะถูกกระแสกดดันจากรอบด้านหนักหน่วงแค่ไหนก็ตาม กกต.ก็ยังไม่สามารถนับหนึ่งพิจารณากำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนได้อยู่ดี

เหมือนอย่างที่ฝ่าย กกต.พยายามชี้แจงกับฝ่ายการเมืองและพรรคการเมือง ถึงความชัดเจนว่าจะยังมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์หรือไม่ ว่า

ถึงกฎหมายให้ กกต.ต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 5 วัน หลังพ.ร.ฎ.เลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ตอนนี้พ.ร.ฎ.ยังไม่ประกาศ เวลาก็กินมาเรื่อยๆ ความเป็นไปได้ในการเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ ก็น้อยลงไปเรื่อยๆ

จากตรงนี้ทำให้มองเห็นได้ว่า เหตุที่ต้องเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปเป็นครั้งที่ 5 มีต้นตอมาจากฝ่ายใดกันแน่ มาจาก กกต.หรือมาจากรัฐบาลคสช.ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มีประวัติเลื่อนเลือกตั้งมาแล้ว 4 ครั้งในรอบ 4 ปี

จากสถานการณ์ความแน่นอนบนความไม่แน่นอน

ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่าในการเลื่อนเลือกตั้งครั้งที่ 5 ภายใต้อำนาจของคสช.และรัฐบาล ใครเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ ใครเป็นฝ่ายเสียประโยชน์

เบื้องต้นมีเสียงวิจารณ์กระหึ่มว่า ฝ่ายได้ประโยชน์ก็คือพรรคของ คสช.ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎกติกาใหม่เพื่อเป็นฐานรองรับการสืบทอดอำนาจต่อไปอีกอย่างน้อย 8 ปี

เป็นการเปิดโอกาสให้หัวหน้าคสช. ซึ่งจะมีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรค มีโอกาสใช้ช่องว่างกฎหมายที่เขียนเปิดทางไว้เอง สามารถลงพื้นที่จัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรไปทั่วประเทศเหนือ-ใต้-ออก-ตก

ใช้งบหลวงเอาใจชาวบ้านไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกกต. ตราบใดที่พ.ร.ฎ.การเลือกตั้งยังไม่ประกาศใช้

อันเป็นสถานการณ์แตกต่างชนิดหน้ามือกับหลังมือ หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ของการเมืองคู่แข่งอย่างพรรคเพื่อไทย ที่โดนฝ่ายอำนาจไล่บี้สารพัดวิธีจนโงหัวไม่ขึ้น

ไม่ว่าด้วยวิธีการดูดอดีตส.ส.ไปเข้าสังกัดโดยใช้คดีความ ตำแหน่งหน้าที่ในรัฐบาล และผลประโยชน์ที่จับต้องได้ เป็นเครื่องต่อรองกดดันย้ายพรรค

มีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมคุมตัวว่าที่ผู้สมัครส.ส.เพื่อไทยพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ขณะกำลังเตรียมขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียง

การห้ามพรรคเพื่อไทยใช้พื้นที่สนามกีฬาอบจ.พะเยา จัดเวทีปราศรัยเปิดตัว ผู้สมัคร โดยอ้างว่าเป็นสถานที่ราชการ ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง ทั้งที่พรรคได้ทำเรื่องขออนุญาตและได้รับอนุญาตแล้วเรียบร้อย

การส่งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบตามประกบติดคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรค แทบทุกฝีก้าวระหว่างลงพื้นที่หาเสียง

รวมถึงกระแสข่าวเตรียมปัดฝุ่นรื้อคดีโครงการบริหารจัดการน้ำ และการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2548-2553 ในยุคสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ขึ้นมาเป็นเครื่องมือดิสเครดิตนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หลังมีข่าวพรรคเพื่อไทยเตรียมใส่ชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ไว้ในบัญชีของพรรค

หมากตานี้ของพรรคเพื่อไทย เท่ากับกระตุ้นให้เกิดข้อเปรียบเทียบด้านคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถระหว่าง “ชัชชาติ” กับผู้มีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรค คสช.โดยตรง

ใครเหนือกว่า ใครด้อยกว่า

การเดินหน้าใช้อำนาจรุกไล่กดดันพรรคเพื่อไทย หากเป็นเมื่อ 4-5 ปีก่อน ภายหลังรัฐประหารใหม่ๆ คงไม่มีใครกล้าหือกล้าอือ เช่นเดียวกับการเลื่อนเลือกตั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา ที่ไม่มีใครกล้าเคลื่อนไหวต่อต้าน

แต่เมื่อเวลาผ่านไปเป็นรัฐบาลคสช.ที่ได้พิสูจน์ ตัวเองให้ประชาชนเห็นแล้วว่า ได้ใช้อำนาจที่ยึดมาไปในทางใด เพื่อประโยชน์ประเทศชาติและประชาชน หรือเพื่อประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง

สำหรับการเลือกตั้งนั้น รัฐบาลคสช.อาจใช้พลังอำนาจหน่วงเหนี่ยวไว้ได้ ก็แค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง อาจจะ 1 เดือนอย่างที่เป็นข่าว หรือมากกว่านั้น ยังไม่มีใครรู้

แต่ความจริงก็คือ รัฐบาลคสช.ไม่สามารถทำให้ไม่มีการเลือกตั้งโดยสิ้นเชิงได้ เช่นเดียวกับคำตอบในใจของประชาชน ที่ไม่ว่าเวลาจะทอดยาวไปอีกนานเท่าใด

ก็ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน