เมื่อวันที่ 14.30 น. วันที่ 29 ก.ย. ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ นายชาติชาย อัครวิบูลย์ รองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะ 9 คน อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อม.74/2558 ที่อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นผิดปกติของ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีต รมว.ศึกษาธิการ และอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ผู้ถูกกล่าวหาว่า มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 16 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน กรณีสืบเนื่องจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเสียงข้างมาก เมื่อวันที่ 28 พ.ค.58 ชี้มูลความผิด จากการไต่สวนกรณีการร่ำรวยผิดปกติของนายสมศักดิ์ ซึ่งจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริง ที่ไม่แสดงบ้านพักเลขที่ 5/5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ที่ปลูกสร้าง เมื่อปี 2541 ช่วงที่นายสมศักดิ์ เป็น รมช.ศึกษาธิการ และก่อสร้างจนแล้วเสร็จเมื่อปี 2544 ในช่วงที่นายสมศักดิ์เป็น รมว.ศึกษาธิการ โดยใช้เงินค่าก่อสร้าง 16 ล้านบาท
โดยคำร้องอัยการสูงสุด ระบุพฤติการณ์สรุปว่า นายสมศักดิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ผู้ถูกกล่าวหา ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น รมช.ศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2540 โดยพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2542 และในวันเดียวกันนั้น ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น รมว.ศึกษาธิการ และพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2544 โดยผู้ถูกกล่าวหาเริ่มก่อสร้างบ้านหลังดังกล่าวตั้งแต่เดือน ส.ค. 2541 โครงสร้างบ้านเสร็จในเดือนเม.ย. 2542 และมีการก่อสร้างตกแต่งภายใน – ภายนอกอาคารเสร็จสมบูรณ์ปลายปี 2542 ซึ่งถือได้ว่าบ้านหลังดังกล่าวมีมูลค่า 16 ล้านบาท ได้มาในระหว่างดำรงตำแหน่งรมว.ศึกษาธิการ เมื่อพิจารณารายได้และฐานะของผู้ถูกกล่าวหาตามบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ยื่นต่อป.ป.ช. กับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ที่ยื่นต่อกรมสรรพากร ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีรายได้เพียงพอที่จะมาก่อสร้างบ้านหลังดังกล่าว ถือว่าได้บ้านมาโดยร่ำรวยผิดปกติ จึงขอให้บ้านหลังดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน
นายสมศักดิ์ ผู้ถูกกล่าวหา ยื่นคำคัดค้านอ้างข้อกฎหมายว่า คำร้องเคลือบคุม อัยการสูงสุดผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง คดีขาดอายุความ และโต้เถียงข้อเท็จจริงว่า โครงสร้างบ้านหลังดังกล่าวเสร็จตั้งแต่เดือนเม.ย. 2542 ก่อนที่จะได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรมว.ศึกษาธิการ เงินที่ใช้เป็นเงินที่พรรคชาติไทยและผู้ที่เคารพนับถือให้การสนับสนุนในการลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ระหว่างปี 2529-2539 ซึ่งตนเองมีเงินส่วนนี้เหลืออยู่ประมาณ 56 ล้านบาท

ศาลเริ่มการไต่สวนเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2559 ซึ่งผู้ร้องและผู้ถูกกล่าวหามีพยานรวม 14 ปาก ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาเสร็จวันที่ 14 ก.ย. 2559
องค์คณะ ฯ พิจารณาพยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า การดำเนินคดีของศาลฎีกาฯ ใช้ระบบการไต่สวน ศาลมีหน้าที่ตรวจคำร้อง หากผู้ถูกกล่าวหาไม่เข้าใจข้อหาอาจแถลงให้ศาลสั่งผู้ร้องชี้แจงเพิ่มเติมได้ เมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้องนั้นไว้พิจารณาคดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องคำร้องเคลือบคุมให้ต้องวินิจฉัย ซึ่งคดีกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ใช่เป็นผลที่เกิดจากการก่อหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจึงไม่มีอายุความ
ส่วนประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงนั้น พยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาขัดแย้งกันเอง และขัดแย้งกับที่พยานเคยให้การต่อ ป.ป.ช. จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง และที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าได้บ้านมาก่อนการดำรงตำแหน่งรมว.ศึกษาธิการ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการก่อสร้างบ้านได้ทำต่อเนื่องจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อปลายปี 2542 นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหาได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.ปี 2539 และพ้นจากตำแหน่งรมว.ศึกษาธิการเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2544 ซึ่งความหมายคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” และคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ตามมาตรา 4 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 หมายรวมถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ดังนั้น ตั้งแต่ที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รับเลือกเป็นส.ส.ปี 2539 จนพ้นจากตำแหน่งรมว.ศึกษาธิการในวันที่ 5 ก.พ. 2544 ผู้ถูกกล่าวหาจึงมีสถานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้บ้านดังกล่าวมาในระหว่างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และไม่อาจนำสืบให้เห็นได้ว่าบ้านดังกล่าวได้มาโดยไม่ได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ จึงเป็นการได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมิชอบนั้น และยังขัดต่อความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ให้ศาลสั่งทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้
องค์คณะจึงมีมติเอกฉันท์พิพากษาให้บ้านพักเลขที่ 5/5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง มูลค่า 16 ล้านบาท ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 14360 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ เนื้อที่ 3 ไร่ 24.1 ตร.ว. ตกเป็นของแผ่นดิน

ขณะที่นายสมศักดิ์ อดีต รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งวันนี้เดินทางมาฟังคำพิพากษา กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลที่เป็นไปตามกติกาบ้านเมือง ซึ่งตนเป็นนักการเมืองต้องเคารพกติกา ส่วนคำวินิจฉัยของศาลผูกพันอนาคตทางการเมืองหรือไม่นั้น ก็ต้องเป็นไปตามกติกา ไม่มีปัญหาอะไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าที่จะมีคำพิพากษาในวันนี้ นายสมศักดิ์ ถูก ป.ป.ช. ตรวจสอบและชี้มูลความผิดว่า แจ้งบัญชีทรัพย์สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีไม่แจ้งรายการเงินฝากหลายรายการ และบ้านพักอาศัย มูลค่า 16 ล้านบาท ซึ่งในช่วงปี54 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 3 เดือน และริบทรัพย์บางส่วนตกเป็นของแผ่นดิน และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี หลังจากนั้น ป.ป.ช. มีมติไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมนายสมศักดิ์ กรณีร่ำรวยผิดปกติ เนื่องจากหาที่มาของบ้านมูลค่า 16 ล้านบาทไม่ได้ และมูลความผิด พร้อมส่งเรื่องให้ สนช. ดำเนินการถอดถอน และส่งอัยการสูงสุดยื่นฟ้องต่อศาลฎีกา ต่อมาที่ประชุม สนช. มีมติเสียงข้างมากไม่ถอดถอนนายสมศักดิ์ กระทั่งศาลฎีกาฯนักการเมือง มีคำพิพากาพิพากษาให้ยึดทรัพย์ ตกเป็นของแผ่นดินในวันนี้
ส่วนเรื่องการตัดสิทธิทางการเมือง ที่เมื่อปี 51 นายสมศักดิ์เคยโดนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีในฐานะกรรมการการบริหารพรรคชาติไทยพัฒนาใน109 คน ก่อนที่ จะมาโดนศาลฎีกาฯนักการเมืองตัดสิทธิอีกครั้ง เมื่อปี 54 นั้น นายสมศักดิ์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ศาลฎีกาฯนักการเมืองให้นับวันถูกตัดสิทธิ์ ทางการเมือง 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.ปี 2551 ทำให้กรณีตัดสิทธิ์การเมืองของตนเองจะไม่ได้รับผลกระทบไปมากกว่าเดิมและจะไปครบกำหนด 5 ปี ในวันที่ 1 ธ.ค. ปี 2556

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน