‘ธีรยุทธ’ ชี้เกิดระบบคิด “ความเมือง” แทนที่ “การเมือง” ประเทศติดกับดักหาทางออกไม่เจอ ห่วงภาวะจ้องทำลายล้างกัน ติงทหารปลุกค่านิยมสถาบันจนประชาชนแตกตื่น แนะ ‘ประยุทธ์’ ปรับการทำงาน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 15 ต.ค. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว มูลนิธิ 14 ตุลา ร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต จัดบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ประชาชน พรรค ทหารไทย ติดกับดักวิกฤตใหม่” ในวาระ 46 ปี 14 ตุลา 2516 โดย นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวตอนหนึ่งว่า สังคมไทยในปัจจุบันไม่มีเป้าหมาย จนกลับมาติดกับดักตัวเอง เป้าหมายการปฏิรูปประเทศหดตัว ลีบลงไปเรื่อย ๆ กระแสปฏิรูปตายแล้ว ผู้ทำให้ตายคือทหาร

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

นายธีรยุทธ กล่่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเมืองไทยแบ่งเป็น 3 ยุค คือ 1.ยุคพัฒนา ปี 2505-2535 คือ มีการพัฒนาประชาธิปไตย แต่ก็เกิดวิกฤตคุณธรรมขึ้นในสังคม จนเกิดการรัฐประหารหลายหน 2.ยุคปฏิรูป ปี 2535-2537 สังคมมองเห็นปัญหาคอร์รัปชันของนักการเมือง จนเกิดเป็นเป้าหมายการปฏิรูปการเมือง แต่ในที่สุดล้มเหลว เพราะระบบราชการ และกองทัพไม่พร้อม ไม่สามารถปฏิรูปใด ๆ ได้ เป้าหมายปฏิรูปจึงฝ่อไปเรื่อย ๆ และ 3.ยุคปัจจุบัน ปี 2557-2562 หรือยุคติดกับดักความคิดที่ไม่สามารถหาเป้าหมายที่เป็นทางออกให้ประเทศได้

นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า แม้จะเกิดนโยบายประชานิยม เป็นฐานเสียงที่เหนียวแน่นของพรรคไทยรักไทย แต่เป็นเพียงเครื่องมือการหาเสียง ขณะที่พรรคอนาคตใหม่มีฐานเสียงแค่คนรุ่นใหม่กับคนชั้นกลางที่ไม่พอใจระบบเก่า เน้นการจุดประเด็นเป็นเรื่อง ๆ แต่ 2 พรรคนี้ไม่มีโปรแกรมพาประเทศก้าวข้ามความขัดแย้ง เช่นเดียวกับฝ่ายทหารก็เน้นเฉพาะความมั่นคง ไม่มีเป้าหมายจูงใจประชาชน

บรรยายพิเศษในหัวข้อ "ประชาชน พรรค ทหารไทย ติดกับดักวิกฤตใหม่" ในวาระ 46 ปี 14 ตุลา 2516

บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ประชาชน พรรค ทหารไทย ติดกับดักวิกฤตใหม่” ในวาระ 46 ปี 14 ตุลา 2516

นายธีรยุทธ กล่าวว่า ขณะนี้เกิดกระบวนทัศน์ใหม่ที่เรียกว่า “ความเมือง” ไม่ใช่ “การเมือง” คือ การที่กลุ่มบุคคลอยู่ด้วยกันแบบหวาดระแวง เอากลุ่มตัวเองรอด มองกลุ่มอื่นเป็นศัตรูที่ต้องทำลายล้าง เป็นความสัมพันธ์เชิงสงคราม ผู้มีอำนาจสูงสุดคือ องค์อธิปัตย์ของกลุ่ม ปัจจุบันคนไทยส่วนหนึ่งรับกระบวนทัศน์แบบความเมืองมาเยอะคือ มองพวกอื่นเป็นศัตรูที่ต้องล้มล้าง ถูกนำมาใช้แม้จะไม่ใช่ช่วงที่มีภาวะวิกฤติใด ๆ ทำให้เห็นนักการเมืองกลายเป็นนักความเมือง พรรคการเมืองกลายเป็นพรรความเมือง ทหารฝ่ายความมั่นคงกลายเป็นทหารฝ่ายความเมือง

“จะเห็นนักเคลื่อนไหวความเมืองขยายความจนเกินเหตุ สร้างและบิดเบือนความ ใช้เฟคนิวส์ วาทกรรม ข้อมูลข่าวสาร คดีความเพื่อทำลายคู่ต่อสู้ ใช้อิทธิพลกดดันกระบวนการยุติธรรม ระบบคิดนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งขยายความน่ากลัวขึ้นเรื่อย ๆ ชาติมหาอำนาจก็แทรกแซงมีจุดยืนชัดเจนคือ สหรัฐหนุนฝ่ายเสื้อแดง และจีนหนุนฝ่ายทหาร ถือเป็นความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายรัฐบาลและทหารในการจัดการวิกฤติผิดพลาด มองปัญหาใจกลางผิด อาจนำไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรงกว่า” นายธีรยุทธ กล่าว

ระหว่างบรรยายที่อนุสรณ์ 14 ตุลา

ระหว่างบรรยายที่อนุสรณ์ 14 ตุลา

นายธีรยุทธ กล่าวว่า ขณะนี้ทหารเอาค่านิยมเรื่องความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มาเป็นปัญหาหลักของประเทศในแง่ความเร่งด่วน ทั้งที่ปัญหาที่เร่งด่วนกว่าคือ ปัญหาปากท้องประชาชนที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านจำนวนมาก บ่อยครั้งที่รัฐบาลและทหารพูดย้ำเรื่องความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จนประชาชนตกใจ ทั้งที่พวกที่ไม่ชื่นชมสถาบันมีเพียงส่วนน้อย ไม่มีพลัง จึงไม่มีความจำเป็นที่นายกฯและผบ.ทบ.ต้องออกมาพูด จนทำให้ประชาชนตกใจ

นายธีรยุทธ กล่าวต่อว่า ส่วนการพูดซุบซิบนินทาผู้นำประเทศ ดารา เป็นเรื่องปกติของสังคม ห้ามไม่ได้ เอามาเป็นเรื่องทางการไม่ได้ แต่การที่กองทัพโยงประเด็นความมั่นคงเข้ากับภาวะสงคราม 4.0 สะท้อนว่า ทหารคิดว่าสังคมไทยยังอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง ขณะนี้ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว ควรเข้าสู่ภาวะปกติ ถ้าเอาภาวะสงครามมาบิดเบือนก็มีโอกาสเกิดสงครามขึ้นจริง ๆ

ติงทหารปลุกค่านิยม ทำประชาชนแตกตื่น

ติงทหารปลุกค่านิยม ทำประชาชนแตกตื่น

นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า ส่วนหนทางแก้ไขนั้น สังคมควรตั้งสติอยู่ตรงกลาง มองสถานการณ์ให้กระจ่าง ไม่ไปช่วยเสริมกระแสให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ขณะที่ฝ่ายรัฐต้องธำรงความเป็นกลาง ไม่ใช้ความเมืองทำลายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะความเมืองหมายถึงการขัดแย้งแบบทำลายล้างในภาวะสงคราม การที่รัฐบาลมีความเชื่อว่า กำลังมีภาวะสงครามภายในไม่เป็นผลดีต่อบ้านเมือง ส่วนศาลและระบบยุติธรรม บางทีต้องถอยกลับจากกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ อย่าให้ศาลเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนทัศน์ทางความเมือง

“สำหรับสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมควรทำคือ การปรับปรุงวิธีการทำงาน เพราะการควบคุมประสานพรรคร่วมลำบากยากขึ้นเรื่อย ๆ ควรปฏิรูปให้ได้ผลจริงสัก 2-3 เรื่องก็พอ โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาปากท้องชาวบ้านที่อยู่ในภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย กลางกระจ้อน” เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แม้จะยากแต่ต้องทำ รวมถึงการเพิ่มคุณภาพคน ซึ่งจะต้องใช้อำนาจบารมีนายกฯแก้ปัญหา เชื่อว่า ถ้าผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ไปได้ รัฐบาลจะอยู่ได้อีกช่วงเวลาหนึ่ง แต่ต้องปรับปรุงวิธีการทำงาน เพราะการปฏิรูปได้ฝ่อไปแล้ว” นายธีรยุทธ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กระบวนการคิดแบบความเมืองถ้าไม่เร่งแก้ไขหาทางออก จะเกิดอะไรขึ้น นายธีรยุทธตอบว่า ถ้าเป็นเรื่องน่าห่วงมาก ถ้าไม่หาทางออก จะเกิดวาทกรรมแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะความคิดแบบความคิดขยายตัวได้ง่าย ถ้าไม่หาทางยับยั้งจะทำลายอีกฝ่ายไปทีละเล็กละน้อย อาทิ กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคใหม่ ถูกหาว่าเป็นฮ่องเต้ซินโดรม ถูกผลักเป็นคนส่วนน้อย สร้างภาพให้เป็นยักษ์เป็นมาร เป็นศัตรูร้ายกาจ นำไปสู่การฆ่าคนด้วยปากเปล่า นำไปสู่ความรุนแรงได้

นายธีรยุทธ กล่าวต่อว่า นายกฯควรปล่อยวางบางเรื่องบ้าง อย่าไปถือเป็นการทำลายล้างทุกประเด็น แล้วความแรงจะลดลง ขอฝากไปยังพล.อ.ประยุทธ์ ทหารชั้นผู้ใหญ่ กองทัพ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาล ให้ช่วยเป็นเสาหลักทางความคิดในสังคม คอยพยุงประคองทิศทางประเทศ

เมื่อถามว่า ฝ่ายความมั่นคงหยิบยกเรื่องการโจมตีสถาบันมาเป็นประเด็น ท้ายที่สุดจะนำไปสู่การรัฐประหารอีกหรือไม่ นายธีรยุทธ ตอบว่า หากคนรุ่นใหม่จะออกมาต่อสู้คงไม่สำเร็จ ควรหาวิธีอื่น เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีการใช้อำนาจที่เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการทางกฎหมายหรือมากกว่านั้น แต่อย่าหยิบเรื่องรัฐประหารมาเป็นหลักขัดแย้งในสังคม เพราะเป็นอุบัติเหตุที่ใครควบคุมไม่ได้ การรัฐประหารไม่ง่าย ถ้าไม่มีเหตุผล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน