‘ชาดา’ อาสาคุยชาวบ้าน เปิดซาฟารีห้วยขาแข้ง ‘วราวุธ’ โยนป่าไม้ถกกรมอุทยานฯ

เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตร และสหกรณ์ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายณรงค์ รักร้อย ผวจ.อุทัยธานี ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร หน่วยงานราชการ เอกชน และรัฐวิสาหกิจ ใน จ.อุทัยธานี และจังหวัดใกล้เคียง ประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา กว่า 500 คน เข้าร่วมงานรำลึก 29 ปี สืบ นาคะเสถียร

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

นายวราวุธ กล่าวว่า การจากไปของสืบ นาคะเสถียร 29 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นเครื่องเตือนใจคนไทยทั้งประเทศในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า จึงไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงทรัพยากรฯ เจ้าหน้าที่หรือรัฐมนตรี แต่เป็นเรื่องของคนไทยทุกคนที่จะต้องช่วยดูแล ส่วนภัยคุกคามห้วยขาแข้งที่ยังเกิดขึ้นนั้น หัวใจสำคัญคือเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนทุกคน และชุมชนที่ต้องช่วยกันป้องกันดูแล ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่อยู่ 20 ชุด ซึ่งตนจะช่วยสนับสนุนในเรื่องเครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำงาน

ส่วนกรณีที่มีประชาชนเรียกร้องที่ทำกินในป่าอนุรักษ์หลายพื้นที่นั้น นายวราวุธ กล่าวว่า หัวใจสำคัญคือจะทำอย่างไรในเรื่องการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนควบคู่การอนุรักษ์พื้นที่ป่าและให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้ และต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้เรามีโครงการ คทช.ดูแลอยู่แล้ว วันนี้ขอไม่ใช้คำว่าทวงคืนผืนป่า แต่ให้ใช้คำว่าการร่วมกันฟื้นฟูป่า โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ

เมื่อถามถึงกรณีข้อเสนอของภาคประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลในออกโฉนดชุมชน นายวราวุธ กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องดี และต้องนำมาพิจารณาร่วมกัน ตนยังไม่รับปากว่าทำได้หรือไม่ ไม่ใช่ว่าใครจะทำอะไรได้ตามใจชอบ และไม่ใช่ได้โฉนดไปแล้วนำไปสร้างคอนโด

ด้าน นายธัญญา กล่าวว่า กิจกรรม “รำลึก 29 ปี สืบ นาคะเสถียร” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม- 1 กันยายน ซึ่งในวันที่ 1 กันยายน มีนายวราวุธ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี โดยได้มีการวางหรีด รำลึก สืบนาคะเสถียร มอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรเจ้าหน้าทิ่พิทักษ์ป่าและนักเรียนจำนวน 58 ทุน การบรรยายและชมนิทรรศการ “Smart Patrol” และเรื่อง “เสือ” กิจกรรมเตรียมความพร้อมสัตว์ป่าก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ จากคอกพักสัตว์สู่คอก soft release เนื้อที่ 100 ไร่ เพื่อให้สัตว์ป่าปรับตัว ให้เข้ากับสภาพธรรมชาติ ก่อนปล่อยคืน สู่ธรรมชาติอย่างแท้จริงต่อไป การเดินทางไปที่เขื่อนทับเสลา สรุปโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก และการตรวจพื้นที่ในภาพรวมตามแผนงานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสัตว์ป่า”

นายธัญญา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การเพาะพันธุ์และปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ เป็นหนึ่งในมาตรการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่จะช่วยให้เกิดการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์ป่าในผืนป่าอนุรักษ์ ของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนได้สนองนโยบาย สำคัญของกระทรวงทรัพยากรฯ ในการแก้ไขปัญหาการลดจำนวนลงของสัตว์ป่าของประเทศไทย อีกทั้งยังสามารถเพิ่จำนวนสัตว์ป่านอกถิ่นอาศัย เพื่อให้เป็นสะพานเชื่อมโยงไปสู่การอนุรักษ์สัตว์ป่าในถิ่นอาศัยได้อีกด้วย

นายธัญญา กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 กรมอุทยานฯ ได้กำหนดแผนปฏิบัติงานกิจกรรมเพาะพันธุ์และปล่อยสัตว์ป่า กำหนดให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าทั้งประเทศรวม 25 สถานี เพาะพันธุ์สัตว์ป่า จำนวน 56 ชนิด 6,418 ตัว เพื่อปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ โดยในวันนี้ได้เตรียมสัตว์ป่า 2 ชนิด ได้แก่ เนื้อทราย จำนวน 70 ตัว และละมั่ง จำนวน 30 ตัว รวมเป็น 100 ตัว ซึ่งเดิมเลี้ยงไว้ในคอกขนาดเล็ก มาปล่อยในพื้นที่คอกขนาดใหญ่ ขนาด 100 ไร่ เพื่อให้สัตว์ป่าได้คุ้นชินกับสภาพพื้นที่อย่างค่อยเป็นค่อยไป จนสามารถหาอาหารได้เอง รู้จักศัตรู รู้วิธีหลบภัยจากศัตรู ตามรูปแบบการปล่อยสัตว์ป่า แบบซอฟท์ รีลีส จึงจะนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติอย่างแท้จริงต่อไป

ส่วนนายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานฯ กล่าวว่า สำหรับโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก ตามแผนงานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสัตว์ป่า จะเป็นการดำเนินการจัดการท่องเที่ยวในรูปแบบซาฟารี คล้ายในทวีปแอฟริกา ใช้พื้นที่ป่าสงวนฯ บริเวณรอยต่อเขตรักษาพันธุ์ฯ ห้วยขาแข้งกับอ่างเก็บน้ำทับเสลาทั้งบนบกและผืนน้ำ เนื้อที่กว่า 3 หมื่นไร่

นายสมโภชน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนน้ำท่วมถึง เมื่อน้ำลดจะกลายเป็นทุ่งหญ้าและเป็นแหล่งหากินของสัตว์ป่า เช่น ช้าง วัวแดง กระทิง เสือโคร่ง นกยูง และสัตว์กีบทั้งหลาย จึงมีความเหมาะสมจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในรูปแบบดังกล่าว โดยอาจจะใช้ได้ทั้งรถ และเรือในการท่องเที่ยวชมสัตว์ป่า ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นดีพี) และมอบให้คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ดำเนินการศึกษาวิจัย และเสนอโมเดลมาแล้ว 4-5 รูปแบบ โดยหากสามารถดำเนินการได้คาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท

“ส่วนข้อห่วงใยว่าจะทำให้มีการแฝงตัวเข้าไปล่าสัตว์ในพื้นที่หรือไม่นั้น เรื่องลักลอบการล่าสัตว์เป็นปัญหาที่มีในพื้นที่นี้อยู่แล้ว จึงต้องมีการคิดโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อดึงชุมชนมาร่วมอนุรักษ์และดูและดูแลสัตว์ป่า โดยชุมชนต้องได้ประโยชน์จากการจัดการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งการดำเนินการน่าจะเป็นรูปแบบที่รัฐร่วมมือกับชุมชนในการบริหารจัดการ โดยจะไม่เหมือนในแอฟริกาที่ให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการทั้งหมด โดยหากได้ข้อสรุปของโครงการจะนำไปสอบถามความเห็นของชุมชนรอบพื้นที่ต่อไป” นายสมโภชน์ กล่าว

วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทับเสลา นายวราวุธ พร้อมคณะได้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายสรุปโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยมีนายนันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์ อาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนอโครงการว่า แนวคิดของโครงการดังกล่าว จะดำเนินการในพื้นที่ป่ากันชนกว่า 1.5 หมื่นไร่ เพื่อลดความขัดแย้งและให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลป่า

โดยส่วนแรกจะมีการทำแนวรั้วกั้นสัตว์ป่า เพื่อปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติแบบค่อยเป็นค่อยไป มีการสร้างเส้นทางลอยฟ้าศึกษาธรรมชาติเหนือเรือนยอดไม้ หรือ คาโนปีวอร์คเวย์ ระยะทางประมาณ2-3 กม.ให้นักท่องเที่ยวเดินเที่ยวชมธรรมชาติโดยไม่รบกวนสัตว์ป่า ส่วนที่ 2 เป็นเส้นทางขับรถ เที่ยวชมสัตว์ป่าที่เป็นมาตรฐาน รูปแบบเหมือนแอฟริกา หรืออินเดีย แบะส่วนที่ 3 ตนเรียกว่าเป็นพื้นที่ “ระบำรักษ์ป่า” บริเวณหมู่บ้านระบำ ซึ่งเป็นพื้นที่ของ อ.อ.ป.เหมาะสมที่จะจัดให้เป็นแหล่งสร้างรายได้ของชุมชนในการจำหน่ายสินค้าหรือพืชผลการเกษตรต่างๆ รวมทั้งสัมปทานที่พักในแบบไฮเอนด์ ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ขณะที่นายชาดา กล่าวว่า ตนฝันอยากให้มีโครงการลักษณะนี้มากว่า 20 ปี ขอให้ รมว.ทรัพยากรฯ มอบหมายให้กรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ พิจารณาดำเนินการ โดยเรื่องนี้จะเป็นการต่อยอดให้เกิดประโยชน์จากการเป็นพื้นที่มรดกโลก ใช้เพียงชื่อห้วยขาแข้งโดยไม่ได้เข้าไปทำในเขตฯ ห้วยขาแข้ง ซึ่งพื้นที่ตามที่เสนอโครงการมีชาวบ้านนำวัวมาเลี้ยงอยู่แล้ว 3,000-4,000 ตัว ตนพร้อมช่วยในการทำความเข้าใจกับชาวบ้านในเรื่องนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนด้วย

ด้านนายวราวุธ กล่าวว่า เรื่องนี้จะดำเนินการได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ จะพิจารณาหารือกันต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน