30 องค์กรจุดพลุแก้รัฐธรรมนูญ

30 องค์กรจุดพลุแก้รัฐธรรมนูญ : หมายเหตุ – 30 องค์กรประชาธิปไตย เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ จัดเวทีเสวนาเรื่องการปฏิรูปสังคม เศรษฐกิจ การเมืองไทย กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 30 ..

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

รัฐธรรมนูญ 2560 ขาดเรื่องหลักการพื้นฐานของสังคม คือ อำนาจเป็นของประชาชนไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งที่รัฐธรรมนูญคือข้อตกลงของสังคมว่าจะให้อำนาจฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการอย่างไร ทั้ง 3 ฝ่ายจะมีการดุลอำนาจในการตรวจสอบ ดังนั้น หลักการที่จะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งในระบอบประชาธิปไตย ผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจต้องมาจากการยินยอมของประชาชน

ดังนั้น ระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นระบบที่ดีที่สุดที่มนุษย์คิดค้นมาได้ ในการให้เราอยู่อย่างสันติ สงบ และยั่งยืน

แต่รัฐธรรมนูญ 2560 สร้างองค์กรขึ้นมาครอบงำการแบ่งอำนาจของ 3 ฝ่ายนี้ไว้ เพื่อไม่ให้อำนาจของประชาชนใช้จัดการภาครัฐได้อย่างจริงจัง ส่วนของฝ่ายบริหาร คือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะทำอะไรไม่ได้ ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติ มีการแต่งตั้งส.. 250 คน ทั้งที่สังคมไทยเคยต่อสู้กันมานานที่ให้ส..มาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญนี้ดึงอำนาจนี้กลับมา มีสภาล่างเป็นของประชาชน ส่วนสภาบนเป็นชนชั้นนำ ส่วนฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ ในรัฐธรรมนูญนี้ ประชาชนไม่มีสิทธิเข้าไปตรวจสอบได้เลย

ผมเชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สามารถทำควบคู่กันได้ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นหลัก ส่วนฝ่ายบริหารมีหน้าที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

รัฐบาลนี้มีพรรคร่วมเยอะที่สุด ตอนตั้งรัฐบาล 19 พรรค ภายหลังมีการถอนตัวเหลือ 17 พรรค ซึ่งไม่มีเอกภาพทางนโยบาย เขาได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาให้พรรคอ่อนแอ เพราะจะ เอากล้วยให้ลิงทุกตัวกินอย่างอิ่มหนำสำราญเป็นไปไม่ได้ ซึ่งมีลิงมากถึง 19 ตัว รัฐบาลจึงไร้เสถียรภาพ

ส่วนที่บอกว่าหากแก้รัฐธรรมนูญจะมีความรุนแรงนั้น เป็นเรื่องที่ชนชั้นนำหลอกให้ประชาชนเชื่อเพื่อจะได้ไม่มารณรงค์แก้ไข พวกเขาบอกว่าการแก้รัฐธรรมนูญ จะทำให้สังคมแตกแยกรุนแรง ซึ่งผมเห็นต่าง เพราะประวัติศาสตร์บอกชัดเจนว่าที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อสู้ ดังนั้น การใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ต่อไปต่างหากจะนำไปสู่ความรุนแรง

นี่จึงเป็นวินาทีประวัติศาสตร์ที่เราควรฉกฉวยไว้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งการรณรงค์แก้ไขอย่างสันติไม่ใช่ทางเลือกแต่จะเป็นทางออกเดียวของสังคม

...ทวี สอดส่อง

เลขาธิการพรรคประชาชาติ

เมื่อพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือเรื่องอื่นๆ เราต้องยอมรับว่าในสังคมจะมีความเห็นนำ และความเห็นแย้งตลอดเวลา เป็นเรื่องปกติเหมือนเหรียญมี 2 ด้านเสมอ จากการลงพื้นที่รับฟังปัญหา และพบปะประชาชนทั่วทั้ง 4 ภาค ของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน เราได้รับเสียงสะท้อนเรื่องรัฐธรรมนูญกลับมาหลายประเด็น เราอาจจะทำประชามติว่าเราควรจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก่อนหรือไม่ เพื่อไม่เป็นการมองข้ามเสียง 16 ล้านเสียงที่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะหากเราชนะด้วยตัวกฎหมาย แต่ไม่ชนะด้วยสังคม เลือดก็จะไหลไม่หยุด เหมือนกับการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เราต้องยอมรับว่าสังคมมีพลเมืองไม่ดี พระยังมีพระไม่ดี ในหลายอาชีพก็มีคนไม่ดี ทั้งนี้ หากมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราต้องทำให้โครงสร้างอำนาจของประชาชนเข้มแข็ง ให้อำนาจเป็นของประชาชน ไม่ใช่เป็นของคนกลุ่มน้อยเหมือนที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้

สิ่งที่อันตรายที่สุดในขณะนี้ คือการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปเรื่อยๆ เราจึงจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญและปฏิรูปกฎหมายทั้งหมด เพื่อให้ทุกคนได้ใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคกัน เพราะมีอาชญากรรมทางกฎหมาย คือผู้มีอำนาจใช้กฎหมายดำเนินการใช้โดยมิชอบ การออกกฎหมายจากคนกลุ่มหนึ่งทำให้ประชาชนไม่ได้รับการใช้กฎหมายที่เท่าเทียมกัน

รัฐธรรมนูญจะศักดิ์สิทธิ์ ผู้นำในการทำรัฐธรรมนูญต้องศักดิ์สิทธิ์ ผู้นำต้องมีสัจจะ รัฐธรรมนูญต้องทำให้คนดีมาอยู่ในตำแหน่งด้วย และต้องไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ

สุทิน คลังแสง

..มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย

สิ่งที่หลายคนเห็น คือรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ปัญหาใหญ่คือรัฐธรรมนูญไทยอายุสั้น เป็นพืชล้มลุก ทำดีแค่ไหน ใช้ไม่นานก็มีคนมาฉีกทิ้ง เพราะรัฐธรรมนูญไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ วันนี้เห็นสัญญาณชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญมีแนวโน้มน่าเป็นห่วง เช่น การไม่ยอมกล่าวคำถวายสัตย์ว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการละเมิดแบบโจ่งแจ้ง ยังกล้าทำ แสดงว่าเขาไม่เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ใดๆ

หากแก้รัฐธรรมนูญใหม่ เราต้องคิดว่าเขียนอย่างไรให้มีภูมิต้านทาน ไม่ให้ถูกฉีกทิ้งง่ายๆ ผู้ละเมิดรัฐธรรมนูญต้องไม่ลอยนวล ที่สำคัญต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วม และยอมรับมากที่สุด และหาทางป้องกัน ไม่ให้ใครมาฉีกทิ้งได้

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุเรื่องการปฏิรูป 11 ด้าน ในมาตรา 257 ที่ต้องรายงานการปฏิรูปทุก 3 เดือน แต่ผมได้ดูรายงานนั้นก็ไม่เห็นเรื่องการปฏิรูปเลย เพราะเขาติดกับดักของตัวเอง ที่เขียนรัฐธรรมนูญสลับซับซ้อน ทำให้รัฐบาลอ่อนแอ มีพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนมาก จึงไม่มีเวลามาปฏิรูปประเทศ

อย่างแรกเราต้องสร้างกระบวนการศึกษาและหาแนวทางเขียนรัฐธรรมนูญ และควร เป็นญัตติแรกที่ถูกพิจารณาในสภา และทำประชามติในบริบทที่มีเสรีภาพ ไม่ใช่ภายใต้ภาวะกระบอกปืน และจะพ่วงคำถามว่าประชาชนจะยอมให้ใช้วิธีการรัฐประหารในการแก้ปัญหาหรือไม่

การเสนอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นกลยุทธ์ที่จะเชิญทุกพรรคให้ยอมรับร่วมกันก่อนว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหา ต้องมีการแก้ไข ส่วนวิธีการแก้นั้น มีการวางกลไกไว้ให้แก้ไขยากกว่าทุกฉบับ วิธีเดียวที่จะแก้ได้ คือยึดอำนาจเท่านั้น ผมวิตกว่าจะมีนายทหารกลุ่มใหม่ออกมาบอกว่าแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ จึงจะแก้ให้ด้วยการยึดอำนาจ เพราะเขียนแบบนี้หนีไม่พ้นว่า ถ้าไม่นองเลือดก็ยึดอำนาจ

หากเราปลุกเร้าประชาชนให้เห็นถึงประเด็นได้ ความเลวร้ายแบบนั้นจะไม่เกิด ให้ประชาชนรับรู้ว่าในสภามีกระบวนการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ส่วนข้างนอกก็เดินไปพร้อมๆ กัน แบบนี้จะเป็นหนทางไปสู่การแก้ไขที่สำเร็จ

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิด้า

รัฐธรรมนูญปัจจุบันมีอัตลักษณ์อนุรักษ นิยมชัดเจน จำกัดสิทธิและลดอำนาจของประชาชน ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป้าหมายเพื่อต้องการเพิ่มสิทธิและอำนาจให้ประชาชนมากขึ้น ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมีความสัมพันธ์กับการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เพราะเป็นตัวจัดสรรโครงสร้างอำนาจ หากจัดสรรได้สมดุลก็จะเอื้อต่อการปฏิรูปทุกด้าน แต่หากขาดความสมดุลจะเกิดปัญหา เราจึงต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อขจัดอุปสรรคในการปฏิรูป

วันนี้มีพลังบางอย่างที่อาจเป็นอุปสรรค ในการขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผม ไม่อยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นจุดชนวนการนองเลือดอีกครั้งของสังคมไทย แต่ควรเป็นการเจรจาหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้เกิดดุลอำนาจที่สมดุลกันมากขึ้นมากกว่าในปัจจุบัน หากทำได้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะผ่านไปได้ ซึ่งเป็นลักษณะถกเถียงเชิงความคิดมากกว่าการออกมาบนท้องถนน โดยอาศัยระบบ และสถาบันที่มีอยู่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการแก้ไข

การจำกัดสิทธิเลือกตั้ง เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเรื่องการจำกัดสิทธิ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ประชาชนมี 2 เสียง คือ เลือกพรรคและตัวบุคคล แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ความเป็นอิสระในการเลือกถูกตัดไปครึ่งหนึ่ง ส่วนระบบการคำนวณคะแนนก็ไร้ประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิง

ส่วนประเด็นที่คาดหวังว่าจะช่วยให้กระบวนการประชาธิปไตยพัฒนายิ่งขึ้น คือการ เลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งไม่รู้ว่าครม.จะให้มีการเลือกเมื่อใด จึงอาจต้องมีการผลักดันในเรื่องนี้ ส่วนการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ทุกคนรู้ดีว่าตอนนี้บ้านเรามีการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ถ้าผู้นำทางการเมืองไม่มีเจตนารมณ์ในการต่อสู้กับทุนผูกขาด ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาการผูกขาดทางเศรษฐกิจได้ ผู้นำทางการเมืองจึงต้องแสดงให้เห็น และมีกฎหมายที่ป้องกันการผูกขาด

ดังนั้น การแก้รัฐธรรมนูญจะต้องแก้ในประเด็นที่เอื้อต่อการจัดสรรงบประมาณ ในกระบวนการปฏิรูปก่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน