“วิษณุ”เผยพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 6 เม.ย. จัดพิธีใหญ่เต็มรูปแบบโบราณราชประเพณีเป็นพระราชพิธีครั้งประวัติศาสตร์ นัดถกปลัดกระทรวงบ่ายวันนี้ ติวเข้มข้อปฏิบัติหลังรธน.ใหม่บังคับใช้ กรธ.เร่งส่งกฎหมายลูกกกต.-พรรคการเมืองให้สนช. 18 เม.ย. “มีชัย”แย้มอีก 16 เดือนเลือกตั้ง คาดหย่อนบัตรปลายส.ค.61 “บิ๊กตู่”ยืนยันไทม์ไลน์ไม่เปลี่ยน ไม่โกรธสปท.ไขก๊อกรอลงสมัครชิงส.ส. “นิกร-วิทยา” ยันออกแน่ “บิ๊กป้อม”ยังไม่ปลดล็อกพรรค การเมือง หัวหน้าคสช.งัดม.44 เด้ง 6 ผู้ว่าฯ เข้ากรุผู้ตรวจสำนักนายกฯ ตั้งแทนทันที 4 ราย ครม.อนุมัติงบฯ 2 พันล้าน ซื้อรถถังจีน 10 คัน

เร่งกม.ลูก-กรธ.เริ่มส่งสนช.18เม.ย.

วันที่ 4 เม.ย. ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ในวันที่ 6 เม.ย. ว่า ยังไม่ทราบว่าเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่ปรับแก้ไขครั้งล่าสุดมีส่วนใดบ้าง เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วขอเวลา 2-3 วัน จึงจะบอกได้ สำหรับการจัดทำพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับสำคัญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง กรธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค การเมือง เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยจะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาวันที่ 18 เม.ย. ตามที่สนช.ร้องขอ เมื่อกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับประกาศใช้ เป็นหน้าที่ของพรรค การเมืองที่ต้องดำเนินการเตรียมตัว ปรับปรุงข้อบังคับ เกณฑ์การหาสมาชิก การจ่ายเงิน เดิมกรธ.กำหนดไว้ให้เร็ว แต่พรรคการเมืองบอกน้อยไปจึงขยายให้เป็น 180 วัน

นายมีชัยกล่าวว่า สำหรับกกต. กรรมการสรรหาต้องสรรหากกต.เพิ่ม 2 คน ให้ครบ 7 คน ไม่นับคนที่กรรมการสรรหาอาจชี้ ขัดคุณสมบัติอีก ระหว่างนั้นกกต.ที่เหลืออยู่ ก็พิจารณาปรับกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับกฎหมายลูกไปพลาง แต่หากกรรมการสรรหาชี้ว่ากกต.เหลือไม่ถึง 4 คน กกต.ก็ทำอะไร ไม่ได้ ต้องรอการสรรหาให้ครบก่อน ดังนั้นการส่งร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ว. ให้สนช.พิจารณาจึงขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวของพรรค การเมืองและกกต. หากต้องใช้เวลาเตรียมตัว กรธ.จะพิจารณากฎหมายลูกอีก 6 ฉบับ ที่ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไปพลาง ส่วนนี้มีกำหนดส่งให้สนช.เดือนละฉบับเริ่ม พ.ค.

แจงโรดแม็ปอีก 16 เดือนเลือกตั้ง

ประธานกรธ.กล่าวว่า ถ้าจะนับกรอบระยะเวลาการเลือกตั้งนับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้คือ กรธ.พิจารณากฎหมายลูก 8 เดือน สนช.พิจารณามากสุด 3 เดือน กรณีมีความเห็นต่างต้องตั้งกมธ.ร่วม และเมื่อกฎหมายลูกสำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับแล้วเสร็จ อีก 5 เดือนจึงมีการเลือกตั้ง หากสนช. ตีตกกฎหมายลูก กรธ.จะเป็นคนร่างใหม่ แต่เท่าที่คุยกับสนช.เชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไร

เมื่อถามถึงการทำหน้าที่ของรัฐบาลคสช.ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เกี่ยวกับการปฏิรูป และคำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่ห้ามพรรคการเมือง ทำกิจกรรม นายมีชัยกล่าวว่า ตราบใดที่กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองยังไม่ประกาศใช้ พรรคการเมืองยังจัดกิจกรรมไม่ได้ คำสั่งคสช.ยังมีผลอยู่

คาดเลือกตั้งส.ค.2561

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้วันที่ 6 เม.ย. โรดแม็ปสู่การเลือกตั้งต้องเป็นตามบทเฉพาะกาล มาตรา 267 ประกอบมาตรา 268 ที่กำหนดให้กรธ.ต้องจัดทำพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับสำคัญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยการทำงานของ กรธ.แบ่งเป็น 2 ขยัก ขยักแรกส่งพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง และพ.ร.บ.กกต. ให้สนช.วันที่ 18 เม.ย.นี้ สนช.ใช้เวลาพิจารณาภายใน 60 วัน แต่หากกรธ.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่าสนช.ปรับแก้ ไม่สอดคล้องเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ให้แสดงความเห็นแย้งภายใน 10 วัน แล้วตั้งกมธ.ร่วมหายุติใน 15 วัน เพื่อให้ที่ประชุมสนช.พิจารณาอีกครั้ง

เมื่อกฎหมายลูก 2 ฉบับผ่านการพิจารณาจากสนช.จนบังคับใช้ ซึ่งตามกรอบที่นาย มีชัย ชี้แจง พรรคการเมืองต้องเตรียมตัวปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ให้พร้อมภายใน 180 วัน ตามที่พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนด จากนั้นกรธ.จะส่งขยัก 2 คือ พ.ร.บ. เลือกตั้ง ส.ส. และพ.ร.บ.การได้มาซึ่งส.ว. ให้สนช.พิจารณา ซึ่งระยะเวลาการพิจารณาจะเป็นเช่นเดียวกับ 2 ฉบับแรก คือไม่เกินอีก 85 วัน เมื่อพ.ร.บ. 4 ฉบับสำคัญประกาศ ใช้แล้ว ต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 150 วัน รวมระยะเวลานับถอยหลังก่อนมีการเลือกตั้งทั้งสิ้น 500 วัน หรือ 16 เดือนกว่า นับจากวันที่ 6 เม.ย. จะมีการเลือกตั้งราวปลายเดือนส.ค.2561

ชี้โอกาสยืด-ร่นวันเลือกตั้ง

ทั้งนี้ การเลือกตั้งตามบทเฉพาะกาลสามารถเกิดขึ้นได้เร็วกว่าแนวทางที่กรธ.กำหนดไว้ที่ 500 วัน หากกรธ.ส่ง 4 ร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญต่อการเลือกตั้ง ให้สนช.พิจารณาพร้อมกันทันที นับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ จากนั้นสนช.จะพิจารณาอีกไม่เกิน 85 วัน ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในก.ค.นี้ การเลือกตั้งก็สามารถเกิดขึ้นได้ ระหว่างเดือน ส.ค.-ธ.ค.2560 เนื่องจากรัฐธรร มนูญระบุว่า เมื่อ 4 กฎหมายลูกสำคัญต่อการเลือกตั้งแล้วเสร็จ ให้กำหนดวันเลือกตั้งภายใน 150 วัน อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งอาจยืดออกไปจนถึงปี 2562 ได้หากการพิจารณา พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ 1 ใน 4 ฉบับ สำคัญเกิดปัญหา ภายหลังตั้งกมธ.ร่วมในชั้นสนช.แล้ว แต่ถูกสนช.คว่ำโดยใช้มติ 2 ใน 3 ลงมติไม่เห็นชอบ ตามมาตรา 267 กระบวนการจัดทำพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญก็ต้องวนไปเริ่มใหม่ที่กรธ.

วิษณุติวปลัดกระทรวง-รับรธน.ใหม่

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโรดแม็ปต่างๆ ภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ว่า รัฐบาลจะค่อยๆ แถลงออกมา โดยวันที่ 5 เม.ย. ช่วงบ่ายจะเรียกปลัดทุกกระทรวงมาหารือวิธีการปฏิบัติที่ทำเนียบ เพราะจะมีวิธีการที่แตกต่างไปจากการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ เช่น การเสนอกฎหมายต้องมีวิธีการอะไรเพิ่มขึ้น มีข้อระมัดระวังในการปฏิบัติราชการที่มากขึ้น คณะรัฐมนตรีจะมีวิธีการทำงานที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องเร่งเสนอร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ และร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ คิดว่าจะเสนอ สนช. ได้ทันทีหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เพราะจำเป็นต้องออกกฎหมายดังกล่าวภายใน 120 วัน กรธ. จะต้องเร่งทำพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับภายใน 240 วัน เข้าใจว่าเสร็จไปแล้ว 2 ฉบับ จะได้รีบส่งสนช. ต่อไป ทั้งหมดจะเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งเสร็จก่อน 240 วัน สามารถเดินหน้ากระบวนการเลือกตั้งได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้คาดการณ์วันเลือกตั้งหรือไม่ว่าประมาณช่วงไหนของปี 2561 นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่คาด ถ้าไปอ่านดูตารางเวลาจะรู้ได้เอง แต่ก็ยังไม่ใช่ข้อยุติเพราะกรอบเวลาการทำกฎหมายลูก 240 วัน หากทำเสร็จเร็วการเลือกตั้งจะมาเร็ว ส่วนที่มี สมาชิกสนช. และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เตรียมลาออกเพื่อลงเลือกตั้งนั้น ถ้าเขาคิดจะลงเลือกตั้งต้องเตรียมการเช่นนั้น และต้องออกจากตำแหน่งภายใน 90 วันหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้

ไม่คาดการณ์วันเลือกตั้ง

ถามว่ามีการคาดการณ์ว่าอาจมีการเลือกตั้งประมาณเดือนก.ย.-พ.ย.2561 นายวิษณุกล่าวว่า ไม่คาดการณ์ และบอกไปแล้วว่ายังมีอะไรที่ต้องทำจากนี้ เปิดรัฐธรรมนูญดูจะเห็นชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง ไม่ขอตอบเพราะถ้าพูดออกไปจะถูกนำไปคาดหมายบางอย่าง ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามกรอบเดิม หากทำผิดโรดแม็ปก็ถือว่าผิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนี้นายกฯเคยพูดไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่าไม่คาดการณ์ ต้องการให้ยืดหยุ่นหากเกิดเหตุอะไรขึ้นในอนาคตใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า “ถ้าผมพูดว่ามีอะไรที่ยืดหยุ่น สุดท้ายจะไม่เป็นอย่างนั้น” เมื่อถามว่าหากสนช.ไม่ผ่านกฎหมายลูกบางฉบับจะส่งกระทบต่อกรอบเวลาโรดแม็ปที่วางไว้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ว่าสนช.จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็มีกระบวนการที่ล็อกไว้ให้ทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดเวลาอยู่แล้ว หากสนช.ไม่ผ่านกฎหมายหรือพิจารณาไม่ทันในกรอบเวลาที่กำหนด สามารถนำร่างเดิมของ กรธ.มาใช้ได้ และไม่อยากพูดว่าสนช.จะตีตกหรือไม่ เพราะจะเป็นการชี้นำล่วงหน้าทั้งที่พูดไปตามหลัก

พระราชพิธีครั้งประวัติศาสตร์

นายวิษณุให้สัมภาษณ์ถึงพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในวันที่ 6 เม.ย. ว่า ถ้าจะให้พูดว่าพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นครั้งประวัติศาสตร์ก็พูดได้ แต่ถ้า จะให้ไปเปรียบเทียบว่ายิ่งใหญ่เหมือนรัฐธรรมนูญ 2475 ไม่เห็นประโยชน์ว่าจะไปพูดทำไม แต่ความที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านประชามติ และที่สำคัญมีบทบัญญัติที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหลายมาตรา เป็น การวางระบบใหม่หลายอย่าง อีกทั้งอยู่ในความคาดหมายของประชาชน

นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับการจัดพระราชพิธีครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดหรือใหม่แต่อย่างไร เพราะในอดีตเมื่อโอกาสอำนวยและมีเหตุที่สมควรก็จะมีการจัดเป็นพระราชพิธี อย่างกรณี 10 ธันวา 2475 หรือในปี 2488 เมื่อรัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัตพระนคร ช่วงนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ออกมาพอดี ก็จัดเป็นพระราชพิธี แม้แต่ในสมัยรัชกาลที่ 9 เรามีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แต่เมื่อปี 2511 ก็เคยมีการจัดพระราชพิธีเช่นนี้ เลยเป็นที่มาว่า ครั้งนี้จึงจัดเป็นพระราชพิธีใหญ่ เต็มรูปแบบตามโบราณประเพณี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เช่นนั้น ครั้งนี้ลักษณะคล้ายปี 2511 โดยเฉพาะการยิงสลุตปืนใหญ่ 21 นัด พระสงฆ์ย่ำฆ้อง กลอง ระฆัง ก็เหมือนที่เคย จัดในอดีต

เสด็จออกมหาสมาคม

“ก่อนหน้านี้ในรัฐธรรมนูญบางฉบับ ไม่จัดในลักษณะเช่นนี้ เนื่องจากด้วยเหตุบางประการ เช่น เกี่ยวกับพระสุขภาพบ้าง จึงมีการจัดลักษณะคล้ายๆ แต่ลำลอง มีโอกาสเข้าไปร่วมในพระราชพิธีอย่างนี้บ้าง จัดที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มีการเสด็จออก มีสักขีพยาน มีผู้เข้าเฝ้าฯ มากหน้าหลายตา แต่ไม่ถึงขนาดเป็นมหาสมาคมที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 เม.ย.นี้ ซึ่งจะจัดเป็นมหาสมาคม” นายวิษณุ กล่าวและว่า มีการเชิญทูตานุทูตและกงสุลทุกประเทศ เชิญครม. เชิญสภา ฝ่ายตุลาการ ประธานองค์กรอิสระต่างๆ และแม้คราวก่อนๆ จะมีการพระราชทานที่พระตำหนักจิตรลดาฯ แต่ก็มีการตั้งเครื่องราชูปโภค คือเครื่องพระประกอบยศพระเจ้าแผ่นดิน และประทับพระราชอาสน์ แต่ฉลองพระองค์ชุดสากล ซึ่งครั้งนี้จัดตามแบบ ปี 2511 จึงเต็มยศไว้ทุกข์

เมื่อถามว่าครั้งนี้เรียกว่าเป็นครั้งประวัติ ศาสตร์ได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็ต้องตอบว่าเป็นครั้งประวัติศาสตร์ แต่ไม่ถึงไปเปรียบเทียบกับฉบับที่ผ่านๆ มา ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะจัดขึ้นในวังทั้งหมด รวมทั้งการลงพระราชลัญจกร

อำนาจมาตรา 44 ยังคงอยู่

นายวิษณุกล่าวว่า ในส่วนของคำสั่งมาตรา 44 นั้น แม้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะเกณฑ์การใช้มาตรา 44 มีอยู่เดิมก็ยังคงอยู่ คำสั่งตามมาตรา 44 มีผลบังคับใช้แล้วก็มีต่อไป และคำสั่งที่จะออกใหม่สามารถออกได้ ถ้าเข้าตามเกณฑ์ของมาตรา 44 เพราะรัฐธรรมนูญมีบทเฉพาะกาลเขียนไว้ว่า คำสั่งของคสช.ที่มีอยู่ ยังคงมีอยู่ต่อไป ส่วนการทบทวนนั้นจะทยอยดำเนินการ

เสียงเร่งเร้าให้ใช้มาตรา 44 เพื่อสร้าง สรรค์ยังมีอยู่หลายเรื่อง ต้องแก้เสร็จเสียก่อน ที่จะมีการเลือกตั้ง

หมายกำหนดการ 6 เม.ย.

สำหรับหมายกําหนดการพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ วันที่ 6 เม.ย. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดําเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน ไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ในเวลา 15.00 น. เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงยืนหน้าพระราชอาสน์ หน้าพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร แวดล้อมด้วยเครื่องประกอบ พระราชอิสริยยศ มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านเปิดพระวิสูตร ชาวพนักงาน ประโคมกระทั่งแตร มโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะทูต สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานองค์กรอิสระ ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ตามตําแหน่งเป็นมหาสมาคม

เมื่อสุดเสียงประโคมแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เชิญรัฐธรรมนูญ ทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว พระราชทานแก่นายกรัฐมนตรี เจ้าพนักงานอาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประทับพระราช ลัญจกรแล้วเชิญไปประดิษฐานบนพานทองที่เสาบัวหน้ามหาสมาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ อ่านกระแสพระราช ปรารภ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จบแล้ว ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ยิงปืนใหญ่ฝ่ายละ 21 นัด และวัด ทั่วราชอาณาจักรย่ำระฆังและกลอง

ครั้นสุดเสียงปืนใหญ่ มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านปิดพระวิสูตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่งแตร มโหระทึก วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดําเนินกลับ

การแต่งกาย แต่งเครื่องแบบเต็มยศ ไว้ทุกข์ สายสะพายนพรัตนราชวราภรณ์ หรือสายสะพายสูงสุด

พศ.ให้วัดทั่วประเทศย่ำกลอง-ระฆัง

วันเดียวกัน พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เผยว่า ตามที่สำนักพระราชวังได้เผยแพร่หมายกำหนดพระราชพิธีีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่ง ในวันที่ 6 เม.ย.นั้น สำนักพุทธฯ โดยสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ทำหนังสือด่วนที่สุด แจ้งยังเจ้าคณะจังหวัดทั่วประเทศจัดพิธีสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถาถวายพระพรและย่ำกลอง ระฆัง ตามหมายกำหนดการของสำนักพระราชวัง สำนักพุทธฯ ขอให้ทุกวัดทั่วประเทศติดตามพระราชพิธีจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ซึ่งเมื่อกองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อ่านกระแสพระราชปรารภประกาศใช้รัฐธรรมนูญจบแล้ว ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ยิงปืนใหญ่ฝ่ายละ 21 นัด และวัดทั่วราชอาณาจักรย่ำกลอง ระฆัง เจริญชัยมงคลคาถาตามหมายกำหนดการของสำนักพระราชวังต่อไป

“บิ๊กตู่”ยันโรดแม็ปคงเดิม

เมื่อเวลา 14.10 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมครม. ถึงขั้นตอนหมายกำหนด การพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ว่า เรื่องดังกล่าวตนทราบตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา เพราะต้องเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการว่าจะพระราช ทานรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 เม.ย. ในเวลา 15.00 น. ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในส่วนของรัฐบาลต้องเตรียมการสำหรับผู้เข้าร่วมในพระราชพิธี ซึ่งเตรียมการไว้ตามกำหนด การทั้งหมดแล้ว

“ซึ่งเป็นการเริ่มนับ 1 ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายกล่าวไว้ว่าเราจะนับ 1 ภายหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แล้วทุกอย่างก็ยังเป็นไปตามโรดแม็ปอยู่ ในส่วนของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็เป็นไปตามไทม์ไลน์เดิม ซึ่งมีระยะเวลา 240 วัน หรือ 8 เดือน ทุกอย่างมีระบุไว้แล้วทั้งหมด ยืนยันว่าทั้งหมดอยู่ในไทม์ไลน์ซึ่งมีขั้นตอนอยู่แล้ว ส่วนจะช้าหรือเร็วก็อยู่ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนหรือลดขั้นตอนตรงไหนออกไปเลย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ไม่โกรธสปท.ลาออกลงเลือกตั้ง

เมื่อถามว่ามีความเห็นอย่างไรที่สมาชิก สปท. และสนช. ลาออกเพื่อเตรียมตัวในการเลือกตั้งที่จะมีถึง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า แล้วจะให้ตนทำอย่างไร ถ้าจะลาออกก็ลาออกไป อยากจะออกไปช่วยเหลือบ้านเมืองโดยการลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ก็เชิญไม่เป็นอะไร ตนไม่ได้โกรธเคืองอะไร ในส่วนที่เป็นรัฐบาลหรือครม. สนช. สปท. ถ้าจะไปลงสมัครรับเลือกตั้งก็ต้องลาออกภายใน 90 วัน หลังรัฐธรรมนูญมีผลประกาศใช้ และนับไป 90 วัน มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่าเสียงปี่กลองการเลือกตั้งดังขึ้นรัฐบาลจะกำกับดูแลพรรคการเมืองที่จะมีการเคลื่อนไหวอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอร้องอย่าไปมองว่าเป็นการควบคุม ทุกคนต้องควบคุมตัวเอง อย่าสร้างความวุ่นวาย สร้างความเดือดร้อน อย่าทำให้ประชาชนเกิดความสับสนก็เท่านั้นเอง ยังยืนยันเจตนารมณ์ของตนเช่นเดิมในส่วนของการผ่อนปรนกฎหมายต่างๆ และคำสั่งคสช.ที่เกี่ยวข้องกับพรรค การเมืองนั้นฝ่ายความมั่นคงจะเป็นผู้พิจารณา

ลุยปรับแก้กม.ลูก-กฎกระทรวง

นายกฯ กล่าวว่า สำหรับการเผยแพร่รัฐธรรมนูญต่อประชาชนมีการเผยแพร่ไปแล้วในช่วงการทำประชามติ 16 ล้านเสียง และหลังจากวันที่ 6 เม.ย.ก็สามารถมาอ่านได้อีกครั้ง ทราบว่าหลายคนยังไม่ได้อ่านก็ควรต้องอ่านจะได้รู้ว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร เขาเขียนไว้กว้างๆ อย่างไร กฎหมายลูกก็ไปตามดูว่ามีการเขียนเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติอย่างไร มีหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง รวมถึง กฎกระทรวงต่างๆ ซึ่งต้องปรับทั้งหมดให้ ทั้งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น

เมื่อถามว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง ส.ส. พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา เป็นขั้นตอนหนึ่งของการไปสู่ความเป็นประชา ธิปไตย อยู่ในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ทั้งหมด เพียงแต่เราต้องรักษาความสงบเรียบร้อยวันนี้ให้ได้จนถึงวันที่จะมีการเลือกตั้ง

ครม.อนุมัติ 2 พันล้านซื้อรถถัง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวกรณีครม.เห็นชอบตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เสนอโครงการจัดซื้อรถถัง VT-4 จากจีน ระยะ 2 จำนวน 10 คัน วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท ว่า ต้องดูว่า มีความจำเป็นหรือไม่ หากจำเป็นก็ต้องมีกระบวนการจัดซื้อ เมื่อซื้อก็ต้องอยู่ในแผนการพัฒนากองทัพในช่วง 10-20 ปี เพราะรถถังหนึ่งคันใช้งานได้ไม่ต่ำกว่า 20-30 ปี ที่ผ่านมารถถังรุ่นเก่าหลายคันปลดประจำการไปหลายสิบปีแล้ว จึงต้องจัดหาเพื่อทดแทนโดยดูว่าต้องเปลี่ยนกี่กองพัน หลักการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยนั้นนำต้นแบบมาจากสหรัฐอเมริกา ทั้งโครงสร้างการศึกษาและการกำหนดหน่วย มีการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์เทียบกับทหาร 1 ต่อ 3 มีรถถังหนึ่งกองพันต่อหนึ่งกรม แล้วต้องมาดูว่าเราจะซื้อจากใครแล้วยังมีเงินหรือไม่ หากซื้อจากประเทศตะวันตกในราคา 3 เท่า ส่วนประเทศตะวันออกราคาเท่าเดียว แล้วเราจะซื้อใคร ขีดความสามารถในอาวุธต้องเป็นที่ยอมรับ จะดีหรือไม่ดีก็มีคณะกรรมการรับผิดชอบอยู่แล้ว”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือว่า หากมีความจำเป็นก็ต้องจัดหา โดยคุณภาพต้องเป็นไปตามความเหมาะสม

พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ แจ้งให้ครม.ทราบหลัง กรณีรัฐธรรมนูญนายกฯจะชี้แจงต่อประชาชนด้วยตัวเองผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันที่ 6 เม.ย. หลังเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า ครม.รับทราบการจัดซื้อรถถังว่า จัดซื้อดังกล่าวเป็นระยะที่สองจำนวน 10 คันเหลืออีก 11 คัน ซื้อมาแทนรถเอ็ม 41 ที่ใช้มาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีอายุการใช้งานเกือบ 100 ปี เมื่อถามกรณีที่เอกอัครราชทูตรัสเซียเข้าเยี่ยมคารวะมีการหารือเรื่องที่เกี่ยวกับยุทโธปกรณ์ด้วยหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มีอะไร เป็นการเยี่ยมเยียนเท่านั้น

พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงการปลดล็อกมาตรการต่างๆ หลังจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วว่า ยังไม่มี รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว ต้องว่าไปตามขั้นตอนไป อะไรที่ยังไม่เรียบร้อยก็รอไว้ก่อน ยังมีเวลาอีกปีกว่าๆ ยังอีกนาน เมื่อถามว่าหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว จะปลดล็อกให้พรรคการเมืองจดทะเบียนจัดตั้งพรรค หรือจัดกิจกรรมทางการเมืองได้หรือยัง พล.อ. ประวิตรกล่าวว่า “ผมไม่ทราบ และยังไม่ได้บอกเรื่องจดทะเบียนพรรคเมื่อใด ผมยังไม่รู้แล้วสื่อมารู้ได้อย่างไร”

อลงกรณ์จี้ปฏิรูปไม่มีรอยต่อ

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท.คนที่ 1 กล่าวถึงการทำงานของสปท.หลังมีรัฐธรรมนูญใหม่ว่า สปท.วางแผนการทำงานล่วงหน้ามาตลอด และก่อนรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ แผนงานที่วางร่วมกันได้หารือแม่น้ำ 5 สายทั้งการจัดวาระปฏิรูปเร่งด่วน ทั้ง 27 วาระ 74 เรื่อง ร่วมกับคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) จึงมีแผนทำงานและกระบวนการทำงานอยู่แล้ว เมื่อใดที่รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ก็เดินทางตามแผนงาน 3 ส่วน คือ การช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนวาระปฏิรูป 146 วาระ ที่ส่งไปยังรัฐบาลก่อนหน้านี้ 2.การร่วมขับเคลื่อนภายใต้ ป.ย.ป.โมเดล และ 3. การจัดทำแผนปฏิรูปและกฎหมายที่จำเป็นต่อการปฏิรูปตามแผน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2564 ตามที่รัฐธรรมนูญบทบัญญัติ ทั้งประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ และหมวดปฏิรูปประเทศ

นายอลงกรณ์กล่าวว่า การทำงานปฏิรูปจะไม่มีรอยต่อแน่นอนเพราะได้วางแผนเป็น กระบวนการที่ต่อเนื่อง ทั้งยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูป และเรื่องต่างๆ ตาม ป.ย.ป.โมเดล ที่ผ่านมาได้ปรึกษาพล.อ.ประยุทธ์ มาโดยตลอด จนเกิดมีป.ย.ป.ขึ้นมา เป้าหมายการทำงานคือการทำงานร่วมกัน ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้วจะมีกฎหมายใหม่ว่าด้วยการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีองค์กรและกลไกใหม่เกิดขึ้น ที่อาจต้องใช้เวลาในกระบวนการสรรหา หรือแต่งตั้งกรรมการและกว่าเริ่มงานได้ ดังนั้นระหว่างนี้ ป.ย.ป จะทำหน้าที่เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างแม้แต่วันเดียวกันในการปฏิรูป

สปท.เล็งทยอยลาออกเพียบ

นายอลงกรณ์กล่าวถึงกระแสข่าวสปท. จะลาออกเพื่อไปลงเลือกตั้งส.ส. ว่าสมาชิก สปท.ลาออกไปเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ภายใน 90 วันถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล คงจะมีจำนวนหนึ่งแต่ ไม่มากนักเพราะมีผลกระทบการทำงาน

นายนิกร จำนง สมาชิกสปท. กล่าวว่า สมาชิกคนอื่นไม่ทราบว่าจะมีใครลาออกเพื่อไปเล่นการเมืองบ้าง แต่ส่วนตัวคิดไว้แล้วว่า จะลาออกแน่นอนภายใน 90 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพื่อไปลงสมัครรับ เลือกตั้ง เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ สปท.จะเหลือเวลาการทำงานอีก 120 วัน

นายวิทยา แก้วภราดัย สปท.การเมือง กล่าวว่า ตนจะรอให้ร่างพ.ร.บ.ลักษณะการปกครองท้องถิ่น เรื่องที่มาและวาระการดำรงตำแหน่งของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ที่จะเข้าสู่ ที่ประชุมสปท.ในวันที่ 10 เม.ย. เมื่อร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวผ่านที่ประชุมสปท. และร่างกฎหมายไปถึงมือนายกฯ ก็จะขอลาออกจากการเป็นสมาชิก สปท.ไม่ต้องรอให้ครบ 90 วันตามที่รัฐธรรม นูญกำหนด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกสปท.ที่อยู่ในข่ายที่จะลาออกจากสมาชิกสปท.เพื่อไปลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนใหญ่สปท.การเมือง อาทิ นายนิกร จำนง นายวิทยา แก้วภราดัย นายกษิต ภิรมย์ นายสมพงษ์ สระกวี นายดำรงค์ พิเดช นายสุชน ชาลีเครือ นายชัย ชิดชอบ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร รวมทั้งสปท.ที่มาจากสายอดีตสปช.สายจังหวัด อีก 7-8 คน และสปท.ที่เป็นอดีตข้าราชการเกษียณอายุ 4-5 คน ซึ่งยังไม่กล้าเปิดตัวลาออกช่วงนี้ แต่จะลาออกเพื่อเปิดตัวในช่วงใกล้ครบกำหนด 90 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ปปช.ผ่อนปรนแจงทรัพย์สิน

เมื่อเวลา 13.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. แถลงว่า การประกาศกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 ตำแหน่งที่ทาง ป.ป.ช.พิจารณาเพิ่ม เป็นเพียงการให้ยื่นไว้เป็นหลักฐานว่ามีทรัพย์สิน และหนี้สินอยู่จริงเท่านั้น ไม่ได้เอามาเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบ ส่วนที่กฎหมายระบุให้เปิดเผย มีเพียงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

การประกาศกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเพิ่มเติม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.2560 ซึ่งบุคคลที่ต้องยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน จะมีเวลา 30 วัน แต่หากล่าช้าไปบ้างทาง ป.ป.ช.ก็ไม่ได้เคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ที่กำหนดให้ยื่นใหม่ ป.ป.ช.ก็ให้ความรู้พร้อมกับแนะนำวิธีการแสดงบัญชี ที่ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้มีรองอธิการบดีที่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน จำนวน 564 คน จาก 84 มหาวิทยาลัย

รองอธิการบดีออก4เม.ย.ยังต้องยื่น

ผู้สื่อข่าวถามว่า รองอธิการบดีทั้ง 13 คน ที่ลาออก ต้องยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินย้อนหลังหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ดังนั้น หากรองอธิการบดีทั้ง 13 คน ลาออกก่อนวันที่ 3 เม.ย.ก็ไม่ต้องยื่น แต่หากคนไหน ลาออกวันที่ 4 เม.ย. จะต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน ส่วนตัวเข้าใจได้ถึง การลาออกของรองอธิการบดีทั้ง 13 คน เพราะส่วนใหญ่คนเป็นอาจารย์ จะไม่ชิน ต่อการแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่างๆ และยังมองว่าป.ป.ช.ไปกำหนดกลางวาระของเขา

พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ขอย้ำว่าเป็นการตรวจสอบแบบสร้างสรรค์ ไม่ได้ต้องการจับผิดใครหรือกลั่นแกล้งใคร และก่อนมี มติคณะกรรมการป.ป.ช.ได้ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ซึ่งตนไม่รู้สึกเป็นห่วงว่าจะมีรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐอื่นๆ ลาออกอีก ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการพิจารณาอีกหลายส่วนราชการ โดยเฉพาะตำรวจ และข้าราชการอีกหลายตำแหน่ง

เมื่อถามว่า เครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ เรียกร้องให้ตรวจสอบรองอธิการบดี 13 คน ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า คงต้องดูข้อกฎหมาย ต้องมีเหตุอันควรสงสัย และมีผู้กล่าวหา ป.ป.ช.จึงจะดำเนินการได้ เรื่องนี้ต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะไปกระทบสิทธิของบุคคลอื่น

มม.ชี้รองอธิการฯลาออกเป็นสิทธิ

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) เผยถึงการลาออกของรองอธิการบดี มม. 13 รายว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจการตัดสินของแต่ละบุคคล มหา วิทยาลัยไม่สามารถก้าวล่วงได้ การทำงานในส่วนของรองอธิการบดีซึ่งเป็นตำแหน่งวิชาการนั้นนอกเหนือจากงานสอนแล้วต้องบริหารงานตามขอบเขตที่ได้รับหน้าที่ควบคู่ด้วย และเมื่อหมดวาระการดำรงตำแหน่งก็กลับไปเป็นอาจารย์ตามเดิม ไม่เหมือนกับตำแหน่งรองอธิบดีกรมหรือกระทรวง ที่หลายฝ่ายมองว่าเทียบเท่า โดยขณะนี้ทั้งหมดเหลือระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งก่อนหมดวาระอีกเพียงแค่ปีกว่าๆ เท่านั้น

อธิการบดี มม. กล่าวว่า ประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่าทั้ง 13 คนลาออกเพราะประท้วง ป.ป.ช.นั้น อยากให้มองในเรื่องของสิทธิ์ ป.ป.ช.มีสิทธิ์ ที่จะตรวจสอบ แต่เมื่อคนบางส่วนมองว่าไม่เป็นธรรมและไม่ได้ทันตั้งตัว หรือไม่สบายใจจึงขอลาออกก็เป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล ไม่สามารถบังคับกันได้ การทำงานจากนี้เบื้องต้นมหาวิทยาลัยขอร้องให้รองอธิการบดีที่ลาออกทั้ง 13 คน ยังคงตำแหน่งรักษาการณ์ไว้ก่อน เพื่อให้งานบริหารยังสามารถเดินต่อไปได้ ยังไม่แน่ว่าจะมีผู้มาทำงานแทนตำแหน่งรองอธิการบดีที่ว่างได้หรือไม่เพราะเหลือวาระงานอีกแค่ปีครึ่ง ก็ต้องเลือกคณะกรรมการชุดใหม่แล้ว

รบ.ชี้อย่าตื่นมะกันตรวจสอบไทย

วันที่ 4 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณี นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐพยายามหามาตรการลดการขาดดุลการค้ากับ 16 ประเทศ โดยมีไทยเป็นหนึ่งในนั้นว่า ทุกคนต้องใจเย็น เพราะมี 16 ประเทศและวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนอย่างเป็นทางการ เป็นเรื่องของคณะทำงานภายในซึ่งเขาต้องเตรียมการให้พร้อม ตนสั่งการให้รองนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมแล้ว อย่าไปถามทีละกระทรวงจะกลายเป็นปัญหา เรามีเพื่อนอยู่ 15 ประเทศ ถ้าออกมาก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไร เรื่องการค้า การลงทุน เรื่องเศรษฐกิจ ให้คณะกรรมการพิจารณาแล้วกัน อย่าเพิ่งไปตีอกชกหัว เรากับสหรัฐมีความสัมพันธ์กว่า 180 ปี

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ไม่อยากให้ตื่นตระหนกเพราะเป็นการให้ข่าวของรมว.พาณิชย์สหรัฐที่ออกมาพูด โดยความหมายคือไทยเป็นประเทศที่ได้ดุลการค้าจากสหรัฐในอันดับที่ 11 ซึ่งเราไม่ใช่เป้าหมายหลักที่ได้ดุลการค้ามากๆ เวลาเขาจะหาทางการแก้ไขปัญหาดุลการค้าจะดูประเทศที่ได้ดุลการค้ามากๆ นั่นคือ เป้าหมายหลัก ส่วนไทยปีที่ผ่านมาได้ดุลการค้าจากสหรัฐ 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นิดเดียวจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เราต้องเตรียมรับรู้สถานการณ์ว่ามีอะไรอีกบ้างที่เกี่ยวข้อง ความสัมพันธ์ของเรากับสหรัฐมีหลายเรื่อง ทั้งการค้าการลงทุน การเมือง ความมั่นคง ศิลปวัฒนธรรม และเรื่องนี้เราไม่จำเป็นต้องทำหนังสือชี้แจงอะไร แต่หลังจากผ่านระยะเวลา 90 วัน เพื่อเก็บข้อมูลแล้ว เมื่อมาถึงจุดหนึ่งแล้วพบว่าเรามีชื่อจริงๆ อย่างเป็นทางการ ไม่ใช่คำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรี เราอาจหาวิธีการไปดำเนินการเรื่องนี้ เช่น เชิญมาดูว่าเราผลิตอะไรอย่างไรเพื่อจะได้รู้จักประเทศไทยมากๆ

“บิ๊กตู่”ใช้ม.44-โยกย้าย10ผวจ.

วันที่ 4 เม.ย. ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 20/2560 เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว มีคำสั่งดังนี้

1.นายศักดิ์ สมบุญโต พ้นจากผู้ว่าฯ กาญจนบุรี เป็น ผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 2.นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป พ้นจากผู้ว่าฯกาฬสินธุ์ เป็น ผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกฯ 3.นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ พ้นจากผู้ว่าฯ เชียงราย เป็น ผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกฯ 4.นายโชคชัย เดชอมรธัญ พ้นจากผู้ว่าฯภูเก็ต เป็น ผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกฯ 5.นายสุรพล แสวงศักดิ์ พ้นจากตำผู้ว่าฯ ราชบุรี เป็น ผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกฯ 6.นายพศิน โกมลวิชญ์ พ้นจากผู้ว่าฯ สิงห์บุรี เป็น ผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกฯ

7.นายสุวิทย์ คำดี พ้นจากที่ปรึกษาด้านความมั่นคง สนง.งานปลัดฯ กระทรวงมหาดไทย เป็น ผู้ว่าฯกาฬสินธุ์ 8.นายณรงศักดิ์ โอสถธนากร พ้นจากผู้ตรวจฯกระทรวงมหาดไทย เป็น ผู้ว่าฯ เชียงราย 9.นายนรภัทร ปลอดทอง พ้นจากที่ปรึกษา สนง.ปลัดฯ กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ว่าฯ ภูเก็ต 10.นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม พ้นจากที่ปรึกษา สนง.ปลัดฯ กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ว่าฯ ราชบุรี คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

รายงานข่าวเผยว่า สำหรับผู้ว่าฯ 6 ราย ที่ถูกโยกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกฯ เนื่องจากทั้งหมดอยู่ระหว่างถูกตรวจสอบ อันเนื่องจากถูกร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการตำบลละ 5 ล้าน งบยุทธศาสตร์จังหวัด จึงต้องย้ายออกจากพื้นที่เพื่อรอการ ตรวจสอบข้อเท็จจริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน