ปชป.ผวาขัดรธรน.-ส.ส.สุดเซ็งส่อชวดเป็นขรก.การเมือง

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. รายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)เปิดเผยว่า สำหรับการจัดสรรบุคคลเป็นข้าราชการการเมืองในตำแหน่งต่างๆ เพื่อช่วยงานรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ อาทิ เลขานุการรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ตามข้อบังคับของพรรคกำหนดให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร(กก.บห.)พรรคพิจารณาคัดเลือกก่อน จากนั้นจะนำผลดังกล่าวไปเข้าที่ประชุมร่วมระหว่าง ส.ส. กับกก.บห.ให้ความเห็นชอบและอนุมัติอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ได้มอบหมายให้รองหัวหน้าพรรคที่ดูแลแต่ละภาค รวบรวมและคัดแยกจากคนของพรรค 3 ส่วน คือ ส.ส. อดีตส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส.ที่สอบตกในการเลือกตั้ง ซึ่งกรณีของ ส.ส.และอดีตส.ส.นั้น ให้มีการจัดเรียงว่าแต่ละคนได้รับเลือกมาแล้วกี่สมัย แล้วให้ส่งข้อมูลดังกล่าวมาที่นายจุรินทร์ เพื่อนำเข้าที่ประชุมกก.บห.ใช้ประกอบการพิจารณาในการคัดเลือกบุคคลไปเป็นข้าราชการการเมือง ขณะเดียวกัน พรรคให้โควตาแก่รัฐมนตรีสามารถเสนอชื่อบุคคลได้ 1 ชื่อว่าจะให้บุคคลนั้นมาเป็นเลขานุการรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี หรือกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม จากการหารือเป็นภายในของคณะผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ พบปัญหาข้อกฎหมายว่า ถ้าให้ส.ส.มีตำแหน่งช่วยงานรัฐมนตรี อาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ หมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ มาตรา 184 ที่ห้ามส.ส.ดํารงตําแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ และห้ามรับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ และมาตรา 185 วงเล็บ 1 ที่ห้าม ส.ส.กระทําการใดๆที่มีลักษณะก้าวก่ายหรือแทรกแซง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการปฏิบัติราชการหรือการดําเนินงานของหน่วยงานของรัฐ จึงมีความเห็นร่วมกันว่าจะไม่ให้ผู้ที่มีเป็นส.ส.ไปดำรงข้าราชการการเมืองดังกล่าว เหลือเพียงอดีตส.ส.และอดีตผู้สมัครส.ส.ระบบเขตที่ได้รับโอกาสดังกล่าว

พรรคได้สอบถามสำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกาอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อขอความชัดเจนเรื่องข้อกฎหมายดังกล่าว และถ้าคณะกรรมกฤษฎีกาตอบกลับมาว่า ส.ส.ไปเป็นข้าราชการการเมืองไม่ได้ พรรคจะได้นำคำตอบนี้ไปชี้แจงทำความเข้าใจกับ ส.ส.ที่ต้องการไปทำหน้าที่ดังกล่าว คาดว่าพรรคจะเรียกประชุมการจัดวางตัวบุคคล ภายในสัปดาห์หน้า เพราะตอนนี้ยังรอคำตอบจากคณะกรรมกฤษฎีกา และนายจุรินทร์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ มีภารกิจนำคณะไปยังประเทศจีน ระหว่างวันที่ 31 ก.ค.-3 ส.ค.นี้ เพื่อร่วมประชุมรัฐมนตรีกลุ่มประเทศกรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป -RCEP)

รายงานข่าว ระบุว่า สำหรับผู้ที่จะทำหน้าที่รองโฆษกประจำสำนักนายกฯในโควตาพรรคประชาธิปัตย์นั้น ได้มอบหมายให้นายจุรินทร์เป็นผู้พิจารณา แต่นายจุรินทร์ยังไม่ได้เตรียมคนไว้ เพราะต้องให้มีการแต่งตั้งโฆษกประจำสำนักนายกฯเสร็จสิ้นก่อน พร้อมกับรอพรรคแกนนำรัฐบาลประสานงานว่าจะให้พรรคส่งชื่อคนเป็นรองโฆษกเมื่อไหร่ และจะให้ทำภารกิจใดบ้าง เพื่อที่พรรคจะได้ส่งคนไปทำหน้าที่ให้ตรงกับงาน
ทั้งนี้ มีชื่อของนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแคนดิเดดต แต่มีกระแสข่าวอีกด้านว่านายจุรินทร์อาจพิจารณาบุคคลอื่น เพราะเห็นว่านายปริญญ์เพิ่งมาเข้ามาทำงานการเมืองเต็มตัว และเป็นถึงรองหัวหน้าพรรค หากให้เป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกฯด้วย อาจดูไม่เหมาะสม ประกอบกับต้องการให้นายปริญญ์ช่วยงานพรรคมากกว่า

นายปริญญ์ กล่าวยอมรับว่า มีผู้ใหญ่หลายคนมาทาบทาม ส่วนตัวอยากทำงานให้พรรคมากกว่า แต่ขึ้นอยู่กับนายจุรินทร์ว่าจะพิจารณาตัดสินใจอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน