เปิดเบื้องลึก! ปปช.ตีตก นาฬิกาบิ๊กป้อม ชี้ อย่าไปเทียบคดี ‘ปลัดสุพจน์ ยืมรถเพื่อน’

ปปช. นาฬิกาบิ๊กป้อม – ที่ห้องประชุม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป.ป.ช.จัดกิจกรรม ป.ป.ช.พบสื่อมวลชนระดับบรรณาธิการ โดยมีพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. พร้อมด้วยกรรมการรวม 9 ราย เลขาธิการและรองเลขาฯ ผู้บริหารระดับสูงในสำนักงาน ป.ป.ช. และมีสื่อมวลชนระดับบรรณาธิการอีก 16 รายร่วมกิจกรรม

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวเปิดงานตอนหนึ่ง ปัจจุบันยังมีประเด็นติดขัดคือกรณีการขอความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ เช่น กรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐไทย ที่มีในมือป.ป.ช. ประมาณ 20 เรื่อง ตรงนี้ต้องผ่านอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อขอข้อมูล

แต่ขึ้นอยู่กับประเทศที่ร้องขอด้วยว่ามีอนุสัญญาระหว่างประเทศกับไทย หรือเป็นการต่างตอบแทนผลประโยชน์ด้วยกันหรือไม่ เนื่องจากไทยมีโทษประหารชีวิต อาจทำให้ล่าช้า ส่วนคดีทางการเมือง อาจต้องเวลาบ้างเพราะบางคดีมีรายละเอียดมาก แต่ยืนยันว่าทุกเรื่องต้องเสร็จภายในปี 2564

ทั้งนี้ มีบรรณาธิการสื่อหลายสำนักซักถาม ป.ป.ช. ถึงสาเหตุการตีตกคดีนาฬิกาหรูที่มีการกล่าวหา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ซึ่งนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการป.ป.ช. ชี้แจงว่า การตรวจสอบกรณีนาฬิกาหรู เริ่มต้นตรวจสอบว่า นาฬิกาถูกขายผ่านตัวแทนจำหน่ายไทยหรือไม่ เบื้องต้นตรวจสอบตัวแทนจำหน่ายในไทยกว่า 13-15 บริษัท ตอบมาว่าไม่มีข้อมูลเรื่องพวกนี้

ต่อมา ป.ป.ช.คิดว่าน่าจะนำเข้าทางกรมศุลกากร กรมศุลการกรก็ตอบมาว่า ไม่สามารถให้ข้อมูลเรื่องพวกนี้ได้ ทำให้ต้องตรวจสอบไปยังต่างประเทศ พบว่ามีอยู่ 4 ประเทศ ที่มีบริษัทผู้ผลิต ขอไม่เอ่ยชื่อประเทศ เพราะเกรงว่าความร่วมมือในอนาคตอาจไม่เกิดขึ้น

นายวรวิทย์ กล่าวว่า การขอความร่วมมือกับต่างประเทศ มี 2 ช่องทางคือ ช่องทางแรก ผ่านเรื่องไปยังอสส. โดยใช้พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2535 ต้องเป็นความผิดทางอาญา แต่กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องทุจริต แต่เป็นการยื่นบัญชีทรัพย์สิน ตอนแรกที่ประชุมป.ป.ช. เห็นว่าเรื่องนี้ไม่เข้าข่ายที่ต้องใช้ช่องทาง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความอาญา จึงเหลือช่องทางที่สอง

คือการใช้ระเบียบว่าด้วยการตรวจสอบทรัพย์สิน ขอข้อมูลผ่านทางสถานทูตในต่างประเทศ ใช้วิธีทางการทูต โดยสถานทูตให้ความร่วมมือกับป.ป.ช.อย่างดี แต่สถานทูตจะมีข้อจำกัดด้านกฎหมายในการขอข้อมูล เนื่องจากไม่ใช่ความผิดทางอาญา

เลขาฯป.ป.ช. กล่าวว่า เมื่อสถานทูตทั้ง 4 ประเทศสอบถามกับบริษัทผู้ผลิต มี 3 บริษัทตอบกลับมาตรงๆว่าไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เนื่องจากกรณีนี้ไม่ใช่การทุจริต ส่วนบริษัทอีกแห่ง ตอบกลับว่าขอให้ใช้วิธีขอข้อมูลอย่างถูกต้องตามช่องทางกฎหมาย โดยใช้พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความอาญา

แต่กรณีนี้ไม่ใช่คดีอาญาเกี่ยวกับการทุจริต จึงใช้ช่องทางนี้ไม่ได้ เมื่อบริษัทผู้ผลิต 4 แห่งตอบกลับมาแบบนี้ ที่ประชุมป.ป.ช.ต้องมาวินิจฉัยอีกครั้งว่า เรื่องนี้ใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความอาญา ได้หรือไม่ ซึ่งป.ป.ช. เสียงข้างมาก วินิจฉัยว่าไม่สามารถทำได้

แต่ถ้าจะใช้ช่องทางพ.ร.บ.วิธีพิจารณาความอาญาจริง คงใช้เวลาเพิ่มเติมอีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน-1 ปี และคำตอบคงออกมาแบบเดิมว่ากรณีนี้ไม่ใช่คดีอาญาเกี่ยวกับการทุจริต ท้ายที่สุดเสียงข้างมากจึงวินิจฉัยตามพยานหลักฐาน

ด้านนายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการป.ป.ช. ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมวันลงมติคดีนาฬิกาหรู เนื่องจากพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. ถอนตัว กล่าวว่า

ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในเสียงข้างมาก และการพิจารณากรณีนี้เป็นเรื่องพยานหลักฐานที่ปรากฏกับบุคคลที่ให้การ ยืนยันว่าตัวนาฬิกาเป็นของผู้เสียชีวิต คือนายปัฐวาท ศรีสุขวงศ์ เมื่อตรวจสอบในเรื่องสภาพฐานะ หรือความเป็นอยู่ พบข้อเท็จจริงว่าผู้เสียชีวิตชอบสะสมเรื่องนี้

มีอุปนิสัยเอื้อเฟื้อให้เพื่อนฝูงหยิบยืมของ จากการตรวจสอบบ้านผ่านการร่วมมือจากทายาท แสดงถึงทุนทรัพย์ในส่วนของนาฬิกาหรูว่ามีถึง 137 เรือน โดยจำนวน 22 เรือนที่เป็นประเด็นก็รวมอยู่ในนี้ด้วย

เกาะติดข่าวการเมืองข่าวเลือกตั้ง แค่กดเป็นเพื่อนกับไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นายปรีชา กล่าวว่า ส่วนขั้นตอนพิสูจน์ที่มาที่ไปของนาฬิกาหรูว่าใครเป็นผู้ครอบครอง เมื่อพบข้อเท็จจริงแล้วว่าผู้เสียชีวิตเป็นคนชอบสะสมนาฬิกาหรู เมื่อเชื่ออย่างนั้น แต่กรณีนี้จะตรวจสอบต่อไปได้หรือไม่ กลายเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะไม่มีหลักฐานจากต่างประเทศและข้อกฎหมายที่จะไปต่อได้

เสียงข้างมากจึงเห็นว่า ควรหยุดเพียงเท่านี้ เพราะพยานหลักฐานไปต่อไม่ได้ ส่วนข้างน้อยเห็นว่ายังมีบางประเด็นที่ตรวจสอบเชิงลึกและหารายละเอียดได้อยู่ จนอาจมีมูลไต่สวนได้ เป็นเรื่องความเห็นที่แตกต่างกัน

นายปรีชา กล่าวว่า ส่วนการเปรียบเทียบกับกรณีการครอบครองรถโฟล์คตู้ของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมนั้น ศาลฎีกาฯพิพากษาจนเป็นที่ยุติแล้วว่า เงินและรถคันดังกล่าวเป็นของนายสุพจน์ นอกจากนี้ศาลฎีกาพิพากษาในคดีแพ่งด้วยว่า นายสุพจน์ร่ำรวยผิดปกติ เนื่องจากได้รับรถมาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

จุดต่างคือ

ลักษณะการครอบครองหรือได้มาต่างกัน กรณีรถโฟล์คตู้ ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายสุพจน์ครอบครองต่อเนื่องปี 2552-54 จนกระทั่งถึงวันเกิดเหตุการณ์ปล้นบ้าน และเงินที่จัดซื้อจัดหา ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักธุรกิจที่ให้เงินไป นี่เป็นเรื่องนำคำพิพากษามาเทียบกับกรณีนาฬิกาหรู ที่พบว่าไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

ยืนยันว่าการพิจารณาเป็นไปโดยอิสระ ไม่มีอะไรกดดัน ขณะเดียวกันหากชี้แจงมาก อาจกลายเป็นการแก้ตัวของป.ป.ช. และอาจกระทบกับครอบครัว จึงกราบเรียนให้ทราบว่า พิจารณาด้วยพยานหลักฐานเท่าที่มี

ด้านน.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. หนึ่งในเสียงข้างน้อยในคดีดังกล่าว กล่าวว่า ขอให้เชื่อมั่นการทำงานของป.ป.ช. เพราะทั้งหมดมีความเห็นเป็นอิสระ และเคารพหลักเกณฑ์ ตนจบบัญชีมา ทำคดีร่ำรวยผิดปกติและยึดทรัพย์สินไปเยอะ กระบวนการไต่สวนอาจเข้มกว่าวิชาชีพอื่น การรับฟังข้อมูลต้องเป๊ะในฐานะนักบัญชี

และนางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. อีกรายที่เป็นเสียงข้างน้อยเป็นนักบัญชีเช่นกัน เลยเห็นตรงกันว่าไล่ไปสุดสายได้แค่ไหนก็จบแค่นั้น แต่มุมเรานักบัญชีคิดว่ามันไล่ต่อได้ เพราะเขาให้ไปถามหากระบวนการประสานงานขอข้อมูลหลักฐานจากต่างประเทศ ตามมาตรา 138 และ 139 ในพ.ร.บ.ป.ป.ช.ได้ หากได้คำตอบจากหน่วยงานต่างประเทศ ผ่านทางอัยการแล้วต่างประเทศบอกว่าไม่ให้ ก็จบ แต่วันนี้มันยังไม่ถึงจุดนั้น


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน