ชาวสวนยาง เตรียมเฮ! รัฐจ่ายประกันราคา ล็อตแรก 3 หมื่นล้านบาท ดีเดย์ 1 ต.ค.

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วันที่ 1 ต.ค. 2562 ชาวสวนยางกลุ่มแรกจะได้รับเงินชดเชยราคายาง ตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ในราคายางแผ่นดิบ 60 บาท/กิโลกรัม(กก.) จำนวน 25 ไร่/ครัวเรือน กำหนดให้มีการจ่ายชดเชยระยะเวลา 6 เดือน เบื้องต้นกำหนดงบประมาณไว้ที่ 3 หมื่นล้านบาท โดยจะใช้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายไปก่อน และจะขอรับการสนับสนุนจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อชดเชยต่อไป

ทั้งนี้ ระยะเวลาชดเชยราคายางแผ่นดิบ กำหนดไว้ 6 เดือนจ่ายเงินทุก 2 เดือน ระยะเวลาดำเนินดครงการ ต.ค.-ก.ย.2563 โครงการจะครอบคลุมชาวสวนยางในพื้นที่ขึ้นทะเบียนไว้ 13,326,540 ไร่ เกษตรกร 1,129,336 ราย โดยเงินชดเชยการประกันรายได้จะแปรผันไปตามราคายางพาราที่เคลื่อนไหวตลอดระยะดำเนินโครงการ ตามสูตร เงินชดเชยประกันรายได้ในแต่ละครั้ง เท่ากับราคาประกันรายได้ หักราคาอ้างอิง และปริมาณการขายผลผลิตยางพาราตามเนื้อยางที่กรีด 240 กก./ไร่/ปี โดยกำหนดการประกันราคายางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กก. ประกันรายได้ราคาน้ำยางสด 57 บาท/กก.และประกันรายได้ราคายางก้อนถ้วย 50 บาท/กก.

การช่วยเหลือด้านราคาให้ชาวสวนยางพารา เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการแต่ต้องรอบคอบ เพื่ออุดช่องโหว่ทางกฏหมายที่อาจทำให้เกิดการทุจริต รัฐบาลจึงต้องดำเนินการให้รอบคอบ โดยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 4 คณะ เพื่อมาดำเนินการพิจารณาในแต่ละมิติ ดังนี้คือ 1.คณะกรรมการบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง 2.คณะทำงานกำหนดราคากลางอ้างอิง 3.คณะกรรมการบริหารโครงการฯระดับจังหวัด และ 4.คณะทำงานโครงการระดับตำบล

“การรับประกันราคาเบื้องต้นมีการดำเนินการเอกสารสิทธ์ก่อน เพราะกลุ่มนี้จะไม่มีปัญหาในการช่วยเหลือ เพราะมีทะเบียนที่ชัดเจน และเป็นพื้นที่ที่ครอบครองถูกต้องตามกฏหมาย ส่วนไม่มีเอกสารสิทธิ์ ต้องหามาตรการอื่นมารองรับ โดยจะหารือกับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะยางพาราเป็นผลผลิตที่ไทยผลิตเพื่อส่งออก และคนซื้อเป้นคนกำหนดเงื่อนไข หากมีการสนับสนุนให้เข้าโครงการประกันรายได้ น่าจะมีปัญหากับประเทศคู่ค้า ที่อาจถูกยกเงื่อนไขนี้ มากีดกันด้านการค้ากับยางพาราไทย”

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในการชดเชยรายได้ชาวสวนจะมีเงินเพิ่มขึ้นจำนวนมาก สมมติว่า ชาวสวนมีสวยยางพาราจำนวน 25 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่สุงสุดที่จะเข้าร่วมโครงการได้ จากการประเมินเบื้องต้นชาวสวนยางจะมีรายได้จากเงินชดเชยประมาณ 6 หมื่นบาท หากราคายางพาราอยู่ที่ 40 บาท/กก. ราคาประกัน 60 บาท/กก.รัฐบาลมีการชดเชยประมาณ 20 บาท/กก. รัฐบาลจะใช้เงินทั้งหมด 3.32 หมื่นล้านบาท

แต่ในความเป็นจริงเกษตรกรไทยมีการผลิตยางพาราแตกต่างกันหากคิดราคาเฉลี่ย ณ เดือนส.ค.2562 แบ่งเป็น ยางแผ่นดิบ 28.515 ล้านกก.หรือสัดส่วน 10.68% ของผลผลิตทั้งหมด ราคาจะอยู่ที่ 39.92 บาท/กก.รัฐบาลต้องชดเชย 20.08 บาท/กก.หรือใช้เงิน 572.59 ล้านบาท น้ำยางสดมีปริมาณ 88.323 ล้านกก. สัดส่วน 33.08%ของผลผลิตทั้งหมด ราคาประกัน 57 บาท/กก.ราคาชดเชย 17.60 บาท/กก.ใช้งบประมาณ 1,554.49 ล้านบาท ยางก้อนถ้วย ปริมาณ 149.466 ล้านกก.สัดส่วน 55.98% ของผลผลิตทั้งหมด ราคาประกัน 50 บาท ราคาเฉลี่ 33.10 บาท/กก.ราคาชดเชย 16.90 บาท/กก.ใช้งบประมาณ 2,525.98 ล้านบาท หรืองบประมาณรวม 2.895 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ภายหลังการหารือแนวทางการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง เบื้องต้นได้ข้อสรุปในเรื่องของรายละเอียดโครงการประกันรายได้ของชาวสวนยางเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอในส่วนของขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเชิญผู้ประกอบการ พ่อค้าคนกลาง และตัวแทนชาวสาวนยาง เข้ามาพุดคุยพร้อมสร้างความเข้าใจร่วมกัน จึงจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน