ปราบโกง ปราบสื่อ

ใบตองแห้ง

โพลนิยมรัฐบาลปราบโกง แค่บ่นเรื่องปากท้อง แต่ก็ซื้อเรือดำน้ำมากระตุ้นเศรษฐกิจแล้วไง

ทำไมคนชื่นชอบว่าปราบโกง ก็เพราะ ม.44 ใช้ทันใจ อำนาจเบ็ดเสร็จที่ปฏิเสธไม่ได้ มีเรื่องอื้อฉาวก็ปลดย้าย ลงโทษโดยไม่ต้องรอขั้นตอน จัดระเบียบสังคม ควบคุมทุกคนอยู่ในความสงบ “เคารพกฎหมาย” คนส่วนใหญ่พอใจ มีแค่คนส่วนน้อยที่โวยวาย

มีรัฐธรรมนูญแล้ว เรากำลังจะไปสู่เลือกตั้ง ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ อย่าปั่นป่วนวุ่นวาย ใครไปยื่นหนังสือทวงหมุดคณะราษฎร ใครไปยื่นหนังสือให้ถอนหมุดหน้าใส ก็ต้องคุมตัวเข้าค่าย กลุ่มรักษ์เชียงของค้านจีนสำรวจแม่น้ำโขง ก็ถูก มทบ.เชิญปรับความเข้าใจ

นี่สิ ประชาธิปไตย เข้าใจเสียใหม่ ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ต้องมีกฎหมายควบคุมสื่อ ต้องมีกฎหมายดักฟัง ต้องมีพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ทั้งยังจะขยายอำนาจ กสทช.ไปควบคุมเฟซบุ๊กไลฟ์ ไลน์ทีวี ยูทูบ

ไม่ได้ต่างอะไรกับกฎหมายควบคุมพรรคการเมือง ควบคุมการเลือกตั้ง หรือควบคุมยุทธศาสตร์ชาติ ให้ 5 ผบ.เหล่าทัพนั่งซูเปอร์บอร์ด พร้อมกับเป็น ส.ว.แต่งตั้ง ซึ่งมีอำนาจเล่นงานรัฐบาลหากไม่ทำตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้

ยุทธศาสตร์ชาติ 75 ปี อันนี้ขำๆ เพราะให้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ 14 คนที่มีอายุไม่เกิน 75 ปี อยู่ในวาระคราวละ 5 ปี ถ้าไม่พ้นตำแหน่งเพราะตายเสียก่อน

การปราบโกงในยุค คสช.มีผลงานเป็นรูปธรรมแค่ไหน วันก่อนผมไปร่วมงาน TDRI เขาสรุปผลงานให้ฟังอย่างน่าทึ่งว่า รัฐบาลนี้ได้ออกกฎหมายหลายฉบับที่รัฐบาลเลือกตั้งไม่ยอมทำ เช่น กฎหมายควบคุมจัดซื้อจัดจ้างโดยกรมบัญชีกลาง ข้อตกลงคุณธรรม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก บทลงโทษการให้สินบน รวมทั้งศาลทุจริต

แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีหลายเรื่องไม่บรรลุ เช่น แก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารให้เปิดกว้างฉับไว การปฏิรูปสื่อให้เป็นอิสระ แก้กฎหมายหมิ่นประมาทให้ร้องเรียนเปิดโปงได้ รวมไปถึงระบบแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ที่ต้องรื้อล้างระบบอุปถัมภ์

ถ้ายังจำได้ สนช.เคยออกรายงานชำแหละระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทย ซึ่งเป็นต้นทางคอร์รัปชั่น ท่านประธานเป็นอดีตนายทหารเรือตงฉิน บอกว่าแม้แต่ทหารก็มีปัญหา ผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งโยกย้ายตามอำเภอใจ

ที่ มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น ใช้คำว่า “เล่นพวก” ก็คือส่วนหนึ่งของระบบอุปถัมภ์ ซึ่งถ้าใช้คำพูดสวยหน่อยก็ “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” ในด้านกลับกันมันคือ “ข้อตกลงคุณธรรมแห่งอำนาจ” ไม่มีน้อง ไม่มีนาย ไม่มีพวก เป็นคนดีแค่ไหนก็ไม่สามารถเข้าสู่อำนาจ

รัฐบาล คสช.จริงใจปราบโกงไหม จริงสิครับ ถ้าดูตามกฎหมายที่ออกมา คือท่านคิดจะวางระบอบรัฐราชการที่มีประสิทธิภาพ จัดซื้อจัดจ้างโปร่งใส ใครโกงมึงตาย! ศาลทุจริตสั่งติดคุก 66 ปี 245 ปี โห นี่มัน Good Governance ชัดๆ

แต่ในขณะเดียวกัน แทนที่จะเปิดกว้างข้อมูลข่าวสาร ให้เสรีภาพสื่อ เปิดพื้นที่วิพากษ์วิจารณ์ เรากลับเห็นด้านตรงข้าม เห็น พ.ร.บ.สื่อ พ.ร.บ.คอมพ์ มาตรการคุมเข้มต่างๆ กระทั่งชาวบ้านบ่นตำรวจลงเฟซบุ๊ก ก็อาจโทษหนักฐานหมิ่นเจ้าพนักงาน

มองภาพกว้าง นี่คือการสถาปนา “รัฐแห่งความมั่นคง” รัฐราชการเป็นใหญ่ ที่มีกองทัพเป็นเสาค้ำ นำประเทศไปชั่วกัลปาวสาน มีเลือกตั้งเป็นพิธีกรรม มีนักการเมืองเป็นไม้ประดับ เสรีภาพสื่อ เสรีภาพประชาชนถูกจำกัด แต่รัฐจะให้มีส่วนร่วมแบบ “จิตอาสา” ปลูกป่า เก็บขยะ ฯลฯ

รัฐแห่งความมั่นคงจะเฟ้นหาคนดีที่สังคมเชื่อถือ ผลัดกันมาเป็นผู้นำ จะเข้มงวดควบคุมข้าราชการ ข้าของแผ่นดิน ให้ทำงานแข็งขัน ไม่โกง ไม่อยู่ใต้นักการเมืองที่ประชาชนเลือกตั้ง ประเทศจะเดินไปตามคำมั่นสัญญา โดยมี 5 ผบ.เหล่าทัพเป็นหลักประกัน

ขอเพียงชาวบ้านอย่าถาม ว่าโครงสร้างส่วนบนของอำนาจยังมีการ “เล่นพวก” หรือระบบอุปถัมภ์ไหม ถ้าคนระดับนำยังอยู่ในระบบอุปถัมภ์ แล้วไปเข้มงวดปราบโกงระดับล่าง จะมีประโยชน์อะไร

แต่ระบอบนี้ไม่ใช่หรือ ที่สื่อกระแสหลัก คนชั้นกลางระดับบน คนมั่งมี เรียกร้องต้องการ อุตส่าห์เป่านกหวีดไม่เอาเลือกตั้ง เอาระบอบปกครองด้วยคนดี ก็ต้องเข้าใจสิ ว่าระบอบคนดีไม่ต้องการให้มีเสรีภาพ เพราะจะทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย ไม่สงบ ระบอบคนดีต้องรวบอำนาจ เพื่อขจัดคนโกง ระบอบคนดีต้องมีกฎหมายคุมสื่อ จัดระเบียบสื่อ แบบสิงคโปร์ ถึงจะทำให้ประเทศเจริญ

เมื่อยอมรับระบอบนี้ ก็ต้องรับทั้งหมด ไม่ใช่ด่านักการเมือง เชียร์ ส.ว.แต่งตั้ง เชียร์นายกฯ คนนอก เชียร์ลุงตู่อยู่นาน ฯลฯ แต่พอบอกทุกคนต้องถูกจำกัดเสรีภาพ กลับโวยวาย ไม่เข้าใจหรือไงว่า คุณเรียกหาระบอบรวบอำนาจมาเอง

(หน้า 6)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน