“วิษณุ”โต้คนกล่าวหารัฐบาลเมินปมสินบนโรลส์-รอยซ์ ยันเกาะติดแต่ยังให้ข่าวไม่ได้ เลขาฯป.ป.ช.เผยเร่งสรุปข้อมูลชงป.ป.ช.ชุดใหญ่ตั้งกรรมการไต่สวน ผู้ว่าฯสตง.แย้มชื่อย่อ ก ไก่ 2 คน ส เสือ 1 คนนัดกินข้าวในวันลอยกระทงปี”34 ที่โรงแรมดัง ปชป.จี้รัฐทบทวนใช้มาตรา 44 แก้กฎหมายอุ้มคนให้สินบน ชี้หนุนโกง-วิ่งล้มคดีหนักขึ้น เพื่อไทยสงสัยเหตุประโคมข่าวขู่ฆ่า”บิ๊กป้อม”หวังกลบข่าวลบรัฐบาล ศาล-ผู้ตรวจฯแจงกฎหมายลูกกรธ.วันนี้ “คณิต”โต้ดันทุรังเข็นกฎหมายคุมสื่อ ไม่กังวลถูกไล่พ้นประธานกมธ. “จตุพร” แฉมีคนพยายามยืมมือล้มแผนสร้างปรองดอง “ไก่อู”ยันรัฐเปล่าใช้มาตรา44 เร่งรถไฟไทย-จีน อีก 2-3 เดือนตอกเสาเข็ม

“วิษณุ”ยันรัฐใส่ใจปมโรลส์-รอยซ์

เมื่อวันที่ 5 ก.พ. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่นาย อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลังเสนอให้ใช้มาตรา 44 แก้กฎหมายเปิดโอกาสให้กับผู้ให้สินบนสารภาพและจ่ายค่าปรับแทนการลงโทษแบบเดิม เพื่อป้องกันปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทยว่า เห็นข่าวจากหนังสือพิมพ์แล้ว ไม่มีเรื่องส่งมาถึงตน คงตอบไม่ถูก และไม่ทราบจริงๆ ว่าเขาจะเสนออะไรมามากน้อยกว่าที่เป็นข่าว เพราะเท่าที่อ่านดูจากข่าวมีทั้งจุดอ่อนจุดแข็ง ตอบไม่ถูกและไม่เป็นธรรมแก่ตนที่จะไปตอบ เมื่อถามว่าหากมีการเสนอแก้ไขกฎหมาย ดังกล่าวจริงจะทำให้การแก้ปัญหาสินบนข้ามชาติทำได้รวดเร็วขึ้นหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะยังไม่เห็นเรื่อง

ส่วนความคืบหน้ากรณีที่บริษัทโรลส์-รอยซ์ ยอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตของประเทศอังกฤษ (เอสเอฟโอ) ว่ามีการจ่ายสินบนในหลายประเทศในการซื้อขายเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ รวมถึงประเทศไทย นั้นในที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้อยู่พร้อมหน้ากันจึงได้ใช้โอกาสนี้สอบถามความคืบหน้าของแต่ละหน่วยงานว่าดำเนินการสอบข้อเท็จจริงมีความคืบหน้าอย่างไร ฉะนั้นใครจะมาหาว่ารัฐบาลไม่สนใจอะไรไม่ได้ รัฐบาลสนใจ เพียงแต่ยังให้ข่าวไม่ได้

ป.ป.ช.เผยความคืบหน้า

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะทำงานสืบสวนและรวบรวมข้อมูล กรณีบริษัทโรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนในการซื้อขายเครื่องยนต์อากาศยานและเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวกรณีตรวจสอบพบการจ่ายสินบนของบริษัทโรลส์-รอยซ์ให้อดีตผู้บริหารและพนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ในการจัดซื้อเครื่องยนต์เครื่องบินโบอิ้ง 777 รวม 3 ครั้ง ในช่วงปีพ.ศ.2534-2548 เป็นเงิน 1,253 ล้านบาท และการจ่ายสินบนของบริษัทโรลส์-รอยซ์ เอเนอร์จี ซิสเต็ม ให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทปตท.สำรวจและผลิต ปิโตเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) เป็นเงินกว่า 385 ล้านบาท ว่า เรื่องนี้อยู่ในชั้นการแสวงหาข้อมูล การทำงานเป็นไปด้วยดี มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

แม้แต่สำนักต่างประเทศของป.ป.ช. ที่ได้ติดต่อประสานขอข้อมูลไปทั้งป.ป.ช.อังกฤษและกระทรวงยุติธรรมสหรัฐก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการส่งผ่านข้อมูลกันอยู่ และได้ข้อมูลจากการบินไทยและปตท.สผ.แล้ว ขณะนี้ได้ส่งหนังสือประสานมายังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อขอเอกสารที่เกี่ยวข้อง เอกสารการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากตามขั้นตอนของโครงการต้องผ่านการขอความเห็นชอบจากมติครม.

มั่นใจชงตั้งกก.ไต่สวนได้

นายสรรเสริญกล่าวว่า ป.ป.ช.ในฐานะหน่วยงานที่วิ่งเป็นคนกลางประสานหมดทุกที่ อาทิ ปปง. ซึ่งในส่วนของปปง.นี้ ตนได้ส่งหนังสือไปถึงเลขาธิการปปง. เพื่อประสานขอให้ทำงานร่วมกัน โดยเลขาธิการปปง.จะมอบหมายเจ้าหน้าที่มาพูดคุยในเรื่องกรอบการทำงาน เพราะต้องขอความร่วมมือในเรื่องการติดตามเส้นทางการเงินบางส่วน นอกจากนี้ประสานไปที่ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) โดยเบื้องต้นได้พูดคุยหารือกันถึงกรอบการทำงานว่าจะประสานความร่วมมือในการทำงานร่วมกันได้อย่างไร ซึ่งสอดคล้องความเห็นของนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม

ส่วนทางศอตช.บอกอยู่แล้วว่า หากเราติดขัดเรื่องปัญหาทางกระบวนการยุติธรรมขอให้บอกมาเพื่อจะได้พูดคุยกับทุกหน่วยงานทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ป.ป.ท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทันท่วงที และในเวลานี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยอมรับว่าหากหน่วยงานไหนมีความคืบหน้าอย่างไรให้ส่งข้อมูลมาที่ป.ป.ช.เป็นผู้ดำเนินการ หากมีข้อมูลเพียงพอชัดเจนจะสรุปเสนอต่อที่ประชุมป.ป.ช.เพื่อขอตั้งกรรมการไต่สวนต่อไป ส่วนจะเป็นเมื่อไหร่นั้นขอดูความชัดเจน แต่เรื่องนี้จะทำให้เร็วที่สุด

ปชป.ค้านใช้ม.44อุ้มคดีใต้โต๊ะ

เมื่อถามถึงกรณีที่รมว.คลังเสนอให้มาตรา 44 ในการแก้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นและสินบนข้ามชาติให้รวดเร็วขึ้น นายสรรเสริญกล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด แต่หากแก้ไขเพื่อทำงานให้ได้เร็วขึ้นและถูกต้องตามกฎหมายก็ไม่ได้ขัดแต่อย่างใด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ บูรณาการในการทำงานภายในประเทศไทยไม่เกี่ยวโยงไปถึงต่างประเทศ เพราะมาตรา 44 เป็นของเราไม่เกี่ยวกับต่างประเทศ และถ้าเกี่ยวโยงไปถึงต่างประเทศเมื่อไหร่ อาจจะเป็นผลลบต่อไทยด้วยซ้ำที่จะขอข้อมูลใดๆ ไม่ได้ ดังนั้นเขาจึงท้วงเรามาว่าขอให้ระมัดระวังในการให้ข่าวอย่างที่ตนเคยบอกไปแล้ว

“ในมุมของผม ไม่เห็นด้วยถ้าใช้มาตรา 44 กับต่างประเทศ แต่ในประเทศเห็นด้วย ถ้าเสนอเพื่อการทำงานที่รวดเร็ว การบูรณาการงานให้เร็วขึ้น อย่างนี้เห็นด้วย” นายสรรเสริญ กล่าว

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยและเสียงของสังคมก็ไม่เห็นด้วย จึงอยากให้มีการทบทวนเรื่องดังกล่าว รวมถึงยังเป็นเรื่องที่สวนทางกับนโยบายของรัฐบาลในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น

ระบุหนุนโกงหนักขึ้น

นายราเมศกล่าวว่า นอกจากนี้ ตนตั้งข้อสังเกตว่าขณะนี้มีความผิดปกติหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก่อนหน้านี้มีปัญหาเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. … ในหลายมาตราที่พบว่ามีการเอื้อให้เกิดการทุจริต เพราะมีการยกเว้นให้กับรัฐวิสาหกิจทั้งที่เป็นแหล่งที่มีงบประมาณและมีการแสวงหาประโยชน์มากที่สุด จึงขอเรียกร้องให้ทบทวนเพื่อให้รัฐวิสาหกิจมีหลักเกณฑ์ในการจัดซื้อจัดจ้างที่ชัดเจน โดยเสนอกฎหมายเฉพาะมาอีกหนึ่งฉบับแทนที่จะเปิดช่องให้แต่ละรัฐวิสาหกิจไปออกระเบียบกันเอง

“การที่กระทรวงการคลังเสนอให้ลดโทษคนให้สินบน โดยอ้างต่างประเทศไม่อยากให้เกิดความสับสน ผมเห็นว่ากฎหมายที่บังคับใช้อยู่ดีอยู่แล้ว หากทำตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังจะมีผลกระทบต่อฐานความผิดอีกหลายฐานความผิด ที่สำคัญจะกระทบกับฐานความผิดต่อเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและหากเดินตามแนวนี้จะส่งเสริมให้เกิดการทุจริตอย่างใหญ่หลวง เพราะแค่รับสารภาพและเสียค่าปรับเท่าจะเป็นมูลเหตุจูงใจทำให้คนกล้าให้สินบนมากขึ้นจึงอยากให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)และรัฐบาลรับฟังคำท้วงติงจากทุกภาคส่วนถ้าเดินตามนี้ถือว่าเป็นการเดินผิดทาง” นายราเมศกล่าว

เชื่อนำไปสู่การวิ่งล้มคดี

ด้านนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่ากฎหมายเดิมมีการระบุเกี่ยวกับคนให้ข้อมูลเรื่องการทุจริต เพื่อชี้มูลความผิดผู้อื่น ให้ป.ป.ช.สามารถกันเป็นพยานได้อยู่แล้ว ไม่ต้องรับโทษเพื่อเอาตัวผู้กระทำผิด โดยมีการใช้มาแล้วหลายครั้ง เช่น กรณีการโกงสอบนายอำเภอและกรณีผู้ประกอบการที่ให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ในคดีจำนำข้าว ดังนั้นการจะเขียนกฎหมายใหม่จะซ้อนกับกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 123/5 วรรคสอง นอกจากนี้มาตรา 103/6 ระบุว่าให้กันผู้ร่วมกระทำความผิดหรือผู้ที่ถูกกล่าวหาให้เป็นพยานได้ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2554 จึงสงสัยว่ากระทรวงการคลังคิดครบถ้วนหรือไม่ เพราะถ้าทำตามที่เสนอจะกระทบไปหลายคดี จนอาจนำไปสู่การวิ่งเต้นล้มคดีได้

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลควรพิจารณาให้รอบคอบถึงผลได้ผลเสีย รวมทั้งผลกระทบต่อการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยรวม ทางที่ดีควรปรึกษาหารือองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. และหน่วยงานต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบให้รอบด้าน เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายสามารถแก้ไขปัญหาสินบนได้อย่างแท้จริง

ฝากการบ้าน 3 ข้อ-แก้ทั้งระบบ

นายองอาจกล่าวว่า ขอฝากไปยังผู้มีอำนาจคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ดังนี้ 1.จะกระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ทำให้ไม่หวาดกลัวที่จะทำผิดกฎหมายหรือไม่ 2.จะเป็นการเปิดช่องให้ผู้ตั้งใจให้สินบนใช้โอกาสทางกฎหมาย เมื่อรู้ตัวว่าลำบากที่จะต่อสู้ให้พ้นผิดได้ เพื่อไม่ต้องรับผิดถึงขั้นติดคุกติดตะรางหรือไม่ และ 3.ควรพิจารณาเทียบเคียงกับกฎหมายอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกันด้วยว่าทำอย่างไรไม่ให้กระทบกับการบังคับใช้กฎหมายโดยรวม

ตนเห็นด้วยที่รัฐบาลพยายามหาช่องทางต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสินบนโดยเฉพาะสินบนข้ามชาติที่ระบาดอย่างหลากหลายในไทย แต่ต้องทำอย่างรอบคอบ คำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ทางที่ดีรัฐบาลควรคำนึงถึงการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจเชิงโครงสร้างทั้งระบบในขณะที่รัฐบาลมีอำนาจเต็มไม้เต็มมืออยู่ขณะนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ได้ผลอย่างยั่งยืน

“วิลาศ”แฉทุจริต 2 อภ.ศรีสะเกษ

นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงความคืบหน้าในการติดตามการทุจริตในการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ว่า ขณะนี้การลงทุนหลายโครงการกว่าหมื่นล้านมีการฝังท่อเอาไว้ แต่ไม่ได้มีการผลิตน้ำ ซึ่งตนเคยมีความหวังกับนายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้ว่าการกปภ. คนปัจจุบัน เพราะมีความสามารถด้านวิชาการเป็นอย่างดี แต่ปัญหาเรื่องการทุจริตต่างๆ ที่ผ่านมา 6 เดือนกลับไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งที่มีความเสียหายเกิดขึ้นมาโดยตลอด ดังนั้นนายเสรีจึงควรพ้นจากตำแหน่ง เพราะไม่มีผลงานการแก้ปัญหาทุจริตที่เป็นรูปธรรม และขอเรียกร้องไปยังพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยให้เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้

ทั้งนี้ในสัปดาห์หน้า ตนจะแถลงข่าวกรณีพบการทุจริตในโครงการจ้างเหมาก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคที่อำเภอกันทรลักษ์และกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ วงเงินกว่า 100 ล้านบาท โดยตนได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบทั้งสองพื้นที่ พบว่ามีการตรวจรับงานตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.2559 แต่กลับพบว่าทั้ง 2 อำเภอยังไม่ได้ใช้น้ำ โดยมีการกล่าวอ้างว่าระบบไฟยังไม่เรียบร้อย นอกจากนี้ยังพบพิรุธหลายอย่าง ตั้งแต่ไม่มีการสร้างอาคารทั้งที่หลังคาพัง ประตูปิดไม่ได้ ระบบไฟมีปัญหา และมีการให้เหตุผลว่าต้องขยายกำลังผลิตรองรับลูกค้าที่เพิ่มขึ้นด้วยข้อมูลที่เกินกว่าความเป็นจริง ถือเป็นการโกงอย่างมโหฬาร

“เสรี”โต้กลับทันควัน

ขณะที่นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้ว่าการกปภ. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายวิลาศ ระบุ มีการ ทุจริตในกปภ.หลายโครงการ อาทิ มีการลงทุนหลายโครงการกว่าหมื่นล้านบาทที่มีการฝังท่อเอาไว้แต่ไม่ได้มีการผลิตน้ำ พร้อมเรียกร้องให้ผู้ว่าฯ กปภ.ลาออกว่า ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลเก่าเมื่อนานมาแล้ว ซึ่งเมื่อตนเข้ามารับตำแหน่งตนได้ดำเนินการตรวจสอบไปตามขั้นตอน และตามกระบวนการ ซึ่งขณะนี้มีเรื่องไปถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินป.ป.ช. และศาลแล้ว โดยบางคดีได้มีการตัดสินไปแล้วด้วย

อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของผลประโยชน์ซึ่งตนไม่รู้ แต่เมื่อเข้ามารับหน้าที่ก็ตรวจสอบตามขั้นตอน ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ไม่สามารถทำได้เสร็จภายในเร็ววัน ตนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้เพียง 6 เดือน คงไม่สามารถทำทุกเรื่องที่มีมาเป็น 20 ปีให้เสร็จได้ทั้งหมดในเวลาไม่กี่วัน แต่ขอยืนยันว่าได้ดำเนินการตรวจสอบทุกเรื่องไปตามกระบวนการ ไม่มีละเว้น

เสวนาแก้คอร์รัปชั่น

เมื่อเวลา 13.30 น. ที่สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน ดุสิต กรุงเทพฯ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกับมูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว (โครงการสร้างคนดี มองการณ์ไกล ไทยรุ่งเรือง) ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น องค์กรภาคประชาชน จัดเสวนาสาธารณะ เรื่อง “แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ชาตินี้หรือชาติหน้า”

นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชน กล่าวว่า หากมาตรฐานการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นของประเทศไทยยังเป็นอย่างนี้ คงต้องไปเกิดใหม่เพื่อรอเห็นการแก้ปัญหาได้ชาติหน้า แต่ถ้าจะแก้ปัญหากันในชาตินี้ ก็ต้องลองวิธีของตนซึ่งแก้ไขได้ทันที เอาคนโกงเข้าคุกได้ ตนได้ฟัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พูดทุกวันศุกร์ นายกฯ พูดหลายครั้งว่าหากใครพบทุจริตให้มาบอกแล้วจะจัดการ ซึ่งตนบอกผ่านเฟซบุ๊กของตนไปอย่างละเอียดชัดเจนแต่ก็เงียบ

อีกเรื่องที่ตนอยากให้รับรู้ทั่วกันว่า เรื่องแรกที่รัฐบาลคสช.พิจารณาคือ เลขาธิการคสช.ชงเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมครม. เรื่องที่องค์การทหารผ่านศึก (อคศ.) ขอให้ยกเว้น การใช้ประกาศสำนักนายกฯ ว่าด้วยระเบียบพัสดุ พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.อิเล็กทรอนิกส์พ.ศ.2549 ดังนั้นทุกโครงการของรัฐบาลคสช. ใช้วิธีพิเศษทั้งหมด ทำให้ไม่มีการตรวจสอบ และขอเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ เงื่อนไขห้ามจ้างช่วง แต่ก็จ้างช่วงทุกโครงการ เช่น การขุดลอกที่มีปัญหาหลายโครงการ

ระบุรบ.เลือกตั้งโกงน้อยกว่า

นายวีระกล่าวว่า ส่วนเรื่องสินบนต่างชาติเราไม่ควรไปใส่ใจ บริษัทต่างชาติให้นั้นเขามีเพดาน ถ้าเทียบกับสินบนในเมืองไทย ที่บริษัทคนไทยให้กับหน่วยราชการนั้นคนละเรื่องเลย ปัจจุบันนี้ 50 ต่อ 50 แล้วยังชักดาบอีก บริษัทใหญ่ๆ ในไทยจ่ายกันด้วยวิธีที่พิสดาร สมัยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งว่าทุเรศแล้ว 30-40% แต่รัฐบาลนี้บางโครงการ 50% ดังนั้นเรื่องนี้ต้องแก้ต้นเหตุ โดยการแก้เรื่องอายุความคดีการทุจริตและร่ำรวยผิดปกติ จะได้ยึดทรัพย์กลับมาเป็นของแผ่นดินได้ทั้งหมด ทำให้ผลตอบแทนความเสี่ยงในการกระทำทุจริตไม่คุ้มอีกต่อไป จะได้ไม่กล้าทุจริต หรือเสี่ยงแล้วไม่รอด

นอกจากนี้ควรแก้กฎหมายป.วิอาญา เพราะหน่วยงานรัฐถูกทุจริตไม่เคยใช้สิทธิ์ทั้งที่เป็นผู้เสียหาย แต่ถ้าประชาชนฟ้องศาลโดยตรงได้ประชาชนก็ขอเป็นผู้เสียหายแทนรัฐ หรือในเมื่อเรามีศาลอาญาปราบทุจริตแล้วเอาเข้าพิจารณาเลยได้หรือไม่ หากนายกฯ มีความจริงจังและจริงใจในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นจึงอยากขอให้ใช้มาตรา 44 กับสองเรื่องนี้

ผู้ว่าฯ สตง.ชี้การเมืองรวมหัวขรก.

ด้านนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า การทุจริตมีวิวัฒนาการ มีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริต รวมถึงกฎหมายที่จะจัดการกับการทุจริต ดังนั้นคงไม่ต้องรอถึงชาติหน้า อย่างเมื่อก่อนเรียกกันเป็นเปอร์เซ็นต์แต่ปัจจุบันเรียกเป็นเงินทอน จะต้องสมคบกันระหว่างฝ่ายการเมืองกับข้าราชการ หากนักการเมืองมีความซื่อสัตย์สุจริต จะสามารถป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการทุจริตได้

สำหรับสตง.มีเจ้าหน้าที่อยู่กว่า 3,000 คน ทำการตรวจสอบงบประมาณจำนวนล้านล้านบาท ในต่างจังหวัดมีเจ้าหน้าที่สตง.เพียง 25 คน ตรวจแค่อบต.ร้อยกว่าแห่งก็เหนื่อยแล้ว ส่วนกรณีตรวจสอบการทุจริตจัดซื้อ เครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 ที่ผ่านมาสตง.ได้สอบรายละเอียดพบว่ามีตัวแทนสองบริษัท ได้เอกสารข้อมูลครบถ้วน รวมถึงพบว่ามีการจัดฉาก ซึ่งขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รับคดีดังกล่าวไปพิจารณาแล้ว ขณะที่กระทรวงการคลังได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบแล้ว แต่ยอมรับว่ากระบวนการมีความล่าช้า

เผยกินข้าวสินบนวันลอยกระทง

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า ส่วนกรณีสินบนบริษัทโรลส์-รอยซ์ นั้นสตง.ไม่ได้นิ่งนอนใจได้ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างประเทศดำเนินการขอหลักฐานไปยังทั้งสหรัฐและอังกฤษ และระหว่างนี้ได้ตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากหน่วยงานต่างๆ เพื่อรวบรวมรายชื่อบุคคลมาเตรียมไว้ล่วงหน้าเพื่อรอประกอบกับข้อมูลที่จะได้จากทั้งสองประเทศนั้น ซึ่งจะได้รู้ว่าใครเป็นใครอยู่ในเส้นทางบ้าง และใครเป็นคนชง คนเชียร์ คนชิม หลายคนมาให้ข้อมูลว่า มีบุคคลชื่อนำหน้า ก ไก่ 2 คน และส เสือ 1 คน ไปรับประทานอาหารร่วมกันที่ภัตตาหารชื่อดังของโรงแรมแห่งหนึ่ง ในวันที่ 11 พ.ย.2534 ซึ่งตรงกับวันลอยกระทง และข้อมูลที่ได้ตรงกับข้อมูลจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ คาดหวังว่าต่างประเทศจะให้ความร่วมมือ แต่ไม่ทราบว่าจะให้ข้อมูลได้มากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องที่เราคงกำหนดระยะเวลาไม่ได้ว่าจะได้ข้อมูลมาทั้งหมดเมื่อไหร่ และทราบว่าทางศอตช.จะนัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในวันที่ 9 ก.พ.นี้

พท.ซัดขู่ฆ่าป้อมหวังกลบข่าวลบ

ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีการจุดกระแสข่าวลอบสังหารพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหมว่า ถือเป็นประเด็นน่าสงสัย ที่จู่ๆ บุคคลระดับรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ออกมาพูดเรื่องที่ไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัยเสียเอง แล้วปฏิบัติการข่าวนี้ออกมาในขณะที่รัฐบาลกำลังเผชิญกับมรสุมปัญหารุมเร้าหลายด้าน มีเรื่องต้องให้แก้ไขอย่างหนัก ตั้งแต่ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นแย่ลง ตกจากอันดับที่ 76 มาอยู่ที่อันดับที่ 101 จาก 176 ประเทศทั่วโลก มีคะแนนเพียง 35 จาก 100 คะแนน ถือว่าตกต่ำลงอย่างมาก

หรือกรณีเว็บไซต์วอชิงตันโพสต์เสนอบทวิเคราะห์ว่าประเทศไทยติดอันดับ 2 ของประเทศที่มีความเป็นไปได้ในการเกิดการปฏิวัติรัฐประหารขึ้นในปี 2560 หรือแม้แต่ประเด็นข้าราชการระดับรองอธิบดีขโมยภาพวาดที่ประเทศญี่ปุ่น เรื่องต่อสัญญาศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ยาว 50 ปี ที่สังคมสงสัยว่ารัฐบาลรัฐประหารที่มาจากการยึดอำนาจ ควรดำเนินการเรื่องนี้ในเวลานี้หรือไม่ มีประเด็นเอื้อประโยชน์ภาคเอกชนในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนหรือไม่ จึงเกิดข้อสงสัยว่าความพยายามที่จะเปิดประเด็นลอบสังหาร ต้องการสร้างมากลบประเด็นปัญหาเหล่านี้หรือไม่ เพราะบุคคลระดับรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงมีชุดคุ้มกัน ด้วยมาตรการดูแลความปลอดภัยขั้นสูง โอกาสที่จะมีคนลอบสังหารจึงเป็นไปได้ยากถึงเป็นไปไม่ได้เลย

ถามซื้อเรือดำน้ำเหมาะหรือไม่

นายอนุสรณ์ยังกล่าวถึงความพยายามของรัฐบาลที่จะเร่งรัดการจัดซื้อเรือดำน้ำในขณะนี้ ถือว่าไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วน หรือการศึกสงครามอะไร ต้องดูสภาพเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลทำงบประมาณปี 2561 ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2560 ที่ขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจประเทศมีปัญหา ประชาชนเผชิญกับปัญหาข้าวยากหมากแพง สภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ การนำเงินภาษีของประชาชนจำนวนมาก มาจัดซื้อเรือดำน้ำหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ต้องระมัดระวัง การตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ และใช้งบประมาณจำนวนมากขนาดนี้ ควรรอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาตัดสินใจ ดีกว่าหรือไม่

“เหตุผลซื้อเพื่อรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ทางทะเล สังคมพอรับฟังได้ แต่ควรได้ศึกษาข้อท้วงติงให้ครบถ้วน เช่น ประเด็นท้องทะเลไทยไม่เหมาะกับการปฏิบัติการของเรือดำน้ำ เพราะน้ำตื้นสามารถถูกตรวจจับได้ง่าย ไม่อยากให้กองทัพและรัฐบาลผลีผลาม ใจเร็วด่วนได้ แล้วไม่เกิดประโยชน์สูงสุด เหมือนเรือเหาะ รถหุ้มเกราะยูเครน หรือจีที 200” นายอนุสรณ์กล่าว

อัดครม.ยืดสัญญาศูนย์ฯ สิริกิติ์

ด้านนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2060 มีมติรับทราบแนวทางการแก้ไขกรณีบริษัท เอ็น ซี ซี แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เป็นบริษัทซึ่งทำสัญญากับกรมธนารักษ์เป็นผู้บริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ช่วงที่ 3 มีกำหนด 25 ปี ตั้งแต่ 1 ธ.ค.2539 ถึง 30 พ.ย.2564 บริษัทจะต้องก่อสร้างโรงแรมขนาดไม่ต่ำกว่า 400 ห้อง ยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลัง แต่ไม่อาจดำเนินการได้เพราะติดผังเมืองของ กทม. ที่ออกมาในภายหลัง กระทรวงการคลังจึงเยียวยาโดยอนุมัติให้บริษัทได้รับสิทธิเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างศูนย์ประชุมใหม่ พร้อมทั้งขยายอายุสัญญาเช่าออกไปเป็นเวลา 50 ปี ทั้งหมดคือการทำผิดกฎหมายของครม.และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือ

1.การที่บริษัทไม่อาจก่อสร้างโรงแรมเพราะติดผังเมืองของกทม. ถือว่าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติกรรมที่กรมธนารักษ์ไม่ต้องรับผิดชอบ จึงไม่มีเหตุที่ต้องไปเยียวยาตามคำพิพากษาฎีกาที่ 14493/2557 2.การที่บริษัทไม่ได้รับประโยชน์จากการบริหารโรงแรม กรมธนารักษ์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าเช่าในส่วนนี้ หากได้รับไว้ก็ต้องคืนให้แก่บริษัท 3.การรื้อศูนย์ประชุมเดิมแล้วก่อสร้างใหม่คือการลงทุนใหม่ จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายร่วมทุน โดยออกประกาศเชิญชวนเอกชนทั่วไป ทั้งนี้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทที่ได้ประโยชน์มีความเกี่ยวข้องกับ ผู้ซื้อที่ดินของบิดาคนในรัฐบาลจนมีลักษณะเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่

“วิษณุ”เผยกฤษฎีกาเร่งแก้รธน.

วันเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ เพื่อพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทานยังดำเนินการเรื่องดังกล่าวตามกรอบที่เรามีเวลา 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 18 ก.พ.นี้

อย่างไรก็ตาม หากการแก้ไขเพิ่มเติมมาตราใดเสร็จสิ้นแล้ว ได้ส่งให้สำนักอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เขียนไปพลางก่อนแล้ว ส่วนบางมาตราที่ยังไม่เสร็จเรียบร้อยนั้น ตนขอไม่เปิดเผยรายละเอียด

กรธ.ฟังตัวแทนศาลก่อนร่างกม.ลูก

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการทำงานของกรธ.ว่า ขณะนี้กรธ.ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดย กรธ.มีความคาดหวังว่าการทำงานของป.ป.ช. จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม การพิจารณาคดีต่างๆต้องมีความรวดเร็ว ไม่ล่าช้า ต้องมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการหาหลักฐานและต้องไม่เน้นพิจารณาแต่เฉพาะคดีใหญ่ๆ หรือคดีของนักการเมืองเท่านั้น รวมทั้งคณะกรรมการสรรหาและกรรมการป.ป.ช.จะต้องมีหลักประกันว่าเป็นกลาง ไม่ถูกครอบงำจากฝ่ายใด

ทั้งนี้กรธ.ตระหนักดีว่าการปราบปรามการทุจริตเป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้นต้องหาวิธีที่ดีที่สุด จึงต้องพิจารณารายละเอียดอย่างรัดกุมและรอบคอบ รวมทั้งต้องฟังความคิดเห็นจากป.ป.ช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ส่วนการประชุมกรธ.ในวันที่ 6 ก.พ. เวลา 13.30 น.เป็นต้นไป ทางกรธ.ได้เชิญตัวแทนจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองมาให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง

ผู้ตรวจฯ ยกทีมแจงกรธ.

ด้านพล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธาน ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ในวันที่ 6 ก.พ. เวลา 10.00 น. ตนพร้อมด้วยนายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน จะไปชี้แจงเนื้อหาของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วย ผู้ตรวจการแผ่นดินต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาหลักการร่างพ.ร.ป.ว่าด้วย ผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. … ของกรธ. ซึ่งเท่าที่ได้พูดคุยกันและสอบถามความคิดเห็นของอดีตผู้ตรวจฯ เบื้องต้นเนื้อหาที่จะชี้แจง ประกอบด้วย

ประเด็นแรก คือ เรื่องของจริยธรรมที่ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการส่งเสริมจริยธรรม เห็นว่า 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ตรวจฯ ได้สร้างเครือข่ายด้านจริยธรรมไปไกลพอสมควร หากทิ้งไปเลยเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย และสิ่งที่ทำมาน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม ฉะนั้นเราจะไปขอให้กรธ.ช่วยกำหนดไว้ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ หากเปิดโอกาสให้ ผู้ตรวจฯ ได้ดำเนินการต่อไป เราก็พร้อม ซึ่งเราอาจไม่ได้ตีกรอบเฉพาะเรื่องคุณธรรมอาจจะไปถึงเรื่องการส่งเสริมเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงเรื่องความโปร่งใส ความคุ้มค่า การมีจิตสำนึกสาธารณะและการมีคุณธรรมและจริยธรรมด้วย

ขออำนาจลบครหาเสือกระดาษ

พล.อ.วิทวัสกล่าวว่า ส่วนประเด็นที่สอง รัฐธรรมนูญกำหนดว่าถ้าหากว่ามีข้อเสนอแนะกรณีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการไม่ถูกต้อง ใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบ ขั้นตอนสุดท้ายไปสุดทางที่ให้เสนอแนะต่อครม. เพื่อทราบและพิจารณาสั่งการ ความคาดหวังของประชาชนตามรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่อยากให้ผู้ตรวจฯ เป็นเสือกระดาษ เราจึงมาคิดว่าเมื่อข้อเสนอของผู้ตรวจฯไปถึงครม.แล้วไม่เป็นเสือ กระดาษจะทำอย่างไร เช่น เมื่อเรื่องไปถึงครม.แล้วปรากฏว่าความคิดเห็นของผู้ตรวจฯ กับครม.ไม่ตรงกัน จึงได้เสนอไปว่าควรตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่ายเพื่อดูว่าข้อมูลของ ผู้ตรวจฯ ที่วินิจฉัยไปครบถ้วนหรือไม่ ครม.อาจมีข้อมูลใหม่มาปรึกษาหารือระหว่างคณะกรรมการร่วม ที่สุดแล้วจะได้มีข้อยุติและไปหาแนวทางแก้ไขความเดือดร้อน ของประชาชนได้

“ผมยังยึดถือพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ว่ากฎหมายไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งในการรักษาและอำนวยความยุติธรรม ผมคิดว่าหลักนี้สำคัญที่จะช่วยให้สังคมสงบสุข เจริญรุ่งเรืองได้ ถ้าหากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐแม้ถูกกฎหมาย แต่ไปสร้างปัญหาสร้างความเดือดร้อน ต้องมีทางออกเพื่อให้สังคมสงบสุข” พล.อ.วิทวัสกล่าว

“คณิต”ไม่กังวลถูกไล่พ้นปธ.สื่อ

พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท. เปิดเผยว่า ภายหลังการประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ตนและคณะกมธ.สื่อฯ ได้จัดลำดับรายละเอียดในที่ประชุม เพื่อจะนำมาประชุมในกมธ.สื่อฯ ในวันที่ 6 ก.พ. โดยหลักการเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …ที่เห็นตรงกับวิป สปท.คือ ควรยกระดับการควบคุมดูแลสื่อจากการดูแลตรวจสอบกันเอง ให้มีระบบกฎหมายเข้ามาควบคุม แต่ในรายละเอียดที่ยังเห็นไม่ตรงกัน เราต้องนำมาพิจารณากันใหม่ ส่วนที่มีการเห็นแย้งในประเด็นที่รัฐจะเข้ามามีบทบาทในการดูแลองค์กรประกอบวิชาชีพสื่อนั้น ทุกข้อเสนอที่กังวลและวิพากษ์วิจารณ์กันมาถือเป็นเรื่องที่ดี เราจะเอามาพูดคุยว่าจะปรับเปลี่ยนอย่างไร เนื่องจากรายละเอียดนี้มีตัวแปรมากมายพอสมควร

“หลังจากหารือที่ประชุมกมธ.สื่อฯ เสร็จสิ้น ผมจะแถลงข่าวพร้อมรายละเอียดด้วยตัวเอง ผมอยากจะบอกสื่อว่าที่เป็นข่าวกันออกไปว่าผมดันทุรังกฎหมายนี้ มันไม่จริง เพราะกฎหมายที่ผมเสนอไปเปลี่ยนแปลงได้ตลอดหากทุกฝ่ายเสนอแนะมา แต่ข้อเสนอนั้นต้องมีเหตุและผล สำหรับเรื่องที่หลายฝ่ายขอให้เปลี่ยนตัวผมออกจากประธาน กมธ.สื่อฯ ผมไม่กังวล เพราะ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท.เป็นผู้ลงนามแต่งตั้งมอบหมายให้ผมเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ จะทำให้ดีและโปร่งใสที่สุด ซึ่งหากจะต้องมีการเปลี่ยนตัวผมออกจากตำแหน่งประธานกมธ.สื่อฯ จะต้องมีหนังสือที่เป็นลายลักษณ์อักษรจาก ร.อ.ทินพันธุ์ แต่ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณอะไร” พล.อ.อ.คณิตกล่าว

“เอกชัย”แนะปัดฝุ่นแผนปรองดอง

เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จัดเวทีทัศน์ปรองดองครั้งที่ 3 โดยมี พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า พร้อมด้วยแกนนำ นปช. อาทิ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษา นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ เป็นต้น เข้าร่วม

พล.อ.เอกชัยกล่าวว่า ตนเกี่ยวข้องกับการศึกษาเรื่องการปรองดองมาในทุกยุค ทุกฉบับ และเคยได้แจ้งจากนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ เลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ว่าเห็นด้วยกับการสร้างความปรองดอง แต่อย่าเสียเวลาเริ่มศึกษาใหม่ ขอให้เอาผลการศึกษาเรื่องความปรองดองในหลายๆ ชุดมาใช้ เพื่อนำมาเขียนเป็นแผนปฏิบัติงานเลย ตั้งกรอบเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินการ และคิกออฟทันทีเพื่อให้เกิดความชัดเจน

แนะทุกกลุ่มต้องอดทน

พล.อ.เอกชัยกล่าวว่า สิ่งสำคัญของการสร้างความปรองดอง คือทุกฝ่ายต้องมีความอดทนโดยเฉพาะการอดทนรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย ทุกสี และต้องอดทนทำเรื่องนี้ให้ต่อเนื่อง สิ่งสำคัญ คือแผนปฏิบัติการว่าจะปรองดองกันอย่างไร ต้องออกเป็นกฎหมายผ่านสภา เพื่อบังคับใช้ รวมทั้งบุคคลที่จะเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้ ถือเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ ต้องรอดูว่าหน้าตาของคณะกรรมการเตรียมการสร้างความปรองดองว่าจะเป็นอย่างไร รัฐบาลต้องไม่เอาคนที่ขัดแย้งมาทำ หากเป็นบุคคลที่ถูกยี้ ไม่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายก็จบ ผิดกันตั้งแต่แรก

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กัน คือการปฏิรูปกระบวนการอำนวยความยุติธรรม การปรองดองควรทำ 3 ระดับ ประกอบด้วยฝ่ายนโยบาย ฝ่ายแกนนำ และฝ่ายประชาชน อย่าไปคิดว่าทำเพียงระดับล่างหรือระดับบนจะจบ มันไม่จบหลังการปฏิวัติปี 2557 ศูนย์ปรองดองของรัฐบาลเคยทำเรื่องปรองดอง เอาแกนนำทุกฝ่ายมาร่วมคุย ร่วมร้องเพลง แต่ทำได้เพียงแค่ปีเศษก็ยกเลิก หมดเลย

ชี้มีสัญญาณจบได้

พล.อ.เอกชัยกล่าวต่อว่า ความขัดแย้งของประเทศไทย เมื่อเกิดความขัดแย้ง อย่ามุ่งไปที่ตัวคน ต่อให้นายจตุพร พรหมพันธุ์ หรือนายทักษิณ ชินวัตร ไปแล้วก็ไม่จบ แต่ความขัดแย้งพร้อมถ่ายจากรุ่นสู่รุ่น สังเกตได้จากในทุก 20 ปีตั้งแต่ 2475 ต่อมาเป็น 14 ตุลา 2516 มาพฤษภา 2535 มาพฤษภา 2553 นอกจากนี้เวลาพูดถึงเรื่องนิรโทษกรรม จะเกิดความขัดแย้งทันที เช่น มีการพูดถึงคำสั่ง 66/23 บางคนก็เสนอชะลอการลงโทษคดีทางอาญา กระบวนการยุติธรรมควรเริ่ม คิกออฟจากอ่อนแล้วมาเข้ม เช่น 66/23 จะทำก็ต้องเขียนไว้ควรทำช่วงเวลาไหน ใครมาทำ รวมไปถึงการรับผิด ให้อภัยด้วย ไม่มีความขัดแย้งใดที่ไม่ทำเช่นนี้ วันนี้จึงอยากให้ คิกออฟทันที

ขณะเดียวกัน ต้องให้ทุกฝ่ายหยุดใช้ เฮตสปีชผ่านสื่อ หากรัฐบาลจะใช้ มาตรา 44 ทำในเรื่องนี้ก็ได้ หากทำแล้วเป็นคุณกับทุกฝ่าย ส่วนถามว่าความปรองดองจะมีความหวังเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ตนมองว่ามีสัญญาณบางอย่างที่น่าจะจบได้ คงไม่ถึงขั้นที่ทุกฝ่ายมารักกัน กอดกัน แต่การเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เข้าสู่โหมดเลือกตั้งได้นั้นเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ ขอให้ทุกฝ่ายอดทนให้มากที่สุด

“จตุพร”โวยถูกยืมมือคว่ำกระดาน

ด้านนายจตุพรกล่าวว่า ที่ผ่านมาเรื่องปรองดองมักถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ถ้าเป็นนักการเมืองมาชวนปรองดอง ตนมองว่าเป็นเรื่องหลอกลวงกันอีกแล้ว แต่ครั้งนี้นายกฯ นำกระแสรับสั่งของพระเจ้าแผ่นดิน ที่อยากให้เกิดความปรองดอง ความสงบสุขในแผ่นดิน จึงเชื่อว่าผลปรองดองครั้งนี้ ทำให้เกิดความหวังอีกครั้ง ตนไม่ได้สนใจพิธีกรรม เพราะพิธีกรรมดีๆ ไม่ได้จบลงด้วยวิธีปฏิบัติ แต่ก็มีความพยายามจะล้มการปรองดอง หวังยืมมือให้พวกตนเป็น ฝ่ายล้ม

โดยมีการหยิบยกบางคดีขึ้นมา เช่น คดีพล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม เป็นปัญหาของพนักงานไต่สวนที่ไม่ยอมไต่สวนให้จบ แต่ สนช.กลับมาเสนอให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อหาว่าใครเป็นคนฆ่า มันเป็นกลเม็ดตื้นๆ ยั่วให้เกิดปัญหา เช่นเดียวกับคำวินิจฉัยชายชุดดำ ไม่ใช่เรื่องฆ่าคนตายแต่เป็นเรื่องครอบครองอาวุธ ก็เอามาพยายามเชื่อมโยงให้เป็นเงื่อนไขหวังจะล้มการปรองดอง ดังนั้นคนทำเรื่องปรองดองต้องเป็นคนน้ำไม่เต็มแก้ว ว่างเปล่า ฟังอะไรก็ได้ ถ้าน้ำเต็มแก้วมา ก็ทำด้วยความลำบาก “พวกผมพร้อมยอมเจรจาปรองดอง เอ็มโอยู ก็พร้อมทั้งที่ไม่รู้ว่า ยูคือใคร ครั้งนี้ขอให้ไปให้สุดทาง เพราะพิธีกรรมรูปแบบต่างๆ เราเห็นมาทั้งหมดแล้ว ในรูปธรรมในระยะเวลา 90 วันที่ผู้มีอำนาจบอกจะต้องรู้ผล ในเวลานี้ ก็คงรู้ผลแล้วว่าจะสำเร็จหรือไม่” นายจตุพรกล่าว

โพลชูความสงบดีขึ้น

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,250 คน เรื่อง “คุณภาพชีวิตของคนไทย ภายใต้รัฐบาล คสช.” โดยสำรวจระหว่างวันที่ 1-3 ก.พ.2560 จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง โดยถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ในปี 2559 เมื่อเทียบกับปี 2558 ภายใต้รัฐบาลคสช.ในประเด็นสำคัญๆ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ ปากท้อง รายได้และรายจ่าย ประชาชน ร้อยละ 23.36 ระบุว่าดีขึ้น ส่วนร้อยละ 43.12 ระบุว่าเท่าเดิม และร้อยละ 33.28 ระบุว่า แย่ลง

ด้านความสงบสุข ความปรองดอง ความสามัคคีของคนในสังคมและชุมชน ประชาชนร้อยละ 45.44 ระบุว่าดีขึ้น ร้อยละ 38.64 ระบุว่าเท่าเดิม ร้อยละ 14.08 ระบุว่าแย่ลง และร้อยละ 1.84 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็น เช่น สัญญาณโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต น้ำประปา ไฟฟ้า ถนน การคมนาคม ฯลฯ ประชาชนร้อยละ 49.36 ระบุว่าดีขึ้น ร้อยละ 37.44 ระบุว่าเท่าเดิม ร้อยละ 12.32 ระบุว่าแย่ลง และร้อยละ 0.88 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ด้านเสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง ประชาชนร้อยละ 27.52 ระบุว่าดีขึ้น ร้อยละ 41.44 ระบุว่าเท่าเดิม ร้อยละ 22.08 ระบุว่าแย่ลง และร้อยละ 8.96 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ทำบุญ – น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ร่วมพิธีทำบุญประกอบพิธีผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิต ที่วัดเกาะสุวรรณาราม เขตสายไหม กทม. เมื่อวันที่ 5 ก.พ. โดยมีชาวบ้านมาให้กำลังใจและขอถ่ายรูปด้วยจำนวนมาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน