สปท.ไม่แคร์โหวตท่วมท้นผ่านแล้วพ.ร.บ.คุมสื่อหลังถกนาน 8 ชั่วโมง เผยสายตำรวจ- ทหารโหวตเห็นชอบอื้อ กมธ.ยอมตัดทิ้ง ใบประกอบวิชาชีพสื่อ ให้ใช้ใบรับรองจากต้นสังกัดแทน ตัดบทลงโทษออกหมด ระบุเพจดังอยู่ในข่ายสื่อมวลชนด้วย สภาการหนังสือพิมพ์โวยโดนแอบอ้างชื่อไปเป็นกก.สภาวิชาชีพสื่อฯ ด้านกมธ.พรรคการเมืองแขวน 2 มาตรา แก้ไขให้หัวหน้าพรรคแจ้งสมาชิกทราบหากลงทะเบียนซ้ำ ตัวแทน 19 พรรคเล็กบุกยื่นสนช. หั่นทุนประเดิม 1 ล้าน-ค่าสมาชิกรายชื่อ “เทือก”เผยเพิ่งไปกินข้าวกับ”มาร์ค” เปิดทางกปปส.กลับเข้าปชป. ยันไม่มีปัญหาบาดหมางกัน ขณะที่ทร.แถลง ซื้อเรือดำน้ำหยวนคลาสจากจีน ยันพิจารณารอบคอบ คุ้มค่า โปร่งใส ไม่หวั่นการเมืองปลด-ล้มโครงการ เตรียมลงนามจีนในเดือนพ.ค.นี้

นักข่าวรวมพลังค้านกม.คุมสื่อ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า หลังจากที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สภา ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ ผลักดันพิจารณาเข้าสู่วาระการพิจารณาสปท.ในวันนี้ ปรากฏว่าตั้งแต่ช่วงเช้า สื่อมวลชนประจำรัฐสภาทุกแขนงได้พร้อมใจกันใส่ เสื้อสัญลักษณ์คัดค้านร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ… โดยเป็นเสื้อสีขาวมีภาพชูมือสีดำกำโซ่ปลดปล่อย นกพิราบ มีข้อความใต้ภาพว่า “หยุดตีทะเบียนสื่อครอบงำประชาชน” เพื่อแสดงพลังคัดค้านไปถึงรัฐและสปท. เพื่อขอคัดค้าน และให้สปท.ถอนร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวออกไปก่อน พร้อมชูป้ายแสดงสัญลักษณ์ดังกล่าวด้วย

ยื่นสปท.จี้ยกเลิกการพิจารณา

ต่อมาเวลา 09.30 น. ที่ห้องโถง อาคารรัฐสภา 1 ตัวแทนนักข่าวและสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นำโดยนายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคม และสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง ได้ยื่นหนังสือคัดค้าน และขอให้ยกเลิกร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ผ่านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. คนที่ 1 ก่อนมีการประชุมสปท.

ด้านนายอลงกรณ์กล่าวภายหลังการรับหนังสือว่า การเสนอกฎหมายต้องรับฟังความเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 คือต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่าสปท.ไม่มีเจตนาครอบงำแทรกแซงสื่อมวลชน แต่การปฏิรูปสื่อเป็นหนึ่งในภารกิจการปฏิรูปเร่งด่วน โดยต้องให้สื่อปลอดจากการครอบงำจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน และยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศ และส่วนรวมเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ตนขอให้สื่อดูผลสรุปการประชุมสปท.ใน วันนี้ว่าจะออกมาอย่างไร

สภานสพ.โวยถูกแอบอ้างชื่อ

ด้านนายชาย ปถะคามินทร์ เลขาธิการ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ตามเนื้อหาที่ปรากฏว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ไปเป็น 1 ในคณะกรรมการเพื่อเตรียมการ จัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาตินั้น สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ขอแจ้งว่า การนำชื่อตำแหน่งและชื่อองค์กรสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ไปใส่ไว้ในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยไม่มีการหารือหรือได้รับความยินยอมจากสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ซึ่งอาจขัดหรือแย้ง ต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 60 และเรา ขอยืนยันจุดยืนในการคัดค้านร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ เนื่องจากมีเนื้อหาจำกัดเสรีภาพใน การแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ซึ่งไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

กมธ.ยอมถอยตัดม.91-92

จากนั้นเวลา 09.45 น. ที่รัฐสภา มีการ ประชุมสปท. มี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสปท. เป็นประธานการประชุม พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ด้านสื่อมวลชน เรื่องร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวล พ.ศ… และร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่..) พ.ศ… โดยร.อ.ทินพันธุ์กล่าวว่า ตนเห็นด้วยว่าสื่อมวลชนควรมีใบ รับรองการประกอบวิชาชีพ เพื่อจะได้ดูแลและควบคุมกันเองได้ แต่ต้องฟังความเห็นของที่ประชุมว่าจะเอาอย่างไร

พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกมธ.ด้านสื่อมวลชน กล่าวว่า เมื่อเวลา 08.30 น. กมธ.ได้ประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณาปม ขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งตนมองว่าด้วยความหวังดี ของกมธ. และสื่อที่มีความหวังดี มี 2 ประเด็นที่ขัดแย้งกันคือ เรื่องใบอนุญาตของผู้ประกอบการ ซึ่งมีหน่วยงานดูแลอยู่แล้ว แต่ที่กมธ.ใส่ไว้ในร่าง พ.ร.บ.คือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งที่ประชุมมีมติเสียง ข้างมาก ให้เปลี่ยนเป็นใบรับรองหรือบัตรประจำตัว ออกโดยเจ้าของสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือเคเบิล จะทำให้มีการปรับมาตราในร่างพ.ร.บ. โดยตัดมาตรา 91, 92 เกี่ยวกับบทลงโทษ จะไม่มีบทลงโทษแล้ว รวมทั้งมาตรา 99 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล ที่กมธ.เสนอช่วงเปลี่ยนผ่านว่าเมื่อ พ.ร.บ.นี้ประกาศใช้ผู้ที่ประกอบวิชาชีพสื่ออยู่ ไม่ว่าสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือเคเบิล จะได้รับใบอนุญาตโดยอัตโนมัติ ส่วนผู้ที่จะเข้ามาใหม่ควรผ่านกระบวนการ ซึ่งประเด็นนี้ก็จะถูกตัดออกไปด้วย

แจงเหตุต้องมีปลัดสปน.-วธ.

จากนั้นพล.อ.อ.คณิต รายงานเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิฯ ว่า ที่ผ่านมา ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อและองค์กรสื่อ มีการกำหนดมาตรการและกลไกกำกับดูแลตัวเอง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ และไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงต้องมีคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มีคณะกรรมการ 15 คน ประกอบด้วย ผู้แทนสมาชิกสภาวิชาชีพ 7 คน และปรับลดโควตาตัวแทนภาครัฐ จาก 4 คน เหลือ 2 คน คือ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นอกจากนั้นคือ ผู้แทนคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการอื่นๆ อีก 4 คน มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการและภาคประชาชน ขึ้นมาดูแลการทำงานของสื่อ สาเหตุที่ยังคงให้มีปลัดสำนักนายกฯ และปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเป็นกรรมการ เพราะยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับสื่อในเรื่องการจดทะเบียนและกำกับจริยธรรม โดยให้กรรมการมีวาระ 3 ปี จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 2 วาระไม่ได้

“เมื่อไม่ให้ปลัดกระทรวงการคลังเข้ามาเป็นกรรมการตามร่างเดิม แต่คณะกรรมการต้องมีเงินทุนใช้จ่าย จึงกำหนดให้ กสทช.จัดสรรเงินกองทุนวิจัยและพัฒนาให้แก่การจัดตั้งคณะกรรมการ ให้เสร็จใน 2 ปี นับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ พร้อมจัดสรรงบประมาณประจำปีในกำหนดเวลา 5 ปี นับตั้งแต่มีคณะกรรมการ” พล.อ.อ.คณิตกล่าว

คำนิยามครอบคลุมสื่อออนไลน์

ด้านพล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธาน กมธ. ชี้แจงว่า กมธ.ยอมแก้ไข ตัดมาตรา 91 และ 92 เรื่องบทลงโทษสื่อ ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทิ้งตามข้อห่วงใยของสื่อมวลชน เป็นใบรับรองที่ จะให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นผู้ออกใบรับรองให้ ส่วนคำนิยาม “สื่อมวลชน” ตามร่างกฎหมายฉบับนี้จะครอบคลุมถึงสื่อออนไลน์ เจ้าของเพจที่มีแฟนเพจติดตามเป็นหมื่นๆ คนด้วย เพราะกลุ่มเหล่านี้ถือเป็น ทั้งนักข่าว และบรรณาธิการ แต่ไม่มีสังกัด แม้จะอ้างว่าไม่มีรายได้เป็นค่าตอบแทนโดยตรงจากงานที่ทำ แต่มีรายได้ทางอ้อมเกิดขึ้นจากรายได้โฆษณาออนไลน์ เพราะมี ผู้ติดตามมาก จึงต้องบัญญัติให้กลุ่มเหล่านี้เป็นสื่อด้วย ยืนยันว่า กมธ.ไม่มีเจตนาควบคุมแทรกแซงสิทธิเสรีภาพสื่อ แต่ต้องการให้การติดต่อสื่อสารอยู่ภายใต้มาตรฐานจริยธรรมตามที่กฎหมายกำหนด

หวั่นรัฐบาลอนาคตแทรกแซงสื่อ

จากนั้นที่ประชุมเปิดให้สมาชิกอภิปราย ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปฏิรูปสื่อ แต่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาการปฏิรูปสื่อ เพราะเกรงจะทำให้สื่อขาดอิสระในการทำงานและถูกแทรกแซงจากภาครัฐ จึงอยากให้ทบทวนเนื้อหาให้เหมาะสม เป็นที่ยอมรับและไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน กล่าวว่า เห็นด้วยที่กมธ.ถอนเรื่องการจดทะเบียนสื่อ มวลชนต่อสภาวิชาชีพ เพราะคำนิยามนี้ อันตราย เป็นจุดอ่อน เป็นการเขียนกติกาเหวี่ยงแห กินความมีสภาพบังคับไปถึงประชาชนทั่วไป ส่อจะโกลาหล มีเรื่องร้องเรียนมาก อาจจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 34 เกิดคำถามว่าพระนักเทศน์ ดารา นักแสดง โพสต์อินสตาแกรมขายของ นักวิชาการรับเชิญบรรยาย ล้วนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไม่

ถ้าผ่านร่างพ.ร.บ.ไปโดยไม่ปรับแก้ จะทำให้เสรีภาพของสื่อที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหายไป การเปิดช่องแบบนี้เหมือนตีเช็คเปล่าให้รัฐในอนาคต มีอำนาจเข้าแทรกแซงสื่อได้ ถ้าเป็นรัฐบาลทรราชจะทำอย่างไร สื่อเป็นกำแพงสุดท้าย ทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่เข้มแข็งที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับความไม่ดีของรัฐบาล ผมอยากให้กลับไปใช้ต้นร่างเดิมของสปช. ที่มีมติรับ เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2558 สามวาระปฏิรูป และครม.มีมติรับทราบเป็นหลัก น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เชื่อว่าการปฏิรูปโดยให้มีสภาวิชาชีพตามกฎหมาย ประกอบด้วยบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐมายุ่งเกี่ยว ให้สื่อควบคุมกันเองมีสภาพกฎหมายบังคับเพื่อปกป้องความเป็นอิสระ ส่งเสริมจริยธรรม และเสรีภาพ” นายคำนูณกล่าว

นิกรเชื่อ-ส่งศาลรธน.ตีความ

ด้านนายนิกร จำนง กล่าวว่า เห็นด้วยกับการปฏิรูปสื่อ แต่ไม่เห็นชอบกับร่างกมธ. ขนาดจิ้งจกทักเรายังต้องเงี่ยหูฟัง แต่กฎหมายฉบับนี้สื่อออกมาค้านกันมาก ตนคิดว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นการควบคุมการทำงานของสื่อมากกว่าจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เมื่อก่อนคนเปรียบสื่อเป็นนกพิราบ แต่ร่างนี้จะทำให้นกอยู่ในกรงและมีกุญแจ 3 ดอก ล็อกไว้ 3 ชั้น เรียกว่า “ไตรล็อก” จากกรรมการ 3 ชุด ที่มีคนของรัฐเข้าไปควบคุมได้ แถมยังมีโทษอื่นๆ สิ่งเหล่านี้นอกจากกระทบสื่อแล้ว ยังกระทบเสรีภาพของประชาชนทั่วไปด้วย จึงเชื่อว่าร่างนี้ออกมา ต้องมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญว่าขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในมาตรา 33 และมาตรา 77 แน่นอน ทั้งนี้ ตนไม่สามารถเห็นชอบกับร่างกฎหมายนี้ได้ จึงอยากเสนอให้ใช้ไตรลักษณ์โดยให้ 3 ส่วนช่วยกันดูแลคือ 1.สื่อช่วยดูแลรัฐ 2.ประชาชนช่วยดูแลสื่อ และ3.รัฐช่วยดูแลสื่อ หากทำได้จะหาทางออกในเรื่องนี้ได้ เพื่อเป็นการรักษาซึ่งกันและกันไว้

ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ อภิปรายว่า อยากให้กมธ.กลับไปตรวจสอบว่ามีข้อใดที่เป็นการแทรกแซงสื่อหรือไม่ ถ้ามีขอให้ ตัดออกให้หมด ส่วนเรื่องสภาวิชาชีพสื่อมวลชน หากจำเป็นต้องมีแทนที่จะเอาปลัดสำนักนายกฯ ตนเสนอว่าให้เอาอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์มาเป็นกรรมการโดยตำแหน่งแทน และถ้าจำเป็นต้องมีตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรม ตนเห็นว่าถ้าให้ตรงจริงๆ ควรเป็นตัวแทนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แต่ถ้าไม่มีเลย จะทำให้เกิดความไว้วางใจมากขึ้น ส่วนตัวแทนจาก กสม. ซึ่งถือเป็นองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมาอยู่ในองค์กรสื่อ จึงเห็นว่าจะเอาตัวแทนจากสภาทนายความเข้ามานั่งร่วมก็ได้ เพราะที่ผ่านมาองค์กรสื่อเชิญตัวแทนสภาทนายความเข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายอยู่แล้ว เพราะไม่ได้อยู่ในภาครัฐ

สปท.สายทหารหนุนคุมสื่อ

ทั้งนี้ มีสมาชิกบางส่วนที่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เช่น พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก โดยระบุว่าเห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าวเพราะสิ่งที่ กมธ.เสนอสอดคล้องกับความเป็นจริงและเป็นประโยชน์ที่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งกมธ.สามารถนำข้อมูลที่สมาชิกเสนอไปปรับแก้ได้และควรทำอย่างเร่งด่วน

ขณะที่พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร อภิปรายว่า สื่อเป็นคนไทยหรือไม่ ถ้าเป็นก็ต้องยอมรับกฎหมาย อย่าเป็นไปอภิสิทธิ์ชนเพียงกลุ่มเดียว ทุกคนต้องอยู่ในกฎระเบียบอยู่ในกติกาลองไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นมีกฎหมายเกี่ยวกับสื่อหมด เช่น สิงคโปร์ สื่อต้องเป็นไปตามกติกา 100 เปอร์เซ็นต์ ในจีนก็มี คนที่ไม่เคยได้รับผลกระทบต่อสื่อจะไม่รู้ ตนสมัยเป็นแม่ทัพภาค 2 ก็รบกับสื่อมาตลอด

โหวตผ่านฉลุย141ต่อ13

พล.อ.อ.คณิต ชี้แจงว่า ตนไม่เคยถอยมากขนาดนี้มาก่อน ครั้งนี้ถอยถึง 3 ครั้ง เพราะขั้นตอนอีกยาวไกล ครม.จะเอาหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่สิ่งต่างๆ ที่สมาชิกเสนอแนะ ทางกมธ.ก็พร้อมรับไปปรับปรุงเพื่อให้งานเดินต่อไปได้ ส่วนโควตา 2 ปลัดที่อยู่ในคณะกรรมการสภาวิชาชีพฯ จะเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลว่าให้อยู่ในวาระ 5 ปี เหมือนกับการถามคำถามพ่วงที่ให้ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกฯในเวลา 5 ปี หลังจากนั้นตัดตัวแทน 2 ปลัดออกไป โดยอาจจะเอาโควตานี้ไปเพิ่มในสัดส่วนของสื่อ จาก 9 เป็น 11 คน หรืออีกแนวทางให้ตัด 2 ตำแหน่งนี้ออก จะเหลือคณะกรรมการฯ คน

ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ เสนอว่าหากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบ ที่ประชุมสปท.ควรตั้งคณะกรรมาธิการชุดพิเศษ ที่มีสมาชิกสปท. คนอื่นๆ ไปร่วมเป็นกมธ.กับกมธ.สื่อ เพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในประเด็นที่ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ อาทิ คณะกรรมการสภาวิชาชีพฯ ที่เห็นต่างกันว่าควรมีตัวแทนภาครัฐร่วมด้วยหรือไม่ หรือจะให้ตัวแทนภาครัฐอยู่ในวาระ 5 ปี ตามข้อเสนอของพล.อ.อ.คณิต โดยดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน จากนั้นจึงส่งให้ ครม.ให้ความเห็นชอบต่อไป อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกเห็นว่าควรแยกการลงมติเป็น 2 ครั้งคือ เห็นชอบรายงานดังกล่าวและเห็นชอบว่าควรตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษหรือไม่ จากนั้นเป็นการลงมติ

โดยที่ประชุมเห็นชอบกับ ร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวล พ.ศ… และร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่..) พ.ศ… ด้วยคะแนน 141 ต่อ 13 งดออกเสียง 17

ไม่เห็นด้วยตั้งกมธ.ชุดพิเศษ

จากนั้นที่ประชุมหารือว่าจะให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการชุดพิเศษ หรือไม่ โดยที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยให้ตั้งกมธ.ชุดพิเศษ 88 ต่อ 67 งดออกเสียง 8 ทำให้ที่ประชุม ส่งรายงานกลับให้กมธ.สื่อพิจารณาปรับปรุงก่อนส่งให้ประธานสปท. เพื่อส่งให้ครม. ต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมให้เวลาพิจารณาเกือบ 8 ชั่วโมง

สปท.ตร.-ทหารโหวตเห็นชอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลคะแนน ที่ลงมติเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน จำนวน 141 เสียง ส่วนใหญ่เป็นสปท.สายทหาร ตำรวจ ข้าราชการ อาทิ นายคุรุจิต นาครทรรพ พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก นายดุสิต เครืองาม พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ส่วนสปท.ที่ลงมติไม่เห็นด้วย 13 เสียง ส่วนใหญ่เป็นสปท.สายสื่อ และสายการเมือง อาทิ นายกษิต ภิรมย์ นายคำนูณ สิทธิสมาน นายดำรงค์ พิเดช นายนิกร จำนง นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล

19พรรคเล็กบุกยื่นแก้กม.พรรค

ที่รัฐสภา นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ ตัวแทนกลุ่มปฏิรูปการเมืองยุคใหม่ ที่เกิดจากการรวมตัวพรรคเล็ก 19 พรรค ยื่นหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ผ่านตัวแทนจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อขอให้ปรับแก้ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2 มาตรา

นายสุรทินกล่าวว่า ขอเรียกร้องสนช. ในฐานะด่านสุดท้ายของการพิจารณากฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง ตัดเนื้อหา 2 ประเด็นดังนี้ 1.ทุนประเดิมพรรค 1 ล้านบาท โดย ผู้ก่อตั้งต้องร่วมลงขันอย่างน้อย 2 พันบาท 2.ข้อกำหนดให้สมาชิกจ่ายค่าบำรุงปีละ 100 บาท เพราะการเก็บเงินสมาชิกถือเป็นการกีดกันคนจน และเป็นการสร้างภาระทางธุรการแก่พรรคที่ต้องติดตามเก็บเงินค่าบำรุงพรรคจากสมาชิกที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศทุกปี โดยไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพพรรค ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ตัดข้อความในมาตรา 9 วรรคสอง และมาตรา 15(14) ออกจากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว

สนช.เร่งถกกม.พรรค

เมื่อเวลา 16.15 น. ที่รัฐสภา นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ โฆษกกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง แถลงผลการประชุมว่า ได้รับความคิดเห็นเพิ่มเติมจากพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติประชาธิปไตยก้าวหน้า จึงมอบให้ฝ่ายเลขาฯ นำไปรวบรวมกับความเห็นจากพรรคอื่นๆ แล้วสรุปว่าแต่ละมาตรา พรรคเสนออะไรบ้าง ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติขยายกรอบเวลาการประชุมเป็นทุกวัน จันทร์-ศุกร์ สะท้อนชัดว่าสนช.ไม่ได้เตะถ่วง และต้องการให้รวดเร็ว

นายวัลลภกล่าวว่า ส่วนการพิจารณารายมาตราในวันนี้ เริ่มตั้งแต่มาตรา 23-32 ในมาตรา 23 (5) กำหนดให้พรรคต้องจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย และส่งเสริมความเป็นสถาบันของพรรค ทั้งนี้โดยความเห็นชอบของกกต. ซึ่งที่ประชุมมีมติให้แขวนการพิจารณาไว้ก่อน และมีแนวโน้มตัดถ้อยคำท่อนสุดท้าย เพราะเห็นว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องภายในของพรรค

นายวัลลภกล่าวว่า ในมาตรา 25 ประกอบมาตรา 26 วรรคสอง เกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชีสมาชิกของพรรค หากพบใครเป็นสมาชิกมากกว่า 1 พรรค ให้นายทะเบียนแจ้งพรรคให้ตัดรายชื่อทิ้ง ที่ประชุมมีมติให้เพิ่มถ้อยคำ กำหนดให้เมื่อตัดรายชื่อสมาชิกที่ซ้ำกันออกแล้ว ให้แต่ละพรรคแจ้งสมาชิกรับทราบด้วย ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มภาระใหัพรรค ไม่เร่งรีบหาสมาชิกจนซ้ำกัน อีกทั้งหากไม่ดำเนินการ มีการกำหนดโทษปรับไว้ในมาตรา 100 นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติแขวนมาตรา 27(3) เกี่ยวกับการพ้นสมาชิกภาพ หากไม่จ่ายค่าบำรุงพรรคติดต่อกัน 2 ปี เนื่องจากส่วนนี้เกี่ยวข้องกับมาตรา 15(15) การชำระค่าบำรุงพรรค ที่ยังแขวนไว้รอการพิจารณาเช่นกัน

เทือกยันไม่บาดหมางในปชป.

ที่ จ.สุราษฎร์ธานี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย(มปท.) กล่าวถึงพรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง เรื่องการจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคว่า ตนเข้าใจเพราะทำให้เขาทำงานยากขึ้น ที่ผ่านมานักการเมืองมีแต่เอาเงินให้ประชาชน จ่ายให้ประชาชนช่วยมาเป็นสมาชิกพรรค แต่เวลานี้ไม่ได้แล้ว ใครจะเป็นเจ้าของพรรคต้องออกเงินเอง พรรคออกให้ไม่ได้ ผิดกฎหมาย

เมื่อถามว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อพรรคประชาธิปัตย์บ้างหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับตน เพราะตนลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์นานแล้วและไม่กลับไปแล้ว ตนไม่กังวล และสิ่งที่ตนพูดไม่ได้พูดเพื่อพรรคไหน แต่พูดเพื่ออนาคตของประเทศไทย และคงไม่บาดหมางกับใคร และเมื่อไม่กี่วันมานี้ตนเชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาทานข้าวด้วย

ส่วนที่สมาชิกกปปส.บางคนไปร่วมกิจกรรมกับพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายสุเทพกล่าวว่า เมื่อเสร็จสิ้นการชุมนุมแล้ว คนเหล่านั้นสามารถกลับไปในจุดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นประชาชน เกษตรกร หรือนักการเมือง และเมื่อมีร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองออกมาแล้ว ใครที่ชอบพรรคไหน เขาก็อาจกลับไปพรรคนั้น ส่วนที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ เขาก็กลับไปที่พรรค หรือใครอยากตั้งพรรคใหม่ ตรงนี้ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ผูกมัด

“ป้อม”ย้ำได้ของดีมีคุณภาพ

เมื่อเวลา 06.30 น. ที่ท่าอากาศยาน 2 บน.6 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม กล่าวถึงสื่อมวลชนบางสำนักวิจารณ์การจัดซื้อเรือดำน้ำว่ามีเบื้องบนสั่งการว่า สั่งอย่างไร ใครสั่ง พูดกันเองทั้งนั้น ถามว่าใครจะมา สั่งได้ ซึ่งกองทัพเรือมีคณะกรรมการจัดซื้อ จัดจ้างเรือดำน้ำ 40-50 คน ถ้าจะเอาก็เอา ไม่เอาก็ไม่เอา แต่ถ้าไม่เอาแล้วจะนำเอาคุณสมบัติของเรือดำน้ำแต่ละประเทศมาเปรียบเทียบกันได้อย่างไร ดังนั้น เรื่องนี้ไม่มีใครสั่ง ตนและนายกฯ ก็ไม่ได้สั่ง แต่ส่วนตัวอยากให้ มีเรือดำน้ำ

“สั่งแล้วใครจะเชื่อ คณะกรรมการตั้งเยอะแยะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกองทัพ จะสั่งไม่ได้แน่นอน โดยเฉพาะเรื่องสมรรถนะกองทัพ ทางกองทัพเรือมองมาแล้วกว่า 10 ปี ดูมาหลายอย่างประกอบกัน จะเอาราคาถูก ดูสมรรถนะ ดูราคาแพง อย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูหลายอย่างประกอบกัน ดังนั้น ไม่ต้องห่วง การจัดซื้อเรือดำน้ำเราจะได้ของดี มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์ต่อกองทัพมากที่สุด” พล.อ.ประวิตรกล่าว

ทร.ยันไม่ถอย-ซื้อเรือดำน้ำ

พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ โฆษกกองทัพเรือ ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวกองทัพเรือยอมถอยไม่ซื้อเรือดำน้ำแล้วว่า ยืนยันว่ากองทัพเรือยังคงเดินหน้าจัดซื้อเรือดำน้ำ yuan class S26T จากสาธารณรัฐประชาชนจีน 1 ลำ มูลค่า 13,500 ล้านบาท ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา

“ตอนนี้มีการแชร์ข้อมูลว่ากองทัพเรือ จะถอย ทั้งที่ไม่เป็นความจริง จึงอยากให้คนที่รับข้อมูลใช้วิจารณญาณรับข้อมูลข่าวสาร พร้อมฝากสื่อขอให้รับฟังรายละเอียดการชี้แจงให้ครบถ้วน เพื่อนำไปเสนอให้ประชาชนอย่างถูกต้อง เนื่องจากข่าวที่เกิดขึ้นขณะนี้ยังผิดเพี้ยน เพราะให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน” พล.ร.อ.จุมพลกล่าว

แจงซื้อจากจีนเหมาะสม-โปร่งใส

ต่อมาเวลา 15.00 น. ที่โรงเก็บอากาศยานเรือหลวงจักรีนฤเบศร ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ (กจด.) พร้อมด้วยพล.ร.ท.พัชระ พุ่มพิเชษฐ์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการโครงการจัดซื้อจัดจ้างเรือดำน้ำ และ พล.ร.ต. กฤษฎาภรณ์ พันธุมโพธิ ผอ.สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ชี้แจงโครงการจัดหาเรือดำน้ำ yuan class S26T จากประเทศจีน จำนวน 1 ลำ ตามวงเงิน 13,500 ล้านบาท และจะจัดซื้อให้ครบ 3 ลำ ตามวงเงิน งบประมาณ 36,000 ล้านบาทภายใน 10 ปีว่า เรื่องทั้งหมดบนหน้าสื่อและในโซเชี่ยลสับสนไปหมด เพราะข้อมูลคลาดเคลื่อน หลายฝ่ายกล่าวหา กองทัพเรืออ่อนการทำงาน ไม่สร้างการรับรู้ วันนี้โครงการเรือดำน้ำ ผ่าน ครม.แล้ว เราจึงสามารถเปิดเผยได้

พล.ร.อ.ลือชัยกล่าวว่า กองทัพเรือได้เสนอความต้องการเรือดำน้ำทุกยุคทุกสมัย ทุกรัฐบาล ข้อเท็จจริงจะปรากฏวันนี้ หลักการหนึ่งต้องตอบให้ได้ว่าซื้อมาตรงตามความต้องการหรือไม่ มีการพิจารณารอบคอบ ลึกซึ้ง มีการจัดหาอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งเรือดำน้ำรุ่นหยวนคลาสมีความเหมาะสม ยืนยันว่า การจ่ายเงินจะไม่เป็นภาระงบประมาณของประเทศ และไม่มีผลกระทบกับการใช้ งบประมาณด้านอื่นๆ ของกองทัพเรือ (อ่านรายละเอียดน.3)

ไม่หวั่นการเมืองล้มโครงการ

พล.ร.อ.ลือชัยกล่าวว่า ขอให้ประชาชนสบายใจได้ว่าเงินที่นำไปจัดซื้อเรือดำน้ำนี้ กองทัพเรือไม่ได้ไปเบียดบังเงินจากกระทรวงทบวงกรมอื่น หรืองบประมาณพิเศษอื่น และฝากถึงเพื่อนทหารที่กังวลว่า เมื่อซื้อเรือดำน้ำแล้วจะไม่มีเงินงบประมาณจัดหาเรืออากาศยานในภายภาคหน้า รวมถึงจะไม่มีเงินซ่อมบำรุงรักษาเรือรบหรือเครื่องบิน อย่างไรก็ตาม หากกองทัพเรือสามารถจัดหาเรือดำน้ำได้ครบทั้ง 3 ลำ จะทำให้กองทัพเรือปฏิบัติการได้ครอบคลุมด้านอ่าวไทยและทะเลอันดามัน และเมื่อใดที่กองทัพเรือได้รับเรือ ดำน้ำชุดนี้เข้าไปประจำการก็ถือเป็นการเพิ่มเขี้ยวเล็บให้กองทัพเรืออย่างมาก

เมื่อถามว่าในอนาคตหากมีการยกเลิกโครงการดังกล่าวจะต้องจ่ายค่าปรับเท่าไร พล.ร.อ.ลือชัยกล่าวว่า ตอบไม่ได้เพราะเป็นเรื่องนโยบาย บางคนอาจบอกว่าเป็นเรื่องอันตราย เพราะเป็นการท้าทายอำนาจทางการเมือง ยืนยันว่ากองทัพเรือยึดยุทธศาสตร์กองทัพเรือเป็นตัวตั้ง ไม่หวั่นว่าจะโดนปลด หากรัฐบาลชุดใหม่มา แต่เรามีหลักการจัด ซื้อแบบมีเหตุผลและได้จ่ายเงินไปแล้ว 700 ล้านบาท หากรัฐบาลชุดใหม่มา บอกให้ทิ้งเงินจำนวนนั้นไปแล้วมาเริ่มใหม่ ก็ต้องตอบประชาชนให้ได้ว่าทิ้งเงินจำนวนนั้นเพื่ออะไร เหตุผลที่กองทัพเรือจัดซื้อจัดหาไม่ถูกต้องตรงไหน จึงขอฝากไปยังรัฐบาลชุดต่อไปว่าจะเลิกหรือไม่เลิก ไม่ใช่กองทัพเรือ แต่อยู่ที่รัฐบาลต่างหาก และยืนยันว่าไม่มีใบสั่งในการจัดซื้อเรือดำน้ำของจีน

เตรียมลงนามกับจีนในเดือนพ.ค.นี้

ขณะที่พล.ร.ต.กฤษฎาภรณ์ กล่าวว่า งบประมาณที่ใช้จัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ 13,500 ล้านบาท กองทัพเรือไม่ได้ซื้อเรือดำน้ำ ในคราวเดียว แต่แบ่งจ่ายเป็นงวดๆ โดย ผ่อนชำระ 7 ปี แบ่งเป็น 17 งวดตามระยะเวลาสร้างเรือดำน้ำ สาเหตุที่ไม่จัดซื้อเรือ 3 ลำ ในคราวเดียวกัน เพราะงบประมาณที่ได้รับแต่ละปีมีไม่มาก เพราะมีรายจ่ายประจำปีต่างๆ จึงต้องจัดหาทีละลำตามสภาพของ งบประมาณ อย่างไรก็ตาม การลงนามสัญญาซื้อขายเรือดำน้ำจะเกิดขึ้นต่อเมื่อรมว.กลาโหมได้อนุมัติจ้างสร้างเรือตามระเบียบทางราชการเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อเตรียมเอกสารของทั้งสองฝ่ายและรอเวลาเหมาะสมเพื่อลงนามร่วมกันต่อไป คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนพ.ค.นี้ ส่วนการชำระเงินต้องชำระภายหลังการ ลงนามไม่เกิน 45 วัน ถือเป็นงวดแรก

ทรัมป์ต่อสาย”ตู่”เชิญเยือนมะกัน

เมื่อเวลา 06.30 น. วันที่ 1 พ.ค. ที่ท่าอากาศยาน 2 บน.6 พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 เม.ย. เวลา 21.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ์โอกาสพูดคุยทางโทรศัพท์กับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประมาณ 5 นาที โดยประธานาธิบดีสหรัฐ กล่าวแสดงความเสียใจต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พร้อมกล่าวชื่นชมประเทศไทยและชื่นชมการทำงานของนายกฯ ที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้เห็นถึงพัฒนาการของไทยในทางที่ดีขึ้นหลายด้าน ซึ่งไทยและสหรัฐ มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งมายาวนาน โดยเตรียมส่งคณะทำงานด้านการค้ามาหารือขยายความร่วมมือระหว่างกันในเวลาอันใกล้นี้

พล.ท.วีรชนกล่าวว่า ประธานาธิบดีสหรัฐระบุด้วยว่าจนถึงขณะนี้ ยังมีความกังวลในเรื่องสถานการณ์ทะเลจีนใต้ และเกาหลีเหนือ แต่ไม่ได้มีการหารือในรายละเอียด ไม่มีการล็อบบี้ กดดันหรือเรียกร้องประเทศไทยในเรื่องดังกล่าว พร้อมกล่าวเชิญนายกฯ ให้เดินทางเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการในโอกาสที่สะดวก

พล.ท.วีรชนกล่าวว่า นายกฯ ตอบรับคำเชิญการเดินทางเยือน โดยจะประสานเพื่อกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป และได้เชิญประธานาธิบดีสหรัฐเยือนไทยในโอกาสสะดวก ทั้งนี้ยังยืนยันว่า ประเทศไทยจะดำเนินการภายใต้ข้อปฏิบัติของสหประชาชาติ นอกจากนี้ ยังขอให้สหรัฐดูแลและรักษาการเจริญเติบโตเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศและกล่าวขอบคุณภาครัฐและภาคเอกชนของสหรัฐที่ให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยมาตลอด ยืนยันไทยพร้อมส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทอันสร้างสรรค์ของสหรัฐ ในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน