4 พรรค ประชันนโยบายสุขภาพ ‘ธนาธร’เชื่องบหลักประกันสุขภาพเอาอยู่ ประชาชนไม่ต้องจ่ายร่วม ‘สุวิทย์’แย้มลดภาษีคนสุขภาพดี สุดารัตน์ย้ำงบต่อหัวมุ่งส่งเสริมสุขภาพ

4 พรรค – เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 11 ก.พ. ที่สยามสแควร์วัน มีการจัดงานเสวนา “ผ่าแนวคิดพรรคการเมืองอนาคตสุขภาพคนไทย” โดยมีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ บัญชีนายกฯพรรคเพื่อไทย(พท.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่(อนค.) และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ร่วมอภิปราย

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า การร่วมจ่ายไม่มีความจำเป็นเลย เพราะนี่ไม่ใช่มุ่งการแข่งขันรักษาฟรีเป็นประชานิยม ตนดำเนินการโครงการนี้ตั้งแต่ 17 ปีที่แล้ว มีหลักการมุ่งสร้างสุขภาพดีให้คน ไม่ใช่ทำให้คนป่วย ซึ่งงบประมาณต่อหัวต้องมุ่งส่งเสริมให้คนสุขภาพดี เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการเพิ่มประสิทธิภาพ และจะทำให้ควบคุมงบประมาณได้ด้วยเมื่อคนสุขภาพดี แต่ปัจจุบันมีแต่งบมากขึ้น หมอพยาบาลเพิ่มมากขึ้น เพราะไม่เข้าใจหลักการทำกันเป็น sick care ไม่ใช่ health care เหมือนหลักการที่วางไว้ ซึ่งงบประมาณต้องเพิ่มขึ้นให้เพียงพอ มุ่งเน้นการสร้างสุขและการป้องกัน ต้องแข็งแรงก่อนแก่

นายสุวิทย์ กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ถือเป็นเงินอุดหนุนจากภาษีของประชาชนเอง ในลักษณะคนรวยช่วยคนจน คนดีช่วยคนป่วย โดยพปชร.มีแนวทางเพิ่มคุณภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยทำให้ครอบคลุมทั่วถึง เพิ่มคุณภาพของหน่วยบริการ และได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตอนนี้พัฒนามาจาก 30 บาทรักษาทุกโรค ยังมีประเด็นที่จะทำให้ดีขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน 3 กองทุนคือ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนสวัสดิการข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม ที่ลักลั่นเหลื่อมล้ำกัน บางกองทุนต่อหัวเป็นหลักหมื่นบาท แต่บัตรทองแค่หลักพันบาท ซึ่งตนคิดว่า มีอยู่ 2 แนวคิดคือ 1.รวมเหลือกองทุนเดียว 2.แบ่งเป็น 3 กองทุนเหมือนเดิม แต่จัดระเบียบใหม่ ซึ่งตนเห็นด้วยกับแบบนี้

พปชร. มีนโยบายเตรียมคนไทยเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ผ่าน 3 หลักประกัน คือ หลักประกันสังคมถ้วนหน้า หลักประกันการศึกษาถ้วนหน้า และหลักประกันรายได้ถ้วนหน้า เพื่อทำให้คนไทยทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยทุกคนต้องได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน ต้องให้ อสม.เข้ามาดูแล สร้างหมอครอบครัวให้ครบทุกตำบล เพื่อมาเป็นหมอประจำตัว ถ้าสุขภาพดี สามารถลดหย่อนภาษีได้ สุขภาพดีต้องเริ่มตั้งแต่ในครรภ์มารดา และเมื่อคลอดมาแล้วจนถึงอายุ 6 ปีเป็นจุดสำคัญที่พรรคจะให้การดูแลอย่างเต็มที่ การใช้เทคโนโลยีมาช่วย

ส่วนนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต้องสร้างหลักประกันว่า รัฐบาลอุดหนุนเงินให้อย่างครบถ้วน ค่าใช้จ่ายสูงจาก โรคมะเร็ง ไต ยังไม่อาจตอบสนองคนได้ทั้งหมด ส่วนหนึ่งจึงต้องปฏิรูประบบภาษี ให้คนมีกำลังจ่ายจ่ายมากขึ้นเพื่อมาช่วยในส่วนนี้ด้วย ระบบจะต้องเปิดกว้างมากขึ้นผ่านการกระจายอำนาจ ตนไม่สนับสนุนให้เลือกปฏิบัติ ทั้งเรื่องบัตร จนไปถึงบัญชียา

ส่วนการยุบรวมกองทุน เราต้องรู้ชัดเจนทั้ง 3 ระบบ อย่างในประกันสังคม ต้องเสียภาษีช่วยสุขภาพถ้วนหน้า และจ่ายเงินสบทบสำหรับรักษาตัวเองด้วย การจะยุบตรงนี้ โดยไม่มีคำตอบว่าเงินสมทบไปไหนนั้นไม่ได้ ปชป.เสนอว่า ใครอยากใช้หลักประกันสุขภาพ ให้เลิกจ่ายเงินสมทบโดยเป็นสิทธิ ถ้ามันดีประกันสังคมก็จะค่อยๆเลิกไปเอง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนงบข้าราชการนั้น จะไปลดสิทธิข้าราชการที่เป็นสิทธินั้นไม่ถูกต้อง แต่ปัญหาที่ค่าใช้จ่ายสูงเกินเหตุก็ต้องเริ่มพิจารณา ถ้าจะควบรวมก็ต้องตัดสิทธิคนที่รับราชการใหม่ ไม่กระทบราชการเก่าที่ทำงานเพื่อหวังสิทธิตรงนี้ ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งอาจเกี่ยวกันกับโรคค่าใช้จ่ายสูง ปชป.คิดว่าต้องไปหาเงินมาเพิ่ม ที่ไม่ใช่การเก็บเงินเพิ่ม ข้อดีนี่คือแบบอย่างของนโยบายที่ดี แต่งบสปสช.หลายปีมานี้ไม่พอส่งผลกระทบกับสถานพยาบาลพอสมควร จึงต้องทำให้การจัดสรรงบประมาณที่มีหลักเกณฑ์มากขึ้น

ด้านนายธนาธร กล่าวว่า นโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นมิติใหม่ของการเมืองเรื่องนโยบาย สะท้อนว่าประชาธิปไตยกินได้จริง ซึ่งระยะหลังมีแนวคิดร่วมจ่ายก็ถือเป็นแนวคิดในการดึงเอานโยบายที่ก้าวหน้าให้ล้าหลัง โดยมาจากความเชื่อว่า รัฐบาลดูแลหลักประกันนี้ตลอดไปไม่ได้ แต่ตนเห็นต่าง ซึ่งงบประมาณประจำปี 3 ล้านล้านบาท มีมากพอจะดูแลเด็ก คนป่วย คนชรา แต่ไม่เป็นเช่นนั้น เป็นนายทุนนิยมทำได้ แต่ประชานิยมทำไม่ได้ ยกตัวอย่างทีวีดิจิทัล 1.7 หมื่นล้าน เวฟให้ผู้ประมูล ลดค่าโครงข่ายให้อีก รถไฟฟ้าสายสีทอง ลากไปถึงห้างดังด้วยงบประมาณรัฐ ยืนยันว่า เรามีทรัพยาการเพียงพอ

นายธนาธร กล่าวว่า การบริหารระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีช่องให้พัฒนาได้อีกเยอะ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาแก้ปัญหาได้ด้วย โครงสร้างนั้น ต้องกระจายอำนาจให้อปท.เข้ามามีส่วนร่วม จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบปัจจุบัน ตั้งแต่ปี 2546 – 2559 รวม 13 ปี บัตรทองและงบข้าราชการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8 เปอร์เซ็นต์เท่ากัน แต่คิดเฉพาะส่วนเพิ่ม ก็มากกว่าบัตรทองในปีสุดท้ายแล้ว ถ้าแยกสามกองทุนไม่มีทางเท่าเทียมกัน อนาคตใหม่เชื่อว่าใช้เวลา 5-10 ปี ปลายทางต้องเท่ากัน ต้องทำให้ข้าราชการเติบโตน้อยลง แล้วบัตรทองเติบโตมากขึ้น เพื่อให้ถึงจุดนึงในอนาคตงบเท่ากันแล้วรวมกันทั้งหมดได้

เชื่อว่าไม่มีพรรคไหนจะเสนอให้ลดหลักประกันสุขภาพ ซึ่งเชื่อว่า จะต้องมีการเพิ่มปประสิทธิภาพมากขึ้น ปลดปล่อยระบบประกันภัยส่วนบุคคลออกมา เพราะตอนนี้ บริษัทประกัน กำลังผูกขาดอยู่ ต้องทำให้มีผู้เล่นมากขึ้น ประกันพรีเมี่ยมจะถูกลง ที่สำคัญคือต้องลงทุนโรงพยายบาลชุมชนและท้องถิ่นมากขึ้น ลำพังขยายโรคไม่พอเพราะยังไงก็มีอยู่แล้ว

สิ่งที่น่าสังเกตคือ บัตรทองถูกทำให้เป็นการเมืองตลอด 10 ปีมานี้ ตราหน้าใช้โจมตีกันว่า ประชานิยม นายกฯคนปัจจุบันนี้ พูดมาตลอดว่า จะเอาเงินที่ไหน ตลอดเวลา นโยบายที่ดีต้องไม่ทำให้เป็นการเมือง ดีมากว่าวันนี้เห็นตรงกันหมด อยากให้เห็นว่าจุดอ่อนของรัฐไทย ที่มาใช้กดทับท้องถิ่น ไม่ใช่แค่ทางสาธารณสุข แต่รวมถึงราชการส่วนภูมิภาคอื่นๆด้วย” หัวหน้า อนค. กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน