“อนาคตใหม่” ซัดรัฐบาลคสช. เร่งประมูล-อนุมัติ 6 โครงการใหญ่ทิ้งทวน ชี้เอื้อนายทุน-ใช้งบอื้อ

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 7 ก.ค. ที่พรรคอนาคตใหม่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่(อนค.) และนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค อนค. ร่วมแถลงข่าวประเด็น “แค่จับตายังไม่พอ ประชาชนต้องช่วยกันกดดัน โครงการทิ้งทวนของ คสช.”

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า พรรคอนค.ต้องการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนร่วมกันจับตาโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)กำลังจะทิ้งทวนโดยเร่งรัดจัดการให้มีการประมูลและมีการสัมปทานโครงการต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงรอยต่อของรัฐบาล เนื่องจากลำพังการทำงานของพรรคอนค.ที่ผ่านมายังไม่เพียงพอ จึงอยากให้ประชาชนช่วยจับตาไม่ให้รัฐบาลทำอะไรที่เสียหายต่อประเทศชาติ

เช่น โครงการท่อร้อยสายที่เป็นอำนาจของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการให้สัมปทานสองต่อ โดยให้บริษัทกรุงเทพธนาคม ซึ่งไม่มีความสามารถในการดำเนินการ จึงไปเปิดประมูลอีกทอดให้บริษัท ทรู คอปอร์เรชั่น ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียกับการใช้ประโยชน์ในโครงการดังกล่าว จึงอยากเรียกร้องว่า หากโครงการดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึง 2 หมื่นล้านบาทจริง ควรต้องเข้าพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ร่วมทุน และเปิดเผยทีโออาร์ต่อสาธารณะ

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ต่อมาคือโครงการยืดหนี้ กสทช. ให้กลุ่มทุนโทรคมนาคมที่จะได้ประโยชน์ 2 หมื่นล้านบาท รวมถึงผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้ประโยชน์ 3.8 หมื่นล้านบาท โดยขอเรียกร้องให้เปิดประมูลคลื่นความถี่ 5 จี ไม่ใช่ทำการแจกแบบที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ในเรื่องโครงการดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบิน แม้จะประมูลเสร็จสิ้นไปแล้วแต่ยังมีการประมูลจุดรับส่งสินค้า หรือ Pick Up Counter ซึ่งผู้ที่ควรได้สัมปทานในส่วนนี้ไม่ควรเป็นคนเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเราได้เห็นโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่ใช้เม็ดเงินไม่คุ้มค่า แต่ไม่สามารถเรียกร้องให้ประชาชนออกมากดดันรัฐบาลได้ ดังนั้น จึงขอวิงวอนให้ทุกคนร่วมจับตาและกดดันส่งเสียงไปยังรัฐบาล เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ด้าน นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ขอพูดถึง 3 โครงการด้านคมนาคมที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะใช้เม็ดเงินมหาศาลและเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนค่อนข้างชัดเจน โครงการแรกคือโครงการขยายสัมปทานทางด่วน ซึ่งขณะนี้กำลังจะหมดอายุสัมปทาน 30 ปีในช่วงต้นปี 2563 จึงมีความพยายามขยายสัมปทานต่อไปอีก 30 ปีโดยมิชอบ

โดยหาเหตุจากค่าโง่ทางด่วนตามที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาไว้ 4,300 ล้านบาท ที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)ต้องจ่าย อีกทั้งพยายามผูกโยงไปยังอีก 2 กรณีที่ยังพิพาทกันอยู่รวมแสนกว่าล้านบาท

ทั้งนี้ หากมีการต่อสัญญาสัมปทานไปอีก 30 ปี เอกชนที่ได้สัมปทานจะมีรายได้ประมาณการณ์ 4.2 แสนล้านบาท โดยการพิจารณาที่ผ่านมาดูเหมือนเร่งรีบผิดปกติ มีเงื่อนงำที่ควรต้องตรวจสอบ จึงต้องช่วยกันจับตามิให้เรื่องดังกล่าวผ่านคณะรัฐมนตรี(ครม.)อย่างรวดเร็ว

แนวทางแก้ไขคือ 1.ควรจ่ายค่าเสียหายก้อนเล็กจำนวน 4,300 ล้านบาทไปก่อนที่ศาลจะพิพากษากรณีอื่นๆ 2.ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาในรายละเอียด 3.มูลค่าทางคดีที่มีการฟ้องร้องกันมีเม็ดเงินมหาศาล จึงต้องพิจารณาว่าความเสียหายที่จะยอมความอยู่ที่เท่าไหร่ หรือหากดูแล้วสู้คดีได้ก็ไม่จำเป็นต้องยอมความ

นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า อีกกรณีคือรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งมีการประมูลที่ไม่ปกติ มีการพ่วงอะไรหลายอย่างเข้าไป จนดูเหมือนโครงการนี้ไม่ใช่เพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูง แต่เพื่อให้ทุนใหญ่ได้พัฒนาที่ดิน แถมรัฐยังต้องอุดหนุนอีกกว่าแสนล้านบาท เห็นได้ชัดเจนจากการพ่วงที่ดินย่านมักกะสันเข้าไปในสัญญา ซึ่งไม่ใช่เหตุผลในการผลักดันโครงการนี้อย่างแน่นอน อีกทั้งในทีโออาร์ก็ไม่ได้พูดถึงการเดินรถแต่อย่างใด แต่กลับพูดถึงการพัฒนาที่ดินเป็นหลัก จึงควรเรียกว่าเป็นการเชื่อมต่อที่ดินของเอกชนด้วยภาษีประชาชนมากกว่า

สำหรับแนวทางแก้ไขเพื่อลดความเสียหาย ควรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อระงับและตรวจสอบโครงการบางส่วนว่าสามารถยับยั้งได้มากแค่ไหน รวมถึงตรวจสอบความไม่โปร่งใสในการอนุมัติ

ทั้งนี้ อำนาจพิเศษเหมือนดาบสองคม ต้องดูว่าแบบนี้ คสช.ทำเพื่อประชาชนหรือกลุ่มทุนใหญ่กันแน่ และอีกกรณี คือรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าขาดตรรกะการพัฒนา เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวมีทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ ที่รัฐบาลผลักดันไปก่อนหน้านี้ จึงควรนำเม็ดเงินดังกล่าวไปกระจายให้กับคนรายได้น้อยในเมืองที่จำเป็นต้องใช้ระบบขนส่งสาธารณะจริงๆ มิเช่นนั้น เหมือนเป็นการหนุนคนรวยให้ได้ใช้นานๆที แต่หากนำไปพัฒนาระบบขนส่งในเมือง คนจนจะได้ใช้ทุกวัน

เชื่อว่ารัฐต้องควักเงินอุดหนุนเนื่องจากจะขาดทุนทุกปี จึงเห็นว่าการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ น่าจะเหมาะสมและตอบโจทย์กับการเดินทางระหว่างเมืองมากกว่ารถไฟความเร็วสูง นอกจากนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการล็อกให้กลุ่มทุนจากประเทศจีนมาดำเนินการซึ่งไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและด้านอื่นๆของไทย

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าว แม้ไม่สามารถระงับยับยั้งได้ทัน แต่ต้องไม่ผิดซ้ำสอง โดยแผนแม่บทและการบูรณาการต้องได้รับการแก้ไข โดยขอยืนยันว่าพรรคอนค.ไม่ขัดขวางการพัฒนา แต่เรียกร้องว่าต้องวางแผนดำเนินการก่อนหลัง อย่าผลาญเงินโดยไม่คุ้มค่า และทำโครงการซ้ำซ้อนกันอีกเลย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน