บิ๊กป้อมอุ้ม”บิ๊กติ๊ก-7 สนช.” ขาดประชุม “บิ๊กตู่” โต้ลั่น ย้ำ ผลงานแม่น้ำ 5 สายมีอื้อ ยันรัฐบาลพร้อมให้สอบทุจริต เจอใครผิดก็ลงโทษ เพื่อไทยติงขาดประชุม แต่รับเงินเดือนเต็ม เย้ยปราบโกง จี้ฟัน”อผศ.”จ้างช่วง “ปชป.”เข้าถก อนุปรองดองแล้ว ส่วนพท.ได้จ.ม.เชิญแล้ว ชทพ.แนะหลัก 4 ด้าน ยึดนิติธรรม คุณธรรม โปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วม กสม.แนะฟังประชาชนด้วย
บิ๊กตู่โต้ลั่น-ผลงาน 5 สายมีอื้อ

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า ขออนุญาตกล่าวถึงสื่อ กรณีมีสื่อบางฉบับ บางคอลัมน์ บางสำนักพิมพ์ หรือสื่อโทรทัศน์บางช่องมักเสนอข่าวหรือเขียนข่าวเชิงดูถูกดูแคลนการทำงานของแม่น้ำ 5 สาย เป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลและคสช.รวมทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องไม่มีผลงาน ไม่มีการแก้ไข หรือไม่มีการปฏิบัติใดๆ ที่เป็นเรื่องของการปฏิรูป อยากให้ประชาชนและสังคมพิจารณาอย่างเป็นกลาง หลายสิ่งที่กำลังทำก็กำลังระดมความคิดเห็น กำลังศึกษา หลายเรื่องเสร็จไปเยอะ ไม่ใช่คิดกันเอง รับฟังความคิดเห็นมาโดยตลอดทุกเรื่อง ปรึกษา ไม่ใช่ทหารคิดเองทำเองหมด

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องปรองดองทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าปรองดองอย่างไร ทำไมต้องไปปรองดองให้กับคนบางคน คนบางกลุ่ม ปรองดองให้ตัวเราเอง ให้ประเทศชาติ ไม่ดีกว่าหรือ ปรองดองให้เขาแล้วเขาทำอะไร ทำผิดกฎหมายหรือเปล่า ทำผิดกฎหมายก็ต้องรับกฎหมายวันหน้าก็ให้อภัยกันอยู่แล้วอย่าให้ต้องมาบังคับกันเลย เรื่องการปรองดองหันหน้าเข้าหากัน จับเข่าคุยกัน รัฐ ประชาชน เจ้าหน้าที่ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้ามาคุยกัน ถ้าทุกคนปรับปรุงตัวเองได้หมดมันก็ดีหมด รัฐบาลก็ปรับปรุง คสช.ก็ปรับปรุง ท่านก็ต้องยอมปรับปรุงตัวเองด้วย วันหน้าตนก็เสี่ยงกับกฎหมายกับการตรวจสอบต่างๆ

“หลายโครงการที่เราอนุมัติไปแล้วก็ถูกถามมาจาก สตง. ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ตอบและชี้แจงกลับไป ถ้าชี้แจงได้ก็จบ ใครทุจริตก็ลงโทษ ฟ้องศาล ดำเนินคดี ไม่อยากให้ทุกคนมากล่าวอ้างว่าตรงโน้นตรงนี้ทุจริต ท่านยังไม่รู้เรื่องเลยเขาตรวจสอบอยู่ รอผลการตรวจสอบก่อน อย่าไปบิดเบือนว่าเราไม่มี การถูกตรวจสอบเรื่องทุจริต ตรวจวันนี้พบ วันนี้ก็ลงโทษวันนี้ พบภายหลังก็ตรวจ สอบสอบสวน กฎหมายคือกฎหมาย” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

บิ๊กป้อมอุ้ม 7 สนช.ขาดประชุม

ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 7 คน ไม่มาแสดงตนเพื่อลงมติในการประชุม สนช.เกินจำนวนที่กำหนด ว่า จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นประเด็นเลย เพราะสมาชิกสนช.ที่เป็นข่าวทั้ง 7 คน ลาถูกต้องตามระเบียบทุกอย่าง เรื่องที่เกิดขึ้นคิดว่าเกิดจากระหว่างที่ลา มีการลงคะแนนในแต่ละมาตรา ซึ่งบางวันที่สนช.บางคนลานั้น มีการลงคะแนนจำนวนมาก จึงนำมาเป็นประเด็นโจมตี ทั้งนี้ได้ถามนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.แล้ว โดยเสนอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้ชัดเจนว่าที่ขาดการลงคะแนนมีสาเหตุจากอะไร เพราะคนที่ลาประชุมเป็นผบ.เหล่าทัพ บางครั้งมีงานและภารกิจในกองทัพ แต่ที่สภามีกฎหมายที่ต้องพิจารณาแต่ละมาตรา จึงไม่ได้ลงคะแนนหลายครั้ง

เมื่อถามว่ามีการโจมตีถึงจริยธรรมว่าถือหมวก 2 ใบจนปฏิบัติหน้าที่สนช.ไม่ได้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ยืนยันว่าทำได้ ทั้งยังสอบถามนายพรเพชร แล้วก็ยืนยันว่าทำได้ แถมทำได้ดี ส่วนพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา สมาชิกสนช. และอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ก็ทำงานให้กับตนทุกเรื่อง อยากเรียนให้ทราบว่าเขาไม่มีเจตนา ตนก็สวมหมวกหลายใบ ทำทุกอย่างทั้งไอยูยู คลองลาดพร้าว ทำทั้งนั้น

ลั่นทหารเป็นสนช.ได้

“อย่าไปเจาะจงเขาเลย เพราะเขามีความจำเป็นต้องลา บางครั้งทูตทหารต่างประเทศ เอกอัครราชทูตเข้าพบ หรือเป็นประธานเปิดงานสำคัญ รวมทั้งเปิดการฝึกซ้อมรบ ส่วนที่มองว่าเป็นข้าราชการประจำแล้วไปซ้ำซ้อนกับการเป็นสนช. ผมคิดว่าตอนนี้สถานการณ์ไม่ปกติ ถามว่าปกติจะเอาทหารมาเป็นสนช.หรือไม่ ถ้าเหตุการณ์ไม่ขัดแย้ง ทหารจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวและจะทำตามหน้าที่ จึงต้องเข้าใจกันด้วย ไม่ใช่ว่าผมจะไปเข้าข้างใคร แต่ช่วงนี้เป็นหน้าที่ที่เราต้องเข้ามาช่วยกันเพื่อให้เกิดความปรองดอง” พล.อ.ประวิตรกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าทหารมาเป็นสนช. มีความชำนาญในการร่างกฎหมายหรือไม่ พล.อ. ประวิตรกล่าวว่า ตนไม่ชำนาญด้านใดเลย แต่สามารถทำได้ เช่น คลองลาดพร้าว การปราบปรามการค้ามนุษย์ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ตนไม่มีความรู้เฉพาะด้าน ทำไมถึงทำได้ และยังได้เลื่อนชั้นจัดลำดับความน่าเชื่อถือในลำดับต้นๆ ทำไมไม่พูดกันบ้าง

พล.อ.ประวิตรยังกล่าวถึงความคืบหน้าการจับกุมกลุ่มคนที่ขโมยอาวุธปืนจากตำรวจตระเวนชายแดนจังหวัดอุดรธานี ที่ถูกควบคุมอยู่ที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ. 11) ว่า จับมาแล้ว 11 คน ซึ่งเขาเอาปืนไปขาย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมือง

บิ๊กเจี๊ยบขอความเป็นธรรม

วันเดียวกัน พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. กล่าวถึงสมาชิกสนช.ขาดประชุมว่า สถิติการลงมติของ สนช.เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ขอให้มองในภาพรวมว่าสนช.กับสภาผู้แทนราษฎรเดิม มีที่มาแตกต่างกัน ในการประชุม บางครั้งสภาผู้แทนราษฎรเข้าประชุมน้อยเพราะลงพื้นที่ดูแลมวลชน แต่สนช.เข้าประชุมมากกว่าเนื่องจากไม่ต้องลงพื้นที่พบมวลชน สมาชิกสนช.ไม่มีหยุดพักประชุม ทุกคนทำงานเต็มที่ มีกฎระเบียบของการลาและการลงคะแนน ตนขอความเป็นธรรมด้วย

“การหยิบยกประเด็นมาโจมตีว่าอันนี้ลงคะแนนเท่านี้แล้ว แสดงว่าไม่มาประชุม คงไม่ใช่ อย่างผมบางวันไปนั่งประชุมทั้งวัน มีลงคะแนนแค่ 2 ครั้ง แต่บางช่วงผมลาไปรับแขกต่างประเทศ แค่ 2 ชั่วโมง ก็ลงคะแนนไป 50 ครั้ง จะเอาตรงนี้ขึ้นมาชี้วัดว่าคนนี้ไม่เข้าประชุมไม่ได้ ทั้งนี้สมาชิก สนช.มาจากการแต่งตั้งและมีหน้าที่ประจำอยู่แล้ว บางส่วนต้องแบ่งเวลาไปประชุม ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไป หากดูจากสถิติมีการลงชื่อเข้าประชุมแต่ละวันเกิน 200 คน” พล.อ.เฉลิมชัยกล่าว

พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า ดังนั้นอย่ามองเพียงว่าตรงนี้ลงมติน้อย และถือว่าขาดคุณสมบัติ ทุกคนเดินอยู่ตามกรอบกติกาที่สภากำหนด ที่สำคัญมีคณะกรรมการจริยธรรมพิจารณาอยู่ ไม่อยากให้มองมุมเดียวแล้วบอกว่าเป็นความบกพร่อง ยืนยันว่าทุกคนทำงานเต็มที่ อยากให้แยกแยะและให้ความเป็นธรรม โดยไม่เอาตัวนี้มาคิดแล้วบอกว่าไม่ได้เรื่อง

พท.ติงขาดประชุมแต่รับเงินเต็ม

ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี 7 สนช. ว่า ในสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจขณะนี้ คนในเครือข่ายแม่น้ำ 5 สายบนเรือแป๊ะต้องเสียสละ ทำงานเพื่อประเทศชาติให้มาก คิดถึงผลประโยชน์ตัวเองแต่น้อย ลำพังอ้างข้อกฎหมายสามารถลาได้ไม่ผิดนั้นไม่ พอ แต่ต้องคำนึงถึงหลักคุณธรรมจริยธรรมประกอบด้วย

“สมาชิกสนช.ไม่มาแสดงตนเพื่อลงมติเกินจำนวนที่กำหนด แต่รับค่าตอบแทนเต็มจำนวน ถือเป็นพฤติกรรมหนึ่งของการทุจริตหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนั้นดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นปีนี้จะตกต่ำลงไปอีกมาก โดยเฉพาะ พล.อ.ปรีชา น้องชายผู้นำ สังคมจับตาในหลายพฤติกรรมของท่านและครอบครัวมาตลอด ผู้นำมีเวลาเตะตะกร้อ เต้นแอโรบิกได้ แต่ทำไมน้องชายไม่มีเวลาแม้แต่จะไปประชุม หากไม่มีเวลาทำงานก็ให้ลาออกและคืนเงินเดือนให้ประชาชน เพื่อเปิดทางให้ผู้ที่มีความพร้อมเข้ามาทำงานแทน” นายอนุสรณ์กล่าว

จี้บิ๊กตู่ฟัน”อผศ.”จ้างช่วง

นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คำพูดของพล.อ. ประยุทธ์ที่ว่าจะไม่เหลือที่ยืนให้คนทุจริตนั้น ตนเห็นด้วย และจะยิ่งเห็นด้วยหากรีบจัด การกับโครงการขุดลอกคลองขององค์การทหารผ่านศึก(อผศ.) ที่เอาสัญญาไปจ้างช่วงแล้วรับเปอร์เซ็นต์ส่วนต่าง บางแห่งร้องทุกข์เพราะทำงานแล้วไม่ได้รับเงิน เห็นด้วยหากพล.อ.ประยุทธ์จะเข้าไปจัดการให้ชัดว่า รถเมล์ ขสมก. 389 คัน ทำไมถึงผิดพลาดและสำแดงแหล่งกำเนิดรถเป็นเท็จ นายกฯต้องกระชากหน้ากากคนเหล่านั้นและเห็นด้วยหากจะดำเนินการกับบริษัทลูกหลานที่จดทะเบียนในค่ายทหาร และได้งานก่อสร้างแบบที่สังคมสงสัยในความไม่ชอบมาพากล

“และจะยิ่งเห็นด้วยหากพล.อ.ประยุทธ์ จะจัดการกับสนช.ที่แต่งตั้งเข้าไปแล้วไม่ไปประชุม กินเงินเดือนฟรีๆ โดยไม่สนใจไยดีต่อความรู้สึกของคนเสียภาษี อ้างข้างๆ คูๆ ว่ามีงานหลายตำแหน่ง นี่เป็นการทุจริตหรือไม่ ขอให้นายกฯไปจัดการ อย่าเลือกจัดการเฉพาะคนเฉพาะกลุ่ม หากทำได้จะนำดอกไม้มามอบเป็นกำลังใจ” นายสมคิดกล่าว

บิ๊กป้อมยันปรองดองไม่เกี่ยวคดี

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อปี”53 คัดค้านไม่ให้ทหารเป็นตัวตั้งในการเดินหน้าสร้างปรองดองว่า คงไม่ใช่ กลุ่มดังกล่าวมายื่นหนังสือเรื่องคดีความ ไม่ได้คัดค้านเรื่องปรองดอง และทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์ชุมนุมตั้งแต่ปี”52 ทำตามคำสั่งของรัฐบาล ส่วนที่ห่วงว่าทหารมีส่วนได้ส่วนเสียนั้น ยืนยันว่าไม่มี ถามว่าทหารจะได้อะไรจากการเดินหน้าปรองดองครั้งนี้ก็ไม่ได้อะไร แต่ทหารต้องไปยืนตามถนน 12 ชั่วโมงยืนตากแดด เห็นใจกันบ้าง

“เคยพูดแล้วเรื่องกระบวนการปรองดองจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม การนิรโทษกรรม การอภัยโทษ รวมถึงเรื่องในอดีต ซึ่งถามว่าในปัจจุบันจนถึงอนาคตเราจะอยู่กันอย่างไรให้เกิดความปรองดองและสันติสุข นำประเทศเดินต่อไปข้างหน้าได้ ซึ่งถือเป็นคนละขั้นตอน อย่าเอาไปปนกัน ญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายชุมนุมสามารถยื่นหนังสือได้ ผมก็ส่งเรื่องไปที่ศาลอัยการและบุคคลที่เกี่ยวข้องเพราะทหารก็ทำอะไรไม่ได้” พล.อ.ประวิตรกล่าว

ผบ.ทบ.รับมีปัญหาเกิน 10 กรอบ

ขณะที่พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ถึงการสร้างความปรองดองภายหลังนักการเมืองทยอยเข้ามาให้ข้อเสนอแนะว่า ขณะนี้เริ่มดำเนินการแล้ว ทหารจะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลทั้งหมด ประสานกับผู้ว่าฯ ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ องค์กรเอกชน ทุกภาคส่วน และตัวแทนพรรคที่อยู่ในพื้นที่จะเชิญมาเสนอความคิดเห็น รวมถึงกลุ่มนักศึกษา เราอยากรับฟังความคิดเห็นในภาพรวม ทั้งนี้ในส่วนของ กอ.รมน. มีศูนย์ปรองดองสมานฉันท์โดยมีพล.ท.ณัฐ อินทรเจริญ เป็นผอ.ศูนย์ ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้วและเก็บข้อมูลรวบรวมไว้ส่วนหนึ่ง เราจะนำข้อมูลตรงนี้มาใช้ด้วยเพื่อให้ได้ความคิดเห็นหลากหลายมากขึ้น ยอมรับว่ายังมีปัญหาอื่นๆ อีก ซึ่งไม่ได้อยู่ใน 10 ประเด็น

วอนให้พิจารณาที่ข้อเสนอ

ผบ.ทบ.กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอแนะทางการเมืองยังไม่ชัดเจน แต่รอบนี้จะดำเนินการให้เสร็จ และกรณีที่ยังมีบางกลุ่มไม่ยอม รับให้กองทัพมาเป็นตัวตั้งเดินหน้าสร้างปรองดองนั้น เชื่อว่าชี้แจงไปอย่างไรเขาก็ ไม่เชื่อ แต่ตนจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ซึ่งตนยืนอยู่ตรงกลางในความขัดแย้ง เราไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับใคร เรามาอยู่ในสถานการณ์และต้องการให้เดินต่อไป พร้อมนำข้อเสนอที่ผ่านการกลั่นกรองแล้วเข้ามาสู่กระบวนการเพื่อให้คนยอมรับ

“ไม่ต้องมายอมรับผม เพียงแต่ให้ยอมรับข้อเสนอที่เราจะคุยร่วมกันในคณะอนุกรรม การจัดทำข้อเสนอกระบวนการ ว่าข้อเสนอนี้รับได้หรือไม่ ไม่ใช่ให้มารับหรือไม่รับผม รับทหารหรือไม่รับทหาร เพราะข้อเสนอทั้งหมดที่เราทำเกิดจากความคิดของพวกเราทุกคน ทุกภาคส่วน ไม่ใช่ทหารเป็นคนทำ ไม่ใช่ผมทำแล้วมาบอกว่าต้องรับอย่างนี้ คงไม่ใช่ ถ้าคนไหนไม่เห็นด้วยก็ไม่เห็นด้วย ซึ่งช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีการเชิญพรรคการเมืองมาแสดงความคิดเห็นนั้น ทุกพรรคก็ให้ความร่วมมืออย่างดี ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ซึ่งกำลังจะรวบรวมข้อมูล ส่วนจะต้องทำให้ได้ตาม 10 ประเด็นหลักหรือไม่นั้น ขอดูภาพรวมก่อน ดูน้ำหนักของความสนใจ หรือข้อเสนอแนะของแต่ละคน

อนุปรองดองถก”ปชป.”แล้ว

ที่กระทรวงกลาโหม พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชา สัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง กล่าวภายหลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พร้อมคณะกรรมการบริหารพรรค เดินทางเข้าหารือ พูดคุยกับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ชัยชาญเป็นประธานว่า วันนี้ถือเป็น วันที่ 4 เป็นคิวของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งบรรยากาศการพูดคุยทุกพรรคให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

พล.ต.คงชีพกล่าวว่า ข้อคิดเห็นของทุกพรรคถือเป็นประโยชน์ร่วมกันและกระบวน การปรองดองจำเป็นต้องมีการเรียนรู้และทำความเข้าใจไปด้วยกัน ขอให้เปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ไม่วิจารณ์ในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย เพราะกลายเป็นเงื่อนไขอุปสรรคของการเดินหน้าปรองดอง ทั้งนี้ต้องขอเวลาให้คณะทำงานได้รวบรวมความคิดเห็นทุกพรรคอย่างครบถ้วน และขอให้เชื่อมั่นว่าเราจะทำให้ดีที่สุด สำหรับในวันที่ 20 ก.พ. เวลา 13.00-16.00 น. จะเชิญพรรคประชาธรรม พรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชน พรรคประชาสามัคคี และในวันที่ 21 ก.พ. เวลา 13.00 -16.00 น. จะเชิญพรรคปฏิรูปไทย พรรคพลังคนกีฬา และพรรคเพื่อชีวิต

มาร์คชี้ปชต.ต้องเคารพสิทธิ

ด้านนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า วันนี้มาตอบทั้ง 10 คำถามครบถ้วนทุกด้าน สิ่งสำคัญที่สุด คืออยากให้ทุกคนมองเป้าหมายของการปรองดอง คือการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ยั่งยืน อย่ามองว่าประชาธิปไตยเป็นปัญหา แต่ต้องมองว่าความบกพร่องของการใช้ระบอบประชาธิปไตยในอดีตเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ดังนั้นถ้ายึดหลักประชาธิปไตยจริงๆ คือ การเคารพสิทธิกัน เปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม เป็นข้อยุติ ขณะเดียวกันต้องควบคู่กับหลักนิติธรรม รู้จักการจำกัดการใช้อำนาจที่มีขอบเขตของคนที่มาจากการเลือกตั้ง ทุกอย่างจะเดินไปได้ สิ่งเหล่านี้จะแปรออกมาได้ว่าจะเน้นปฏิรูปเรื่องใดก่อน โดยเฉพาะเงื่อนไขในอดีต เช่นการทุจริต การทำงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ หรือผู้ที่มีหน้าที่ในบ้านเมืองที่ต้องดูแลเวลาเกิดความขัดแย้งขึ้น

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนเสนอว่าควรน้อมนำหลักความพอเพียงมาทำงานทางการเมือง รู้จักพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่ว่าผู้มีอำนาจ ผู้แพ้ ผู้ชนะทางการเมืองต้องไม่สุดโต่ง รู้ขอบเขตของการทำงาน มีเหตุผลและทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง นอกจากนี้ต้องร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยงทางการเมือง เรื่องเหล่านี้จะสร้างกระบวนการประชาธิปไตยให้ยั่งยืนได้ นี่คือหัวใจสำคัญที่เป็นข้อเสนอของพรรค ยืนยันว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเดินหน้าตามกระบวนการยุติธรรม

เมื่อถามถึงนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แกนนำ กปปส. ที่มาร่วมเสนอความเห็นกับพรรค นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า นายสาทิตย์เป็นสมาชิกพรรค ส่วนจะขาดจากเป็นกปปส.หรือไม่ ไม่ทราบ ต้องถามกปปส. แต่ตนดูหัวข้อคำถาม จึงนำคนที่ทำงาน อย่างนายสาทิตย์มาพูดเรื่องสื่อ เพราะเคยร่วมกันทำกฎหมายเกี่ยวกับสื่อ ตนพิจารณาคนจากเรื่อง

พท.ได้จ.ม.เชิญคุยปรองดองแล้ว

นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ทางพรรคได้รับจดหมายเชิญจากกระทรวงกลาโหมแล้ว โดย ร.ท.เดชา ดีเด่น จากสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นผู้นำส่ง ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการพรรคจะได้ประสานงานให้คณะผู้บริหารและแกนนำของพรรคทราบ โดยจะดำเนินการมอบหมายและจัดนัดหมายคณะบุคคลจำนวน 10 ท่าน เพื่อหารือแนวทางการคุยเรื่องการปรองดองและทางออกของประเทศในวันที่ 21 ก.พ.นี้ จากนั้นจะได้ประสานงานกับสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมนัดหมายวันพบปะหารือร่วมกันต่อไป

ที่พรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) นายวราวุธ ศิลปอาชา นายภราดร และนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ อดีตส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา แถลงถึงการเข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่กระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา

“ชทพ.”เสนอยึดหลัก 4 ด้าน

นายวราวุธกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่คำว่าการเลือกตั้ง การแก้ปัญหาขัดแย้งในประเทศไม่ต้องการให้รีบมีการเลือกตั้งหากอีก 10 ปีข้างหน้ายังต้องมาคุยเรื่องปรองดองกันอีก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังมีคำสั่งของ คสช.ที่ยังไม่ให้พรรคทำกิจกรรม ดังนั้น การให้ความเห็นต่อคณะอนุกรรมการ จึงไม่ใช่มติพรรคแต่เป็นความเห็นส่วนตัว โดยนายธีระ วงศ์สมุทร หัวหน้าพรรค ได้เสนอความเห็นตามหลัก 4 ด้าน คือ การสร้างความปรองดองต้องอาศัยหลักนิติธรรม คุณธรรม ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งต้องมีความจริงใจในการทำงาน

ด้านนายภราดรกล่าวว่า หากมองย้อนไปในอดีตจะเห็นปัญหาเรื่องการตรากฎหมายที่เกิดข้อผิดพลาดจนทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยเรื่องสองมาตรฐาน ดังนั้น การสร้างความปรองดองต้องอาศัยหลักนิติธรรมและหลักคุณธรรมควบคู่กัน การดำเนินการต้องไม่สองมาตรฐาน ต้องเท่าเทียมและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและให้ประชาชน มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างความปรองดอง ไม่ใช่แค่ฝ่ายผู้มีอำนาจไกล่เกลี่ยกับคู่กรณีเท่านั้น เพราะการสมประโยชน์ของ คู่กรณีอาจสร้างผลกระทบต่อประชาชน จึงต้องเปิดกว้างให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น ให้คู่ขัดแย้งมีประเด็นที่ตกลงและหารือร่วมกัน และกระบวนการต้องเป็นรูปแบบที่ยืดหยุ่นกับประชาชนทุกฝ่ายด้วย

นายกรวีร์กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นนับหนึ่ง ถือเป็นบรรยากาศแลกเปลี่ยนที่ดี ดีใจที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพหลักสร้างสมานฉันท์ ทั้งนี้ การรับฟังความเห็นของ ประชาชนในแต่ละภาคในส่วนพื้นที่นั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี พรรคพร้อมสนับสนุนทุก รูปแบบ

กสม.แนะฟังประชาชนด้วย

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงกรณีอนุกรรมการรับฟังความเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง เชิญพรรคการเมืองเข้าให้ความเห็นว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนมีความสำคัญมาก ดังนั้น นอกเหนือจากการเชิญบุคคลฝ่ายต่างๆ มาให้ข้อมูลหรือทำบันทึกรายงานแล้ว ควรเปิดให้ประชาชนมีเสรีภาพแสดงความคิดเห็นได้มากขึ้น มันไม่จำเป็นจะต้องรับฟังจากคนที่เชิญไปเท่านั้น แต่คนที่อยู่ข้างนอกที่ไม่ได้รับเชิญก็สามารถให้ความเห็นได้

“ตอนนี้มีปัญหาว่าไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาหรือประชาชน ก็ไม่สามารถจัดกิจกรรม อะไรได้ ฉะนั้นถ้ารัฐบาลมีความจริงใจที่ จะปรองดองก็ควรเริ่มต้นด้วยการเปิดให้ประชาชนมีเสรีภาพแสดงความคิดเห็น มากขึ้น โดยคณะกรรมการก็รับฟังความเห็นจากกลุ่มที่เชิญไปเรื่อยๆ และรับฟังเสียงจากคนข้างนอกควบคู่ไปด้วย” นางอังคณากล่าว

สนช.นัดถอด”ปึ้ง”ปมพาสปอร์ต

ที่รัฐสภา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ประชุมสมาชิก โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 แจ้งให้สมาชิกทราบว่า เมื่อวันที่ 15 ก.พ. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งเรื่องให้ถอดถอน นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรมว.ต่างประเทศ กรณีออกหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โดยมิชอบ ซึ่งมีมูลความผิดอาญาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มาตรา 157 และผิดกฎหมายป.ป.ช.ปี”42 แก้ไขเพิ่มเติมปี”54 รวมทั้งขัด ต่อมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ตามระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 ทางป.ป.ช.จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ถอดถอนนายสุรพงษ์ และส่งเรื่องมาให้ประธาน สนช. เพื่อดำเนินการตามกระบวนการถอดถอนต่อไป

“ดังนั้นประธานสนช.จึงนัดประชุมนัดแรกในวันที่ 9 มี.ค.นี้ เพื่อให้ป.ป.ช.ในฐานะผู้กล่าวหาแถลงเปิดสํานวนคดี และนายสุรพงษ์ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาได้แถลงคัดค้านโต้แย้งคำแถลงเปิดสำนวน พร้อมกับพิจารณาคำขอเพิ่มพยานหลักฐานใหม่” นายสุรชัยกล่าว

ด้านนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนการชี้มูลความผิดอาญาของนายสุรพงษ์ มาให้ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อสส. ตามขั้นตอนทางคดีแล้ว ตามขั้นตอนจะต้องตั้งคณะทำงานพิจารณาสำนวน ซึ่งอัยการจะพิจารณาให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน