‘แฟลชม็อบ’สัญญาณเปลี่ยนแปลง?

รายงานพิเศษ การเมือง

‘แฟลชม็อบ’ : หลังจากพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) นำโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค จัดชุมนุมแสดงพลังหรือแฟลชม็อบที่สกายวอล์ก หน้าหอศิลป์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. เพื่อส่งสัญญาณถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคจากกรณีพรรคกู้เงิน 191 ล้านบาทจากนายธนาธร และประกาศนัดชุมนุมรอบสองในเดือนม.ค.2563

มีการแสดงความเห็นจากนักวิชาการ และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ดังนี้

 

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

เป้าหมายของพรรคอนาคตใหม่ในการจัดแฟลชม็อบ อาจจะคิดว่าการต่อสู้ในระบอบรัฐสภาคงเป็นไปไม่ได้แล้ว หากเขาถูกยุบพรรค จะมองว่าเป็นการต่อรองก็ได้ ในเมื่อเขาสามารถปลุกม็อบได้ขนาดนี้แล้ว เหมือนต้อนให้จนตรอก และถ้ารอผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาแล้วเขาจะต่อสู้อย่างไร

การที่เขาประกาศทันทีที่กกต.ส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญ นายธนากรก็โดดลงมาเลย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าถ้ายุบพรรค เขาก็ไม่มีทางเลือกอื่น การชุมนุมครั้งแรกถือว่าจุดติด ซึ่งผมค่อนข้างเชื่อว่าไม่ต่างจากฮ่องกง

คนที่มาแฟลชม็อบหลากหลายมาก แสดงว่าคนไม่ไหวแล้ว ฝ่ายที่รู้สึกว่าไม่ไหวแล้วกับการกระทำของรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจคสช.ผ่านมา 5 ปี แต่ต้องการอยู่ไปอีกนานเท่านาน

ท่าทีนายกฯ ดูจะรู้ว่าอยู่ไปให้ยาวนานที่สุด ไม่ใช่อยู่วาระเดียวแล้ว และท่าทีส.ว.ชัดเจน ลิ้วล้อออกมาแต่ละคนไม่ว่าจะอย่างไรขอตายตรงนั้นเลย เหมือนหนูตกถังข้าวสาร เป็นการประกันให้รัฐบาลว่าไม่ว่าจะอย่างไรก็ชนะตลอด

คนไทยที่ทนไม่ได้มีหลายพรรค หลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นแดง เหลือง แม้กระทั่งนกหวีดก็ไม่ทน นักวิชาการก็ทำนายมาแล้วว่าเศรษฐกิจปีหน้าเผาจริง ถ้ารัฐบาลนี้อยู่ต่อไปพัง 100 เปอร์เซ็นต์

โดยสามัญสำนึกแล้วไม่อยากเห็นความรุนแรง อยากให้สู้โดยระบบ แต่กติกาควรแฟร์และยุติธรรมกว่านี้ องค์กรอิสระควรรู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำเพื่อรักษาความพอดี ความสมดุลบ้าง ไม่ใช่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากกว่าจนขี่คอหรือเหยียบหัวกัน

แต่ปรากฏว่าเป็นไปตามที่คาดการณ์ว่าผลจะออกมาอย่างนั้น กรณีของพรรคอนาคตใหม่ หากไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย เชื่อว่า ยุบพรรคแน่นอน

การนัดชุมนุมรอบสองในเดือนม.ค.2563 อาจจะมีมือที่ 3 เข้ามาแทรก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว อาจจะมีคนตัดสินใจคิดแบบเถื่อนๆ ที่คิดว่าอยากให้บ้านเมืองปกครองแบบนี้ต่อไป อาจจะใช้แกนนำหลักของรัฐบาล แต่เป็นผู้มีอำนาจอยู่ในมือ ถ้าเห็นว่าวุ่นวายมาก ก็ต้องยึดอำนาจ ปฏิวัติซ้อนอีกที โดยอ้างพรรคอนาคตใหม่และเพื่อไทยสร้างความวุ่นวาย จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจกลับมา แต่คงไม่ง่ายเหมือนคราวที่แล้ว

ถ้าใครจะทำอย่างนี้ก็ควรคิดให้ดี อย่าลืมว่าคนไทยถ้ารู้สึกทนไม่ไหว และตัวอย่างในอดีตก็มี เพราะไม่ใช่แค่ปฏิวัติ แต่ความรุนแรงจะมีมากขึ้นเหมือน 14 ตุลาฯ

หากพรรคอนาคตใหม่จะชุมนุมอีก ควรชุมนุมโดยสันติวิธี อย่าใช้ความรุนแรง พยายามหลีกเลี่ยงความรุนแรงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากเป็นฝ่ายถูกกระทำก็พยายามอย่าไปตอบโต้ ต้องใช้วิธีอหิงสา อดทน เชื่อว่าคนรุ่นใหม่มีสติปัญญา ฉลาดหลักแหลมมากกว่าคนรุ่นพวกผม และอย่าลืมว่าคนที่ไปชุมนุมวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่อนาคตใหม่เท่านั้น

ส่วนรัฐบาลควรย้อนกลับไปทบทวนว่าอะไรทำมา แล้วไม่ถูก แล้วแก้ไข เล่นตามกติกา อย่างสุภาพบุรุษ รู้จักหรือไม่ความเป็นธรรม ความยุติธรรมคืออะไร ควรมีจิตสำนึกบ้าง

ไม่ใช่ผูกขาดว่าเป็นคนชังชาติไปหมด และควรรู้ว่าคนรุ่นใหม่ที่มาชุมนุม เป็นรุ่นลูกรุ่นหลานแล้ว

‘แฟลชม็อบ’

 

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เมื่อสังคมถูกกดกัด และเกิดความเก็บกดมาก จึงมีปฏิกิริยาโต้ตอบ

ยิ่งเป็นสังคมที่อยู่ในระยะต้องต่อสู้ เปลี่ยนผ่านอำนาจนิยมไปสู่ประชาธิปไตยด้วยการเชื่อว่ากระบวนการเลือกตั้งจะนำไปสู่ประชาธิปไตยได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วมัน ไม่เกิดขึ้น มีการใช้อำนาจไปทำร้ายกันทางการเมืองมากขึ้น

ฉะนั้นปฏิกิริยาที่ออกมาด้วยการจัดการ ชุมนุมขึ้นแม้เป็นระยะสั้นก็ตาม แต่เป็นสิ่งที่สังคมต้องแปลผลตรงนี้ให้ถูกต้องว่าเป็นการแสดงออกของสังคม อย่างสงบและสันติวิธี ถ้าแปลผลผิดก็เป็นเรื่องความไม่สงบ จะกลับไปในวงจรอุบาทว์ของความรุนแรง แตกแยกของสังคม

เป้าหมายของการชุมนุมครั้งนี้ต้องยอมรับว่า มีหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่ารัฐบาลที่ผ่านมาหรือแม้แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือก ตั้งเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมาไม่ประสบผลสำเร็จในเรื่องการบริหารราชการ ปัญหาที่ใหญ่สุดคือ ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งหลังการเลือกตั้งทุกอย่างน่าจะเรียกความเชื่อมั่นด้านประชาธิปไตยกลับ คืนมา แต่กลับถูกทำลายลงไป

เรื่องนี้น่าเป็นห่วงว่าถ้าแก้สัญญาณ อันตรายเหล่านี้ไม่ถูก อย่างที่มีการไปแปลกันว่าเรื่องม็อบมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง มีคนต่างชาติสนับสนุน และมีการเชื่อมโยงกับการชุมนุมที่ฮ่องกง

ส่วนแฟลชม็อบรอบสองนั้น ต้องเข้าใจว่าอะไรเป็นสัญญาณออกมาตอนนี้ เชื่อว่าจะขยายวงกว้างของความขัดแย้งมากขึ้น เพราะจะไม่ใช่เป็นเรื่องภายในของการเมือง แต่กลายเป็นเรื่องของภาคประชาชนที่ทำให้เกิดปัญหามากขึ้น ฉะนั้นปัญหาจะไม่ได้เกิดจากคนที่มาชุมนุม หรือนายธนาธร แต่ปัญหาเกิดจากรัฐบาล

โดยการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวนั้นสรุปบทเรียน ที่มาผ่านได้ดี มองว่ามีความคิดที่ฉลาด รู้ว่าในขณะที่ตนเองมีเพียงมือเปล่า ปาก ก็ต้องให้สังคมได้รับรู้ด้วยการแสดงออก แต่คงไม่คิดไปสู้กับปืนหรือใช้ความรุนแรง

ดังนั้นความเข้มข้นของการชุมนุมจะเป็น อย่างไร เชื่อว่าเขาคงมีแนวทางในการทำงาน อีกทั้งเชื่อว่าผู้ชุมนุมครั้งนี้มีความรอบคอบ มียุทธศาสตร์ของการขับเคลื่อนได้ดี

รัฐบาลต้องตระหนักว่านี่ไม่ใช่เรื่องการ ชุมนุมเหมือนพันธมิตร กปปส.เท่านั้น ครั้งนี้เป็นสัญญาณให้เห็นว่าความขัดแย้งของประเทศไทยยังไม่สิ้นสุด ต้องคิดว่าที่ผ่านมาได้รับบทเรียน สงครามการเมือง ความรุนแรง แต่อย่าไปโทษว่าเป็นความผิดของใคร เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันคิดว่าจะไม่ถลำตัวไปสู่การใช้ความรุนแรง

แม้จะเห็นการขับเคลื่อนของหนุ่มสาว แต่รัฐบาลต้องมองว่าเป็นบทเรียน อย่าไปปราบด้วยความรุนแรง เพราะไม่เกิดประโยชน์ แต่จะทำให้ปัญหายืดเยื้อและทำลายบ้านเมืองมากขึ้น

 

โคทม อารียา
ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล

เรื่องนี้เป็นการต่อสู้ทางการเมือง ถ้าแต่ละฝ่ายไม่มีกิริยาในสัดส่วนที่พึงมี คือ คนหนึ่งมีปฏิกิริยาอย่างนี้และมีปฏิกิริยาตอบสนอง ก็ไปไกลใหญ่เลย แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างระมัดระวังพอสมควร โดยให้กิริยาและปฏิกิริยาอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม ก็พอประคับประคองได้

แฟลชม็อบถือเป็นการส่งสัญญาณจากพรรคอนาคตใหม่ และนายธนาธร ถึงกกต.

ส่วนจะเป็นปฏิกิริยาที่นายธนาธรต้องการแก้ ปัญหาตัวเอง หรือต่อรองกับผู้มีอำนาจก็ไม่ทราบ แต่ในความรู้สึกทั่วไปถือว่าเป็นปฏิกิริยา ต่อกิริยาของกกต. เป็นสัญญาณบอกว่ากกต.ทำเกินไป

ส่วนกกต.จะฟังหรือเปล่าผมไม่รู้ ถ้ากกต.รับสัญญาณไปก็ไม่ว่ากัน เขาจะถอยหรือรุกหนักขึ้นไปอีก ก็ต้องส่งสัญญาณอีกแล้ว ที่ส่งไปยังไม่ชัดเจน ก็ต้องส่งอีก เพราะเป็นการต่อสู้ทางการเมือง

การนัดชุมนุมครั้งที่สองก็จะซับซ้อนขึ้น เพราะสัญญาหรือข้อความอย่างที่หลายคนได้ยินแว่วๆ กันว่า ในวันที่ 12 ม.ค.2563 จะมีการวิ่งไล่ยุง หรือวิ่งไล่ลุง ซึ่งการวิ่งไล่ยุงก็เหมือนว่า อยู่เฉยๆ แล้วมีอะไรมารบกวนก็ต้องไล่ไป ส่วนวิ่งไล่ลุงนั้นชัดเจนว่า เมื่อไหร่ลุงจะไปสักที และอาจเกิดปฏิกิริยาวิ่งตามลุง

ถ้าสรุปให้ง่ายการวิ่งไล่ยุงหรือไล่ลุงจะ เป็นคนละข้อความกับการแสดงปฏิกิริยาของพรรคอนาคตใหม่ที่มีต่อการกระทำขอ งกกต. ดังนั้นข้อความใหม่คือถ้าไล่ยุงก็ไล่ความน่ารำคาญ ถ้าไล่ลุงคือ ความน่ารำคาญที่ไปอยู่ที่คนใดคนหนึ่ง

ถามว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ได้หรือไม่ ก็ต้องย้อนถามกลับว่าเปลี่ยนอย่างไร ถ้าเปลี่ยนรัฐบาลเรื่องอะไรเขาจะยอมเปลี่ยน เพราะถ้ากิริยาและปฏิกิริยาอยู่ในระดับหนึ่งที่พอเหมาะพอสม เหมือนขนมพอสมน้ำยาก็จะกลมกล่อม แต่ถ้าเลยไปมากมาย ก็ไม่อยากให้เลยไปถึงขนาดนั้น ขอให้พิจารณากันดู ไม่มีอะไรที่จะไปกระทบถึงรัฐบาล

แต่ถ้าจะไม่ทำอะไรเสียเลยคงลำบาก คือ ทั้งสองฝ่ายต้องทำอะไรบ้าง ในเมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว เหมือนมาเผชิญหน้ากันมากขึ้นแล้ว จะหาลู่ทางอย่างไรต่อไปก็แล้วแต่ตัวละครเอกทั้งหลายจะคิดกันต่อไป

ถ้าให้ผมเสนอแนะ คิดว่าเรื่องยุบพรรคอย่าทำเลย เพราะทำให้ลำบากที่จะต้องไปตั้งพรรคใหม่ ไปต่อสู้ในสังเวียนใหม่ เพราะเขาก็ต่อสู้อยู่ในเวทีนี้อยู่แล้ว อย่าไปเชื้อเชิญให้เหมือนเมื่อก่อนที่มีการจับอาวุธต่อสู้ แต่ให้เป็นการต่อสู้ทางการเมืองโดยเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้สู้กันไม่ได้ เสียหายอะไรมาก ไม่ใช่จับอาวุธขึ้นมาต่อสู้แล้วยึดอำนาจกัน

ส่วนข้อแนะนำถัดไป สัญญาณที่บอกว่าวิ่งไล่ลุงตู่ ก็ไม่มีอะไรถ้าจัดการได้ในระดับหนึ่ง คือพยายามดูแลเรื่องเศรษฐกิจปากท้องได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ดูแลอยู่ บอกได้ว่าไม่ได้สมบูรณ์อะไร แต่ก็พอไปได้ ถึงแม้จะไม่ได้รวดเร็วนัก อะไรที่โม้ไว้ ก็อย่าไปโม้ให้มากเพราะมันจะตีกลับมา ควรยอมรับสภาพบางอย่างว่าเป็นอย่างนี้อย่างนั้น เหมือนในยุคหาเสียงที่บอกว่าจะให้ค่าจ้างขั้นต่ำ 400 กว่าบาท ก็กลายเป็นจุดอ่อนเสียแล้ว

ความจริง ยุง กับ ลุง บางทีมองไปก็มีความเหมือนคืออย่าให้เป็นจุดที่ทำให้เกิดความระคายเคือง อะไรที่ระคายเคืองก็ช่วยกันปัดเป่า

‘แฟลชม็อบ’

 

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ
ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า

การจัดแฟลชม็อบของนายธนาธร เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา ส่วนตัวเห็นว่าไม่ได้ต้องการออกมาต่อรองเรื่องของตัวเอง เพียงแต่ต้องการแสดงออกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม และต้องการสื่อสารให้สังคมรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

เป็นแฟลชม็อบที่มีลักษณะคล้ายกับที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสและฮ่องกงในขณะนี้ เป็นการนัดวัน เวลา ใช้เวลาชุมนุมกันไม่นานและสลายตัวอย่างรวดเร็ว

แฟลชม็อบที่เกิดขึ้นในไทยอาจส่งผลรบกวนจิตใจผู้มีอำนาจได้ในระดับหนึ่ง เป็นการส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลได้บ้าง

ส่วนที่นายธนาธรนัดจัดแฟลชม็อบอีกครั้งใน ช่วงต้นปี 2563 นั้น ทางผู้จัดอาจต้องระมัดระวังมากพอสมควร โดยเฉพาะต้องระวังเรื่องมือที่สามหรือเกิดการแทรกแซงขึ้นได้ เพราะหากชุมนุมจนถึงขั้นเกิดเหตุกระทบกระทั่งจนนำไปสู่ความรุนแรงหรือการใช้ กำลัง อาจจะไม่เป็นผลดีต่อผู้ชุมนุม

ที่สำคัญต้องระวังเรื่องการบังคับใช้กฎหมายด้วย เพราะปัจจุบันมีพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งอาจถูกนำมาใช้ในการดำเนินคดีได้

มองว่าแฟลชม็อบดังกล่าวอาจจะเขย่ารัฐบาลได้บ้าง แต่คงไม่สามารถชุมนุมกดดันรัฐบาลไปจนถึงขั้นล้ม หรือเปลี่ยนแปลงรัฐบาลปัจจุบันได้ตราบใดที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง แต่อาจจะสร้างความกังวลใจให้กับผู้นำ ทำให้การบริหารจัดการยากลำบากขึ้น แต่หากมีมือที่สาม ที่เข้ามาปั่นป่วนก็ต้องระวังเรื่องความรุนแรง

สิ่งที่สำคัญคือทั้งผู้ชุมนุมและรัฐบาล ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ผู้ชุมนุมต้องชุมนุมด้วยความสงบ ขณะที่รัฐบาลก็ไม่มีกฎหมายพิเศษแล้วต้องระวังการบังคับใช้กฎหมาย

ทั้งสองฝ่ายต้องอดทน ไม่ใช้ความรุนแรงจนเกิดเหตุกระทบกระทั่งแล้วนำไปสู่ความเสียหายของบ้านเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน