“บิ๊กตู่”กลับจากสหรัฐถึงไทยแล้ว ยันเรื่องฝาย แม่ผ่องพรรณ-ลูก”บิ๊กติ๊ก”รับงานก่อสร้างทัพภาคที่ 3 ไม่เกี่ยวกับตนเอง แต่ไม่รับประกันแทนน้องชาย ลั่นใครอยากสอบก็สอบไป สั่งเดินหน้าให้”ปู”ชดใช้คดีข้าว 3.5 หมื่นล้าน ย้ำทำตามกฎหมายไม่ได้แกล้งใคร “ยิ่งลักษณ์”โพสต์ขอความเป็นธรรมนายกฯ เหมือนที่ปกป้องน้องตัวเอง เพื่อไทยร่อนแถลงการณ์จี้ทบทวนเรียกค่าเสียหาย ยกเลิกใช้มาตรา 44 ชี้ขัดหลักนิติธรรม ปชป.โต้ลั่นรัฐบาล “มาร์ค” ไม่ใช่ต้นตอน้ำท่วมปี 54 ซัดยุคยิ่งลักษณ์บริหารผิดพลาดเอง สปท.นัด 27 ก.ย.ทุบโต๊ะชงเซ็ตซีโร่กกต.หรือไม่ “ศุภชัย”โอดอย่าจ้องเล่นงานกัน กกต.ถกวันนี้กฎหมายลูกที่มาส.ว. วางกฎเหล็กเลือก 3 ขั้นตอน เพิ่มโทษทุจริตจำคุก-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

“บิ๊กตู่”ถึงไทย-ย้ำนำชาติสู่ปชต.
เมื่อ เวลา 06.30 น. วันที่ 25 ก.ย.ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะ เดินทางถึงประเทศไทย ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ที่สหรัฐ ว่า ในโอกาสที่ได้เข้าร่วมประชุมดังกล่าวตนได้กล่าวถ้อยแถลงถึงการเจริญเติบโต อย่างยั่งยืนโดยให้มีแรงกดดัน จากสากลเข้าไปช่วยกันสนับสนุนในแต่ละประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าว ว่า ส่วนในที่ประชุมกลุ่ม 77 ที่ตนเป็นประธานนั้นได้ขอบคุณและย้ำเรื่องการนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาสู่การปฏิบัติซึ่งมีหลายประเทศแล้วที่ได้นำไปใช้ และประเทศสมาชิกได้ขอบคุณประเทศไทยที่เผื่อแผ่แบ่งปันสิ่งที่เป็นของคนไทย ที่เขาเห็นคุณค่า ทำให้นำประเทศถึงขีดที่น่าพึงพอใจเพื่อการยกระดับพัฒนาต่อไป โดยเฉพาะประเทศที่มีการพัฒนาน้อย บอกว่ากำลังใช้แนวทางดังกล่าวในการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนม.ค.2560 จะได้ส่งต่อให้ประเทศเอกวาดอร์เป็นประธานต่อจากประเทศไทย ขณะนี้เตรียมการส่งต่อ เพื่อให้ขับเคลื่อนงานกันต่อไป โดยให้ประเทศสมาชิกเดินหน้าร่วมกับยูเอ็น ซึ่งไทยมีบทบาทเป็นสะพานเชื่อม อย่างที่ได้เชื่อมระหว่างกลุ่ม จี77 กับ จี20 ซึ่งอยู่ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นประธานพอดี

“ในโอกาสนี้ได้ พบปะกับผู้นำหลายๆ ประเทศ ทุกคนก็ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ผมได้มีโอกาสเล่าถึงสถานการณ์ในประเทศ บอกว่าเรากำลังเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตย ทุกคนไม่ได้มีใครว่าอะไร ไม่ได้มีปัญหาอะไร” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ฮึ่ม!โยงมั่วเรื่องน้องชาย
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์หลังมีผู้ร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบ ปรามการทุจติตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งในเรื่องการสร้างฝายแม่ผ่องพรรณพัฒนา ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และการประมูลงานก่อสร้างของกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งเกี่ยวข้องกับภริยาและลูกชายพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม และครอบครัวว่า เรื่องน้องชายก็ส่วนน้องชาย แต่กับตนนั้นคนละคน ส่วนที่ตนถูกโจมตีไปด้วยนั้นก็โจมตีไป เพราะโดนอยู่ ทุกวันอยู่แล้ว แต่อย่าทำผิดกฎหมายกับตนก็แล้วกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่านายกฯ ห่วงหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า แล้วคุณห่วงน้อง ห่วงญาติพี่น้องคุณหรือไม่ และเรื่องที่ถูกโจมตีเหล่านั้นจริงหรือเปล่า พิสูจน์หรือยังว่ามันผิด ในเรื่องการทำธุรกรรมบริษัทนั้น ยังไม่รู้ว่าถูกหรือผิด

ชี้”บิ๊กติ๊ก”ไม่โง่-แต่ไม่รับประกัน
“เขา คงไม่โง่หรอก แต่ผมก็ไม่รับประกันแทนอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องของเขาที่ต้องรับผิดชอบไป เพียงแต่ว่ามันจะถูกจับตานี่โน่น คือพอมีอะไรขึ้นมาผมจะต้องโดน แล้วมา บอกว่ารัฐบาลไม่เอาใจใส่ มันคนละประเด็น อยากจะสอบก็สอบไป แต่อย่าไปเอาเรื่องที่เกิดขึ้นมาตีกันอีกว่าทางนี้ก็เป็น จะทำไปเพื่ออะไร” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เมื่อมีการฟ้องร้องก็ให้สอบไป ตนคงไม่ทำตัวแบบที่มันเกิดๆมาหรอก อะไรที่ตัดสินแล้วหลุดตัวเองถูกตัวเองดีนั้นชอบกระบวนการศาลยุติธรรม แต่ถ้าไม่หลุดแล้วด่าศาล คนแบบนี้มันอยู่ได้ยังไงประเทศไทย ก็ปล่อยให้เขาทำลายต่อไป แล้วกัน ตนก็ทำได้แค่นี้

ยันเปล่าแกล้ง-ให้ชดใช้คดีข้าว
ส่วน กรณีที่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ที่มีนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เป็นประธาน พิจารณาสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโครงการรับจำนำข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สรุปตัวเลขความเสียหายที่ต้องจ่ายจำนวน 35,717 ล้านบาทนั้น พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไป รัฐบาลมีหน้าที่นำเข้าสู่กระบวนการอย่างเดียว ตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่ใช้มากว่า 5 พันคดีแล้ว

“ไม่ได้แกล้งใคร ไม่ได้เลือกปฏิบัติอะไรใคร มันมีหน้าที่อยู่ ถ้าไม่ทำ รัฐบาลไม่ดำเนินการ ก็จะถูกดำเนินการตามมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และต้องทำให้ทันอายุความที่จะสิ้นสุดภายในเดือนก.พ.2560 ผมไม่ได้ไปเร่งรัดอะไร กฎหมายเขาเขียนไว้อย่างนั้น รู้จักกฎหมายกันไหม” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

ถามกลับมันผิดตรงไหน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เมื่อที่มาจากการร้องทุกข์กล่าวโทษ ใครมีหน้าที่ก็ทำไป ส่วนการตัดสินเป็นเรื่องของศาล ไม่ใช่เรื่องของตน รวมทั้งการตั้งคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)ในส่วนของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์และพวกรวม 6 คน นั้นก็เป็นหน้าที่รัฐบาล ซึ่งได้มีการตรวจสอบ 2 ฤดูการผลิต ในปี 2555/56 และปี 2556/57 ตามที่ป.ป.ช.และหน่วยงานที่ตรวจสอบให้สอบ และทำตามคำสั่งศาล

“ส่วน การจะไปดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมอย่างไร มันก็มีสิทธิ สามารถทำได้ ผู้ถูกกล่าวหาก็ร้องอุทธรณ์ได้ แล้วมันผิดตรงไหน หรือไม่ต้องเข้ากระบวนการเลย แล้วเอารัฐบาลผมไปรับโทษแทน คิดให้มันถูกต้อง อย่าไปฟังที่มันอ้างไปอ้างมา เอาหลักฐาน เอากฎหมายมาว่ากัน เวลานี้ประชาชนสับสนไปหมด กฎหมายไม่เป็นกฎหมายไปหมด เขาจะแกล้งเรื่องอะไร” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

“จิรชัย”เชื่อคลังตัดสินตามเนื้อผ้า
ด้าน นายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรม การสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโครงการรับจำนำข้าว เปิดเผยกรณีกระทรวงการคลังสรุปความเสียหายคดีจำนำข้าวในส่วนของน.ส.ยิ่ง ลักษณ์ ที่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย 35,717 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 จากวงเงินรวม 1.78 แสนล้านบาท โดยผิด 2 ฤดูกาลหลังสุดคือฤดูกาล 2555/56 และ 2556/57 ว่า คณะกรรมการชุดของตนได้สรุปความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่ง ลักษณ์ไว้ที่ 2.8 แสนล้านบาท โดยคิดความเสียหายใน 4 ฤดูกาล ตั้งแต่ปี 2554-57

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อชุดนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง คิดค่าเสียหาย 2 ฤดูกาลนั้น ตนเข้าใจและเคารพการตัดสินใจของนายมนัส ซึ่งจะไม่ขอก้าวล่วงใดๆ มองว่านายมนัสสามารถชี้แจงกับสังคมได้ว่าทำไมถึงคิด 2 ฤดูกาล แต่เชื่อว่าทุกอย่างทุกขั้นตอนที่คณะกรรมการของนายมนัสตัดสินใจสรุปออกมา นั้นตัดสินใจตามเนื้อผ้าอย่างแน่นอน

“ปู”ขอความเป็นธรรมนายกฯ
วัน เดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าน.ส. ยิ่งลักษณ์โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ทุกอย่างที่นายกฯ ยืนยันออกมาจากปากท่านว่าการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับคดีดิฉันเป็นไปตาม กฎหมาย ไม่ได้กลั่นแกล้ง ก็อยากให้นายกฯ ใช้หลักคิดและให้ความเป็นธรรมกับดิฉันเหมือนที่ท่านให้ความเป็นธรรมและปก ป้องน้องชายท่าน รวมทั้งคนที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพวกเดียวกับท่าน เพราะกฎหมายมีไว้บังคับใช้กับทุกคน ไม่ไช่เลือกปฏิบัติกับฝั่งดิฉันเพียงฝ่ายเดียว”

ขณะที่พรรค เพื่อไทยออกแถลงการณ์เรื่อง ขอให้ทบทวนกระบวนการเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวและยกเลิกการใช้ มาตรา 44 โดยไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่า ตามที่หัวหน้าคสช.ได้ดำเนินการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับอดีตนายกฯ รัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าว และได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 56/2559 ลงวันที่ 13 ก.ย. ให้อำนาจกรมบังคับคดีในการใช้มาตรการบังคับทางปกครองด้วยการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดในโครงการรับ จำนำข้าว

เพื่อไทยออกแถลงการณ์ 6 ข้อ
ขณะ เดียวกันกลับคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการ ดำเนินการดังกล่าวให้ไม่ต้องรับผิด จากที่เคยออก คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 39/2558 คุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมาครั้งหนึ่งแล้วนั้น พรรคเพื่อไทยเห็นว่าได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลและหัวหน้า คสช.ที่จะมุ่งเอาผิดกับอดีตนายกฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายกรณีโครงการรับจำนำข้าวให้ได้ โดยไม่สนใจกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมาย โดยเห็นได้ชัดเจนจากคำให้สัมภาษณ์ของนายกฯ และหัวหน้า คสช.และรองนายกฯ ที่เกี่ยวข้อง ที่พยายามชี้นำสังคม และชี้นำการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ให้เห็นว่าบุคคลเหล่านั้นได้กระทำ ความผิดและต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายโดยเร็ว จนถึงขนาดใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ของกฎหมายปกติที่ใช้บังคับทั่วไปเพื่อนำ มาใช้กับกรณีนี้เป็นการเฉพาะ

แถลงการณ์ระบุว่า พรรคเพื่อไทยพิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการลุแก่อำนาจ สร้างความไม่ชอบธรรมแก่ผู้ที่ถูกกล่าวหา เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุผลดังนี้ 1.โครงการรับจำนำข้าวมีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งศาลจะเป็น ผู้ตัดสินว่าผู้ที่เกี่ยวข้องมีความผิดหรือไม่ หากตัดสินว่ามีความผิดจึงควรจะมาพิจารณาถึงความรับผิดทางแพ่งต่อไป

อย่ารวบรัด-รอคดีอาญาจบ
2.โครงการ รับจำนำข้าวเป็นนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้การอุดหนุนด้านการเกษตรแก่เกษตรกร ซึ่งเป็นภาคที่อ่อนแอ เป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ถือเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของชาวนาส่วนรวม การดำเนินการเรียกค่าเสียหายจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลถือเป็นครั้งแรกของ ประเทศที่นำเรื่องกำไรขาดทุนมาพิจารณาและเรียกค่าเสียหายจากผู้นำรัฐบาลก่อน ทั้งที่ทุกรัฐบาลก็มีการดำเนินการในทำนองเดียวกันมากมายหลายโครงการ และเป็นแนวปฏิบัติที่นานาชาติได้ใช้กันโดยทั่วไป

3.การเรียก ค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวเป็นเรื่องของนโยบายรัฐบาล ไม่ใช่การทำละเมิดทั่วไป เช่น การทำให้ทรัพย์สินของราชการเสียหาย หรือการยักยอกเงินของทางราชการที่จะสามารถกำหนดค่าเสียหายและความรับผิดได้ ชัดเจน ดังนั้น การดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวจะถือเป็นการละเมิดหรือไม่ก็ยังไม่มีความชัดเจน นอกจากนั้นการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของ บุคคล ถือเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล จึงไม่ควรที่จะต้องเร่งรีบ รวบรัดในการกำหนดค่าเสียหาย และเรียกให้บุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีอาญาเสีย ก่อน

ซัดมีเจตนาทางการเมือง-อคติ
4.การอ้าง ว่าหากไม่เร่งดำเนินการ คดีอาจขาดอายุความนั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อเรื่องดังกล่าวยังไม่ชัดเจน ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดหรือไม่ อายุความจึงยังไม่เริ่มต้น แต่การยกข้ออ้างดังกล่าวก็เพื่อเร่งรัดให้มีการเรียกค่าเสียหายให้จบทันอายุ ของรัฐบาลนี้ อันเป็นเจตนาทางการเมือง เป็นการชี้นำกระบวนการยุติธรรมจากอคติของผู้นำที่มาจากการยึดอำนาจ

5.การ ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่ว่าฉบับที่ 39/2558 หรือฉบับที่ 56/2559 โดยให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งให้ ไม่ต้องรับผิด และให้อำนาจกรมบังคับคดีใช้มาตรการบังคับทางปกครอง แทนที่จะเป็นปลัดกระทรวงการคลังตามที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น จะส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องเป็นธรรม เพราะถือว่ามีกฎหมายคุ้มครอง แต่กระทำเพื่อให้บรรลุเจตนาของผู้นำเท่านั้น เท่ากับเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ขัดต่อหลักความเสมอภาค เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่กำหนดไว้ ในรัฐธรรมนูญ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิ มนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม

มุ่งทำลายคนเห็นต่าง
6.มาตรา 44 เป็นสิ่งที่มีมาโดยมิชอบ ที่หัวหน้า คสช. เขียนให้อำนาจตนเองไว้ เป็นอำนาจซึ่งไม่ได้มาจากความยินยอมของประชาชน การใช้อำนาจดังกล่าวจึงควรเป็นไปอย่างจำกัดเฉพาะตามองค์ประกอบ และเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เท่านั้น กรณีการออกคำสั่งข้างต้นไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้ เพราะการออกคำสั่งคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และการให้อำนาจกรมบังคับคดียึดอายัดทรัพย์บุคคลเป็นการเฉพาะนั้น ไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และข้ออ้างในคำสั่งนั้นแต่อย่างใดเลย

เป็นที่ประจักษ์ชัด ว่า คสช.และรัฐบาลปัจจุบัน ล้วนเป็นผู้ไม่เห็นด้วยกับนโยบายจำนำข้าว ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เป็นคู่ขัดแย้ง และมิใช่ผู้เป็นกลาง การที่พยายามจะดำเนินคดีเรียกร้องค่าเสียหายกับอดีตนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องในคดีจำนำข้าว ด้วยวิธีการใช้คำสั่งทางปกครอง จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบและขัดหลักนิติธรรม อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นความพยายาม และ/หรือจงใจที่จะใช้กระบวนการต่างๆ เพื่อมุ่งทำลายพรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองที่มีความคิดเห็นต่าง เท่ากับจงใจทำลายระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย

เรียกร้องยกเลิกมาตรา 44
พรรค เพื่อไทยขอเรียกร้องให้หัวหน้า คสช.และรัฐบาล ดำเนินการทุกอย่างให้เป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมายปกติ ไม่ควรใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 มุ่งใช้บังคับเพื่อเร่งเอาผิดกับบุคคลเป็นการเฉพาะ และการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็นไปตามหลักความเป็นธรรมและความรับ ผิดชอบตามกฎหมาย ไม่ควรยกเว้นหรือคุ้มครองความรับผิด จึงขอให้ทบทวนกระบวนการเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว และยกเลิกการใช้มาตรา 44 โดยไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ น.ส. ยิ่งลักษณ์ โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ว่า วันนี้ได้อ่านข่าวที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ได้พูดถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีความทั้งหลาย และได้ฝากถึงทีมทนายความด้วยนั้น น่าเห็นใจอดีตนายกฯ เป็นอย่างยิ่ง ในยามที่ท่านไม่มีตำแหน่งใดๆ เป็นปุถุชนคนธรรมดาแล้ว นอกจากจะถูกดำเนินคดีจากการที่รัฐบาลดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ที่เป็นโครงการสาธารณะ มุ่งช่วยเหลือ พี่น้องเกษตรกรชาวนา ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ยังถูกคำสั่งให้ดำเนินคดีทางปกครอง เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายอีก

ทนายจวกใช้ฟุ่มเฟือย
นาย นรวิชญ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรรมการป.ป.ช. อีกถึง 15 คดี ที่สำคัญและน่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง ในวันนี้อดีต รมว.กลาโหมผู้ที่เคยเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาถูกดูหมิ่นดูแคลน ทั้งที่น.ส. ยิ่งลักษณ์ใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรม โต้แย้ง/คัดค้านซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหาตามรัฐธรรมนูญที่ กระทำได้ และคดีความทั้งหลายยังไม่ถึงที่สุด

ทีมทนายมีข้อ สังเกตอีกว่า 1.พล.ต. สรรเสริญเข้ามาทำงานในตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกฯ ในการบริหารประเทศ ในลักษณะพิเศษ คงไม่เข้าใจในสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง และคุ้มครองไว้ ซึ่งเป็นหลักสากล ทั่วโลกยอมรับกัน

นายนรวิชญ์ระบุว่า 2.การใช้มาตรา 44 นอกจากจะนอกกรอบที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้แล้ว ยังเป็นการใช้อย่างฟุ่มเฟือยไปหรือไม่ เริ่มตั้งแต่ในชั้นการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเกี่ยวกับโครงการ รับจำนำข้าว ก็ใช้มาตรา 44 และพอจะบังคับคดียึดทรัพย์ก็ใช้มาตรา 44 ให้อำนาจกรมบังคับคดียึดทรัพย์อีก ทั้งที่กรมบังคับคดีไม่มีอำนาจและมีกฎหมายปกติบังคับใช้อยู่แล้ว

เหน็บ”ไก่อู”-นั่งสมาธิบ้าง
นาย นรวิชญ์ระบุว่า 3.เมื่อพล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับ ผิดทางละเมิด ซึ่งตามกฎหมายและระเบียบ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะผู้แต่งตั้งต้องลงนามเอง แต่แปลกใจว่ากลับออกคำสั่งให้ผู้อื่นลงนามแทน ในเรื่องนี้น่าจะมีกุนซือกฎหมายใหญ่ของรัฐบาลแนะนำ เพื่อไม่ให้พล.อ.ประยุทธ์ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี

4.การใช้ มาตรา 44 นอกจากจะเป็นการเอาเปรียบทางกฎหมายแล้ว ยังกลับไม่กล้าลงนามเองอีก อย่างนี้เรียกว่าเป็นการเอาเปรียบทางกฎหมาย 2 ชั้น แต่ทีมทนายจะได้ดำเนินการโต้แย้ง/คัดค้าน และต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด
5.อยาก ฝากถึง พล.ต.สรรเสริญ คงจำได้ปีที่แล้ว ผมเคยแนะนำให้ท่านไปทำบุญ นั่งสมาธิ จิตใจ จะได้สงบ ช่วงนี้เป็นช่วงเข้าพรรษา ผมก็ขอแนะนำให้ท่านไปทำบุญ นั่งสมาธิบ้าง จิตใจจะได้สงบ และต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี จิตใจจะได้สงบ

โต้ยุค”มาร์ค”ต้นตอน้ำท่วม
นาย อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ แถลงตอบโต้นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่กล่าวหาว่า รัฐบาลสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กักเก็บน้ำจนเป็นสาเหตุให้น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ว่า เป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ หากดูกราฟแสดงการกักเก็บน้ำในเขื่อนต่างๆ มาแสดงเพื่อยืนยันว่า การกักเก็บน้ำในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นไปตามปกติ ซึ่งในช่วงที่มีการยุบสภาในวันที่ 9 พ.ค.2554 ระดับน้ำยังต่ำกว่าเกณฑ์ แต่เมื่อเทียบกับช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เข้ารับตำแหน่งเดือนส.ค. มีเวลาเกือบ 2 เดือน แต่บริหารน้ำผิดพลาด เนื่องจากรัฐบาลในขณะนั้นมีนโยบายที่จะกักเก็บน้ำไว้เพื่อให้ชาวนาเกี่ยว ข้าว

โดยเรื่องนี้มีคำยืนยันจากนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้นที่ระบุว่าได้สั่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง ประเทศ ไทย (กฟผ.) ชะลอน้ำและมีการหน่วงน้ำไว้ แม้ว่าจะรู้ล่วงหน้าว่าจะมีฝนตกหนักแต่ก็เลือกที่จะดำเนินการดังกล่าว เมื่อเกิดพายุสองลูกการระบายน้ำยังทำแบบปกติ กระทั่งเขื่อนกักเก็บน้ำมากเกินไปจนล้นเขื่อนก็มีการปล่อยน้ำออกมาจำนวนมาก ทำให้เกิดวิกฤตน้ำท่วมตามมา ทั้งนี้ตนจะส่งข้อมูลทั้งหมดให้ ป.ป.ช. ในวันที่ 26 ก.ย. เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป

แนะกรธ.ให้ปชช.ร่วมร่างกม.
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะเปิดให้พรรคการเมืองร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 28 ก.ย.นี้ ว่า พรรคการเมืองพร้อมที่จะให้ความร่วมมือเพื่อช่วยกันทำให้กฎหมายที่จะออกมา เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ และประชาชนมากที่สุด แต่กฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมือง และการเลือกตั้งถือเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญที่ประชาชนจะช่วยกลั่นกรองบุคคล เข้าไปเป็นตัวแทนทำงานการเมืองบริหารประเทศ จึงอยากให้กรธ.เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทั้ง ทางตรง ทางอ้อมในการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมรูปแบบต่างๆ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

กรธ.ควรแสวงหากลไกต่างๆ ขับเคลื่อนเข้าหาประชาชนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการร่างกฎหมาย เพราะประชาชนอยู่ในพื้นที่รู้เห็นการทำงานของพรรคการเมืองและการรณรงค์หา เสียงเลือกตั้งมาโดยตลอดย่อมมองเห็นจุดแข็ง จุดอ่อนของการเลือกตั้งส.ส. และพรรคการเมือง เป็นอีกมุมมองหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อกรธ.ในการร่วมกฎหมายให้สมบูรณ์ ที่สุด เพราะการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากเท่าไหร่จะทำให้กฎหมายได้รับการ ยอมรับจากประชาชนมากขึ้นเท่านั้น และประชาชนจะช่วยเป็นหูเป็นตาให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปได้จริงในที่สุด

“ศุภชัย”เซ็งจ้องเล่นงานกกต.
วัน เดียวกัน นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงข้อเสนอให้มีการเซ็ตซีโร่ กกต.ว่า เท่าที่ฟังว่าเป็นข้อเสนอของนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ. ซึ่งท่านมีหน้าที่ร่างก็คิดได้ กกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติตาม แต่ทุกอย่างต้องให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกองค์กรอิสระด้วย ไม่ใช่จ้องแต่จะเล่นงาน กกต.อย่างเดียว ก็อาจจะไม่ยุติธรรม

ทั้ง นี้ จากประสบการณ์การเลือกตั้งเมื่อ 2 ก.พ.2557 พวกเรา กกต.ทั้ง 5 คนก็ผ่านมาแล้ว รู้ว่าปัญหาต่างๆ มันเกิดจากอะไร ซึ่งการพิจารณายกร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ทาง กกต.นำเอาปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาปรับปรุง เพื่อให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับสามารถดำเนินการไปได้ เช่น หากมีปิดล้อมสถานที่รับสมัคร หรือหน่วยเลือกตั้ง เราก็ได้เขียนจัดการแก้ไขไว้หมดแล้ว

คุยมีประสบการณ์-รับมือป่วนได้
“หาก เป็นคนใหม่มาทำจะเหมือนที่พวกผมได้รับการโปรดเกล้าฯเข้ามาทำงานเมื่อ วันที่ 16 ธ.ค.2556 พอวันที่ 23 ธ.ค.2556 ก็เกิดเหตุทันที คือ กลุ่ม กปปส.มาชุมนุมปิดล้อมสถานที่รับสมัครส.ส. ที่สนามกีฬาไทยญี่ปุ่น-ดินแดง จนต้องย้ายไปที่นั่นที่นี่ ต้องแก้ปัญหารายวัน ทำให้งงอยู่ ต้องค่อยๆ แก้กันไป แต่คราวนี้ถ้าเจออีกก็สบายแล้ว เช่น สามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้เลย ไม่ต้องไปถามรัฐบาล” นายศุภชัยกล่าว

นาย ศุภชัย สมเจริญ ยังกล่าวถึงกรณีที่ ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นหนังสือผลตรวจสอบจริยธรรมนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่ให้สำนักงานกกต. รวบรวมข้อมูลเพื่อส่งมาให้กกต. ซึ่งมีข้อมูลค่อนข้างมาก และเราต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะจะไปนึกมโนเองไม่ได้ เราต้องดูพยานหลักฐาน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไปทำรวบรัดไม่ได้ ถ้าเราไม่โดนบ้างเราก็ไม่รู้ แต่ทุกอย่างเดินหน้าไม่มีการชะลอ แต่ที่ช้าเพราะถามในปัญหาส่วนตัวของนายธีรวัฒน์ 4-5 ข้อ ซึ่งตนจะไปรู้ได้ยังไง ก็พยายามหาแล้วในเรื่องที่เขาถาม แต่ก็ตอบกลับไปว่ามันเป็นปัญหาเรื่องส่วนตัวที่เราไม่สามารถตอบได้

สปท.นัดถกเซ็ตซีโร่กกต.
นาย เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยว่า วันที่ 27 ก.ย.จะประชุมกมธ.เพื่อกำหนดประเด็นที่เสนอให้กับกรธ. จัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. โดยประเด็นที่กมธ.เสนอประกอบด้วย 1.อำนาจหน้าที่ของกกต. และ 2.การดำรงอยู่ของกกต.ชุดปัจจุบัน หลังจากร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต.มีผลบังคับใช้ จากนั้นจะส่งรายงานให้กมธ.วิสามัญกิจการสปท.ในวันที่ 29 ก.ย.

สำหรับ เรื่องอำนาจหน้าที่ของกกต.นั้นจะพิจารณาว่าควรให้กกต.มีสถานะเป็นเจ้า พนักงานที่มีอำนาจจับกุมและออกหมายเรียกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือไม่ รวมไปถึงความเหมาะสมที่จะให้มีกกต.ประจำจังหวัด ส่วนประเด็นเรื่องการดำรงอยู่ของกกต.ทางกมธ.จะสรุปว่าควรเซ็ตซีโร่กกต.หรือ ไม่ เพราะตอนนี้ต้องยอมรับว่ากกต.มีปัญหาภายในค่อนข้างมากที่ก่อให้เกิดเสียง วิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะปัญหาตำแหน่งประธานกกต. จนกลายเป็นความขัดแย้ง

กกต.ถกร่างกม.ที่มาส.ว.
รายงาน จากกกต. เปิดเผยว่าในการประชุม กกต. วันที่ 26 ก.ย. ที่ประชุมจะมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ที่คณะทำงานของสำนักงาน กกต.เสนอ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นฉบับสุดท้ายใน 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งระดับชาติ ที่กกต.ต้องส่งให้กรธ.พิจารณา ต่อไป

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องของกระบวนการ วิธีการที่จะทำให้ได้มาซึ่งส.ว 200 คนตามมาตรา 107 ของร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ โดยแบ่งเป็น 3 หมวด คือ หมวดการได้มาซึ่งส.ว. หมวดการสืบสวนหรือไต่สวน และวินิจฉัย หมวดการควบคุมการเลือกและบทกำหนดโทษ และบทเฉพาะกาล

โดย บุคคลที่จะเป็นส.ว.ต้องมีความรู้ เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในงานแต่ละด้านนั้น ร่างกฎหมายได้กำหนดเป็น 20 ด้านตามแนวความคิดของกรธ. 1.ด้านการบริหาร ความมั่นคง หรือการต่างประเทศ 2.ด้านกฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรม 3.ด้านการบัญชี การเงิน การคลัง หรือการงบประมาณ 4.ด้านการศึกษาหรือวิจัย 5.ด้านการสาธารณสุข 6.ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 7.ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม วรรณกรรม การแสดง หรือการกีฬา 8.ด้านกสิกรรม หรือป่าไม้ 9.ด้านปศุสัตว์ หรือประมง 10.ด้านลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน องค์กรลูกจ้าง หรือองค์กรนายจ้าง

วางสเป๊ก 20 ด้าน-เลือก 3 ขั้นตอน
11.ด้าน คุ้มครองผู้บริโภค การสื่อสาร สื่อสารมวลชน 12.ด้านการประกอบการธุรกิจ การค้า หรือการธนาคาร 13.ด้านการประกอบการอุตสาหกรรม 14.ด้านการประกอบวิชาชีพ 15.ด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง ที่อยู่อาศัย หรือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 16.ด้านทรัพยากร ธรรมชาติหรือพลังงาน 17.ด้านองค์กรชุมชน หรือประชาสังคม 18.ด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือสตรี 19.ด้านผู้ประกอบอาชีพอิสระ 20.ด้านอื่นๆ ซึ่งผู้สมัครแต่ละด้านต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 108 ที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดเป็นหลัก ยื่นลงสมัครได้เพียงด้านเดียวพร้อมค่าธรรมเนียม 5 พันบาท ห้ามหาเสียง ทำได้เพียงเอกสารแนะนำตัวเกี่ยวกับประวัติส่วนตัว การศึกษา ผลงานในการทำงาน โดยกกต.เป็นผู้เผยแพร่ให้

ส่วนการเลือกกันเองตั้งแต่ระดับ อำเภอ จังหวัด ประเทศจะใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 60 วัน โดย กกต.จังหวัดและคณะอนุกรรมการประจำอำเภอที่มีการแต่งตั้งขึ้นจะดำเนินการ เลือกระดับอำเภอ และระดับจังหวัด ส่วนกกต.กลางเลือกระดับประเทศ หนึ่งหน่วยเลือกตั้งจะประกอบด้วยผู้มีสิทธิลงคะแนน 500 คนเป็นประมาณ ใช้หีบบัตรเลือกตั้ง 20 หีบ ผู้สมัครจะลงคะแนนเลือกให้ผู้สมัครกลุ่มอื่นได้กลุ่มละหนึ่งหมายเลข ผู้ได้คะแนนมากที่สุดเรียงลำดับลงมาตามจำนวนที่ต้องการในการเลือกของแต่ละ กลุ่มแต่ละระดับเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้ามีคะแนนเท่ากันในลำดับที่ทำให้เกินจำนวนที่จะพึงมีในแต่ละกลุ่มแต่ละ ระดับให้ใช้การจับสลากและการเลือกในระดับอำเภอ ระดับจังหวัดใช้เวลาระดับละ 15 วัน ระดับประเทศ 7 วัน

จากระดับอำเภอ-จว.-ประเทศ
ระดับ อำเภอเมื่อดำเนินขั้นตอนการสมัคร ตรวจสอบคุณสมบัติ ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัครแล้ว หากผู้สมัครกลุ่มใดใน 20 กลุ่มมีจำนวนเกินกว่า 5 คน จะทำ 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกให้ผู้สมัครเลือกกันเองในกลุ่มให้เหลือผู้สมัครกลุ่มละ 5 คน

ขั้น ตอนต่อมา ให้ผู้ที่ผ่านการคัดกรองกันเอง 5 คนของแต่ละกลุ่มไปเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่น 19 กลุ่มที่เหลือ หรือที่เรียกว่า “เลือกไขว้” โดยแต่ละคนมีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นได้กลุ่มละหนึ่งหมายเลข เพื่อให้ได้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนมากสุดเรียงลำดับลงมาจำนวน 3 คนในแต่ละกลุ่ม ดังนั้นหนึ่งอำเภอเมื่อคัดเลือกได้ผู้สมัครที่เป็นตัวแทนกลุ่มละ 3 คนจาก 20 กลุ่ม ก็จะได้ผู้สมัครที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนอำเภอ อำเภอละ 60 คน ประเทศไทยมี 928 อำเภอ เท่ากับว่าจะได้ผู้สมัครส.ว.ที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนระดับอำเภอ 55,680 คน

โดย คณะอนุกรรมการจะประกาศรายชื่อ ผู้สมัครที่ได้รับเลือกในระดับอำเภอไว้ที่ว่าการอำเภอให้ประชาชนตรวจสอบ พร้อมส่งรายชื่อดังกล่าวให้กับกกต.จังหวัดซึ่งทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการเลือก ส.ว.ประจำจังหวัดนำเข้าสู่กระบวนการเลือกระดับจังหวัด

สมัคร 5 หมื่นคน-เฟ้นเหลือ 200
การ เลือกในระดับจังหวัดนั้นเมื่อนำผู้สมัครที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนระดับอำเภอ 55,680 คน มาแยกเป็น 20 กลุ่ม จะได้ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนระดับอำเภอกลุ่มละ 2,784 คน ไปลงคะแนนเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่น 19 กลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มของตน โดยเลือกให้เหลือกลุ่มละ 3 คน เป็นผู้ได้รับเลือกในระดับจังหวัด ซึ่งทั้งประเทศมี 77 จังหวัด ดังนั้น ใน 20 กลุ่มจะได้ผู้สมัครที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนจังหวัดรวม 4,620 คน

ราย ชื่อดังกล่าวจะถูกส่งให้กกต.กลางดำเนินการเลือกในระดับประเทศ ซึ่งเมื่อแบ่งเป็น 20 กลุ่มจะมีผู้ที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนระดับจังหวัดในแต่ละกลุ่ม 231 คน ไปลงคะแนนเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่น 19 กลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มของตนให้เหลือกลุ่มละ 10 คน เป็นผู้ได้รับเลือกในระดับประเทศจาก 20 กลุ่ม รวม 200 คน หากกกต.เห็นว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต ไม่มีการคัดค้าน จะประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกตามลำดับคะแนน 10 อันดับในแต่ละกลุ่ม 20 กลุ่ม จำนวน 200 คน เป็นผู้ได้รับเลือกเป็นส.ว. พร้อมจัดทำบัญชีสำรองของผู้ผ่านการคัดเลือกไว้บัญชีละ 10 รายชื่อ เผื่อกรณีที่สมาชิกภาพของส.ว.ในกลุ่มใดสิ้นสุดลงก่อนครบวาระ 5 ปี จะไม่ต้องมีการเลือกใหม่ แต่ให้เลื่อนจากบัญชีสำรองในแต่ละกลุ่มได้เลย

เพิ่มโทษทุจริตจำคุก 10 ปี
ขณะ ที่การดำเนินการเกี่ยวกับกรณีมีการร้องเรียน การคัดค้านการทุจริตการเลือกส.ว. หรือบทลงโทษนั้นส่วนใหญ่จะเหมือนกับที่บัญญัติในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มีเพิ่มในส่วนผู้ใดกระทำการสนับสนุนให้บุคคลเข้าหรือไม่เข้ารับการสมัคร เพื่อประโยชน์ในการลงคะแนนให้แก่ตน หรือผู้สมัครอื่น หรือลงสมัครเพื่อการเลือกโดยมีผลประโยชน์ตอบแทน รวมทั้งกรรมการบริหาร ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง ส.ส. ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดกระทำการโดยวิธีใดที่เป็นการช่วยเหลือให้ ผู้สมัครได้รับเลือกเป็นส.ว หรือผู้สมัครคนใดยินยอมให้บุคคลเหล่านี้ช่วยเหลือเพื่อให้ เป็นส.ว.

อีก ทั้งผู้ใดกระทำการให้ สัญญาว่าจะให้ จัดเลี้ยง ใช้อิทธิพล เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนลงคะแนนให้แก่ตน หรืองดเว้นลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด ให้ถือว่ามีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่สองหมื่น-สองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

อย่างไรก็ตาม ผู้ได้รับเลือกเป็นส.ว. 200 คนดังกล่าว บทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 269 (ค) ได้บัญญัติให้คสช.เลือกผู้ที่ได้รับเลือกเป็นส.ว.จากบัญชีที่กกต.ส่งไปนี้ จำนวน 50 คน และคัดเลือกรายชื่อสำรองไว้อีกจำนวน 50 คน โดยให้นำจำนวนที่เลือกจากบัญชีที่กกต.ส่งไป 50 คนไปรวมกับที่คสช.จะเลือกอีก 200 คน รวมเป็นส.ว. 250 คนตามรัฐธรรมนูญ

แจงขั้นตอนชี้ขาดคำถามพ่วง
รายงาน ข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญเปิดเผยว่า สำหรับการพิจารณากรณีที่กรธ.ส่งร่างรัฐธรรมนูญซึ่งแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติมเพื่อให้พิจารณาว่า เป็นการชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่ว คราว 2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 2558 มาตรา 37/1 ซึ่งขณะนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นัดแถลงด้วยวาจาและลงมติในวันพุธที่ 28 ก.ย.นี้

ทั้งนี้ ตามขั้นตอนการพิจารณาทางคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ละคนจะนำความเห็นและมาแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมว่ามีความเห็นอย่างไร เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อแถลงด้วยวาจาครบทุกคนเสร็จแล้วจะทำการลงมติ จากนั้นจะนำมติที่ได้ไปจัดทำเป็นคำวินิจฉัย

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ทางตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นการประชุมตามปกติ ไม่มีการออกนั่งบัลลังก์ และผลการวินิจฉัยคาดว่าน่าจะแจกเป็นเอกสารข่าวให้กับสื่อมวลชน ส่วนคำวินิจฉัยกลางแบบเป็นทางการนั้น เมื่อดำเนินการตามขั้นตอนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางสำนักงานจะเร่งดำเนินการส่งให้กรธ.ทันทีภายในกรอบระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวกำหนดไว้

รบ.ให้สินเชื่อประชารัฐถึง30ธ.ค.
เมื่อ วันที่ 25 ก.ย. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในระยะเวลาเกือบ 2 เดือนที่รัฐบาลเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนในโครงการสินเชื่อ ประชารัฐเพื่อประชาชน มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 37,634 ราย ได้รับอนุมัติสินเชื่อไปแล้วเป็น 26,066 ราย คิดเป็นเงิน 3,024.02 ล้านบาท โดยรัฐบาลสนับสนุนสินเชื่อสำหรับโครงการนี้ผ่านธนาคารออมสินให้แก่ผู้ค้าราย ย่อย เช่น พ่อค้าแม่ค้า วินมอเตอร์ไซค์รถรับจ้างสาธารณะ หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยสามารถนำเงินที่ได้ไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ ใช้บรรเทาความเดือดร้อนในการดำรงชีพ หรือใช้ชำระหนี้สินต่างๆ รวมถึงหนี้นอกระบบ

ผู้สนใจยังสามารถลงทะเบียนขอสินเชื่อได้ ถึง 30 ธ.ค.2559 ซึ่งกระทรวงการคลังได้กำหนดวงเงินให้กู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท ภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องชำระคืนภายใน 5 ปี ผู้กู้จะต้องมีอาชีพและรายได้ที่แน่นอน มีที่อยู่อาศัยแน่นอนที่สามารถติดต่อได้ มีอายุ 20 ปีขึ้นไปโดยรวมกับระยะเวลาชำระเงินกู้แล้วต้องไม่เกิน 65 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าผู้กู้มีความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อได้

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง และธนาคารออมสิน ประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ทั่วถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายเพื่อไม่ให้เสียโอกาส โดยธนาคารแต่ละสาขาจะต้องมีเจ้าหน้าที่ที่พร้อมอธิบายรายละเอียดโครงการ วัตถุประสงค์ และเหตุผลของเงื่อนไขต่างๆ อย่างชัดเจนให้พี่น้องประชาชนเข้าใจเพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาในความยากของการ อนุมัติสินเชื่อ

“รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะช่วยบรรเทาความ เดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ไม่ได้เป็นการสนับสนุนให้คนเป็นหนี้ ส่วนคนที่เป็นหนี้อยู่แล้วจากการกู้เงินนอกระบบ สินเชื่อจากโครงการนี้จะช่วยยืดระยะเวลาให้ปัญหาบรรเทาเบาบางลงได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะขอสินเชื่อควรขอเท่าที่จำเป็นและมีความสามารถในการผ่อนชำระ เพื่อไม่ให้เป็นการพอกพูนปัญหาหนี้สินให้มากขึ้นไปอีก และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้บริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ใน การดำรงชีวิต” พล.ต.สรรเสริญกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน