พุ่งเป้า‘ธนาธร’ เลือกตั้ง-เอนด์เกม?

การเลือกตั้งผ่านไปแล้ว 1 เดือนกับ 4 วัน ยังมีหลายด่านให้ต้องฝ่าฟัน

กว่าจะรู้ว่าบั้นปลายท้ายสุด พรรคฝ่ายคสช.นำโดย พลังประชารัฐ หรือพรรคฝ่ายประชาธิปไตย นำโดยเพื่อไทย-อนาคตใหม่ ฝ่ายใดจะรวบรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล

ใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ยังคงเป็นองค์กร 3 ประสาน อย่างศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ต้องทำงานหนัก ขณะที่นักการเมืองและประชาชนเริ่มเป็นกังวล

ด้วยสภาพความสับสนวุ่นวายหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม กกต.จะประกาศรับรองผลเลือกตั้งส.ส.ได้ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ทันตามกำหนดวันที่ 9 พฤษภาคม หรือไม่

การทำหน้าที่ขององค์กร 3 ประสาน หลายเรื่องหลายประเด็นมีทั้งที่เป็นไป “ตามคิว” แต่ก็มีบางเรื่องที่“ผิดคิว”กันเอง

เช่นล่าสุด กรณี กกต.ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า กกต.สามารถคำนวณหาส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. มาตรา 128

ที่การคิดคำนวณอาจทำให้บางพรรคการเมืองที่มีจำนวนส.ส.ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่อส.ส. 1 คน มี จำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน ได้หรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่

ซึ่งปรากฏต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า กกต.ไม่สามารถใช้สิทธิยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติกระบวนการและขั้นตอนในการยื่นคำร้องไว้เป็นการเฉพาะ เช่น การใช้สิทธิทางผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น

และมีมติ 7 ต่อ 2 เสียง ตีตกคำร้องในประเด็นขอให้วินิจฉัยสูตรคำนวณหาส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า

กรณีดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของกกต.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตรา 128 ซึ่งต้องกระทำหลังจากประกาศผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต

แต่ในข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่า กกต.ได้ใช้อำนาจหน้าที่ดังกล่าว จึงยังไม่ถือว่ามีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกกต.เกิดขึ้นแล้ว

คำร้องส่วนนี้จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ และพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย

ก่อนถึงคิวผู้ตรวจการแผ่นดิน เล่นต่อจาก กกต. มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสูตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยอ้างเหตุผลว่าบทบัญญัญติในพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. มาตรา 128 ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 91

ก็ต้องรอดูศาลรัฐธรรมนูญจะว่าอย่างไร สถานการณ์ จะพลิกอีกตลบหรือไม่

จากมติศาลรัฐธรรมนูญทำให้ปัญหา“เผือกร้อน”ถูกส่งกลับมาอยู่ในมือ กกต.อีกครั้ง

โดยมีข่าวสะพัดเป็นไปได้ กกต.เตรียมใช้สูตรที่อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือกรธ.แนะนำ อันจะมีผลให้มีพรรคใหญ่-เล็ก ได้รับแจกเก้าอี้ส.ส.บัญชีรายชื่อมากถึง 25 พรรค

เป็นสูตรต่างจากที่บรรดานักนิติศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ นักการเมืองและอดีต กกต.เห็นตรงกัน

หากเดินตามวิธีการคิดคำนวณที่บัญญัตติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 128 อย่างตรงไปตรงมา ไม่ตะแบง

ยึดเอาพรรคที่ได้คะแนนเลือกตั้งรวม 7.1 หมื่นขึ้นไปเป็นหลักในการคิดคำนวณ ก็จะมีพรรคได้รับจัดสรรส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพียง 14 พรรค

ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่าการที่ กกต.มีแนวโน้มจะใช้สูตร 25 พรรคในการคำนวณหาส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นเพราะต้องการ “เติมเสียง” ช่วยให้บางพรรคได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลทั้งที่ไม่ได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1

เพราะหากยึดสูตร 14 พรรคก็เท่ากับเพื่อไทย-อนาคตใหม่จะได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ถ้ายึดสูตร 25 พรรค อีกขั้วค่ายก็จะเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล ได้อยู่ในอำนาจต่อไป

นอกจากนั้นสูตรหักดิบส.ส.บัญชีรายชื่อ ยังสอดรับกับการแจก“ใบส้ม”

ก่อนหน้านี้ มีการแถลงข้อมูลว่าในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม มีเรื่องร้องเรียนผู้ลงสมัครส.ส.ที่ได้รับคะแนนสูงสุด จำนวน 66 เขตเลือกตั้ง

ซึ่ง กกต.จำเป็นต้องตรวจสอบทั้งหมด เพื่อพิจารณาว่าจะแจกใบเหลือง ใบส้ม ใบแดงในเขตเลือกตั้งใดบ้าง เนื่องจากมีผลต่อคะแนนรวมซึ่งจะนำมาคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ล่าสุด กกต.มีมติแจก“ใบส้ม”ใบแรกให้กับนายสุรพล เกียรติไชยากร ว่าที่ส.ส.เขต 8 เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ทำให้ต้องจัดเลือกตั้งใหม่ในเขตดังกล่าว

พร้อมสั่งระงับสิทธิ์ลงสมัครเลือกตั้งของนายสุรพล ไว้ชั่วคราว 1 ปี ก่อนส่งศาลฎีกาพิจารณาสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ใบดำ) หรือสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง (ใบแดง) ต่อไป

กกต.ให้เหตุผลในการแจกใบส้มนายสุรพล ว่าเนื่องจากมีพฤติการณ์เข้าข่ายผิดพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 73 (2) ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด

ขณะที่ตัวนายสุรพล อ้างว่าการแจกใบส้มของกกต. ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากตนเองถวายปัจจัยให้พระสงฆ์ 2,000 บาท ไม่น่าเข้าข่ายแจกเงินเพื่อผลประโยชน์ เนื่องจากพระสงฆ์ไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

ซึ่งต้องต่อสู้คัดค้านกันต่อไป แต่เบื้องต้นเท่ากับพรรคเพื่อไทยถูกตัดตอนไปแล้ว 1 เสียง จาก 137 เหลือ 136 เสียง ก็ต้องจับตาดูว่า ก่อนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม พรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะถูกลดเสียงอีกหรือไม่

ยังเหลืออีก 65 เขตให้ต้องลุ้น

กระนั้นก็ตามเหตุการณ์ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้พรรคฝ่ายประชา ธิปไตยมากสุดในช่วงที่ผ่านมา นับต่อจากเหตุการณ์ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ก็คือ

กกต.มีมติแจ้งข้อกล่าวหานายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรค ลำดับที่ 1

กรณีถูกร้องเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. เนื่องจากถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งอาจมีผลให้ถูกแจกใบส้ม

แต่นั่นยังไม่เท่าไหร่เมื่อเทียบกับการที่มีคนใน กกต.ให้ข่าว อาจมีการขยายผลลงโทษหนักถึงขั้น “ยุบพรรค” และเพิกถอนสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรค

เรื่องนี้ทำให้นายธนาธร ต้องตีตั๋วบินด่วนกลับจากยุโรปก่อนกำหนด เนื่องจากได้รับแจ้งให้รีบกลับเพื่อมาเตรียมความพร้อมรับ “สถานการณ์อันไม่คาดคิด”

ถึงนายธนาธร มั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะโอนหุ้นดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม ทำทุกอย่างถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย จบไปตั้งแต่ก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง

ก็เป็นแค่ความมั่นใจของนายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ฝ่ายเดียว อาจรวมถึงแฟนคลับฟ้ารักพ่อ กับคนที่เลือกอนาคตใหม่อีกกว่า 6 ล้านเสียง

แต่เกมนี้ทุกอย่างอยู่ที่ 7 เสียงของ กกต.

“แม่มาแล้ว AvengersEndgame ถ้าเราแพ้เราจะแพ้ด้วยกัน คือ Quote ของ Tony Stark ที่ปลุกเหล่าฮีโร่ ทุกพรรค..เอ๊ย!!ทุกคน ลุกขึ้นสู้ “ลุงธานอส” ชีวิตจริงไม่ต่างจากหนัง Game ที่คู่แข่งเขียนกติกา เราย่อมเสียเปรียบ ขอเพียงเราอย่าท้อ ร่วมกันสู้จนครบยก เมื่อถึง #EndGame เราจะชนะด้วยกันค่ะ”

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ทวีตข้อความเปรียบเทียบสถานการณ์การเมืองกับมหากาพย์หนังแอ๊กชั่นเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ระดับโลก “อเวนเจอร์-เอนด์เกม”

แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยแสดงความมั่นใจ ถ้าทุกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยร่วมกันสู้กับ“ลุง” เมื่อเกมจบ จะเป็นฝ่ายชนะด้วยกันทั้งหมด

แต่หนังก็คือหนัง มักต่างลิบลับกับโลกแห่งความเป็นจริง ยิ่งการเมืองไทย ยิ่งเป็นสิ่งอยู่นอกเหนือความคาดหมาย บรรดาฮีโร่ต้องมาตายตอนจบ

ถูกกล่าวหาเป็น“ผู้ร้าย”ก็เคยมีให้เห็นมาแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน