นศ.มช.จัดวง พูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง ในปัจจุบัน “จาตุรนต์” วิเคราะห์ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ พาไทย หมุนเวลาย้อนหลังไปกว่า “40 ปี”

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการจัดวงพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน และการมองการเมืองไทยต่อไปในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นวิทยากรร่วมพูดคุยในประเด็นต่างๆ

นายจาตุรนต์ ได้กล่าวถึงเสรีภาพทางการเมืองในมหาวิทยาลัยว่า การจัดงานเกี่ยวกับการพูดคุยประเด็นสำคัญๆทางสังคม ควรมีการเปิดพื้นที่ที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดบรรยากาศประชาธิปไตย การแลกเปลี่ยนทัศนคติทางสังคม และมองว่าพื้นที่ในมหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย เปิดกว้าง ส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการให้เกิดขึ้นกับปัญญาชน

โดยนายจาตรุนต์ กล่าวถึงสถาณการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันว่า หากมองการเมืองไทยในช่วงนี้ คงมองว่าการเมืองหลัง คสช. ถึงแม้คสช.จะถูกยกเลิกไป แต่ทุกคนยังรู้สึกว่ายังอยู่และยังมีอำนาจเต็มที่ ซึ่งการกระทำเช่นนี้สร้างความเสียหายในหลายๆด้านให้กับประเทศไทย เช่น ไม่มีการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะการตอบคำถามกับสื่อทั่วโลกในกรณีเหตุระเบิดในพื้นที่ราชการสำคัญในประเทศช่วงที่ผ่านมา หรือการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ซึ่งนโยบายเกือบทั้งหมดไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

การวางแผนของรัฐบาลอย่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นอีกหนึ่งกับดักที่ทำให้การพัฒนาต่างๆ ถูกวางกรอบของคสช. การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับผู้มีรายได้น้อยเป็นการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจแบบปลายเหตุ การดูแลราคาพืชผลทางการเกษตรที่ไม่มีแนวทางที่ชัดเจนทำให้ประชาชนเดือดร้อนแต่ไม่ได้รับการเยียวยาและไม่มีความรับผิดชอบจากรัฐบาล

ทั้งนี้ นายจาตรุนต์ ได้กล่าวสนับสนุน พรรคฝ่ายค้านที่มีการเปิดประเด็นนี้ขึ้นมาเนื่องจากประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นมาได้ต้องอาศัยหลักการอย่างรัฐธรรมนูญในการรองรับ แต่ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมือนหมุนย้อนการเมืองไทย กลับไปในปี 2521 (หรือกว่า 40 ปีที่แล้ว) หากให้มองถึงสาเหตุในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วมีสองสาเหตุคือ กลุ่มชนชั้นนำขัดแย้งกันเองแล้วเกิดการฉีกรธน. หรือประชาชนเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่ต้องเชื่อมโยงสาเหตุให้ประชาชนรู้สึกร่วมกัน


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน