เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดเสวนา หัวข้อ “สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดี 112” โดยนางพริ้ม บุญภัทรรักษา แม่ของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักศึกษาที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ กล่าวว่า ไผ่ถูกถอนการประกันตัวเพราะถูกกล่าวหาว่าเยาะเย้ยอำนาจรัฐ ซึ่งเรามองว่าไม่ชอบธรรม เราไม่เห็นด้วย เพราะการใช้กฎหมายนี้กว้างเกินไปหรือไม่ และยังถูกพ่วงผิด ม.112 ในฐานะความเป็นแม่ยังรู้สึกว่าใช่หรือไม่ที่มาบอกว่ากลัวหลบหนี ทั้งที่มีผู้ค้ำประกันเป็นแพทย์ อาจารย์ เราพยายามทำทุกอย่างตามกฎหมาย รับตามกฎหมายทุกอย่าง แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงไม่เข้าใจว่าจะให้ประชาชนอย่างเราได้สิทธิขั้นพื้นฐานมาจากไหน เราต่อสู้เรื่องความยุติธรรม ทำงานเพื่อความยุติธรรมมาตลอด แต่เรากลับไม่ได้รับความยุติธรรม ทำให้เกิดความสั่นคลอนเกิดแก่กระบวนการที่จะให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน จึงขอถามว่าเกิดความยุติธรรมกับประชาชนหรือไม่

นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า อีก 3 วันไผ่จะจำคุกครบ 3 เดือนแล้ว จะขึ้นศาลอีกครั้งในวันที่ 21 มี.ค.นี้ ในเรื่องการขอประกันตัวแต่เป็นการพิจารณาคดีในทางลับมีเพียงทนายความเท่านั้น ที่ผ่านมายื่นขอประกันไป 7 ครั้ง ทนายความไม่สามารถคุยทางคดีเป็นการส่วนตัวได้แค่ให้เยี่ยมได้ตามปกติเท่านั้น ทั้งนี้ เหตุผลที่ไม่ให้ประกันตัวไผ่เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีถูกกล่าวหาความมั่นคง กระทบความรู้สึกประชาชน พฤติกรรมเป็นการเยาะเย้ยอำนาจรัฐ เกรงออกไปสร้างความเสียหายพยาน อย่างไรก็ตาม ระบบศาลบ้านเราเป็นระบบกล่าวหา ส่วนสิทธิในการประกันตัวนั้นน่าแปลกใจว่าส่วนใหญ่เกินกว่าครึ่งที่ได้รับการอนุมัติจากศาลทหาร ดังนั้นไม่ได้อยู่ที่ว่าศาลไหน ตนเห็นว่าตัวบทและเจตนารมณ์มีชัดเจน แต่ปัญหาอยู่ที่การตีความมากกว่า

นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า การให้ปล่อยตัวชั่วคราวจะต้องให้ทำได้โดยสะดวกแล้วรัฐค่อยไปหาทางควบคุมตัว เช่น ใส่กำไลติดตามตัว กักบริเวณ การไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวทำให้ผู้บริสุทธิ์ติดอยู่ในคุกจำนวนมาก อย่างไรก็ตามต้องการให้ศาล หรือคำพิพากษาวิจารณ์ได้เพื่อให้เกิดสามารถแก้ไขได้ แต่ที่สุดแล้วก็ต้องสู้ก่อน สู้เหมือนที่ไผ่กับแม่ของไผ่สู้ ระบบยุติธรรมไทยเปรียบเหมือนเรือรั่ว จะพาทุกคนจมน้ำตาย และตนเชื่อว่าการให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคดีอย่างไผ่นี้คงเป็นไปได้ยาก ซึ่งไผ่เองก็เข้าใจจุดนี้ดี

น.ส.สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มธ. และนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ กล่าวว่า “บุคคลต้องได้รับการสันนิษฐานว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ จนกว่าจะมีคำพิพากษาแล้วว่าเขากระทำผิด และจะปฏิบัติกับเขาอย่างผู้กระทำความผิดแล้วไม่ได้” และ “ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิ์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว” ซึ่งเป็นข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ 40 50 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเหตุผลสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้นมีหลักการตามกฎหมายบัญญัติไว้ และต้องใช้เหตุผลตามหลักการ อาทิ ไม่หลบหนี ไม่ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน เกรงจะไปก่ออันตราย แต่ศาลมักใช้ ม.108 เช่น ความหนักเบาแห่งข้อหา ผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไม่ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นอย่างไร การกระทำที่ถูกกล่าวหากระทบความรู้สึกประชาชน มาประกอบในการวินิจฉัยคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งนี้ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นการสร้างความหวาดกลัวโดยรัฐ โดยการใช้กลไกกระบวนการยุติธรรมสร้างความหวาดกลัว และเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงบีบบังคับ อย่างที่เคยมีคนกล่าวไว้ว่าสู้ติดแน่แพ้ติดนาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน