“บิ๊กตู่”โต้ปมถังแตก โยนคลังแจง “อภิศักดิ์” ชี้แค่ลดคงคลัง ถือครองเท่าที่จำเป็น เผยยังกู้ได้อีก 3 แสนกว่าล้านบาท ส่วนขึ้นภาษีน้ำมันเพื่อลดเหลื่อมล้ำเท่านั้น เพื่อไทยห่วงลงทุนลดวูบ ภูมิธรรมแนะปรองดอง ต้องยึด”ปชต.-นิติธรรม” ป.ป.ช.รับข้อมูลสินบนโรลส์-รอยซ์ ตรงกับ”สตง.” วิษณุเผยแก้รธน.ใกล้เสร็จแล้ว

“บิ๊กตู่”โยนคลังแจงปมถังแตก

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังเป็นประธานงานสรุปผลการปฏิบัติงาน ปี 2559 และแถลงแผนการปฏิบัติงาน ปี 2560 ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ว่า ได้สั่งการให้นำ 37 วาระการปฏิรูปมาพิจารณาถึงเป้าหมายเพื่อหาแนวทางแก้ไข อยากให้ กอ.รมน.มีส่วนช่วยวาดอนาคตประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้า ทำงานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การปฏิรูป ไม่ ซับซ้อน นอกจากนี้ยังให้มีบทบาทปราบปรามการทุจริต มีหน้าที่บูรณาการร่วมกับทหารตำรวจแก้ปัญหายาเสพติด อย่างไรก็ตามวันนี้ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. เพราะอำนาจปกติก็เพียงพออยู่แล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงกรณีถูกฝ่ายการเมืองโจมตีสถานะการเงินการคลังไม่มั่นคงอยู่ในขั้นถังแตก ภายหลังขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินภายในประเทศว่า รอฟังกระทรวงการคลังชี้แจง ต้องดูว่ากฎหมายทำได้หรือไม่ ประชาชน อย่าตกใจ ถ้าอยู่แบบเดิมไม่ต้องใช้เงิน ใช้เงินอุดหนุนไปอย่างเดียว ช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยไปแบบนี้ โอเคเงินเหลือเยอะ ถ้าจะอยู่อย่างนี้ต่อไป อีก 5-10 ข้างหน้าก็อย่ามาโทษตน

โวยคอยดึงขาจนไม่ได้”ปฏิรูป”

“วันนี้เขาเอาเงินไปลงทุนถูกต้องและทำได้หรือไม่ กฎการลงทุนเป็นอย่างไร หนี้สาธารณะเกินหรือเปล่า ดูอย่างนี้และดูว่าสิ่งที่เขาทำทุจริตหรือเปล่า ไปดูตรงปลายทางด้วย ไม่ใช่วันนี้แตะอะไรไม่ได้สักอย่าง แต่ต้องการ แล้วจะเอาอะไรจากผม ทุกคนไม่รู้หรือว่าปัญหาประเทศอยู่ตรงไหน ต้องมาถามผม ทุกเรื่อง ไม่เคยช่วยผมคิดเลย” พล.อ. ประยุทธ์กล่าวอย่างมีอารมณ์หงุดหงิด

ผู้สื่อข่าวบอกให้ใจเย็นๆ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอบว่า ใจเย็นอยู่แล้ว กระทรวงการคลังจะชี้แจงเอง หน้าที่ของตนคือคิดและทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศ ฝ่ายกฎหมาย กระทรวง การคลัง ฝ่ายควบคุมหนี้สาธารณะเสนออะไรเขาต้องกลั่นกรองมาแล้ว ถ้ารัฐบาลปฏิรูปแต่ทุกคนไม่ปฏิรูปก็เป็นแบบเดิม ตนไม่เคยดูถูกความคิดใคร แต่อยากให้คิดแบบที่ตนคิด แต่มาคอยดึงขากันอยู่ ผิดก็ว่ามา ถ้าไม่ใช้ก็ไม่ใช้

เมื่อถามว่าจะเรียกความเชื่อมั่นอย่างไรเพราะมีการตีความว่ารัฐบาลถังแตก พล.อ. ประยุทธ์กล่าวด้วยเสียงดุดันว่า ใครตี ประชาชนเรียกร้องอะไรในตอนนี้ น้ำท่วมช่วยเหลือเกษตรกร ช่วยเหลือชาวนา ช่วยเหลือทุกอย่าง ขอหมดแล้วการพัฒนาการลงทุนจะเอาเงินที่ไหนลงไป หรือให้แค่นั้นพอจบ การเงินการคลังเติมล้น จะเอาอย่างไรเลือกมา ปัญหาอยู่ที่ว่าประชาชนเลือกอย่างไร ตนจะทำให้แบบนั้น ถ้าจะเอาแบบนั้นก็จบ หยุดไม่ต้องปฏิรูป ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น อย่ามาเรียกร้อง

ลั่นทำทุกอย่างตามกฎหมาย

“เมื่อเขาทำแล้ว ต้องดูว่าเขาทำถูกหรือผิด ใครเป็นคนพูด พรรคไหน นักการเมืองฝ่ายไหน สื่อชอบไปเป็นกระบอกเสียงให้คนพวกนี้ ถ้าผิดเขาเล่นงานผมเองแหละ ไม่ต้องมารุมผม ถ้ามันผิดผมอนุมัติไม่ได้อยู่แล้วเพราะทุกเรื่องที่เข้าครม. ไม่ใช่ผมสั่งให้ทำ เขาทำตาม นโยบายและแผนงานของเขา และก่อนจะนำมาเสนอครม. เขาสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้ว ผมก็ถามว่าเม็ดเงินมันมีอยู่หรือเปล่า เอาเงินที่ไหนมา เขาก็ตอบว่ามันได้หมดแล้วจะให้ผมทำไง พอชี้แจงแล้วก็ไปฟังอีกทางแล้วไปตีกลับมาอีก อยู่กันอย่างนี้ ไม่ต้องไปไหน พายเรืออยู่ในอ่าง ไม่ต้องมาเตือนผมอารมณ์ดีไม่ดี เรื่องของผม ถ้าลูกคุณทำเรื่องนี้กับคุณทุกวัน จะอารมณ์ดีกับลูกไหม ถ้าคุณทำได้ผมจะทำ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีนายโสรัจจะ นวลอยู่ โหรชื่อดัง เจ้าของฉายานอสตราดามุสเมืองไทย เตือนดวงประเทศจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทักมาก็ต้องฟัง แล้วจะให้ทำอะไร ไม่ต้องพูดเลยหรืออย่างไร และไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอะไร เพราะที่ตนเข้ามาทำงานตั้งแต่ปี 2557 ตนไม่ได้ดูหมอดู ตกก็ตก จะให้ทำอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อดวงตกจะขึ้นอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าว “ถามคำถามงี่เง่าอย่างนี้ อย่ามาถามผม ไปถามหมอดูเอาเอง”

เมื่อถามว่าถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม โดนคนโพสต์ข้อความขู่ฆ่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ดูถูกฝีมือผบ.ทบ. หน้าที่เขาคือรักษาความปลอดภัย

คลังโต้ถังแตก-แค่ลดถือเงินสด

วันเดียวกัน นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีฝ่ายการเมืองโจมตีรัฐอยู่ในขั้นถังแตก หลังขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินภายในประเทศว่า ยืนยันว่าฐานะการคลังยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง แม้เงินคงคลังจะลดลงอยู่ที่ 7 หมื่นกว่าล้านบาท แต่เป็นไปตามนโยบายที่มอบให้กรมบัญชีกลางและสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ลดการถือครองเงินสด เพราะเห็นตรงกันว่าที่ผ่านมาเงินคงคลังของประเทศสูงเกินไป บางครั้งอยู่ที่ระดับ 4-5 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ทำให้รัฐบาลมีภาระจ่ายดอกเบี้ยในการดูแลเงินดังกล่าวค่อนข้างมาก จึงให้ลดเงินคงคลังให้เหลือในระดับเท่าที่จำเป็นต้องใช้ โดยอยู่ที่ระดับ 50,000-100,000 ล้านบาท

รมว.คลังกล่าวว่า หลักในการบริหารเงินคงคลัง คือจะเตรียมสำรองเงินไว้ใช้ในรายจ่ายประจำ เงินเดือน เงินสวัสดิการและ ค่ารักษาพยาบาลต่างๆ ล่วงหน้า 2 สัปดาห์ ดังนั้นระดับเงินคงคลังช่วงต้นเดือนอยู่สูงถึง 1 แสนล้านบาท แต่เมื่อดำเนินการส่วนนี้แล้ว จะลดลงมาอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท ทำให้ภาระจ่ายดอกเบี้ยลดลง โดยเงินคงคลัง 1 แสนล้านบาท ต้องจ่ายดอกเบี้ย 2 พันล้านบาท สภาพคล่องของเรายังมีอยู่ในระดับสูง รัฐบาลยังกู้เงินได้ในระดับสูง โดยในปีงบประมาณ 2560 มีงบขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท ที่ผ่านมากู้ไปแล้วเพียง 1 แสนล้านบาท และยังมีวงเงินกู้ระยะสั้นอีก 8 หมื่นล้านบาท รวมแล้วยังกู้ได้อีก 3 แสนกว่าล้านบาท ตรงนี้เพียงพอต่อความต้องการใช้เงินของประเทศ นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังเตรียมแก้กฎหมายเงินคงคลัง ในประเด็นกู้เงินเพื่อรักษาวงเงิน โดยจะระบุว่าหากไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินภายในงบประมาณนั้น จะให้วงเงินดังกล่าวคงเหลือกู้ได้ในปีถัดไป

ชี้ขึ้นภาษีน้ำมันเพื่อลดเหลื่อมล้ำ

นายอภิศักดิ์กล่าวถึงการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินและน้ำมันหล่อลื่นว่า ไม่ได้เกิดจากฐานะการคลังมีปัญหา แต่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน ซึ่งเก็บในอัตรา 20 สตางค์ต่อลิตรมานานกว่า 20 ปี ไม่ได้ปรับขึ้น สวนทางกับภาษีน้ำมันอื่นๆ ที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยอยู่ที่ 3-6 บาทต่อลิตร โดยภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 5 บาทต่อลิตร

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า ส่วนที่หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน ส่งผลให้ภาระค่าเดินทางสูงขึ้นนั้น หากถามกลับไปว่าคนที่เดินทางโดยรถ บขส. ซึ่งใช้น้ำมันดีเซล ต้องแบกภาระภาษีถึง 5 บาทต่อลิตร คนกลุ่มนั้นถูกมองว่าเป็นผู้มี รายได้น้อย ส่วนคนที่เดินทางโดยเครื่องบิน ที่ถูกมองว่าเป็นคนมีรายได้มากกว่า กลับแบกภาระภาษีเพียง 20 สตางค์ต่อลิตร ตรงนี้ความเป็นธรรมคืออะไร คนมีรายได้น้อยเสียภาษีมาก คนมีรายได้มากเสียภาษีถูก ซึ่งมันไม่ใช่ ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าจะทำให้การท่องเที่ยวในประเทศลดลงนั้น อยากให้มองว่าคนมี รายได้น้อยไม่ท่องเที่ยวกันหรืออย่างไร อยาก ให้เข้าใจส่วนนี้ด้วย ไม่ใช่รัฐบาลถังแตก แต่เป็นการสร้างความเป็นธรรม แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

พท.ห่วงเอกชนลงทุนลดวูบ

ด้านน.ส.อนุตตมา อมรวิวัฒน์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยได้ออกมาเตือนโดยตลอดว่าการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศหดหายตั้งแต่มีการรัฐประหาร แต่รัฐบาลออกมาปฏิเสธโดยอ้างว่ามีการลงทุนมากขึ้น ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาแถลงแล้วว่าการลงทุนจากต่างประเทศในปี 2559 ลดลงอย่างหนักถึง 63% เมื่อเทียบกับปี 2558 มียอดรวมเพียง 1.15 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งปี 2558 การลงทุนก็ลดลงหนักอยู่แล้ว จึงอยากให้ผู้นำรัฐบาลได้เช็กข้อมูลก่อนที่จะพูด เพราะจะยิ่งทำให้ความมั่นใจนักลงทุนยิ่งหายไป รัฐบาลไม่ได้สนใจข้อมูลเศรษฐกิจอย่างจริงจังและนำมาแก้ไข แต่พูดเพียงเพื่อแก้ตัวเท่านั้น

น.ส.อนุตตมากล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่อง อีกทั้งเงินคงคลังลดลงอย่างรวดเร็ว จาก 4 แสนกว่าล้านบาทเหลือเพียง 7.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ขณะที่รัฐบาลมีแผนจะใช้งบประมาณขาดดุลเป็นจำนวนมาก จะทำให้มียอดขาดดุลกว่า 2.33 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นยอดขาดดุลงบประมาณมากที่สุดในทุกรัฐบาลที่ผ่านมา

ติงบี้เก็บภาษีเพิ่มภาระ”ประชาชน”

“นี่เป็นสาเหตุหรือไม่ที่รัฐบาลต้องเร่งเก็บภาษีต่างๆ เพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นภาษีที่ดินและทรัพย์สิน และภาษีอื่นๆ ล่าสุดมีการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยเห็นว่ามีผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก ในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่รัฐบาลไม่ควรเพิ่มภาษีไม่ว่าจะเป็นภาษีอะไร เพราะเป็นการเพิ่มภาระแก่ประชาชน ยิ่งทำให้เศรษฐกิจไม่ฟื้น ควรจะต้องลดภาษีด้วยซ้ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนที่หลายๆ ประเทศทำกัน เช่น สหรัฐที่ประกาศจะลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงอยากให้รัฐบาลได้ศึกษาแนวคิดที่ถูกต้องประชาชนจะได้ไม่ลำบาก” น.ส.อนุตตมา กล่าว

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลและคสช.พิจารณาข้อมูลที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงปัญหาเศรษฐกิจที่อาจเสียหายหนักและยากต่อการแก้ไข เพื่อแก้ไขปัญหาให้สถานการณ์ฟื้นกลับคืนมาโดยเร็ว เช่น เงินคงคลัง ก่อนการรัฐประหาร จากที่มีเกือบ 5 แสนล้านบาท เหลือเพียง 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งต่ำสุดในรอบหลายปี และการที่รัฐบาลตั้งงบประมาณในปี 2561 ขาดดุลถึง 450,000 ล้านบาท เมื่อนับตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลตั้งงบขาดดุลจมลึกมากขึ้นทุกปี ขณะที่การลงทุนในประเทศมีแต่งบลงทุนจากภาครัฐ ส่วนภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศไม่ได้ลงทุนให้สอดคล้องกับแนวทางหรือยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ จึงน่าเป็นห่วงว่างบประมาณที่ลงไปขาเดียวจะได้ผลคุ้มค่าหรือไม่ และประเทศจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องยอมรับความจริงที่เป็นปัญหา ก็ยังมีทางออกจากปัญหาได้ ทันการณ์และหวังว่าถ้าผู้เกี่ยวข้องสามารถบันดาลให้บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติได้ โดยเร็ว บุคคลนั้นจะเป็นเทวดาในสายตาของประชาชนทันที

ชี้”ปชต.-นิติธรรม”นำสู่ปรองดอง

นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ว่า ความปรองดองคำตอบไม่ได้อยู่ที่ประ ชาชน ถ้าอยากให้ความปรองดองเกิดและชีวิตของคนไทยดีขึ้น สังคมไทยต้องช่วยกันผลักดันและทำ 2 สิ่งต่อไปนี้ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง 1.สังคมต้องพร้อมกลับคืนสู่ความเป็นประชา ธิปไตยอย่างแท้จริงโดยพลัน เพราะความเป็นประชาธิปไตย คือหลักประกันสำคัญที่จะสร้างการยอมรับให้สังคมที่แตกต่างกันอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขและสันติ ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คือการเคารพและยอมรับในสิทธิ เสรีภาพของปัจเจกชนและกลุ่มชน

2.สังคมต้องยึดหลักนิติธรรม เป็นเสาค้ำการอยู่ร่วมกัน ที่สำคัญต้องให้หลักประกันที่จะอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ไม่มีอภิสิทธิ์ชน ไม่มีสองมาตรฐาน ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันที่ยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน ตราบใดที่ทำให้คนในสังคมไม่มั่นใจว่ากระบวนการยุติธรรมมีหลักประกัน ย่อมยากที่จะทำให้ความสามัคคีปรองดองบังเกิดขึ้น ตามคำกล่าวที่ว่าหากความยุติธรรมไม่มี ความสามัคคีย่อมไม่เกิดขึ้น

“สาระสำคัญที่จะสร้างปรองดองให้เกิดขึ้น คือหัวใจสำคัญของ 2 สิ่งนี้ ซึ่งไม่เคยเป็นปัญหาของประชาชนและฝ่ายนิยมประชา ธิปไตย แต่เป็นปัญหาสำคัญของฝ่ายผู้มีอำนาจและฝ่ายอนุรักษ์ ที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของโลก ไม่เคยเชื่อในอำนาจประชา ชนและไม่เคยยอมรับระบอบประชาธิปไตย สังคมไทยพร้อมร่วมสร้างความปรองดองเพื่อผลักดันพื้นฐานความเป็นประชาธิปไตยและการสร้างหลักนิติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมแล้วหรือยังคำตอบมิได้อยู่ที่ฝ่ายประชาชน” นายภูมิธรรมระบุ

จาตุรนต์ถาม”ปยป.”มีไว้ทำไม

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษา ธิการ แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กว่า ป.ย.ป. มีไว้ทำไม หลายสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 1 สัปดาห์มานี้ ทั้งการปฏิรูป การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและการปรองดองในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมาไปไม่ถึงไหน และยังส่อจะล้มเหลว ทั้งเรื่องอันดับโปร่งใสตกต่ำ แสดงว่าที่คสช.อวดอ้างจะเข้ามาปราบคอร์รัปชั่นนั้น เอาเข้าจริงไม่ได้สร้างระบบการต่อต้านการคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพขึ้นได้ ซ้ำร้ายยังแย่ลง รวมถึงเรื่องสินบน และการบินไทย การปฏิรูปสื่อสุดท้ายกลายเป็นการวางแผนควบคุมสื่อมากกว่า สรุปคือการปฏิรูปหรือ ป.ตัวแรกไม่มีอนาคต การกำหนดยุทธศาสตร์ หรือตัว ย.ก็ยิ่งไม่มีอนาคต เพราะการปฏิรูปที่จะให้มีผลยังไม่มีวี่แววจะดีขึ้นได้ แล้วการวางแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีจะเป็นอย่างไร

นายจาตุรนต์ ระบุว่า ส่วน ป.ปรองดอง ยังไม่ทันไปถึงไหน ก็เกิดประเด็นร้อนจะให้นักการเมืองเซ็นเอ็มโอยู ถ้าไม่เซ็นก็อาจเลื่อนเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ ไม่ทราบว่าเหตุที่ยกเอ็มโอยูขึ้นมา เพื่อให้เกิดการปรองดองหรือเพื่อหาทางเลื่อนการเลือกตั้งกันแน่ และยังระบุรัฐประหารเป็นสิ่งจำเป็นบ้าง ถ้านักการเมืองไม่ปรองดองกัน การรัฐประหารก็อาจเกิดขึ้นได้อีก ภาพลักษณ์ของประเทศยิ่ง ตกต่ำไปใหญ่ การปรองดองเป็นเพียงข้ออ้างที่ไม่เคยพยายามทำให้เกิดขึ้นทั้ง ป. ปฏิรูป ย.ยุทธศาสตร์ชาติ และ ป.ปรองดอง ไม่มีวี่แววว่าจะเกิดมรรคเกิดผลอะไร ถ้าอยากให้เกิดผลอะไรบ้าง มีทางเดียว คือผู้มีอำนาจต้องรับฟังความเห็นฝ่ายต่างๆ ให้มากขึ้น ถ้ายังทำกันอยู่แบบไม่ฟังใครเช่นนี้คงต้องตั้งคำถามว่า ป.ย.ป. มีไว้ทำไม

สมช.ซัดคนหนีอยู่ลาวโพสต์ขู่ฆ่า

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงกรณีมีการโพสต์ขู่ฆ่าพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตรผ่านโซเชี่ยลมีเดียว่า การขู่สังหารเป็นผลจากการที่ทางการไทยเร่งรัดทางการลาวให้ช่วยติดตามกลุ่มบุคคลที่หมิ่นสถาบันผ่านโซเชี่ยลมีเดียในประเทศลาว กลุ่มดังกล่าวจึงกระทำการนี้ และส่วนตัวได้สั่งการให้ตรวจสอบด้านข้อกฎหมาย ว่ามีกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการข่มขู่ ทำร้ายกับบุคคล สำคัญว่าอาจฟ้องร้องได้อีกข้อหาหนึ่งหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดเป็นกลุ่มบุคคลที่มีรายชื่ออยู่แล้ว แต่ส่วนตัวยังไม่ได้กำหนดการเดินทางไปลาว

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวถึงการติดตามตัว ผู้โพสต์ข้อความลอบสังหารว่า ไม่มี เขาก็ พูดไป ส่วนที่เลขาธิการสมช. ก็เป็นไปตามที่เลขาฯสมช.ระบุ ตนคงไม่ต้องตรวจสอบเพราะตนอยู่ได้ ไม่เป็นไร ไม่ต้องห่วง นักข่าวห่วงตนหรือจะไปยุให้พวกเขามาอีกเยอะๆ ส่วนการรักษาความปลอดภัย ทุกอย่างดูแลกันอยู่แล้ว ไม่ได้ตื่นเต้น ไม่ได้เพิ่มหรือลดคนอารักขา ทุกอย่างยังเหมือนเดิม

ปปช.ยังไม่ถกสินบนโรลส์-รอยซ์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกรณีบริษัทโรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนซื้อขายเครื่องยนต์อากาศยาน และเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศไทยว่า เรื่องที่เป็นประเด็นอยู่ตอนนี้ อย่ายกมาเป็นประเด็นเลย ได้ให้กระทรวงการคลังคิดหาวิธีการแล้ว ซึ่งมีหลายแนวทาง ส่วนแนวทางแก้ไขกฎหมายอาญาเรื่องการรับสินบนที่กระทรวงการคลังเสนอมานั้น ถือเป็นวิธีการของต่างประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำ เพราะต้องหารือกันก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่ เรื่องนี้มีทั้ง ผู้ให้และผู้รับ หากตรวจสอบไม่ได้แล้วหาคนผิดไม่ได้ ต้องกลับไปดูว่าจะทำอย่างไรกับ คนให้สินบนบ้าง โดยให้ไปศึกษาสิ่งที่ต่างประเทศได้ดำเนินการมาก่อน

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีบริษัทโรลส์-รอยซ์ให้สินบนเจ้าหน้าที่ไทยว่า ในวันที่ 7 ก.พ. จะยังไม่เสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมป.ป.ช. เพราะอยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง และรวบรวมข้อมูลเพื่อพิจารณาว่าจะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนต่อไปได้หรือไม่ อีกทั้งการให้ข้อมูลป.ป.ช.ต้องระมัดระวัง ต้องให้แน่ใจว่ามีการ กระทำผิดจริงก่อน เพราะป.ป.ช.ถูกฟ้องคดีจากผู้ที่ถูกกล่าวหามาแล้ว 1 คดี

รับมีข้อมูล”2ก.-1ส.”

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวถึงนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุข้อมูลชื่อตัวย่อ 2 ก. กับ 1 ส. เกี่ยวพันกับการรับสินบนโครงการจัดซื้อเครื่องยนต์จาก บ.โรลส์-รอยซ์ ในปี 2534 ว่า เป็นข้อมูลตรงกับที่ป.ป.ช.มีว่าบุคคลเหล่านี้เป็นผู้รับผิดชอบจัดซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ในช่วงดังกล่าว แต่ป.ป.ช.ไม่มีข้อมูลถึงขั้นว่ามีพฤติการณ์ไปกินข้าวด้วยกันที่โรงแรมในวันลอยกระทง ส่วนข้อมูลสินบนโรลส์-รอยซ์นั้น ป.ป.ช.มีข้อมูลพอสมควร และกำลังรอข้อมูลจากป.ป.ช.อังกฤษอยู่ ซึ่งกำหนดไม่ได้ว่าจะส่งข้อมูลมาให้ป.ป.ช.ได้เมื่อใด และยังคาดเดาไม่ได้ว่าป.ป.ช.อังกฤษจะส่งรายชื่อผู้ได้รับสินบนจากบริษัท โรลส์-รอยซ์ ให้ป.ป.ช.หรือไม่ เพราะหน่วยงานของอังกฤษต้องทำเรื่องขออนุญาตผู้บังคับบัญชาเช่นกันว่าจะอนุญาตให้เปิดเผยรายชื่อหรือไม่ หากไม่ได้ข้อมูลก็เป็นหน้าที่ป.ป.ช.ต้องสืบหาหลักฐานเองว่าใครเกี่ยวข้องรับสินบน ซึ่งขณะนี้ป.ป.ช.พอมีข้อมูลเชิงลึกส่วนหนึ่งแล้ว

นายสรรเสริญกล่าวถึงกระทรวงการคลังเสนอให้นายกฯ ใช้มาตรา 44 ยกเว้นโทษอาญาแก่ผู้ให้สินบน หากนำข้อมูลมาเปิดเผยว่า ถือเป็นข้อเสนอที่ดี ที่ผ่านมาในรายงานผลการศึกษาของป.ป.ช.เรื่องปัญหาสินบน ได้ข้อสรุปว่าหากไม่ดำเนินการเรื่องโทษจำคุกแก่ ผู้ให้สินบนโดยให้มีแต่โทษปรับ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหามากกว่า เพราะทำให้ผู้ให้สินบนกล้าเปิดเผยข้อมูล เพราะปกติคนกลัวโทษทางอาญา ติดคุกแต่ยอมรับเรื่องโทษปรับได้ ทั้งนี้ ป.ป.ช.เตรียมนำหลักการยกเว้นโทษอาญาแก่ผู้ให้สินบนเสนอต่อที่ประชุมป.ป.ช.ชุดใหญ่ในสัปดาห์หน้า เพื่อดูว่าป.ป.ช.มีความเห็นอย่างไร และเสนอข้อมูลไปยังรัฐบาลเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา

วิษณุคาดอาจมีเปิดชื่อมาอีกก็ได้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงแนวคิดของนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ที่จะแก้ไขกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการรับสินบน กรณีแจ้งเบาะแสว่าถูกผู้รับหรือภาครัฐเรียกสินบนในโครงการ โดยผู้ให้สินบนจะเสียค่าปรับเพื่อจูงใจให้เปิดเผยข้อมูลมากขึ้นว่า เป็นสิ่งที่คณะทำงานของกระทรวงการคลังศึกษาแล้วนำมาเปิดเผย แต่รัฐบาลยังไม่ได้เห็นข้อมูลจึงตอบไม่ได้ แต่มีการพูดถึงเรื่องนี้มานานแล้วในหลายสมัย ส่วนเงินสินบนนั้นมีหลักอยู่ว่ามีผู้รู้เรื่องสินบนคือผู้ให้และผู้รับ ถ้ามีพยานหลักฐานที่เอามาจากที่อื่นเพื่อมัดทั้ง 2 ฝ่ายนี้ได้ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะยกเว้นความผิด ยกเว้นโทษ หรือลดหย่อนโทษ แต่กรณีจำเป็นต้องเอาพยานหลักฐานมาจากฝ่ายผู้ให้หรือผู้รับเท่านั้นโดยไม่สามารถหามาจากที่อื่นได้ อัยการจะชั่งน้ำหนักว่าการทำผิดของฝ่ายใดร้ายแรงกว่ากัน เพื่อขอกันอีกฝ่ายหนึ่งให้เป็นพยานแผ่นดิน และตามหลักถือกันมาว่าผู้ที่มีความผิดร้ายแรงมากกว่า คือฝ่ายเจ้าหน้าที่ เพราะเป็นผู้ที่มีรัฐเลี้ยงดู มีเงินเดือนและอำนาจ แต่กลับทำผิดเสียเอง จึงไม่ควรกันเจ้าหน้าที่รัฐไว้เป็นพยาน ซึ่งในอดีตมีหลายคดีเคยทำลักษณะนี้

นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีที่ผู้ว่าการ สตง. เปิดเผยว่ามีชื่อบุคคล อักษรย่อ 2 ก. กับ 1 ส. เกี่ยวข้องกับการรับสินบนจากบริษัท โรลส์-รอยซ์ เมื่อปี 2534 ว่า แม้มีการสอบถามความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีเงินสินบนจากบริษัทนี้ ในระหว่างการประชุมคณะกรรม การพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้มีการเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง ถึงเขารู้ก็คงไม่เอามาพูดในที่ประชุม

เมื่อถามว่าการที่ผู้ว่าฯสตง.เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตัวจริงตื่นตัวหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่ตนเห็นว่าเมื่อหน่วยงานไม่ออกมาพูดอะไร สื่อมวลชนก็มองว่าเขาไม่แน่จริง เก็บเอาไว้ เขาจึงตอบสนองให้สื่อมวลชนด้วยการเปิดตัวย่อออกมา แต่เมื่อออกมาวิจารณ์ว่าเปิดแค่ชื่อย่อ แสดงว่าไม่แน่จริง เขาก็คงจะเปิดตัวย่อตัวที่ 2 ออกมาอีกก็ได้ หน่วยงานเหล่านี้ก็วางตัวไม่ถูกเหมือนกัน

ร้อง”บิ๊กตู่”-อผศ.ยื้อจ่ายขุดคลอง

ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี น.ส.ประเวศน์ ภูโปร่ง ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด สุรัสวดี 98 เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ขอให้ตรวจสอบและขอความช่วยเหลือกรณียังไม่ได้รับเงินค่าจ้างจากการดำเนินการโครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยวังไฮ จ.มหาสารคาม และโครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำกุดชีเฒ่า จ.ร้อยเอ็ด รวมมูลค่า 38 ล้านบาท จากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.)

น.ส.ประเวศน์กล่าวว่า บริษัทได้เซ็นสัญญาจ้างขุดลอกห้วยวังไฮ กุดชีเฒ่า กุดเชียงสา เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2558 และดำเนินการเสร็จเรียบร้อย ส่งมอบงานไปเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2559 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ตรวจรับและโอนเงินไปยังอผศ.ลงวันที่ 2 ส.ค.2559 จากนั้นได้ติดตามทวงถามตั้งแต่เดือนก.ย. 2559 ถึงม.ค. 2560 แต่ไม่ได้รับคำตอบ ทำให้เดือดร้อนมากเพราะได้กู้เงินทั้งในและนอกระบบโดยใช้เครดิตและตีเช็คค้ำประกันไว้ เพื่อมาดำเนินการขุดลอกห้วย ต่อมาวันที่ 17 พ.ย.2559 ได้รับคำสั่งอายัดทรัพย์จากกรมสรรพากร เขต 10 เป็นคดีคำพิพากษา 10448/59 วันที่ 22 พ.ย. 2559 นอกจากนี้ยังได้รับใบทวงถามจนโดนยึดรถจากไฟแนนซ์ รวมถึงมีหนี้สินค่าน้ำมันและค่ารถ งวดรถกำลังถูกฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา จึงเกรงจะถูกฟ้องล้มละลายและจำคุก จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยและเร่งรัดการจ่ายเงินค่าขุดลอกห้วยดังกล่าว

รายงานข่าวจากอผศ. เผยว่า อผศ.จะได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีดังกล่าวเพราะถือว่าเป็นการสร้างความเสื่อมเสียให้กับทาง อผศ. อย่างไรก็ตามการการดำเนินงานขุดลอกคลองทั้ง 2 จังหวัด ดำเนินงานตามขั้นตอนทุกอย่างมีหลักฐานครบ จึงขอเวลาสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงต่อไป

วิษณุเผยแก้รธน.ใกล้เสร็จแล้ว

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ว่า ในชั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เป็นผู้ทำใกล้จะเสร็จแล้ว ซึ่งยังมีเวลาพิจารณาถึงวันที่ 18 ก.พ.นี้ ก่อนนำร่างดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ยืนยันว่าการแก้ไขอยู่ภายในกรอบ 30 วัน แต่บอกไม่ได้ว่าจะเสร็จเมื่อใด โดยเนื้อหาได้พิจารณาไปหมดแล้ว เพียงแต่นำกลับมาขัดเกลาและดูถ้อยคำเพื่อให้รัดกุมและชัดเจน เพราะเรื่องนี้มีที่มาที่ไป จึงจำเป็นต้องตรวจสอบให้ตรงกันว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เวลาแก้ไขก็จะพิจารณารวมไปทั้งหมด แต่ยังไม่ขอลงรายละเอียดว่าแก้ไขมาตราอะไรไปแล้ว และเคยบอกตั้งแต่ต้นแล้วว่าการแก้ไขไม่มีการเรื่องอื่น เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาทำเสร็จ ก็จะเปิดเผยตัวร่างให้ทราบต่อไป

ขณะที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษได้พิจารณาฉบับแก้ไขเสร็จเรียบร้อยแล้วตามข้อสังเกต ซึ่งความคืบหน้าและรายละเอียดการปรับแก้ไข นายวิษณุจะเป็นผู้ชี้แจงเอง โดยจะนัดประชุมคณะกรรมการอีกครั้งในสัปดาห์นี้ ส่วนจะเปิดเผยรายละเอียดเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่ได้แก้ไขแล้วและกำหนดวันนำร่างขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัยในวันที่ 18 ก.พ.นี้ได้หรือ ไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.)เป็นฝ่ายดำเนินการ

กมธ.รับ6ข้อเสนอวิปสปท.ไปถก

พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธาน กมธ. ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการสื่อสารมวลชน สปท. แถลงผลการประชุมกมธ. ซึ่งได้พิจารณาตามข้อเสนอและความเห็นของวิปสปท.ที่ขอให้ทบทวนร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ว่า จากประเด็นที่วิปสปท.ให้ความเห็นต่อกมธ.สื่อทั้ง 6 ประเด็นนั้น มีบทสรุป คือ 1.กรณีชื่อร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพฯ สอดคล้องกับเนื้อหาหรือไม่ โดยกมธ. ยืนยันว่าจะคงชื่อร่างกฎหมายไว้เหมือนเดิม

2.การปรับปรุงกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ในส่วนของที่มาจากปลัดกระทรวง 4 กระทรวง 3.กรณีลดจำนวนกรรมการสภาวิชาชีพฯ ที่มาจากตัวแทนภาครัฐ 4. การปรับปรุงเนื้อหาต่อประเด็นการให้สิทธิผู้เสียหายต่อการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนฟ้องร้องต่อศาล หรือกรรมการสภาวิชาชีพ 5.การพิจารณาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และ 6.การเขียนเนื้อหาที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น เป็นประเด็นที่ที่ประชุมได้ให้การบ้านกับกมธ.ด้านการสื่อสารมวลชนไปทำการบ้านและพิจารณาหารูปแบบที่เหมาะสม รวมถึงให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาเนื้อหาที่เหมาะสมด้วย ดังนั้น ต้องพิจารณาให้รอบคอบและไม่ให้กระทบต่อประโยชน์สาธารณะและให้นำกลับมาเสนอต่อที่ประชุม กมธ.ด้านสื่อสารมวลชน ในการประชุมวันที่ 14 ก.พ.ต่อไป การพิจารณาปรับปรุงเนื้อหาของร่างกฎหมายนั้นยืนยันว่าจะมีการรับฟังข้อเสนอของภาคสื่อมวลชนด้วย หากไม่ฟังความเห็นก็คงเดินหน้าต่อไปแล้ว เราไม่ได้เร่งรีบเพราะต้องการให้เกิดความรอบคอบ

บิ๊กตู่ลั่นคุมกันเองได้ผมก็ไม่ยุ่ง

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะ คสช.กล่าวถึงกระแสคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ว่า กำลังศึกษากฎหมายต่างประเทศว่าเขาทำกันอย่างไร ถ้าเขาไม่มีก็ไม่มี แต่ถ้าประเทศประชาธิปไตยไหนมีก็ต้องมาพิจารณาว่าเราควรมีหรือไม่ ประเด็นสำคัญคือสื่อต้องควบคุมตัวเองให้ได้ ถ้ามีเรื่องก็ต้องคุมได้ ถ้าไม่บิดเบือนแล้วใครจะไปยุ่ง ถ้าบิดเบือนจากข้อเท็จจริงจนเห็นได้ชัดแล้วจะแก้ปัญหากันอย่างไร ส่วนที่องค์กรสื่อจะคุมกันเอง ตนเคยประสานไปก็บอกว่าไม่มีอำนาจ พอตนจะให้มีอำนาจขึ้นมาก็ไม่เอา ไม่ให้ข้าราชการเข้าไป บอกว่าจะคุมกันเอง ถ้ามีคดีมีเรื่องราวจะสั่งการอย่างไร

“สื่อจะไปเล่นงาน ไปขอร้องหรือดำเนินกระบวนการทางกฎหมายเจ้าของสำนักพิมพ์ บรรณาธิการได้อย่างไร ไปคิดมา ถ้าทำได้ผมก็ไม่ยุ่ง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ตั้ง”สุจิต-เอนก”ร่วมทีมปยป.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่คำสั่งนายกฯที่ 7/2560 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณากลั่นกรองเรื่องเสนอคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ ชาติ และการสร้างความปรอง(ป.ย.ป.) โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ลงนามเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาระบุถึงโครงสร้างของคณะกรรมการย่อยในป.ย.ป. ทั้ง 4 ชุด ซึ่งมีนายกฯ เป็นประธาน และมีรองนายกฯเป็นรองประธาน ทั้งนี้ ที่น่าสนใจคือคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม เป็นรองประธาน มีกรรมการและที่ปรึกษารวม 31 คน อาทิ ประธานสนช. ประธานสปท. ประธานคณะอนุกรรมการทุกคณะภายใต้คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ นายปณิธาน วัฒนายากร นายสุจิต บุญบงการ นายสุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ และนายเอนยก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นที่ปรึกษาและกรรมการ

ส่วนกรรมการ ได้แก่ รองประธานสนช. รองประธานสปท. รมต.ประจำสำนักนายกฯ รมว.กลาโหม รมว.ต่างประเทศ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รมว.ยุติธรรม รมว.มหาดไทย ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ เลขาธิการสมช. เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผบ.สส. ผบ.ทอ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. ผบ.ตร. อัยการสูงสุด เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ผู้แทนคสช. ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นกรรมการและเลขานุการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และผอ.สำนักนโยบายและแผน กลาโหม กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน