ปิยบุตร ขอรัฐสภาโชว์พลัง ร่วมแรงยุติสืบทอดอำนาจ ชำแหละพฤติกรรม ‘ประยุทธ์’ ไม่ยึดมั่นในประชาธิปไตย-ขัดจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญแทบทุกข้อ!

วันที่ 5 มิ.ย. จากนั้น นาย ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า วันนี้เป็นวันสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะนายกฯคนถัดไปจะเป็นคนแรกในรัฐธรรมนูญ 2560 และนายกฯคนแรกหลังการรัฐประหาร ตนไม่พูดว่าใครดีกว่าใคร แต่จะพูดตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 และเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 160

ตัว พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคสช. มีลักษณะต้องห้ามการเป็นนายกฯ เนื่องจาก มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะฝ่าฝืนข้อ 5 มาตรฐานทางจริยธรรม เวลาดูกฎหมายการจะรู้ว่าใครมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ ต้องดูสะสมมาระยะเวลานาน ไม่ใช่ดูประเดี๋ยวประด๋าว

พล.อ.ประยุทธ์ นอกจากเป็นนายกฯ ยังได้ตำแหน่งหัวหน้าคสช. ที่ได้มาจากการรัฐประหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ตั้งตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ปกครองประเทศอย่างไม่มีรัฐธรรมนูญมา 2 เดือนเต็ม ใช้คำสั่งของท่านเพียงอย่างเดียว ก่อนจะมาตรารัฐธรรมนูญชั่วคราว2557 ที่นิรโทษกรรมให้ตัวเอง

แสดงว่า พล.อ.ประยุทธ์ รู้อยู่แก่ใจว่าการกระทำรัฐประหารนั้นผิดกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 คือความผิดฐานกบฏล้มล้างรัฐธรรมนูญโทษสูงสุดประหารชีวิต จึงนิรโทษกรรมตัวเอง

สะท้อนว่า การรัฐประหารคืออาชญากรรมสูงสุดของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตัว พล.อ.ประยุทธ์ แสดงให้เห็นว่าไม่ได้ยึดมั่นประชาธิปไตย ถ้าท่านยึดมั่นท่านต้องไม่ก่อรัฐประหารหรือล้มรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งยังมีมาตรา 44 หัวหน้าคสช.จะทำอะไรก็ได้ไม่มีข้อจำกัด

เรื่องนี้สำคัญตรงไหน รัฐสภาเราถืออำนาจนิติบัญญัติในการตราร่างกฎหมาย เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.ไปแล้ว นายกฯจะทำหน้าที่ทูลเกล้าฯให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยเพื่อให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย

แต่หัวหน้าคสช. คนเพียง 1 คน ที่มาจากการยึดอำนาจ กลับใช้อำนาจตาม ม.44 ทำให้มีผลเป็น พ.ร.บ.ก็ได้ หัวหน้าคสช.ลงนามก็มีผลใช้เป็นกฎหมายได้ แถมยังให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตลอดกาล นี่คือการปกครองแบบไหนกันแน่

เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจแล้วออกรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่แก้ไขได้ให้ยืดระยะเวลาในการใช้ วางกรอบไว้ว่าเมื่อทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้ทำตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 35 ว่าต้องเขียนรัฐธรรมนูญแบบใด ก่อนจะมีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน

พอเขียนรัฐธรรมนูญเสร็จไปสู่การทำประชามติ ช่วงท้ายดันมีประเด็นปัญหาคำถามพ่วง คำถามพ่วงนั้นคือมาตรา 272 รัฐธรรมนูญ 2560 ในปัจจุบัน ที่ให้ ส.ว.มาเลือกนายกฯ ประชาชนบอกอ่านคำถามพ่วงตอนทำประชามติยังไงก็ไม่เข้าใจ ที่พูดมาเพื่อยืนยันว่า เรามาถึงวันที่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น บ้านเมืองจะกลับไปสู่ระบบปกติ แต่กลไกตามรัฐธรรมนูญ 2560 มันส่อให้เห็นถึงกระบวนการสืบทอดอำนาจ

ณ เวลานี้เรามาจากการเลือกตั้งของประชาชน เรามีโอกาสสุดท้ายที่ร่วมแรงจะยุติการสืบทอดอำนาจของคสช. ประชาชนอยากออกไปจากอำนาจที่เป็นแบบเดิม อย่าปล่อยปะละเลยจนมันลื่นไถล เหมือนเหตุการณ์เหมือน พฤษภาคม 2535 ที่สืบทอดอำนาจสำเร็จ สุดท้ายไปจบลงที่โศกนาฏกรรม

ดังนั้น กระบวนการสืบทอดอำนาจมันเริ่มมาตั้งแต่รัฐประหาร 22 พ.ค.2557 กำลังได้เข้าเส้นชัยในวันนี้ ของแรงสภาผู้แทนราษฎรไม่เลือก พล.อ.ประยุทธ์ ส่วน ส.ว.ท่านเป็นอิสระจากหัวหน้าคสช.ที่แต่งตั้งท่านแล้ว ขอแรงอย่าเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน