‘ทวี’ จวก กกต. ฟ้อง ปชช. คดีหมิ่นเลือกปฏิบัติ ใช้กฎหมายเอาเปรียบ-กดทับเสรีภาพ

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Tawee Sodsong – พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ถึงกรณีที่ กกต. ฟ้องหมิ่นประมาท นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสา ที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แนวร่วมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

โดยระบุว่า กรณี เจ้าหน้าที่รัฐฟ้องหมิ่น แม่น้องเกด จ่านิวและน้องเพนกวิน ถือว่ารัฐไม่ธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมและเลือกปฏิบัติหรือไม่? เมื่อ 9 ปีที่แล้ว นางพะเยาว์ อัคฮาด ได้สูญเสียน้องเกด หรือ กมนเกด อัคฮาด ลูกสาวผู้เป็นที่รักจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อปี 2553 ที่วัดปทุมวนาราม ซึ่งเธอได้พยายามต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้ลูกสาวของเธอมาตลอด และคราวนี้เธอยังคงเป็นนักสู้เพื่อความยุติธรรม โดยได้ร่วมกิจกรรมล่ารายชื่อถอดถอนคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา เพราะเธอมองว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้นไม่ยุติธรรมโปร่งใส แต่เธอกลับถูกฟ้องจากรัฐ

ซึ่งล่าสุดเธอได้โพสต์ภาพและข้อความบนเฟสบุ๊ค ‘Phayaw Akkahad’ ระบุว่า ตนได้รับหมายเรียกจาก สน.พญาไท ผู้กล่าวหาคือ พินิจ จันทร์ฉาย หนึ่งใน กกต. มีผู้ถูกร้องทุกข์เอาผิดรวม 3 คน ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ซึ่งถูกเรียกให้ไปรายงานตัวตามหมายเรียกในวันที่ 30 เม.ย.นี้ เวลา 10.00 น. ซึ่งนางพะเยาว์ยืนยันว่า ตนไม่เคยให้ร้ายใคร

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

กรณีข้างต้นถือว่า “กกต.ไม่ยึดหลักนิติธรรมและเลือกปฏิบัติหรือไม่” เพราะการกระทำของทั้ง 2 ท่านถือว่าได้พยายามต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงองค์กรอิสระ ซึ่งผู้ที่น่าจะกระทำไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฏหมายคือรัฐ ในที่นี้หมายถึง กกต.และ ตำรวจ เพราะประชาชนมีรัฐธรรมนูญคุ้มครองอยู่ แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ไม่ได้มาจากหลักการประชาธิปไตย ยังบัญญัติให้ความคุ้มครองไว้ ดังนี้

หมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
มาตรา ๒๕ สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะ ในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจํากัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิ และเสรีภาพที่จะทําการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

สิทธิหรือเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายนั้นขึ้นใช้บังคับ บุคคลหรือชุมชนย่อมสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้นได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ ที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาล หรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้

บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ หรือจากการกระทําความผิดอาญาของบุคคลอื่น ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ

หมวด ๔ หน้าที่ของปวงชนชาวไทย
มาตรา๕๐ (๑๐) ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ

หมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ
มาตรา ๖๓ รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกในการส่งเสริม ให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ

ประกอบกับ มาตรา ๕๑ การใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐตามหมวดนี้ ถ้าการนั้น เป็นการทําเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรง ย่อมเป็นสิทธิของประชาชนและชุมชนที่จะติดตาม และเร่งรัดให้รัฐดําเนินการ รวมตลอดทั้งฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดให้ประชาชน หรือชุมชนได้รับประโยชน์นั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

ที่สำคัญคือศักดิ์ของกฏหมายที่ระบุให้รัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุด อยู่ในมาตรา ๕ ที่ว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

กรณีที่เกิดกับคุณพะเยาว์ อัคฮาด หรือแม่น้องเกด กับน้องเพนกวิน เป็นสภาพความเป็นจริงทางสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โครงสร้างและบริบททางสังคม จะสะท้อนออกผ่านการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการบังคับใช้กฎหมาย ระหว่าง “การรักษาความสงบเรียบร้อยทางสังคม” กับ “การแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ของผู้ปกครอง” ซึ่งดูได้จากการการปฏิบัติว่า มีการบังคับใช้กฎหมายกับบุคคลทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันหรือไม่?

กฎหมายรัฐธรรมนูญมีศักดิ์สูงกว่ากฏหมายใดๆหรือไม่? และมีการธำรงไว้ถึงหลักนิติธรรม คือสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะละเมิดไม่ได้ แม้แต่กฏหมาย (เว้นแต่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ) หรือไม่? ถ้าคำตอบคือ “ไม่” กฎหมายก็จะเป็นเพียงเครื่องมือของผู้ปกครองที่ใช้เอาเปรียบและกดทับเสรีชน และคนไร้อำนาจ เพื่อแสวงหาและคงไว้ซึ่งอำนาจของผู้ปกครองเป็นหลักนั้นเอง

 


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน