พรรคใหม่ชักธงรบสู้เลือกตั้ง : พงศกร รอดชมภู-ปกรณ์ อารีกุล-ปรีชาพล พงษ์พานิช

พรรคใหม่ชักธงรบสู้เลือกตั้ง : พงศกร รอดชมภู-ปกรณ์ อารีกุล-ปรีชาพล พงษ์พานิช – ในสนามเลือกตั้งส.ส. ที่จะมีขึ้นครั้งนี้ มีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นมามาก ต่างประกาศพร้อมสู้ศึกแย่งชิงเก้าอี้ส.ส.เข้าสภา ผู้แทนราษฎร แต่ละพรรคมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ดังนี้

  • พงศกร รอดชมภู
    รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.)

ยุทธศาสตร์หาเสียงของพรรคอนาคตใหม่ จะเน้นลงพื้นที่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ให้ประชาชนรู้จักพวกเรามากที่สุด ชนิดเคาะประตูบ้านกันในพื้นที่ห่างไกลให้ได้ สำหรับเขตเมืองในต่างจังหวัด เป้าหมายอยู่ในย่านตลาดที่มีประชาชน หนาแน่น เหมาะแก่การแนะนำตัว

การเปิดตัว 12 นโยบาย แบ่งเป็น 3 ฐานราก 8 เสาหลัก และ 1 ปักธงประชาธิปไตย เชื่อว่าเป็นจุดขายทางแนวคิดที่ชัดเจน ให้ประชาชนรับรู้รับทราบทิศทางและอุดมการณ์ทางการเมือง ที่ก้าวหน้าของพรรคอย่างแจ่มชัดแล้ว ประกอบกับการโหม ลงพื้นที่ จึงเชื่อมั่นว่ากระแสการรับรู้ของอนาคตใหม่จะเข้าไปยังผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง กว่า 52 ล้านมากขึ้น

ประกอบกับการเปิดตัวผู้ลงสมัครส.ส.แบบแบ่ง เขตทั้ง 350 คน จะประสานกับคณะทำงานในภูมิภาค ทั้งสาขาพรรคและสำนักงานพรรคระดับจังหวัดทั่วทั้งประเทศ ร่วมกับสมาชิกพรรคที่ล่าสุดตอนนี้มีแล้ว 40,000 คน จะมีเครือข่ายอนาคตใหม่รณรงค์ทางความคิดกระจายอยู่ทุกพื้นที่ตลอดเวลา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าแค่ระยะเวลาหาเสียง 60 กว่าวันเท่านั้น แต่เป็น 365 วันตลอดทุกปี ถือเป็นการทำงานความคิดกันในระยะยาว

อนาคตใหม่ประกาศชัดตั้งแต่วันแรกว่า จะใช้การเมืองแบบใหม่ที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่การเมืองสกปรกเหมือนในอดีต โดยไม่พึ่งพาหัวคะแนนในพื้นที่เหมือนพรรคอื่น การรณรงค์หาเสียงจึงเน้นพูดคุยพบปะพี่น้องในพื้นที่ ปักหมุดทางความคิด ทางอุดมการณ์ที่มั่นคงในระบอบประชาธิปไตยมากที่สุด

เราจะกระจายลงพื้นที่หาเสียงอย่างเข้มข้นทั่วถึง เน้นเสนอนโยบายและอุดมการณ์ทางการเมืองในการยึดถือระบอบประชาธิปไตยเป็นสำคัญ ซึ่งยุทธวิธีการทำงานการเมืองในทางความคิด เมื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเข้าใจหลักการและแนวนโยบายของพรรค ก็ถือว่าจบ

ยอมรับว่า ผู้ลงสมัครส.ส.ของพรรค เป็นคนธรรมดาหน้าใหม่ แม้จะมีนักธุรกิจปะปนบ้าง แต่ไม่ใช่นักการเมืองอาชีพหน้าเก่า หลายฝ่ายอาจมองว่าเป็นจุดอ่อน แต่เชื่อว่าเมื่อรวมกับยุทธศาสตร์ของพรรคที่ให้ ความสำคัญกับพรรคมากกว่าตัวบุคคล นี่อาจจะเป็นจุดแข็ง สร้างความแตกต่างจากที่ผ่านมา

ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ ที่อายุ 18 ปีมีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก กว่า 4 ล้านคน จะออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งเยอะกว่าครั้งที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในระดับร้อยละ 30 ของช่วงวัยนี้เท่านั้น ขอแค่ออกมาร้อยละ 50 แล้วเทคะแนนให้อนาคตใหม่ได้ราว 2 ล้านคน ก็จะส่งผลอย่างมี นัยยะสำคัญของจำนวนส.ส.

สำหรับโพลภายในพรรคอนาคตใหม่ ก็สอดรับกับที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคเปิดเผยคืออยู่ที่ร้อยละ 13-15 คิดเป็น 50-75 ที่นั่งส.ส. ซึ่งปัจจัยบวกของพรรคที่จะส่งผลต่อการสร้างกระแสนิยมให้เพิ่มขึ้นจนถึงวัน เลือกตั้งนั้น ยังต้องดูกันวันต่อวัน

ภาพรวมของพรรคซีกประชาธิปไตย หลายพรรครวมกันทั้งหมดเป้าหมายอยู่ที่ 300 เสียงเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องได้ถึง 376 เสียงในสภา เพื่อลงมติเลือกนายกฯ แข่งกับ 250 ส.ว.ที่คสช.แต่งตั้ง ลำพังเป้าหมายที่แท้จริง หากถึง 270 เสียง ฝ่ายที่ต้องการสืบทอดอำนาจก็ต้องถอยแล้ว เพราะจะอยู่ได้ไม่นาน เสียงในสภาล่างจะถูกพรรคซีกประชาธิปไตยกำกับไว้ทั้งหมด หากฝืน ตั้งรัฐบาลจะมีปัญหาในสภาล่างทันที

หากเป็นเช่นนี้ พรรคขนาดกลางที่ยังแทงกั๊ก จะประเมินทันทีว่าไม่สามารถร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อสืบ ทอดอำนาจ ซึ่งอายุจะไม่ยืนยาว ได้แค่ 5-6 เดือนแล้วต้องล้มไป เลือกตั้ง ครั้งถัดไปก็ยิ่งมีปัญหา เนื่องจากภาพลักษณ์ถูกจัดให้ไปอยู่ในฝ่ายคสช.แล้ว สู้มารวมกับพรรคซีกประชาธิปไตย ที่มี 270 เสียง แล้วเป็นผู้ชนะ ร่วมกันบริหาร บ้านเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่าน สู่การเป็นประชาธิปไตยจะดีกว่า

พรรคใหม่ชักธงรบสู้เลือกตั้ง

  • ปกรณ์ อารีกุล
    โฆษกพรรคสามัญชน

พรรคสามัญชนได้รับการรับรองตั้งพรรคอย่าง เป็นทางการแล้วจากกกต.ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา และมีฐานเครือข่ายสมาชิกครบ 100 คนแล้วใน 5 จังหวัด คือ เลย ขอนแก่น เชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง

สามัญชนเกิดจากการก่อตัวของฐานสมาชิกที่ เป็นเครือข่ายชาวบ้านเชิงประเด็น ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย มีเครือข่ายเอ็นจีโอหรือภาคประชาสังคมเป็นส่วนหนึ่ง เช่น ภาคอีสาน มีกลุ่มอีสานใหม่ กลุ่มดาวดิน ของนักศึกษาที่ทำกิจกรรมร่วมกับ ชาวบ้าน กลุ่มคนรักบ้านเกิดจ.เลย กลุ่มกระนวน กลุ่มต่างๆ ในจ.กาฬสินธุ์ สุรินทร์ และสกลนคร

ภาคเหนือ มีชุมชนนักกิจกรรมเพื่อบ้านแหล่ง จ.ลำปาง กลุ่มชาติพันธุ์ ในจ.เชียงราย เชียงใหม่ ภาคใต้ มีกลุ่มรักเขาคูหา คัดค้านโรงไฟฟ้า โรงโม่หิน ตลอดจนกลุ่มชาวบ้านอื่นๆ ที่เป็นเครือข่ายเรียกร้องสิทธิชุมชน จากทั้งปัญหาที่ดิน ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

โมเดลการขับเคลื่อนของสามัญชนในภาพรวม จึงเกิดจากเครือข่ายชาวบ้านที่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีการเข้าร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนรัฐประหารปี 2549 หวัง ผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาเชิงประเด็น แต่สุดท้ายแล้ว กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองก็นำประเด็นเรียกร้องไปร่วมสร้างวิกฤตทางการ เมือง ทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ปูทางให้กองทัพรัฐประหาร

ที่ผ่านมา การต่อสู้ภาคประชาชนส่วนหนึ่งถูกใช้ ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็น คมช.ปี 2549 และคสช.ปี 2557 ทว่าเมื่อมีการยึดอำนาจ การแก้ไขปัญหาทั้งในเชิงหลักการและกระบวนการไม่เคยได้รับการตอบสนอง เรากลายเป็นเพียงหางเครื่อง ดังนั้น การต่อสู้ เรียกร้องรายประเด็นจึงต้องขยายความคิดในทางโครงสร้าง ซึ่งเป็นการต่อสู้ให้ถึงรากเหง้าของปัญหา

การขับเคลื่อนพรรค แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ทีมสมาชิกคณะทำงานในพื้นที่ทั้ง 4 ภาค เหนือ ใต้ อีสาน-ตะวันออก และกลาง เข้มแข็งที่สุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คอยรับฟังเสียงสะท้อนของชาวบ้านระดับล่าง ก่อนนำฐานข้อมูลทางวิชาการมาผลักดันกลั่นกรองออกมาเป็นนโยบายที่จับต้องได้ จริง

ทีมสมาชิกในภาคส่วนต่างๆ ทั้งปีกแรงงาน ปีกสวัสดิการ ปีกเกษตรกร ปีกความหลากหลายทางเพศ ทำหน้าที่คล้ายกับส่วนแรก รับฟังเสียงสะท้อน ก่อนเข้าสู่กระบวนการจัดทำนโยบาย ความหมายของโครงสร้างพรรคทั้งหมดคือ การทำให้สมาชิกใหญ่กว่าคณะกรรมการบริหารพรรค

ในแง่นโยบายยังไม่อาจประกาศอย่างเป็นทางการ ได้ แต่สามัญชนมีแก่นความคิดหลักที่จะใช้ขับเคลื่อน 3 ฐานหลัก คือ 1.ประชาธิปไตย มุ่งเน้นการกระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้ว่าฯ 2.สิทธิมนุษยชน พร้อมร่วมแก้ไขกฎหมายละเมิดสิทธิและเสรีภาพ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ. ชุมนุม ยกเลิกโทษประหาร เพื่อให้สอดคล้องตามหลักสากล

3.ความเท่าเทียมเป็นธรรม สามัญชนจะไม่เสนอโครงการ ขนาดใหญ่ ที่อ้างการพัฒนา ทว่าก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาล เกิดการผูกขาดโดยกลุ่มทุนใหญ่ แกนความคิดหลักของสามัญชนคือ มุ่งฐานรากสร้างรากฐาน เพื่อเดินสู่ความเท่าเทียมเป็นธรรม ผลักดันให้เกิดสิทธิชุมชนในการจัดสรรทรัพยากร ทั้งโฉนดชุมชน หรือธนาคารที่ดิน

สำหรับความพร้อมส่งคนลงเลือกตั้ง ตอนนี้พร้อมส่ง 30 เขต ใน 10 กว่าจังหวัด ซึ่งในเขตเมือง อย่างกทม. 30 เขต ก็มีสมาชิก ผู้ร่วมก่อตั้งพร้อมลงส.ส.ประมาณ 22 เขต อย่างน้อยน่าส่งได้ 15 เขต ซึ่งตัวเลขที่ประเมินตอนนี้คือ สามัญชนน่าจะมีตัวแทนเข้าสภา 3-5 คน หรือราว 2-3 แสนเสียง

ยอมรับว่าไม่ได้หวังกับส.ส.เขต แม้ที่มั่นของสามัญชนในจ.เลย จะมีคะแนนเสียงจำนวนหนึ่งอยู่บ้าง แต่ผู้ร่วมก่อตั้งมองการจัดตั้งพรรคสามัญชน ในเชิงอุดมคติ 2 เรื่องคือ 1.นี่คือพรรคของสามัญชนอย่างแท้จริง พวกเราจะทำงานในระยะยาว 2.ในการเลือกตั้งจะแข่งขันด้วยความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ เมื่อขึ้นเวที กติกาเป็นแบบไหนก็ไม่เกี่ยง พร้อมต่อยอย่างสมศักดิ์ศรี เมื่อระฆังหมดยกดัง ก็ยังลงมาทำงานนอกเวที ขับเคลื่อนพลังของกลุ่มภาคประชาสังคมต่อไป

สำหรับสามัญชน การเลือกตั้งคือ เรื่องหนึ่ง การเคลื่อนไหวทางสังคมก็อีกเรื่องหนึ่ง

ยืนยันว่าไม่มีทางร่วมกับพรรค ที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช.ทุกรูปแบบ เมื่อมีส.ส.จะเดินหน้าผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แก้ไขคำสั่งคสช.ที่ ก่อให้เกิดละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตามแคมเปญที่ไอลอว์ รณรงค์ล่าชื่อประชาชน 10,000 คน เพื่อนำไปสู่การเสนอกฎหมายยกเลิก

  • ปรีชาพล พงษ์พานิช
    หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)

เราจะเน้นเข้าหาประชาชน สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยชี้ให้เห็นว่าขณะนี้พรรคการเมืองแบ่งเป็น 3 ซีก คือฝ่ายที่สนับสนุนประชาธิปไตยอย่างชัดเจน ฝ่ายที่สนับสนุนกระบวน การสืบทอดอำนาจ และฝ่ายที่เป็นตัวแปรยังไม่มีความชัดเจน

ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นกระบวนการซึ่งประชาชนต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน ผมเชื่อว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา ทุกคนตกผลึกทางความคิดแล้วว่าถ้าเราอยากให้ประเทศเดินไปในทิศทางไหน สิ่งไหนจะเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุด

ถ้าฝ่ายที่สนับสนุนเผด็จการชนะ ประเทศก็จะอยู่ในวังวนแบบเดิมๆ ต่อไป ไม่สามารถหลุดกับดักหลุมที่เขาวางเอาไว้ และอาจยาวนานถึง 10-20 ปี แต่หากฝ่ายประชาธิปไตยชนะ เราเชื่อมั่นว่าจะคืนความสุขให้กับประชาชนได้ เพราะหลักการของประชาธิปไตย คือการยึดมั่นประชาชน สิ่งที่เรามีต่างจากรัฐบาลเผด็จการ คือเราฟังประชาชน เพราะเรามาจากประชาชน

ผมเชื่อว่าเมื่อเราได้มีโอกาสเข้ามาทำงาน เราจะคืนโอกาสในการทำมาหากิน สิทธิเสรีภาพของประชาชน เราจะปลดปล่อยศักยภาพของคนไทยและประเทศ บรรยากาศการค้าการลงทุนจะกลับคืนมา เราจะนำเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม

การเลือกตั้งครั้งนี้ชัยชนะไม่ได้อยู่แค่ การเป็นส.ส. สำคัญที่สุดคือเราจะต้องจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ คำถามคือเราจะต้องมีเสียงสนับสนุนจำนวนเท่าไร เบื้องต้นต้องมีเสียงสนับสนุน 251 เสียงเพื่อให้เป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภา ถ้าเราอยู่บนสมมติฐานที่ว่าส.ว. 250 คน รับฟังเจตนารมณ์ของประชาชนในการเลือกตั้ง แม้จะมาโดยการแต่งตั้ง จาก คสช.

แต่ที่อยากได้ที่สุดคือ พรรคฝ่ายประชาธิปไตยรวมกันได้ 376 เสียง แบบนี้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ส.ว.จะเห็นด้วยหรือไม่ จะตอบแทนบุญคุณคสช.หรือไม่อย่างไร ตรงนี้เราไม่ต้องกังวล เกมนี้เป็นเกมประชาชน ไม่ใช่การใช้กำลังทหาร กำลังอาวุธ หรือรถถังเข้ามาวัดว่าใครเก่ง ใครแน่ แต่เป็นสิทธิ์ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 50 ล้านคนที่จะกำหนดอนาคตของตัวเองและประเทศ

ภารกิจแรกหากเราได้เป็นรัฐบาล คือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทำได้ทันทีเห็นผลภายใน 5-6 เดือน ภายใน 1 ปีพลิกฟื้นเห็นผลชัดเจน เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนเฝ้ารอคอยมากที่สุด เมื่อปากท้องอิ่มแล้วเรื่องอื่นก็คุยกันง่าย

ในเวลาเดียวกันกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีการริเริ่ม เริ่มสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไม่ง่าย ต้องได้รับการยอมรับจากประชาชน หนทางเดียวคือต้องให้ประชาชนตกผลึกทางความคิด ให้เขามีความคิดในทางเดียวกัน ต้องสร้างกระแส และข้อตกลงที่ตรงกัน ถึงจะมีโอกาสแก้รัฐธรรมนูญได้ เขาเขียนรัฐธรรมนูญมาเหมือนเพื่อให้ฉีก เหมือนจะแก้ได้แต่แก้ได้ยากถึงยากมากที่สุด เป็นสิ่งที่ต้องพูดคุยกัน

อย่าบอกว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นชนวนเหตุให้เกิดความขัดแย้ง เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุดของประเทศ ควบคุมการอยู่ร่วมกันของสังคม ดังนั้น ผู้ที่สนับสนุนการไม่แก้รัฐธรรมนูญ ก็มีสิทธิ์ เราก็มีสิทธิ์ของเรา แต่เมื่อสังคมได้ลงฉันทามติร่วมกันแล้ว ต้องเคารพการตัดสินใจกัน ผมเชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งต่อไปอาจไม่ใช่รัฐบาลก็ได้ แต่แก้โดยภาคประชาชน

…อ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ที่….

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน