อดีตไทยรักษาชาติ พร้อมใจโพสต์รำลึก ครบรอบหนึ่งปีวันก่อตั้งพรรค ชี้เสียดายประเทศถูกละเลยหลายด้าน ทั้งที่มีศักยภาพซ่อนเร้น พร้อมแฮชแท็ก #โอกาสคืออนาคต

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ โพสต์เฟซบุ๊กในโอกาสครบรอบ 1 ปีการก่อตั้งพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) โดยเนื้อหาระบุว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยเป็น 1 ใน 5 เสือของอาเซียน เป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก มีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรม แต่ศักยภาพเหล่านี้ถูกละเลย หากเข้าใจและเข้าถึงเทคโนโลยี ปรับตัวให้อยู่รอดได้ในยุคเศรษฐกิจสมัยใหม่ แม้จะอยู่ในวิกฤตควรเปลี่ยนเป็นโอกาสโดยเร็ว

“ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากจน ไม่มีใครอยากแบมือขอรับความช่วยเหลือจากคนอื่นหากมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือตนเองได้ ความจนไม่ได้เป็นเรื่องของโชคชะตา แต่เป็นเรื่องของการขาดโอกาสและการสนับสนุนที่เหมาะสม”

ขณะที่นายฤภพ ชินวัตร อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) โพสต์ข้อความว่า หนึ่งปีที่ผ่านมายังคงมีความคิดที่จะพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยี และอยากเห็นประเทศไทยทัดเทียมกับประเทศมหาอำนาจ แม้ไทยยังขาดโอกาส แต่สามารถสร้างโอกาสขึ้นมาเองได้ โดยเชื่อว่าหากทำเทคโนโลยีให้ง่ายขึ้น สามารถนำมาปรับใช้กับภาคเกษตรและอุตสาหกรรม จะช่วยให้ประเทศไทยพัฒนามากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ส่วน นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อหาแสดงความเป็นห่วงภาคธุรกิจไทย ที่ปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดจากเทคโนโลยีและการศึกษาที่เปลี่ยนไป หากนำเอาเอกลักษณ์ความเป็นไทย ใช้องค์ความรู้ที่สร้างสรรค์และนวัตกรรมสมัยใหม่มาปรับกระบวนการผลิต จะสามารถสร้างแบรนด์ไทย พัฒนาไปสู่แบรนด์โลกได้

นายต้น ณ ระนอง อดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ปัจจุบันได้เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทด้านการพัฒนาเมือง และพัฒนาระบบต่างๆ ด้วยเทคโนโลยี IoT และ AI ขณะเดียวกันอยากเห็นคนไทยควรจะมีชีวิตดีกว่าที่เป็นอยู่ มีความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตที่มากขึ้น หรือทัดเทียมประเทศพัฒนาแล้ว และต้องการเห็นคนในสังคมที่สร้างโอกาส แบ่งโอกาสต่อไปให้คนอื่นๆ ที่มีโอกาสน้อยกว่า

ส่วน น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ อดีตนายทะเบียนพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) โพสต์ข้อความเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า 1 ปีที่ผ่านมาปัญหาต่างๆของประเทศถูกมองข้าม ทั้งภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ภาคการท่องเที่ยวหดตัว การจ้างงานลดลงและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง แม้จะไม่ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาประเทศในฐานะนักการเมือง แต่ยังต้องการพัฒนาโอกาสให้กับผู้คนที่มีศักยภาพซ่อนเร้น แต่ขาดโอกาสเชื่อมโยงแหล่งความรู้ แหล่งทุน เทคโนโลยี และตลาดโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการโพสต์เฟซบุ๊กของอดีตกรรมการบริหารบริหารพรรค ทษช. ครั้งนี้ ทุกคนได้พร้อมใจกันติด #โอกาสคืออนาคต ด้วย

สำหรับ พรรคไทยรักษาชาติ ( Thai Save the Nation Party, ชื่อย่อ : ทษช. ชื่อย่อภาษาอังกฤษ : TSN) พรรคการเมืองไทยที่ก่อตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นลำดับที่ ๑๑/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ในชื่อ พรรครัฐไทย โดยมีนายเอกสิทธิ์ เจาฑานนท์ และนาย ศิรเมศร์ เสถียรรุจิกานนท์ เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคคนแรก

จากนั้นในการประชุมใหญ่ของพรรคไทยรวมพลัง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนแปลงชื่อพรรคเป็น พรรคไทยรักษาชาติ พร้อมกับเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคอุดมการณ์ของพรรค และนโยบายของพรรค รวมถึงนายกมลได้ลาออกจากตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรค

โดยมีกระแสข่าวว่า พรรคไทยรักษาชาติ เป็นพรรคสาขาของพรรคเพื่อไทยเพราะมีอดีต ส.ส. และอดีตรัฐมนตรีของ พรรคเพื่อไทย จำนวนหนึ่งได้เตรียมย้ายมาสังกัดและเข้ามาบริหารพรรคไทยรักษาชาติ นอกจากนี้ยังมีการตีความชื่อย่อของทางพรรคในช่วงแรกๆ ว่ามีนัยหมายถึงทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

กระทั่งการประชุมใหญ่ของพรรคไทยรักษาชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๑ เมื่อวันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ที่ โรงแรมรามาการ์เดนส์ มีวาระสำคัญในการเลือก หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ รวมถึงเปลี่ยนแปลงภาพเครื่องหมายพรรค และสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรค ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือก ร.ท. ปรีชาพล พงษ์พานิช และ นายมิตติ ติยะไพรัช เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคคนใหม่

จากนั้น วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 พรรคไทยรักษาชาติยื่นพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นผู้ที่จะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงชื่อเดียว ด้านหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติให้สัมภาษณ์ว่า “พระองค์ท่านเองทรงมีพระเมตตาตอบรับ และให้พรรคไทยรักษาชาติเสนอ พระนามในบัญชีนายกฯ ของพรรค”

ต่อมาในวันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 นายรุ่งเรือง พิทยศิริ กรรมการบริหารพรรคได้เดินทางมายังสำนักงาน กกต. เพื่อยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เพื่อยืนยันว่าตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงฯ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อีกทั้งอยากให้เวลากับครอบครัว ทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติเหลือทั้งสิ้น 13 คน

จากนั้นในวันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เวลา 12.30 น. คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. นำโดยพันตำรวจเอก จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ได้ยื่นยุบพรรคไทยรักษาชาติตามมาตรา 92 (2) แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ตามมติในที่ประชุม กกต. เมื่อวันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นทางพรรคไทยรักษาชาติได้ยื่นเอกสารคำร้องคัดค้านการยุบพรรคต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

กระทั่งวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2562 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติพร้อมตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง จดทะเบียนจัดตั้งพรรคใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นเวลา 10 ปี


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน