เลขาป.ป.ช.เผยคืบปมสินบนโรลส์รอยซ์ อยู่ชั้นอนุฯแสวงหาข้อมูล ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากในปท.-ตปท. มั่นใจข้อมูลเพียงพอ ชงขอมติกก.ชุดใหญ่ตั้งอนุฯไต่สวน หนุนใช้ม.44 เพื่อทำงานได้เร็วขึ้น ค้านหากโยงตปท.หวั่นกระทบการขอข้อมูล

เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่สำนักงานป.ป.ช. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานคณะทำงานสืบสวนและรวบรวมข้อมูล กรณีบริษัทโรลส์รอยซ์ (Rolls-Royce) จ่ายสินบนในการซื้อขายเครื่องยนต์อากาศยาน และเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศไทย โดยระบุว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวกรณีตรวจสอบพบการจ่ายสินบนของบริษัทโรลส์รอยซ์ให้อดีตผู้บริหารและพนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ในการจัดซื้อเครื่องยนต์เครื่องบินโบอิ้ง 777 รวม 3 ครั้ง ในช่วงปีพ.ศ.2534-2548 เป็นเงิน 1,253 ล้านบาท และการจ่ายสินบนของบริษัทโรลส์รอยซ์ เอเนอร์จี ซิสเต็ม ให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน)(ปตท.) และบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตเลียม จำกัด(มหาชน)(ปตท.สผ.) เป็นเงินกว่า 385ล้านบาท กล่าวถึงความคืบหน้าในการสืบสวนรวบรวมข้อมูล ว่า เรื่องนี้อยู่ในชั้นการแสวงหาข้อมูล การทำงานเป็นไปด้วยดี มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่สำนักต่างประเทศของป.ป.ช. ที่ได้ติดต่อประสานขอข้อมูลไปทั้งป.ป.ชอังกฤษและกระทรวงยุติธรรมสหรัฐนั้น ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการส่งผ่านข้อมูลกันอยู่ และได้ข้อมูลจากบริษัทการบินไทยและปตท.สผ.แล้ว ขณะนี้ได้ส่งหนังสือประสานมายังสำนักงาน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) เพื่อขอเอกสารที่เกี่ยวข้อง เอกสารการประชุมคณะรัฐมนตรี เนื่องจากตามขั้นตอนของโครงการต้องผ่าน การขอความเห็นชอบจากมติครม.

อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.ในฐานะหน่วยงานที่วิ่งเป็นคนกลางประสานหมดทุกที่ อาทิ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งในส่วนของปปง.นี้ ตนได้ส่งหนังสือไปถึงเลขาธิการปปง. เพื่อประสานขอให้ทำงานร่วมกัน โดยเลขาฯปปง.จะมอบหมายส่งเจ้าหน้าที่มาพูดคุยในเรื่องกรอบการทำงาน เพราะจะต้องขอความร่วมมือในเรื่องการติดตามเส้นทางทางการเงินบางส่วน

นอกจากนี้ ประสานไปที่ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) โดยเบื้องต้นได้พูดคุยหารือกันถึงกรอบการทำงานว่า จะประสานความร่วมมือในการทำงานร่วมกันได้อย่างไร ซึ่งสอดคล้องความเห็นของนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม และทางศอตช.ก็บอกอยู่แล้วว่า หากเราติดขัดเรื่องปัญหาทางกระบวนการยุติธรรมขอให้บอกมา เพื่อที่จะได้พูดคุยกับทุกหน่วยงานทั้ง สตง. ปปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทันท้วงที และในเวลานี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยอมรับว่า หากหน่วยงานไหนมีความคืบหน้าอย่างไรให้ส่งข้อมูลมาที่ป.ป.ช.เป็นผู้ดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม สำหรับการประสานงานขอข้อมูลไปยังกระทรวงที่เกี่ยวโยงนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ติดต่อมาที่กระทรวงใด แต่หากตรวจสอบพบเรื่องเส้นทางทางการเงินหรือมีบริษัทใดเข้ามาเกี่ยวเนื่อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ แต่ตอนนี้ ถือว่ามีความคืบหน้าในการสอบสวนไปมากแล้วหากมีข้อมูลเพียงพอชัดเจน ก็จะสรุปเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. เพื่อขอตั้งกรรมการไต่สวนต่อไป ส่วนจะเป็นเมื่อไหร่นั้นขอดูความชัดเจน แต่เรื่องนี้จะทำให้เร็วที่สุด

เมื่อถามถึงกรณีที่รมว.คลังเสนอให้ม.44 ในการแก้กฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นและสินบนข้ามชาติให้รวดเร็วขึ้น นายสรรเสริญ กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบในรายละเอียด อย่างไรก็ตามหากแก้ไขเพื่อทำงานให้ได้เร็วขึ้นและถูกต้องตามกฏหมายก็ไม่ได้ขัดแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ บูรณาการในการทำงานภายในประเทศไทยไม่เกี่ยวโยงไปถึงต่างประเทศ เพราะม. 44 เป็นของเราไม่เกี่ยวกับต่างประเทศ และถ้าเกี่ยวโยงไปถึงต่างประเทศเมื่อไหร่ อาจจะเป็นผลลบต่อไทยด้วยซ้ำที่จะขอข้อมูลใดๆไม่ได้ ดังนั้นเขาจึงท้วงเรามาว่าขอให้ระมัดระวังในการให้ข่าวอย่างที่ตนเคยบอกไปแล้ว

“ในมุมของผม ไม่เห็นด้วยถ้าใช้ม.44 กับต่างประเทศ แต่ในประเทศเห็นด้วยถ้าเสนอแล้ว เพื่อการทำงานที่รวดเร็ว การบูรณาการงานให้เร็วขึ้น อย่างนี้เห็นด้วย” เลขาป.ป.ช. กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน