รายงานพิเศษ : กรณีคำถวายสัตย์ปัญหาใหญ่รัฐบาล

กรณีคำถวายสัตย์ปัญหาใหญ่รัฐบาล : เป็นประเด็นร้อนที่กำลังถกเถียงกันอยู่ตอนนี้ กรณี พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน

มีการตั้งข้อสังเกตว่าชอบด้วยกฎหมาย และมีความสมบูรณ์หรือไม่ และจะส่งผลต่อการทำงานของครม.ทั้งคณะด้วยหรือไม่

มีมุมมองจากนักวิชาการถึงทางออก ดังนี้

ยุทธพร อิสรชัย

คณะรัฐศาสตร์ มสธ.

คำถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นเรื่องสำคัญ ในรัฐธรรมนูญก็มีการบัญญัติเอาไว้ด้วยว่าคณะรัฐมนตรีจะมีความสมบูรณ์ในการเข้าปฏิบัติหน้าที่ต้องมีการถวายสัตย์ปฏิญาณและแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ฉะนั้นเรื่องนี้ถือว่าเป็นสาระสำคัญของกระบวนการที่จะนำมาซึ่งความสมบูรณ์ของการเป็นคณะรัฐมนตรี

นอกจากนี้แล้ว โดยหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ถือว่าส่วนนี้เป็นหลักของความรับผิดชอบของรัฐบาล ดังนั้น กระบวนการดังกล่าวนอกจากจะได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภาแล้ว ในขั้นตอนของการจะถวายสัตย์ปฏิญาณก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องเกิดขึ้นด้วยจึงถือเป็นความสมบูรณ์ที่จะสามารถทำงานได้

โดยหลักของกฎหมายมหาชนมีปรมาจารย์ด้านกฎหมายหลายคนเขียนเอาไว้ถึงกระบวนการการถวายสัตย์ปฏิญาณที่ต้องเป็นไปตามถ้อยคำที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ส่วนกระบวนการที่จะมีการกล่าวผิดหรือตกหล่นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเรื่องสาระสำคัญ ไม่ได้ตกหล่นลักษณะคำเชื่อม คำสมาส คำต่อกัน ถือเป็นการตกหล่นในสาระสำคัญ อาจส่งผลทำให้เกิดความไม่สมบูรณ์ของการเป็นรัฐมนตรีได้ และปรมาจารย์ด้านกฎหมายยังมองว่าอาจส่งผลให้นำไปสู่การวินิจฉัยหรือส่งเรื่องเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ

เรื่องนี้ก็มีการหยิบยกกันขึ้นมา ทั้ง นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ก็ไปหยิบยกถ้อยความในตำรากฎหมาย และแม้แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีก็เคยเขียนเอาไว้ ซึ่งสะท้อนภาพว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ อย่างยิ่ง

ในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีกับกรณีที่เกิดขึ้นในลักษณะดังกล่าวจึงไม่ได้เกิดประเด็นปัญหาอะไร มองว่ามีโอกาสสูงมากที่อาจมีคนนำเรื่องเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตีความ เพราะเรื่องทางการเมืองวันนี้เมื่อเป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้างไม่ว่าจะมีประเด็นอะไรที่เกิดขึ้นก็จะมีคนที่ มองออกไป 2 มุม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านในยุคปัจจุบันนี้ที่ไม่ได้เป็นฝ่ายค้านในรูปแบบเดิมๆ ฝ่ายค้านยุคนี้ได้ปรับตัวหลายอย่าง มีบุคคลซึ่งมีความรอบรู้ในเรื่องกฎหมาย มีความชำนาญในทางแนวคิดทฤษฎีวิชาการต่างๆ ดังนั้นมีโอกาสเห็นการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญได้

ส่วนการกล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบนั้นจะจงใจหรือไม่คงตีความยาก ซึ่งผู้เกี่ยวข้องเองก็ยังไม่มีใครออกมาให้ความชัดเจนเรื่องนี้ หรือแม้แต่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างนายวิษณุ จึงเป็นการยากที่เราจะไปรู้ว่าต้นสายปลายเหตุเป็นเพราะอะไร และคงยากที่จะบอกว่าเรื่องนี้มี นัยยะอะไร

ทางออกของเรื่องนี้มีโอกาสที่จะนำเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตีความและศาลรัฐธรรมนูญเองน่าจะเป็นผู้ช่วยหาทางออกเรื่องนี้ได้ดีที่สุด เนื่องจากในรัฐธรรมนูญได้บัญญัติเอาไว้ว่าในกรณีมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หรือแนวปฏิบัติต่างๆ ที่ต้องวินิจฉัยก็จะเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ

ฉะนั้นศาลรัฐธรรมนูญคือองค์กรสำคัญที่จะทำให้รัฐธรรมนูญเกิดความเป็นรูปธรรม รวมถึงกรณีดังกล่าวที่มีการกล่าวไม่ครบถ้อยคำ รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้กำหนดแนวปฏิบัติต้องทำอย่างไร หรือถ้ากล่าวไม่ครบจะมีปัญหาอย่างไร ดังนั้นผู้ที่ต้องวางรากฐานตรงนี้คือศาลรัฐธรรมนูญ

ฐิติพล ภักดีวานิช

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

การถวายสัตย์ปฏิญาณตนของคณะรัฐมนตรีถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่การพูดผิดหรือไม่ครบถ้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เหมือนกับพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งนายบารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีก็เคยกล่าวสาบานตนผิด จากนั้นก็มีพิธีสาบานตนใหม่

ดังนั้นหากมองว่า ครม.พล..ประยุทธ์ ถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน ก็อาจจะขอพระราชทานอภัยโทษเพื่อกล่าวคำถวายสัตย์ใหม่ให้ถูกต้อง ทั้งนี้ หากจะมองว่าขัดรัฐธรรมนูญตามที่ฝ่ายค้านกล่าวอ้างนั้นก็มองเช่นนั้นได้ แต่ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย หรือต้องหยิบยกมาเป็นประเด็นในทางการเมืองเพื่อหวังล้มรัฐบาล

การถวายสัตย์ของ พล..ประยุทธ์ ที่กล่าวผิดหรือไม่ครบถ้วนนั้น ไม่รู้ว่าเป็นการจงใจหรือไม่ แต่คิดว่าการปฏิวัติรัฐประหารถือเป็นสิ่งผิด เป็นเรื่องร้ายแรงมากกว่า ดังนั้นไม่อยากให้ฝ่ายค้านหยิบยกเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทางการเมือง หรือทำให้เป็นปัญหาระดับชาติ

แต่อยากให้ฝ่ายค้านโฟกัสหรือทุ่มเทไปที่การทำงานหรือการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเป็น ไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจว่าทำได้จริงหรือไม่ หรือปัญหาด้านความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ยังมีการใช้ อำนาจรัฐละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีก หรือไม่ สิทธิของประชาชนได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญหรือไม่มากกว่าจะไปสนใจในประเด็น ดังกล่าว

แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ถวายสัตย์ให้ครบถ้วน แต่บางครั้งการนำเอากฎหมายมาปฏิบัตินั้นในบางประเด็นก็ควรมีความยืดหยุ่น แต่หากฝ่ายค้านยังติดใจในประเด็นนี้ก็สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้

ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าการถวายสัตย์ ไม่ครบถ้วนจะมีผลไปถึงความ สมบูรณ์ของ ครม.หรือไม่ แต่อย่างที่บอกว่าทางออกของเรื่องนี้ คือการขอพระราชทานอภัยโทษและถวายสัตย์ใหม่ให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ

ธนพร ศรียากูล

นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่ง ม.เกษตรศาสตร์

กรณีการถวายสัตย์ ตัวข้อความเข้าใจว่าต้องมีการจัดทำที่เป็นแบบมาตรฐานคือต้องอ่านให้เป็นไปตามนั้น คือจะอ่านมากหรือน้อยไปกว่านั้นไม่ได้ เพราะเป็นข้อความที่เป็นแบบแผนและพิธีการ อันนี้คือหลักการทั่วไป หากบอกว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่มากไปก็ได้ น้อยไปก็ได้ แล้วจะต้องกำหนดแบบแผนหรือข้อความที่เป็นมาตรฐานเอาไว้ทำไม

ดังนั้น หากคิดว่าเรื่องแบบนี้สามารถจะกล่าวไม่ครบหรือกล่าวเกินก็ได้ก็ต้องนำไปสู่คำถามกลับว่าแล้วจะกำหนดมาตรฐานของข้อความเอาไว้ทำไม อย่าลืมว่าการถวายสัตย์เป็นพิธีการที่สำคัญ เป็นประเพณีทางการเมือง การปกครองของประเทศไทยซึ่งสืบทอดกันมายาวนาน ซึ่งมีระเบียบแบบแผน ขั้นตอนและความเหมาะสมตามประเพณีกำกับ

ถึงได้กำหนดข้อความมาให้เป็นข้อความมาตรฐาน ฉะนั้น การกำหนดข้อความที่เป็นมาตรฐานย่อมหมายความว่าทุกคนต้องกล่าวตามนี้ จะมากหรือน้อยกว่านี้ไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเนื่องจากการถวายสัตย์ปฏิญาณอาจไม่เป็นที่เผยแพร่มากเท่ากับปัจจุบัน ทางสังคมจึงอาจไม่ได้รับทราบว่ามีการกล่าวกันอย่างไร แต่ปัจจุบันสังคมได้รับรู้ รับทราบ เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นขึ้นมา

ส่วนการถวายสัตย์มีผลสมบูรณ์แล้วหรือไม่นั้น ส่วนตัวเห็นว่าการที่เราจะกำหนดแบบแผนอะไรสักอย่าง หมายความว่าสิ่งนั้นถือเป็นกฎเกณฑ์ อะไรก็ตามที่ปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ย่อมนำไปสู่ความไม่สมบูรณ์ของการปฏิบัติ กรณีเช่นนี้คิดว่าเราอยู่ในสังคมก็ต้องปฏิบัติตาม กฎเกณฑ์ เมื่อไม่ครบถ้วนย่อมแปลว่าสิ่งที่ปฏิบัติไปนั้นไม่มีผล

ส่วนจะส่งผลกระทบทางการเมืองเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของครม.หรือไม่นั้น คิดว่าข้อสังเกตที่มีการทักท้วงกันออกมาเป็นข้อสังเกตที่น่ารับฟัง เพราะเรื่องนี้เป็นแบบแผน มีความเป็นทางการและมีความศักดิ์สิทธิ์ จึงมีการกำหนดความเหมาะสม

การกำหนดข้อความหรือเนื้อหาต่างๆ เจตนาเพื่อให้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารประเทศต้องปฏิบัติตาม ในเมื่อสิ่งที่ได้ดำเนินการมาถูกทักท้วงว่าไม่เป็นไปตามรูปแบบที่วางไว้ก็ควรนำไปสู่ความกระจ่างแจ้งให้ได้ไม่ว่าตามกระบวนการใดก็ตาม

สำหรับทางออกของเรื่องนี้คิดว่าน่าจะมีช่องทางในทางกฎหมายอยู่ อาจ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยก่อนในบทบาทของกลไกทางการเมือง ที่มีอยู่ สามารถใช้สิทธิ์ตามช่องทาง นั้นได้

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

นักวิชาการอิสระ

ในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้วว่า นายกฯ ต้องพูดให้ครบ ถ้าเป็นนักกฎหมายการที่กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถือว่าไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และการถวายสัตย์ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้นำต้องพูดให้ครบ ซึ่งผู้นำต้องออกมาบอกว่าทำไมถึงพูดไม่ครบ เกิดข้อบกพร่อง ลืม หรือไม่สนใจ ทั้งที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ทั้งหมดซึ่งต้องอ่านให้หมด หรือมองว่ารัฐธรรมนูญไม่มีความหมาย

ดังนั้นนายกฯ ก็ต้องออกมารับผิดชอบแล้วบอกว่าทำไมไม่อ่านให้ครบ หากไม่ออกมาพูดอะไรเลยก็จะเป็นหอกทิ่มแทงตัวเองอยู่อย่างนั้น สังคมจะเคลือบแคลงสงสัยและจะกลายเป็นแผลที่สะเก็ดไม่ตกเสียที ดังนั้นสิ่งที่ต้องสำนึกคือต้องกราบบังคมทูลขออภัยโทษ

เรื่องนี้นักกฎหมายข้างตัวนายกฯ ก็ ไม่กล้าพูดอะไร ทั้งที่ผ่านมาเบี่ยงเบนได้ทุกเรื่องแต่เรื่องนี้กลับเบี่ยงเบนไม่ออก ทั้งที่เรื่องการถวายสัตย์ถือว่าสำคัญมาก นายกฯ ก็ต้องซ้อมแล้วซ้อมอีก มีเอกสารอยู่ในมือจะอ่านเร็วไปทำไม

และต้องออกมาพูดให้สังคมรับทราบ ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ถ้าคิดว่าปล่อยไปประชาชนอาจสนใจน้อยลง ระวังว่าจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ถ้าไม่หาทางหยุดตอนนี้คนก็จะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดตลอด ถึงขั้นฝ่ายค้านนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจก็จะยุ่ง

และอาจทำให้มองได้ว่าหากเป็นคนอื่นทำอาจถึงขั้นมีความผิดตามมาตรา 112 แต่กรณีนี้เพราะมีอำนาจหรือไม่

ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดกรณีเช่นนี้มาก่อน หรืออาจจะมีก็ได้เราไม่รู้เพราะไม่เคยมีการกล่าวหามาก่อน ดังนั้นครั้งนี้น่าเชื่อว่าเป็นครั้งแรกที่นายกฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ และครั้งนี้ก็ต้องขอบใจคนที่ทักท้วงคงเห็นว่าอ่านไม่ครบเพราะถือว่าผิดรัฐธรรมนูญ

ปัญหาที่เกิดขึ้นมีผลกระทบทางการเมืองแน่นอนเพราะถ้าฝ่ายค้านนำไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แล้วศาลพิจารณาว่าไม่ถูกต้องซึ่งจะทำให้การทำกิจกรรมต่างๆ ของครม. ที่ทำมาก็จะเป็นโมฆะ ดังนั้นรัฐบาลต้องหาทางออก

โดยมี 2 แบบคือลาออกซึ่งเขาคงไม่ทำ ถ้าจะให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นคือต้องลาออกเพราะความผิดอย่างนี้ทั่วโลก นายกฯจะใช้วิธีลาออก หรือจะไปกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษ แต่เราคงไปชี้นำการวินิจฉัยของศาลไม่ได้

ทางออกของเรื่องนี้เชื่อว่าเขากำลังชั่งน้ำหนักอยู่ว่าผิดกับไม่ผิดแล้วจะหาทางออกอย่างไร แต่อย่างไรก็ต้องขอพระราชทานอภัยโทษ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน