โรคบ้ายาแรง
ใบตองแห้ง

“ทัวร์ศูนย์เหรียญ” กำลังเป็นประเด็นร้อนในธุรกิจท่องเที่ยว รัฐบาลยืนยันการปราบปรามไม่มีผลกระทบ แต่บริษัททัวร์ตื่นตระหนก นักท่องเที่ยวจีนหดหายร่วม 5 แสนคน

การปราบคนทำผิดเป็นเรื่องดี แต่ต้องเข้าใจเงื่อนไขที่ทัวร์ไทยรับจากต้นทาง ข้อจำกัดหลายอย่างทำถูกเป๊ะๆ ไม่ได้ ที่ผ่านมาไม่มีใครว่าอะไร แต่พอปุบปับจับใหญ่ กลับไม่ธรรมดา ตั้งข้อหา “อั้งยี่” ยึดทรัพย์ บริษัททัวร์ก็ขี้หดตดหายสิครับ

ตำรวจท่องเที่ยวจับทัวร์นอมินี ขยายถึงโอเอทรานสปอร์ต บริการรถฟรีพาเหยื่อซื้อของซ้ำเลี่ยงภาษี โดนข้อหา “อั้งยี่” คณะกรรมการธุรกรรม ปปง.สั่งยึดอายัดทรัพย์ 13,000 ล้าน รวมรถทัวร์ 2 พันกว่าคัน

อ.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ดูเหมือนเป็นหัวเดียวกระเทียมลีบ ที่แย้งว่าควรแยกดำเนินคดี ฉ้อโกง เลี่ยงภาษี ฯลฯ ว่ากันไป แต่ไม่ควรตั้งข้อหา “อั้งยี่” ยึดอายัดทรัพย์ ซึ่งเท่ากับบริษัทล้มครืน หลายพันคนตกงาน สังศิตยังเห็นว่าควรยกเลิกความผิดอั้งยี่ที่มีมาแต่โบราณ “บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ปกปิดวิธีการดำเนินงานที่ผิดกฎหมาย” เพราะตีความได้กว้าง ใครก็เป็นอั้งยี่ได้ ใครก็ถูกยึดอายัดทรัพย์ได้

ผมฟังข่าวนี้แล้ว “เชื่อได้ว่า” บริษัทน่าจะผิด แต่ขณะเดียวกัน ก็เห็นว่าอำนาจ ปปง. น่าสะพรึงกลัว เพราะแค่ตั้งข้อหา อัยการยังไม่สั่งฟ้อง ศาลยังไม่ตัดสิน กระบวนการยุติธรรมยังไม่สิ้นสุด ก็ยึดอายัดทรัพย์ได้ 13,000 ล้าน ไม่ว่าผลคดีออกมาทางใด บริษัทนี้ก็เจ๊งไปแล้ว

ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ แห่งสภาหอการค้าไทย เพิ่งเขียนบทความลงมติชน “มาตรการยึดและอายัดทรัพย์ผู้กระทำผิดคดีภาษี : ผลกระทบต่อผู้สุจริต” ทักท้วงการแก้ไขประมวลรัษฎากร ที่ให้อำนาจอธิบดีกรมสรรพากรยึดอายัดทรัพย์ผู้ต้องสงสัยหลีกเลี่ยงและฉ้อโกงภาษีได้ชั่วคราว ซึ่งฟังเหมือนเรื่องดี แต่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจได้กว้างมาก

“หากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า มีการปกปิด ซ่อนเร้น หรือโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดทั้งหมดหรือบางส่วน…” ก็ยึดอายัดทรัพย์ได้ทันที

“เชื่อได้ว่า” คำนี้คุ้นๆ ไหมครับ “เชื่อได้ว่าทุจริต” กกต.ก็แจกใบแดง ตัดสิทธิ รัฐธรรมนูญ 50 ขยายผลจนยุบพรรค แล้วตอนนี้ก็จะแจกใบเหลือง ส้ม แดง ดำ ทั้งที่ไม่ได้พิสูจน์ทุจริตจนศาลพิพากษาจำคุก

ไม่กี่วันก่อน คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิพากษ์ร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ที่จะรวบอำนาจกำกับ ควบคุม ตรวจสอบ เห็นชอบ ตีความ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั้งหมดมาไว้ที่กรมบัญชีกลาง

ศ.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดี มธ. บอกว่าถ้ากฎหมายนี้ออกมา การจัดซื้อจัดจ้างทั่วประเทศจะหยุดชะงัก จะพาประเทศถอยหลัง 50 ปี นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ชี้ว่าการเขียนกฎหมายโดยเชื่อว่าทุกคนโกงหมด จ้องเอาโทษหนัก กลับจะบั่นทอนกำลังใจคนทำงาน แค่ทุกวันนี้ก็ไม่มีใครอยากรับหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างอยู่แล้ว

จริงนะครับ 2 ปีที่ผ่านมา ในกระแสบ้าจี้ปราบโกง ป.ป.ช. สตง. เป็นใหญ่ ไล่จับผิดไปทั่ว ข้าราชการไม่มีใครอยากเป็นกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง ทำดีไม่มีรางวัล พลาดพลั้งมีแต่ซวย

วิธีคิดปราบโกง ปราบคนทำผิดแบบไทยๆ ไม่เคยหนีพ้นการใช้ยาแรง ยิ่งไม่ได้ผลก็ยิ่งแรง ปราบเด็กแว้นยึดรถ เอาผิดพ่อแม่ ปราบนักการเมืองผิดคนเดียวยุบพรรค ตัดสิทธิ ต่างอะไรกับฆ่าตัดตอน ตั้งองค์กรขึ้นมาใช้อำนาจพิเศษ ลัดขั้นตอนความยุติธรรม ขาดการถ่วงดุลอำนาจ ยิ่งมีปัญหาว่าโกงกันมาก ก็ยิ่งรวบอำนาจตัดสินใจ เพิ่มอำนาจใช้ดุลพินิจ

วิธีคิดแบบนี้ยังมักจู้จี้จุกจิก เพิ่มอำนาจฝ่ายจับผิด ลิดรอนคนทำงาน เช่นกฎหมาย 4 ชั่วโคตรที่กำลังร่าง แม้ล่าสุดไม่ห้ามชาร์จไฟหลวง แต่ถ้าเริ่มต้นอย่างนี้ หลักการที่ดีก็คงถูกกลบด้วยข้อห้ามยิบย่อย

การตั้งศาลทุจริต ที่ใช้ระบบไต่สวน แบบเดียวกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ก็ระวังนะครับ เพราะ ป.ป.ช.จะมีอำนาจมาก ศาลยึดสำนวน ป.ป.ช.เป็นหลัก จำเลยต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ตัวเอง ไม่เหมือนศาลอาญาปกติ ที่หากโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ให้สิ้นสงสัย ก็ยกประโยชน์ให้จำเลย

รัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง ทำให้ไม่มีใครอยากเป็นนักการเมือง กฎหมายยาแรงต่างๆ ก็จะทำให้ไม่มีใครอยากเป็นข้าราชการ แต่จะแย่งกันสอบเข้าศาลองค์กรอิสระ (เงินเดือนดีกว่าอีกต่างหาก)

ถ้าเปรียบประเทศเป็นบริษัท บริษัทไหนที่ฝ่ายบุคคลบัญชีเป็นใหญ่ เอาแต่ไล่ตรวจจับผิดระเบียบ จนคนทำงานกระดิกไม่ได้ ซ้ำยังมีพวกไม่ทำงานทำการ เอาแต่จัดอีเวนต์ศีลธรรม แล้วยกตนเป็นคนดีกว่าใคร

คุณคิดว่าอนาคตบริษัทนี้จะเป็นเช่นไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน