รัฐบาลช่วยด้วย 3 ม็อบชาวบ้าน ล้อมกระทรวงเกษตรฯ เดือดร้อนทำประมง ขู่ นำหมื่นคน ปักหลักยาว

17 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ขณะนี้หน้ากระทรวงเกษตรฯ มีการชุมนุมจากเกษตรกร 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเครือข่ายหนี้สินเกษตรกร ที่มาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือในการแก้ปัญหาหนี้สิน ,กลุ่มเขื่อนราษีไศล และกลุ่มชาวประมง ทั้งหมดมาขอความช่วยเหลือจากกระทรวงเกษตรฯในการช่วยเหลือ และขจัดปัญหาที่ประสบความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพ

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้นำชาวประมง ผู้ประกอบการแพปลา ร้านอาหาร และธุรกิจต่อเนื่องประมง ประมาณ 8,000-10,000 คนมาชุมนุมเรียกร้อง เพื่อขอความชัดเจนในการแก้ปัญหาให้กับชาวประมง โดยขอรับทราบรายละเอียดของไทม์ไลน์ การทำงานทั้งเรื่องของการแก้กฏหมาย การช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องของชาวประมง การลดอุปสรรคในการทำงาน โดยขอความชัดเจนใน 11 ข้อ ที่เคยเรียกร้องไว้

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมาหน่วยราชการต่างๆ ได้ออกกฎ ระเบียบ ประกาศและมาตรการต่างๆ มาบังคับใช้กับชาวประมง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพประมง ตลอดจนห่วงโซ่ธุรกิจ จนทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องเลิกอาชีพ เพราะประสบกับสภาวะขาดทุน มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ขาดแรงงาน ทั้งที่ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการปลดใบเหลืองออกจากสหภาพยุโรป(อียู) โดยการแก้ปัญหาการประมงที่ผิดกฏหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู)

ที่ผ่านมา รัฐบาลนี้ที่มี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มอบงาน ให้กับนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรฯดำเนินการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ โดยนายเฉลิมชัย มอบหมายงานให้นายอลงกรณ์ แต่อำนาจนายอลงกรณ์ในการทำงานไม่มี ทุกอย่างผ่านมา 5 เดือนกว่าแล้ว ยังไม่มีอะไรคืบหน้าในการช่วยเหลือชาวประมงแต่อย่างใด

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

“ชาวประมง และผู้ประกอบการต่อเนื่อง มีความเดือดร้อนจากการปัญหา ไอยูยู ตลอดเวลา 5 ปี แต่ปัจจุบันผลของการแก้ปัญหาไม่ได้เกิดผล รัฐบาลใหม่มาไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือแก้ปัญหา ดังนั้นในวันนี้ หากไม่ได้พบกับ นายเฉลิมชัย และรับได้ความชัดเจนในการทำงานเพื่อช่วยเหลือชาวประมงอย่างจริงใจ ชาวประมงเกือบ 1 หมื่นคนจะนอนพักยาวที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้คุยกับตำรวจของพื้นที่ในช่วงของสะพานพระราม 8 เพื่อให้ชาวประมงคักค้างแรม เพื่อรอรัฐมนตรีให้ความชัดเจนในการช่วยเหลือ”

สำหรับข้อเรียกร้อง 11 ข้อ ของชาวประมงมีดังนี้

  • 1. ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการประมงทั้งหมดหยุคออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวประมงมาเพิ่มเติมขึ้นอีก (ยกเว้นการออกกฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งที่ผ่อนคลายปัญหาให้กับชาวประมง)
  • 2. ขอให้มีการเสนอแก้ไขกฎหมายพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยเร่งด่วนในช่วงที่มีการประชุมสภานิติบัญญัตินี้,
  • 3. ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการการซื้อเรือประมงออกนอกระบบคืนโดยเร็ว โดยขอให้รัฐบาลมีการตั้งงบประมาณจำนวน 1 หมื่นล้าน ในปีงบประมาณ 2563 ในการที่จะนำเรือประมงออกนอกระบบ
  • 4. ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการช่วยเหลือชาวประมง ในโครงการสินเชื่อ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับชาวประมงโดยเร่งด่วน ภายในเดือนธันวาคม 2562
  • 5. ขอให้กรมประมง กรมจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการอนุญาตให้ใช้กฎหมายมาตรา 83 แห่ง พรก.การประมง พ.ศ. 2558 ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมง โดยเร่งด่วนภายในเดือนธันวาคม 2562,
  • 6. ขอให้ยกเลิก แก้ไข กฎ ระเบียบต่างๆ ที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติของกรมสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงาน ที่ส่งผลกระทบกับชาวประมงที่เป็นอยู่โดยเร็ว
  • 7. เรือประมงที่มีขนาดไม่เกิน 30 ตันกรอส ไม่ควรมีนโยบายให้ติด VMS เช่น การชักชวนให้เรือประมงขนาดต่ำกว่า 30 ตันกรอส ทดลองติด VMS ฟรี
  • 8. ขอให้หยุดการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศโดยทันที ด้วยเหตุผลไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามพระราชกำหนดประมง พ.ศ.2558 มาตรา 92 ซึ่งการนำเข้าสัตว์น้ำจะต้องมีการตรวจสอบว่า สัตว์น้ำเหล่านั้นได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามมาตรา 92 วรรคสองและวรรคสาม สินค้าประมงจากต่างประเทศ จึงเข้ามาถล่มตลาดสินค้าสัตว์น้ำของชาวประมงไทยที่ทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำให้ต้นทุนสูงกว่า ราคาจึงตกต่ำ เพราะมีการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำแบบเสรี ไร้การควบคุม มาสต๊อกไว้เต็มห้องเย็นหมดแล้ว ดังนั้นจึงต้องแก้ไขระเบียบกรมประมงเดิมที่อนุญาตให้บุคคลธรรมดา สามารถนำเข้าสัตว์น้ำได้เสรี มีมาตรการปกป้องสินค้าสัตว์น้ำภายในประเทศ
  • 9. ขอให้พิจารณาเพิ่มวันทำการประมงให้กับพี่น้องชาวประมงทั้งประเทศโดยเร่งด่วน เพราะทำให้เกิดปัญหาการประกอบอาชีพขาดทุนมา 4-5 ปีแล้ว เนื่องจากมีการกำหนดให้ทำการประมงได้ไม่ทั้งปี แต่ต้องมีรายจ่ายค่าจ้างแรงงานตลอดทั้งปี
  • 10. ขอให้คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมง ในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร ทบทวนแนวทางที่จะบังคับให้บริษัทจำหน่ายน้ำมันบังคับให้ชาวประมง ต้องจ่ายเงินผ่านบัตรฟรีทการ์ด (Fleet Card) ซึ่งจะทำให้สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงเพิ่มขึ้นทันที
  • 11. ขอให้มีการทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวชาวประมง กรณีที่ถูกบังคับใช้จากกฎหมายประมงที่ไม่เป็นธรรม โดยการตั้งคณะกรรมการพิจารณาผู้ได้รับผลกระทบ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน