“วิปฝ่ายค้าน” งัดไม้เด็ด ยื่นอภิปราย “นายกฯ” ปิดทางหนีสภา ลั่นหากเพิกเฉยส่อขัดรธน.

วันที่ 15 ส.ค. ที่รัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่านค้าน กล่าวถึงการยื่นญัตติต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ว่า เมื่อวันที่ 14 ส.ค. มอบหมายให้นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรอนาคตใหม่ และนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ไปร่างญัตติและจะพิจารณาว่าจะใช้ชื่อญัตติอะไร โดยมีกรอบเวลาว่าวันนี้ (15 ส.ค.) จะต้องจบ และจะแถลงข่าวในวันเดียวกัน ซึ่งขอนัดหมายกับประธานสภาฯก่อน

ทั้งนี้ มีปัญหาที่เราเพิ่งพบคือข้อบังคับสภาฯ เดิมไม่ได้เขียนรองรับการอภิปรายมาตรา 152 แต่ข้อบังคับใหม่ที่กำลังพิจารณอยู่ขณะนี้มีการเขียนรองรับไว้ โดยเชื่อว่าจะพิจารณาเสร็จบ่ายวันนี้

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อนเมื่อถามว่าการยื่นญัตติตามมาตรา 152 เป็นมาตรการที่จะทำให้นายกฯ ไม่สามารถหนีการตอบคำถามของฝ่ายค้านหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า เราถือว่าเป็นมาตรการทำให้ทุกฝ่ายเร่งเรื่องนี้ให้จบ รวมมถึงศาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อเห็นปัญหาเกิดขึ้นก็จะได้เร่งรัดพิจารณาให้จบ และรัฐบาลจะได้เคลียร์สถานภาพให้ชัดเจน เพื่อที่จะสามารถเดินหน้าทำงานได้

ทั้งนี้ หากเราไม่มีมาตรา 152 ไม่มีการนำมาพูดคุยในสภาฯ นายกฯอาจหนีสภาฯไปเรื่อยๆ และไม่ตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง รวมถึงโยนให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งไม่รู้ว่าจะพิจารณาจบเมื่อไหร่ หากใช้ระยะเวลานานเปรียบเหมือนกว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ ยืนยันว่าเจตนาของเราคือหาทางออกให้รัฐบาล และเร่งรัดให้ทุกฝ่ายรีบจัดการปัญหานี้

เมื่อถามว่าจะเป็นการชี้นำองค์การอิสระหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า คงไม่ชี้นำ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งไม่ได้มีอำนาจชี้ขาด เพียงตรวจเบื้องต้นเหมือนเป็นไปรษณีย์ว่าจะส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้ กรอบหน้าที่ของสภาฯ สามารถทำหน้าที่ได้ ไม่ถือเป็นการก้าวก่าย ก้าวล่วง หรือชี้นำ

เช่นเดียวกับการอภิปรายคุณสมบัตินายกฯ แม้จะอยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถทำได้ ส่วนจะคุ้มหรือไม่กับการที่จะยื่นอภิปรายตาม มาตรา 152 ที่ยื่นได้ปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น มองว่าตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรละเลย มีการชั่งน้ำหนักวันนี้กับวันข้างหน้า การถวายสัตย์ฯ เป็นต้นทางการทำงานของรัฐบาล ถือเป็นเรื่องใหญ่ หากจะเสียโอกาสนี้ไปเพื่อมาใช้ในครั้งนี้มองว่าคุ้มค่า

“เชื่อว่านายกฯต้องมาชี้แจง หากไม่มาถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่และไม่ให้เกียรติสภา แถมยังไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และขัดมาตรฐานจริยธรรมของนักการเมือง” นายสุทิน กล่าว

เมื่อถามว่าการลงมติร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อที่ 13 ว่าด้วยการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการประสานงานร่วมสภาผู้แทนราษฎร วานนี้ (14 ส.ค.) ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมากแพ้โหวต เป็นครั้งที่ 2 นายสุทิน กล่าวว่า เป็นเพราะกรรมาธิการแสดงเหตุผลได้ดี และสามารถโน้มนาวใจส.ส.ให้เห็นสิ่งที่ชอบด้วยประชาธิปไตย และปฏิเสธสิ่งที่มาจากอำนาจนอกระบบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน