เลือกตั้ง24มี.ค. รัฐบาล‘ขาลง’?

เลือกตั้ง24มี.ค. รัฐบาล‘ขาลง’? – ตราบใดประชาชนยังไม่ได้เดินเข้าคูหากากบาทเลือกตั้ง อะไรก็ยังเกิดขึ้นได้

ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรยากาศการเมืองสะบัดร้อนสะบัดหนาว ปกคลุมด้วยม่านหมอกฝุ่นละอองแห่งความไม่ชัดเจนว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ หรือ บิ๊กแดง ผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการคสช. ออกโรงปรามกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เคลื่อนไหวจัดกิจกรรมรณรงค์คัดค้านการเลื่อนเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ ออกไปเป็นเดือนมีนาคม

มีการกล่าวหาผู้ชุมนุมได้รับคำสั่งให้เคลื่อนไหวสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย ในช่วงประเทศไทยกำลังจะมีพระราชพิธีสำคัญ และการจัดการเลือกตั้งตามกรอบรัฐธรรมนูญ

ต่อมายังส่งสัญญาณเตือนเข้มๆ ไปยังกลุ่มเคลื่อนไหวและนักการเมืองที่ให้การสนับสนุนว่า การชุมนุมทางการเมืองเป็นสิทธิเสรีภาพ แต่ต้องอยู่ในกรอบ อย่าขีดเส้นให้คนอื่นอย่างเดียว ต้องขีดเส้นตนเองด้วย และที่สำคัญ

“อย่ามาล้ำเส้นกัน”

สิ้นเสียงบิ๊กแดง ตามด้วยการแสดงความเห็นของทีมโฆษกคสช.และกองทัพ โดยเฉพาะพ.อ.วินธัย สุวารี กล่าวถึงกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่า การเคลื่อนไหวบางอย่างกลายเป็นอาชีพ การชูประเด็นเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แล้วผลักผู้อื่นไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม ยังแสดงให้เห็นถึง “วุฒิภาวะประชาธิปไตยบกพร่อง”

อย่างไรก็ตามเสียงปรามของบิ๊กแดง ก็ไม่ส่งผลให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งต้องล่าถอย ตรงกันข้ามยังคงเดินหน้าท้าทายอำนาจกองทัพ และรัฐบาลคสช.

นัดหมายรวมตัวจัดกิจกรรมคัดค้านต่อเนื่องภายใต้สโลแกน “ไม่เลื่อน ไม่ล้ม ไม่ต่อเวลา”

พร้อมออกแถลงการณ์ยื่นคำขาดถึงรัฐบาลคสช. ให้ประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อให้กกต.กำหนดวันเลือกตั้งได้

ล่าสุดข้อเรียกร้องก็คือ หากต้องเลื่อนเลือกตั้งจาก 24 กุมภาพันธ์ออกไป กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ต้องไม่เกินวันที่ 10 มีนาคม เพื่อลดความเสี่ยงในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ

ให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็น“โมฆะ”

ด้วยข้ออ้างว่าการประกาศผลเลือกตั้งไม่อยู่ในกรอบเวลา 150 วัน หลังจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561

ซึ่งวันสุดท้ายคือ 9 พฤษภาคม 2562

“ต้องมีการเลือกตั้งแน่นอน ไม่มีอะไรที่จะดึงออกไปได้ จะขยับไปขยับมาก็แล้วแต่เหตุผล แต่ก็จะอยู่ภายในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงการกำหนดวันเลือกตั้ง

ซึ่งวันนี้ชัดเจนแล้วว่าไม่ทันวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ตามที่รัฐบาลคสช.เคยให้คำมั่นสัญญาไว้กับสังคมไทยและสังคมโลก

กระทั่งเป็น กกต.ที่ออกมาทำหน้าที่ดับชนวนร้อน

โดยให้เป็นรายงานข่าวว่า หากรัฐบาลคสช.ประกาศพ.ร.ฎ.เลือกตั้งได้ไม่เกินวันที่ 23 มกราคม กกต.ก็จะกำหนดโรดแม็ปวันเลือกตั้งใหม่เป็นวันที่ 24 มีนาคม

และจะใช้เวลารับรองผลเลือกตั้งให้เสร็จใน 45 วัน ให้ทันตามกรอบที่กฎหมายกำหนดให้การเลือกตั้งต้อง“แล้วเสร็จ”ภายใน 150 วัน คือวันที่ 9 พฤษภาคม

รายงานข่าวจาก กกต.สอดรับกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่ระบุพ.ร.ฎ.เลือกตั้งจะประกาศใช้ได้ในช่วงสัปดาห์หน้า ส่วนการกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งเป็นอำนาจของกกต.

หากเป็นวันที่ 3 หรือ 10 มีนาคม อาจกระชั้นชิดเกินไปถ้านับจากวันประกาศใช้พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ทำให้พรรคการเมืองเหลือเวลาหาเสียงเพียงแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน

ส่วนวันที่ 17 มีนาคม ก็อาจมีปัญหากับเด็กนักเรียนที่สอบ TCAS จำนวนนับแสนคน ซึ่งอยู่ในวัยที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ทั้งสิ้น

จึงเหลือวันที่ 24 มีนาคม น่าจะเหมาะสมที่สุด

ในประเด็นนี้ นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งข้อสังเกตว่า ถึงกกต.และรัฐบาลจะเผยให้เห็นแนวโน้มการเลือกตั้งจะเลื่อนไปเป็นวันที่ 24 มีนาคม

แต่ปัญหาคือความไม่ไว้วางใจ และไม่เชื่อถือผู้มีอำนาจที่เกิดจากการเลื่อนเลือกตั้งมาแล้ว 4 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5

แม้ กกต.จะยืนยันสามารถจัดการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม และรับรองผลการเลือกตั้งได้ไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม ตามกรอบเวลา 150 วัน

แต่คำถามคือ ถ้าไม่ทันจะเกิดอะไรขึ้น

เพราะก่อนหน้านี้ฝ่ายกฎหมายรัฐบาลคสช.เองบอกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะมีการฟ้องร้องมากที่สุด เนื่องจากกฎหมายเปิดช่องให้ร้องเรียนผลเลือกตั้งไว้กว้างมาก

ประกอบกับทุกคะแนนเสียงจะนำมาถูกนับหาส.ส.บัญชีรายชื่อและส.ส.เขต

พรรคที่ชนะไม่เข้าเป้า หรือพรรคที่เห็นความไม่ชอบมาพากลของการเลือกตั้งก็จะเกิดการฟ้องร้องกันอย่างกว้างขวาง การรับรองผลจึงน่าจะวุ่นวายพอสมควร มากกว่าการเลือกตั้งที่ผ่านๆ มา

“การเลื่อนเป็นวันที่ 24 มีนาคม มีกับดักเชิงเทคนิคทางกฎหมายในแง่การจัดการเลือกตั้งและรับรองผลภายใน 150 วัน ที่จะนำไปสู่การฟ้องร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้เป็นโมฆะ หากพ้นจากวันที่ 9 พฤษภาคมต่อไป” อาจารย์ มช.ระบุ

ซึ่งหากเป็นตามที่นายสมชาย วิเคราะห์ไว้ ก็จะส่งผลให้ผู้มีอำนาจในตอนนี้

ได้อยู่ในอำนาจต่อไป

ในแง่มุมจากสังคมคนภายนอกมองว่า

การเลือกตั้งคือเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย แต่ทำไมผู้มีอำนาจจึงหวาดกลัวถึงขั้นต้องเลื่อนถึง 5 ครั้ง ทั้งที่เป็นคนออกแบบกติกาด้วยตัวเองทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก แง่หนึ่งจึงสะท้อนถึงความตระหนักของรัฐบาลคสช.ว่า

อาจจะต้องสูญเสียอำนาจเพราะการเลือกตั้ง

เพราะสิ่งที่ใครหลายคนสัมผัสได้ก็คือ นับจากปลายปี 2561 ต่อเนื่องขึ้นปีใหม่ 2562 รัฐบาลคสช.ต้องเจอกับสถานการณ์ที่เรียกว่า“งานเข้า”ไม่หยุดหย่อน

ไม่นับรวมการมาของรายการ “Good Monday” ผ่านเว็บไซต์ส่วนตัวของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งก่อให้เกิดการเปรียบเทียบโดยอัตโนมัติกับรายการทุกคืนวันศุกร์

ที่สร้างความหงุดหงิดให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. จนถึงกับต้องสะบัดหน้าหนีนักข่าว พร้อมกล่าวตัดบท “ไม่พูด ขี้เกียจฟัง”

การเลื่อนเลือกตั้งด้วยเหตุผลอันคลุมเครือ ทำให้รัฐบาลคสช.“เสีย”มากกว่า“ได้”

ถูกมองว่าต้องการยืดเวลาสร้างความได้เปรียบในสนามเลือกตั้งให้กับพรรคสืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะด้วยการจัดประชุมครม.สัญจร หรือการที่ 4 รัฐมนตรีแกนนำพรรค ยังไม่ยอมลาออก

การต่อยอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ให้สามารถกดเงินสดนำไปใช้จ่ายอย่างอื่นได้นอกเหนือจากซื้อของในร้านค้าประชารัฐ ไม่ต่างจากการแจกเงินดื้อๆ

ขณะที่วิกฤตฝุ่นควันพิษในเมืองหลวง สะท้อนถึงความไม่ฉับไวต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาล

ประกอบกับรองนายกฯ ที่เพิ่งพ้นบ่วง“นาฬิกาหรู”ออกมาพูดว่า หากการก่อสร้างรถไฟฟ้าเสร็จสิ้นในห้วง 2-3 ปีก็จะช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองลงได้

ยิ่งเรียกเสียงโห่ฮาจากคนกรุงที่ต้องใช้ชีวิตภายใต้หน้ากาก

เช่นเดียวกับการปล่อยมุข “อาหารอร่อย” ระหว่างให้สัมภาษณ์เหตุการณ์กลุ่มติดอาวุธก่อเหตุโจมตีโรงแรมเครือดุสิตธานีในเคนยา ทำให้มีคนตายจำนวนมาก จนสื่อนอกนำไปตีข่าวเผยแพร่ทั่วโลก

ยิ่งอยู่นาน ยิ่งงานเข้า

คือคำอธิบายถึงสถานการณ์ของรัฐบาลคสช.เวลานี้

ส่วนข้อสงสัยที่ว่า แล้วกว่าจะถึงวันที่ 24 มีนาคม รัฐบาลคสช.จะเหลือสภาพเป็นอย่างไร

คำตอบน่าลุ้นระทึกอย่างยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน