“ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ” วิเคราะห์เลือกตั้ง “ประชาธิปไตย-เผด็จการ”
กับ ‘อนาคตใหม่’ ของไทย

สัมภาษณ์พิเศษ นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงมุมมองต่อศึกเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. ที่ถูกแบ่งเป็นฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการ ผ่านการประเมินนโยบายที่แต่ละพรรคนำเสนอมัดใจประชาชน พร้อมคาดการณ์ถึงแนวโน้มผลการเลือกตั้ง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

สิ่งที่ต้องจับตามองในการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.นี้ เพื่อประเมินความสำเร็จของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องดูที่นโยบายของแต่ละพรรคการเมือง อันเป็นโจทย์สำคัญของแต่ละฝ่ายว่า จะสร้างเป็นการรับรู้นโยบายเหล่านั้น ให้เข้าสู่สามัญสำนึกของชาวบ้านได้อย่างไร

สมมติฐานข้อนี้คือ เสียงข้างมากของประชาชนส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจจากการรับรู้เรื่องนโยบายของพรรค โดยวางบนพื้นฐานของการเลือกตั้ง ที่อย่างน้อยต้องเสรีและเป็นธรรมระดับดีพอควร การใช้อำนาจนอกระบบต้องไม่มีหรือมีน้อยมาก

โครงการประชารัฐ บัตรคนจน ที่พรรคพลังประชารัฐ จะสานต่อรัฐบาลคสช. ถือว่าเข้าถึงประชาชนหรือไม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำการเมืองก็คือการขายตรง ต้องหาสินค้าที่ชาวบ้านอยากได้ แต่วิธีคิดแบบบัตรคนจนคือ การสงเคราะห์ตามแบบฉบับของระบบอุปถัมภ์ คนรวยช่วยคนจน คนมีอำนาจรับปากกับคนไร้อำนาจ ยังต้องรอการพิสูจน์จากการเลือกตั้งที่จะถึงว่า ที่สุดแล้ว คนไทยจะยังเชื่อวิธีคิดแบบจารีตนี้ต่อไปหรือไม่

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา ไม่ว่าไทยรักไทยหรือเพื่อไทย สะท้อนว่าการที่พรรคฝ่ายประชาธิปไตยชนะนั้น เกิดจากความเข้าใจของประชาชนที่เปลี่ยนไปแล้ว คนไม่ได้เลือกการสงเคราะห์ระยะสั้น








Advertisement

ผมคิดว่าในครั้งนี้ การเมืองไทยจำเป็นต้องมีพัฒนาการมากขึ้น เพื่อยกระดับมาตรฐานในสนามการเลือกตั้ง ผ่านการนำเสนอนโยบายที่สร้างสรรค์ ส่งเสริมความเสมอภาคเท่าเทียม สร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เพื่อให้กินใจประชาชน มากที่สุด

นี่จะเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของสังคมไทย ที่อยู่ภายใต้รัฐบาลทหารมา 4 ปีว่า การตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้ง เกิดจากการพิจารณานโยบายของแต่ละพรรคนั้นอย่างไร ซึ่งจะทำให้เห็นทิศทางของอนาคตไทยด้วยว่า จะจัดการกับมรดกที่คสช.ทิ้งไว้อย่างไร เพราะการเลือกตั้งคือ การใช้อำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

พรรคเพื่อไทยและไทยรักษาชาติ ที่ชูความสำเร็จจากไทยรักไทย จะยังขายได้หรือไม่

การนำเสนอแบบนี้ เพราะเชื่อว่านี่คือความสำเร็จของเมื่อก่อนที่เคยใช้ได้ผล ทุกคนต่างยอมรับว่า 30 บาทรักษาทุกโรค ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชาวบ้านมากที่สุด จึงเป็นเรื่องปกติที่ต้องนำความสำเร็จมาขาย แต่ครั้งนี้อาจจะยังไม่พอ ต้องเสนอถึงการสานต่อด้วย ขณะเดียวกันนโยบายลดแลกแจกแถมบางอย่างนั้นก็ไม่ต่างจาก รัฐบาลคสช.ที่ใช้มาตรการคล้ายๆ กัน มาแย่งความได้เปรียบ เรียกความนิยม

ด้านไทยรักษาชาติ ชูเรื่อง “เทคซิโนมิกส์” นำเทคโน โลยีเข้ามาช่วยยกระดับความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจไทย ตามแนวทางของโลกร่วมสมัย ถือเป็นนโยบายใหม่ แต่ยังมีคำถามว่า จะนำมาใช้แค่ในแง่มุมของการซื้อมากขายมาก ในภาคอี-คอมเมิร์ซ เหมือนอย่างยักษ์ใหญ่ อาลีบาบา จากจีน หรืออเมซอน จากสหรัฐ เท่านั้นหรือไม่ เพราะหากไปในทิศทางนี้ สุดท้ายก็หนีไม่พ้นการพึ่งพาแต่ทุนใหญ่ ซึ่งต้องได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลเป็นหลักเหมือนเดิม

ทุกพรรคมักเสนอการใช้เทคโนโลยีในแง่นี้ แต่สิ่งที่หายไปคือ การพัฒนาคน ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแค่ระบบการศึกษาเท่านั้น เทคโนโลยีสามารถนำมาผสมผสานกับองค์ความรู้ในสาขาวิชาอื่นๆ ซึ่งองค์ความรู้ที่ให้ต้องเริ่มจากการพัฒนาคน ถ้าไม่มีการเชื่อมต่อส่วนนี้เลย จะเป็นแค่เรื่องของการเดินตามเทคโนโลยีในยุคสมัยใหม่เท่านั้น

พรรคอนาคตใหม่ที่เสนอเกษตรก้าวหน้า นำเครื่องจักรมาใช้ผลักดันราคาผลิตผล ไม่ประชานิยมเกทับราคา จะตอบโจทย์หรือไม่

อนาคตใหม่ไม่มีเบื้องหลังที่เป็นภาระและทิ้งไม่ได้ ทำให้สามารถเสนออนาคตที่ใหม่ได้มากกว่าพรรคเก่าๆ การนำเสนอนโยบายโดยมุ่งที่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่แก้รายประเด็นในตลาดนโยบาย ถือว่ามีอนาคตมาก ผมเห็นด้วยและอยากให้ทุกพรรคเดินหน้าในทิศทางนี้ ต้องยอมรับว่าอนาคตใหม่ได้เปิดมิติใหม่ให้แก่การเมืองไทย ให้พ้นไปจากตลาดนโยบาย ที่ใช้ประสบการณ์และองค์ความรู้เข้ามาช่วยเพื่อแก้ปัญหากันอย่างเป็นระบบ

นโยบายในแนวของอนาคตใหม่ ก็ยังไม่รู้เช่นกันว่า การนำเสนอนโยบายในเชิงก้าวหน้าแบบนี้ ชาวบ้านจะตอบรับมากน้อยแค่ไหน คงต้องให้เวลา ถือเป็นเรื่องยากลำบาก ในการเข้าถึงชาวบ้านเมื่อเทียบกับการเสนอนโยบายเฉพาะหน้า เช่น ยกระดับราคาพืชผล แต่การเริ่มต้นด้วยแนวทางที่ชัดเจนแบบนี้ของอนาคตใหม่ ถือว่าดีกว่าวิธีคิดในแบบ เอาชนะก่อนแล้วค่อยว่ากันในเรื่องนโยบาย

ผมเชื่อว่า วิธีคิดแบบนี้ก็จะเริ่มหมดเวลาแล้ว สำหรับพรรคการเมืองไทยที่ไม่มีโอกาสคิดและปฏิบัติในจุดยืนที่ชัดเจน ต่ออุดมการณ์และวิธีคิดการบริหารประเทศ ไม่ว่าจะฝ่ายขวา หรือฝ่ายซ้ายเพราะถูกยึดอำนาจรัฐสภาไป

จุดขายทางฝั่งพรรคประชาธิปัตย์คืออะไร ทำไมจึงถูกประเมินให้ต่ำกว่า 100 ที่นั่ง

ประชาธิปัตย์ถูกดูแคลนเยอะในการเลือกตั้งหนนี้ ฐานเสียงส่วนใหญ่จะอยู่ที่คนรุ่นผมเป็นรุ่นสุดท้าย ซึ่งคนรุ่นนี้จะยังมีใครเหลือเยื่อใยอยู่หรือไม่ คงต้องรอดูเพราะจุดขายยุคหลังของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มักมุ่งที่ความหล่อ อันเป็นบุคลิกส่วนตัว ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ช่วยในการดำเนินการทางการเมืองของพรรคได้

ในทางประวัติศาสตร์ ประชาธิปัตย์ เป็นพรรคที่ไม่มีจุดยืนหรือนโยบายทางการเมืองที่ชัดเจน เมื่อย้อนดูที่จุดกำเนิดของพรรค จะพบว่าเริ่มต้นมาจากความต้องการเป็นฝ่ายตรงข้ามคณะราษฎรและกลุ่มการเมืองที่มีความคิดไปทางซ้าย พอมาในยุคหลัง เราจึงเห็นการหาเสียงพุ่งเป้าที่การโจมตีตัวบุคคลจากอีกพรรคในเรื่องทุจริตเพียงอย่างเดียว ต้องการแค่เอาชนะก่อนแล้วค่อยว่ากัน เขาอยู่มานาน จนเข้าใจธรรมชาติการเมือง ที่เดี๋ยวก็มีปฏิวัติ มียุบพรรค จึงเลือกที่จะเอาตัวรอดก่อนเป็นสำคัญ

ทั้งที่จริงประชาธิปัตย์มีโอกาสหลายครั้งที่จะแสดงจุดยืนและความก้าวหน้าทางการเมือง โดยเฉพาะในยุคแรกที่นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกฯ หลังรัฐประหาร 2490 พอถูกกลุ่มทหารบุกมาจี้ให้ลาออก แทนที่จะเอารัฐสภาไปสู้ กลับยอมแพ้อย่างเซื่องๆ

ครั้งต่อมาที่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ ประชาธิปัตย์คือเสียงข้างมากในสภา สามารถผลักดันนายกฯ ในพรรคตนเองได้ แต่ก็ยอมให้พล.อ.เปรม เป็นนายกฯ ต่อ สุดท้ายประชาธิปัตย์ จึงตกอยู่ในสถานะของจำเลยทางประวัติศาสตร์มาตลอด

เลือกตั้งหนนี้คงถึงเวลาที่จะต้องทบทวนตัวเองแล้ว

เมื่อพิจารณาจากนโยบายพรรคหลักแล้ว แนวโน้มผลการเลือกตั้ง 2562 จะเอนเอียงไปทางไหน

ภาพรวมเชื่อว่า หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ไทยจะกลับเข้าสู่ระบบระเบียบที่มีอนาคตมากขึ้น ทุกฝ่ายน่าจะสรุปบทเรียนจากที่ผ่านมาได้แล้วว่า สุดท้ายหนทางกลับคืนสู่สภาวะปกติ คือการยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย แก้ปัญหาไปตามกลไกรัฐสภา ต่อยอดประชาธิปไตยที่สังคมไทยเคยผ่านมาแล้วให้ดียิ่งขึ้น เพราะเมื่อฝ่ายประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งแล้ว ก็เป็นแค่ก้าวแรกของการกลับสู่โลกแห่งความเป็นจริง ที่ต้องใช้เวลาผลักดันจัดการกับมรดกจารีตหลายด้านที่ถูกทิ้งไว้ตลอด 5 ปี

เชื่อว่าหลังเลือกตั้งประเทศไทยจะมีอนาคตเพราะคนส่วนมากไม่ได้กินแกลบอย่างที่ “ศรีบูรพา” เคยเขียนไว้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน