เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก iLaw โพสต์ ชี้แจงกรณีที่ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แถลงถึงการตรวจสอบสมาชิกสนช. จำนวน 7 คน โดยระบุว่า “กรณีที่ไอลอว์เปิดเผยข้อมูลว่าสมาชิกขาดประชุม 400 วัน และตนอนุญาตให้ลาประชุม 394 วัน ซึ่งตอนแรกไม่ได้สนใจ เพราะคิดว่า เป็นไปไม่ได้ แต่จากการตรวจสอบดูการประชุมในปี 2557 มีการประชุมจำนวน 33 ครั้ง ปี 2558 มีการประชุม 76 ครั้งปี 2559 มีการประชุม 84 ครั้ง และปี 2660 เพิ่งประชุมไป 11 ครั้ง รวมแล้วมีวันประชุมทั้งหมด 204 วันเท่านั้น ดังนั้น จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะมีการประชุมถึง 400 วัน”นั้น

ข้อมูลที่ปรากฎในบทความดังกล่าว มิได้กล่าวถึง “จำนวนวันเข้าประชุม” แต่กล่าวถึง “จำนวนการลงมติ” ของสมาชิก สนช. 8 คน ในรอบ 90 วัน ซึ่งไอลอว์เลือกมา 2 รอบ นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2559 และพบว่า มีสมาชิกอย่างน้อย 7 คน ที่มาลงมติไม่ถึง 1 ใน 3 ของการลงมติในแต่ละรอบ ด้วยเหตุนี้จึงอาจเป็นเหตุให้สิ้นสมาชิกภาพ ยกเว้นสมาชิกได้ยื่นใบลา นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 ก.พ. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่งหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงมาให้ไอลอว์ และทราบดีว่าบทความไอลอว์กล่าวถึงการ “ลงมติต่อรอบ” ไม่ใช่ “การขาดประชุมต่อวัน” ดังนั้น ข้อมูลที่ท่านประธานสนช. ชี้แจงต่อสื่อมวลชนจึงเป็นการกล่าวบนฐานของความคลาดเคลื่อนและไม่ได้พิจารณาข้อมูลที่ทางไอลอว์ได้เผยแพร่อย่างรอบคอบ

ตลอดสองปีหกเดือนของการทำงาน สนช. ไอลอว์ติดตามกระบวนการทำงานของสนช. มาตลอด เราทราบดีว่า การประชุมของสนช. จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดี และวันศุกร์ของทุกสัปดาห์ ยกเว้นจะมีวาระพิเศษจึงจะมีการนัดประชุมเพิ่มเติม ดังนั้น จำนวนครั้งของการประชุม สนช. ไอลอว์จึงทราบดี สุดท้าย ไอลอว์ ขอเรียกร้องให้ ประธานสนช. ตรวจสอบและเปิดเผยการลงมติย้อนหลังและก่อนหน้าของสมาชิกทุกคน เพิ่มเติมจากรอบที่ไอลอว์ตรวจสอบไปเบื้องต้น รวมทั้งเปิดเผยจำนวนการลาและใบลา เพื่อให้สื่อมวลชนและประชาชนร่วมตรวจสอบ ซึ่งหากทำได้จริง เชื่อว่าจะมีสมาชิก สนช.มากกว่า 7 คน ที่เข้าข่ายขาดการลงมติจำนวนมากจนอาจขาดสมาชิกภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน