กมธ.เปิดสอบ-มือแจ้งความคสช.

“ผมไปไม่ถึงหรอกครับข้างบนน่ะ ผมแค่เฟืองเล็กๆ….. หากมีหนังสือมอบแล้ว มันไม่มีโอกาสใช้ดุลพินิจเลย มันเป็นคำสั่ง”

หมายเหตุ : สำนักข่าวบีบีซีไทย เผยแพร่ คำชี้แจงฝ่ายกฎหมาย คสช. ต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมายการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กรณีดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมือง

กมธ.เปิดสอบ-มือแจ้งความคสช.-

คดีหมิ่น : ไผ่ ดาวดิน นำทีม กมธ.ซักอดีตมือแจ้งความคสช. คดีความมั่นคง

นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ตั้งคำถามต่อนายทหารที่เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษเขาตามมาตรา 112 ใช้ดุลพินิจอะไรในการแจ้งความดำเนินคดีกับเขา

“ชีวิตผมหายไปนาน แต่เพื่อความกระจ่างผมขอคำถามเดียว ใครเป็นคนสั่งขังผมครับ” นายจตุภัทร์ถาม

“ศาลครับ” คือ คำตอบเพียงวลีเดียวที่หลุดจากปาก พ.อ.พิทักษ์พล ชูศรี หรือ เสธ.พีท ผบ.กรมทหารพรานที่ 22 ในฐานะอดีตหัวหน้าฝ่ายข่าวกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดขอนแก่น (กกล.รส.จ.ขอนแก่น) ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษนายจตุภัทร์

อย่างไรก็ตาม พ.อ.พิทักษ์พลได้เล่าย้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ธ.ค. 2559 ว่าเขาไม่ใช่คนแรกที่เห็นข้อความที่นายจตุภัทร์แชร์ เพราะในหน่วยข่าวจะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สันติบาลและส่วนอื่นๆ ในฐานะที่เป็นผบ.ร้อย ก็ได้รับข้อมูลจากทีมงาน

“พอผมเปิดดูแล้ว ก็ต้องไปรายงานและสอบถามไปยังฝ่ายกฎหมายว่าจะเอาอย่างไร ผู้บังคับบัญชาก็มีดุลพินิจมา” และ “ตอนนั้นผมกับน้องไผ่ก็ไม่มีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน ผมก็ไปแจ้งความตามขั้นตอนในฐานะเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและในฐานะประชาชน เมื่ออ่านแล้วเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผมก็ไปแจ้งความ แต่ไม่ขอก้าวล่วงเรื่องคดี และบัดนี้น้องก็เป็นอิสรภาพแล้ว” พ.อ.พิทักษ์พลกล่าว

ไผ่ ดาวดิน เป็นอดีตผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากกรณีแชร์บทความพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ของบีบีซีไทย ทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ก่อนได้รับอิสรภาพเมื่อ 11 พ.ค. 2562 เพราะได้รับพระราชทานอภัยโทษ รวมระยะเวลาที่ถูกจองจำอยู่ 2 ปี 6 เดือน จากโทษเต็ม 5 ปี

ระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนาย ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เป็นประธาน ช่วงเช้าวันนี้ (27 พ.ย.) ไผ่ ดาวดิน ในฐานะเลขานุการประจำ กมธ.กฎหมายฯ เผชิญหน้ากับ 2 นายทหารผู้มีบทบาทสำคัญในการร้องทุกข์กล่าวโทษเขา และเพื่อนนักกิจกรรมการเมืองหลังรัฐประหารปี 2557 นอกจากพ.อ.พิทักษ์พล ยังมี พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผอ.สำนักงานพระธรรมนูญทหารบก และผู้ชำนาญการสำนักงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4) ในฐานะอดีตฝ่ายกฎหมาย คสช.

วาระสำคัญในการประชุมนัดนี้คือ การพิจารณากรณีการดำเนินคดีของรัฐต่อประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยมีตัวแทนนักกิจกรรมการเมืองและประชาชนเข้าร้องเรียน 10 ราย และตัวแทนรัฐเป็นผู้ชี้แจง 2 ราย ใช้เวลาประชุมนาน 3 ช.ม. โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านแฟนเพจ กมธ.กฎหมายฯ ตลอดเวลา

ยอมรับจับ “คนดัง” ก่อน หากแชร์ข้อมูลผิดกฎหมาย

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ อนค. และอดีตนักศึกษา “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ซึ่งเป็น “เพื่อนร่วมคุก” ของไผ่ ในคดีชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร ครบ 1 ปี ได้ใช้สิทธิกมธ. กฎหมายฯ โยนคำถามใส่ 2 นายทหารว่ามีผู้แชร์บทความของบีบีซีไทยกว่า 3 พันคน เหตุใดจึงมีเพียง 2 คนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112

อีกมุมหนึ่งของห้อง น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว อดีตนักศึกษา “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ซึ่งมาในฐานะผู้ร้องเรียน ได้ตั้งข้อสังเกตในการดำเนินคดีกับนายจตุภัทร์ และ น.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ หรือการ์ตูน ว่า “ล้วนแล้วแต่เป็นนักกิจกรรมการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช.” และ “หลายครั้งต่อให้เป็นการวิจารณ์ คสช.แต่เรามันจะถูกพ่วงคำว่าล้มเจ้ามาด้วย”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.ต.บุรินทร์ออกตัวว่า เขาไม่เกี่ยวข้องกับคดีแชร์บทความของบีบีซีไทย แต่ในภาพรวมเราจะดูได้ว่าใครแชร์ และเรารู้จักใครบ้าง “ถ้าท่านโรมไปแชร์ ฝ่ายข่าวต้องรู้เพราะท่านเป็นคนดัง แต่ถ้าเป็นคนอื่น หรืออวตาร เป็นตัวที่สร้างมาปลอมๆ เกิดเหตุอย่างนี้เยอะมาก กว่าจะพิสูจน์ตัวตนได้ก็ยาก การกล่าวโทษหรือสอบสวนใครต้องพิสูจน์ว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิดจริง ซึ่งตัวผมไม่ได้ทำคดีนี้ เป็นเรื่องของ ปอท. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี)”

นอกจากคดี ไผ่ ดาวดิน ยังมีเหตุการณ์อื่นๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาร้องเรียนต่อกมธ.กฎหมายฯ ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วง 5 ปีหลังรัฐประหารโดย คสช. พบว่ามีการใช้อำนาจทั้งตาม “กฎหมายพิเศษ” และ “กฎหมายปกติ” ดำเนินคดีกับประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมือง ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116, คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

บีบีซีไทยสรุปบางคำถาม-คำตอบ ข้อสังเกต – ข้อโต้แย้ง ที่เกิดขึ้นในระหว่าง “ผู้แจ้งความ” เผชิญหน้าและถูกซักฟอกโดย “ผู้ต้องหา- จำเลย-อดีตผู้ต้องขัง” ร่วมกับ “ผู้แทนราษฎร” ณ ห้องประชุม กมธ. ภายในอาคารรัฐสภา

บุรินทร์แจง “เป็นแค่ฟันเฟืองเล็กๆ” ทำตามคำสั่งนาย

พล.ต.บุรินทร์ออกตัวว่า เขาอยู่ในฐานะ “ผู้รับมอบอำนาจ” จากคสช. ให้ไปดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษ และไม่ได้เป็น “ผู้ปฏิบัติ” ที่มีหน้าที่ติดตามบุคคล จึงไม่อาจตอบได้ทุกคำถาม เช่นคำถามที่ว่ามีเลือกตั้งแล้ว ทำไมประชาชนและนักกิจกรรมการเมืองยังถูกทหารตำรวจติดตามอยู่

ในการดำเนินคดีการเมืองและความมั่นคงหลังรัฐประหารปี 2557 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนกองกำลัง มอบหมายให้ ผบ.กองกำลังต่างๆ มีอำนาจสั่งการ “หน่วยล่าง” เช่น ผบ.กองร้อยรักษาความสงบเรียบร้อย โดยมีคำสั่งจากแม่ทัพภาคในฐานะ ผบ.พล ถ่ายทอดมาโดยลำดับ

ส่วนขึ้นกับสำนักงานเลขาธิการ คสช. มี ผบ.ทบ ในฐานะเลขาธิการคสช. เป็นผู้บังคับบัญชา เป็นไปตามดุลพินิจของคสช. หากจะแจ้งความดำเนินคดีกับใครในกรุงเทพฯ ก็จะสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่รับมอบอำนาจดำเนินการแทน โดย พล.ต.บุรินทร์รับผิดชอบคดีการเมือง ส่วน พล.ต.วิจารณ์ จดแตง รับผิดชอบคดีอาวุธสงครามและการก่อการร้าย

พล.ต.บุรินทร์ระบุว่า เมื่อมีเหตุการณ์ฝ่ายข่าวจะแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เสนอไปยังคสช.ให้ใช้ดุลพินิจ เมื่อคสช.เห็นอย่างไรถึงมอบอำนาจลงมา พร้อมพยานหลักฐานต่างๆ

“ผมทราบจากสำนักเลขาฯ ผมไปไม่ถึงหรอกครับข้างบนน่ะ ผมแค่เฟืองเล็กๆ” พล.ต.บุรินทร์กล่าว

นายพลผู้เป็น “มือแจ้งความ” ของคสช. ถูกตั้งคำถามต่อไปว่าสถานภาพของเขาเปรียบเหมือน “บุรุษไปรษณีย์” ที่นำความจากผู้บังคับบัญชาไปยื่นร้องทุกข์กล่าวโทษประชาชน หรือสามารถโต้แย้ง-ใช้ดุลพินิจทางกฎหมายได้บ้าง

“หากมีหนังสือมอบแล้ว มันไม่มีโอกาสใช้ดุลพินิจเลย มันเป็น คำสั่ง” เขาตอบ

ถ้าเช่นนั้นใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนหากมีคดีความขึ้นมา พล.ต.บุรินทร์ตอบเลี่ยงๆ ไปว่า คสช.เป็น ผู้พิจารณาร่วมกัน และให้เลขาธิการคสช.ไปดำเนินการต่อ ซึ่งเลขาฯ ก็เปลี่ยนมาหลายคนตามวาระผบ.ทบ. จากนั้นจึงไปที่สำนักงานเลขาธิการ คสช.เรื่องถึงจะมาถึงเขา

ส่วนที่ปรากฏข้อมูลในโลกออนไลน์ว่าฝ่ายกฎหมาย คสช.รายนี้แจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนมาแล้ว 200-300 คดี พล.ต.บุรินทร์ชี้แจงว่าตัวเลขดังกล่าวครอบคลุมคดียาเสพติด คดีผู้มีอิทธิพล และอื่นๆ ไม่ใช่เฉพาะคดีการเมืองเท่านั้น

ทหารไม่เคยผลักประชาชนเป็นศัตรู

อีกคำถามที่เกิดขึ้นคือ คสช. ใช้ “กฎหมายปิดปาก” ผู้เห็นต่างทางการเมืองหรือไม่ เพราะคนที่ถูกดำเนินคดีล้วนเป็นคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ขณะที่คดีความที่ประชาชนฟ้องเอาผิดหน่วยงานที่สร้างข่าวปลอม หรือ IO กลับไม่มีความคืบหน้า

พล.ต.บุรินทร์ยืนยันว่า ส่วนตัวไม่เคยไปข่มขู่ไม่ให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหว แต่เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นถึงได้รับมอบอำนาจให้ไปแจ้งความดำเนินคดี “เมื่อเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ผมก็ต้องปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติก็มีความผิด”

เวลาพูดถึงฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ส่วนตัวไม่เคยมองท่านเป็นศัตรูหรืออะไร เป็นพลเมือง เป็นพี่น้องประชาชนคนไทยด้วยกัน “เราไม่มีการผลักประชาชนให้เป็นศัตรูกับเรา ไม่มีประเทศไทย รัฐไหน หรือทหารที่ไหนผลักประชาชนเป็นศัตรู กองทัพต้องอยู่กับประชาชนอยู่แล้ว” ส่วนการไปแจ้งความดำเนินคดี ถือเป็นเรื่องที่ต้องไปติดตามจากพนักงานสอบสวน ไม่เคยมีคำสั่งว่าต้องดำเนินคดีใครหรือไม่

จากเปิดศาลเที่ยงคืนฝากขังน.ศ. ถึงดำเนินคดีอาญากับ ธนาธร

ในห้วงครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร เกิดเหตุการณ์ “เปิดศาลถึง เที่ยงคืน” เพื่อฝากขัง 14 นักศึกษา ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และมาตรา 116 จนเกิดเสียงวิจารณ์ไปทั่ว และนำมาสู่คำถามอีกครั้งในวง กมธ. นี้

พล.ต.บุรินทร์ชี้แจงว่า ขณะนั้นมีหมายจับแล้วจึงตามไปจับกุม โดยได้ประสานงานกับศาลทหารกรุงเทพตั้งแต่ช่วงบ่ายว่าจะดำเนินการจับกุม แต่เนื่องจากมีมวลชนมาก ทำให้ควบคุมลำบากและอาจเกิดเหตุรุนแรง จึงขอศาลให้อยู่รอ “เป็นการเปิดศาลอย่างต่อเนื่อง” กว่าจะไปโรงพัก มีญาตินักศึกษาไปเยี่ยม เอาตัวไปส่งศาลได้ก็ราว 20.00-21.00 น. เมื่อไปถึงก็มีกระบวนการซักถามของศาล ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ฝากขัง เวลาจึงล่วงเลยไปตามที่ปรากฏเป็นข่าว

คดีนี้เกี่ยวข้องกับกลุ่มทำกิจกรรมหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และเกี่ยวกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งต่อมาตกเป็นผู้ต้องหาคดีมาตรา 116 และให้ที่พักพิงผู้ต้องหาตามมาตรา 189 ทั้งนี้ พล.ต.บุรินทร์บอกว่า “ตอนนั้นท่านยังไม่ดัง ผมไม่รู้จักท่านเลย” ก็เป็นกลุ่มที่ไปติดตามอยู่หน้า สน.ปทุมวัน ตอน เจ้าหน้าที่เตรียมจับกุมนักศึกษาตามหมายจับ ปรากฏว่ามีการหลบหนี และมีการติดตามไปถึงอีกสถานที่หนึ่งที่ไปหลบกันอยู่ เป็นคดีที่มีคำสั่งให้ไปแจ้งความตั้งแต่ปี 2558 และได้ส่งมอบหลักฐานให้พนักงานสอบสวนหมดแล้ว จึงไม่ได้ไปติดตามต่อ กระทั่งปลายปี 2561 มีการตรวจสำนวน จึงได้รับมอบหมายให้ไปแจงความเพิ่มเติม

กมธ. ถาม ตัวแทน คสช. ตอบ

ไผ่ ดาวดิน : ที่บอกว่าทหารเคียงข้างประชาชน แต่ที่ผ่านมามีประชาชน 929 คนถูกปรับทัศนคติ 572 คนถูกติดตามตัว 18 คนกล่าวหาว่าซ้อมทรมาน ฯลฯ อันนี้คือการทำเพื่อประชาชนหรือ

พล.ต.บุรินทร์ : ผมไม่รู้รายละเอียดแต่ละข้อเท็จจริง ถ้าท่านเปรียบเทียบอย่างนี้ ทีตำรวจจับคนไปในเรือนจำเป็นหมื่นๆ ทำเพื่อประชาชนไหม ต้องแยกผู้กระทำผิดกับประชาชน ส่วนไหนที่เป็นพลเมืองปกติ เราก็ดูแลตามปกติไม่ว่าน้ำท่วมภัยแล้ง “จะไปบอกว่าส่วนแค่นี้กับประชาชน 70 ล้านคน ไม่ใช่แล้ว ถ้าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ผมเชื่อมั่น 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครไปยุ่งกับท่าน”

ไผ่ ดาวดิน : ทัศนคติที่ดีที่ไม่ทำให้โดนจับ คือทัศนคติ แบบไหน

พล.ต.บุรินทร์ : ผมอาจขออนุญาตยกตัวอย่างคดีเก่าแล้ว กรณีประเทศไทยเคยมีการขาดแคลนน้ำมัน ก็มีการออกกฎหมายห้ามกักตุนน้ำมัน ต่อมาน้ำมันไม่ขาดแคลนแล้วก็ยกเลิก เหมือนกัน ตอนนั้นประเทศต้องการความสงบ หัวคำสั่งที่ 3/2558 ก็เขียนอยู่แล้ว ต่อมาเมื่อมีเลือกตั้ง คสช.เลิกไป ประเทศก็เข้าสู่ระบบการปกครองที่มีสภา มันเป็นห้วงๆ ลักษณะของช่วงเวลาว่าประเทศชาติต้องการอะไรในขณะนั้น

ไผ่ ดาวดิน : การปล่อยให้ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพ จะทำให้ประเทศไม่เกิดความสงบแบบไหน

พล.ต.บุรินทร์ : ขอแยกเป็น 2 ส่วน เรื่องการแสดงความคิดเห็น ใน ม.ธรรมศาสตร์ เวลามีจัดเสวนา เราก็ไปดู แต่เราไม่มีการดำเนินคดีต่างๆ เพราะเป็นเรื่องทางวิชาการ แต่การดำเนินคดีเกิดจากการออกมาบนพื้นที่สาธารณะ ทางท้องถนน ซึ่งมีความเปราะบาง อาจมีมวลชนอื่น แนวร่วมอื่น นี่เป็นจุดหลักที่เราแจ้งความดำเนินคดี

รังสิมันต์ : ประเด็นใหญ่วันนี้เป็นเรื่องดุลพินิจ ผมคงไม่ตำหนิท่าน เพราะบอกไม่ได้เกิดจากมูลเหตุจูงใจส่วนตัว แต่ท่านต้องไปให้การในฐานะพยานในคดีต่างๆ ถ้าท่านจะเปลี่ยนแปลงคำให้การก็ได้ ลองใช้ดุลพินิจของท่านดู แต่อยากถามว่าทุกครั้งที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ จับกุมคนต่างๆ เวลากลับบ้าน ท่านสามารถนอนหลับหรือไม่เมื่อฟังจากผู้ร้องซึ่งได้รับความลำบากทุกข์ทรมาน

พล.ต.บุรินทร์ : การมาบอกให้ผมปฏิบัติหน้าที่และเปลี่ยนแปลงได้ ถ้ากมธ. ใช้อำนาจแบบนี้จะเสียหายนะครับ เพราะผมต้องปฏิบัติตามข้อเท็จจริง ไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลง ใช้อารมณ์หลังมาพบท่านนะครับ

ภายหลังการประชุม กมธ.เสร็จสิ้นลง นายรังสิมันต์ แถลงว่า ทางผู้ร้องเตรียมเดินหน้าเพื่อนำไปสู่การเชิญตัว ผบ.ทบ. ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมาชี้แจงกับ กมธ.ชุดนี้ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน