ย้อนดู ปฏิบัติการ “ทักษิณ” สั่งด่วน พาคนไทยในเขมรกลับบ้าน หลัง ผบ.ทอ.ออกโรง โต้ แทนบิ๊กตู่

จากรณี พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาท ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กล่าวถึงกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊ง โพสต์ภาพ นายทักษิณ ชินวัตร สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี สั่งกองทัพอากาศนำเครื่องซี 130 ไปรับคนไทยที่ประเทศกัมพูชา ในเหตุจลาจลกรุงพนมเปญปี 2546

โดยภาพดังกล่าวถูกสังคมออนไลน์นำมาเปรียบเทียบกับกรณีรัฐบาลปัจจุบันของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถูกวิจารณ์เรื่องความล่าช้าในการช่วยเหลือคนไทยในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ซึ่งเป็นเมืองต้นกำเนิดของ “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” นั้น

หากย้อนไปเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2546 หรือ 17 ปี ที่แล้ว เกิดเหตุผู้ชุมนุมชาวกัมพูชาบุกเข้าทำลายสถานเอกอัครราชทูตไทย ตลอดจนทรัพย์สินต่างๆ ของธุรกิจสัญชาติไทยในกรุงพนมเปญ กลุ่มผู้ประท้วงออกตระเวนไล่ล่าหาคนไทยในกรุงพนมเปญ ท่ามกลางเปลวเพลิงที่เผาไห้สถานเอกอัครราชทูตไทย

จากนั้นเวลา 19.00 น. ในวันเดียวกัน นายทักษิณ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เรียกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงกลาโหมเข้าหารือ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในเวลานั้น นายทักษิณ ไม่สามารถติดต่อกับนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชาได้

แต่นายอดิศัย โพธารามิก รมว.พาณิชย์ขณะนั้น ซึ่งกำลังอยู่กับรัฐมนตรีกัมพูชาโทร.เข้ามา นายทักษิณ จึงขอพูดสายกับรัฐมนตรีกัมพูชาคนนั้น และแจ้งว่า หาก 1 ชั่วโมงข้างหน้ายังไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้ ผมจะส่งคอมมานโดเข้าไปปกป้องคนไทย” แต่ทางรัฐมนตรีชาวกัมพูชาร้องขอไม่ให้ส่งคอมมานโดเข้ามา

จนในเวลา 22.00 น. สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย นายทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้เรียกหน่วยงานความมั่นคง และผู้บัญชาการทหารทุกเหล่าทัพ เข้าประชุมฉุกเฉินที่ทำเนียบรัฐบาล นายทักษิณ แต่งตั้งให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเวลานั้น (ประธานองคมนตรีคนปัจจุบัน) เป็นผู้บัญชาการคลี่คลายสถานการณ์นี้

นายทักษิณ ยังสั่งการให้กองทัพอากาศ ส่งเครื่องบินแบบ C-130 พร้อมหน่วยคอมมานโดไปยังกรุงพนมเปญ โดยไม่สนใจว่ารัฐบาลกัมพูชาจะยินดีหรือไม่

นายทักษิณ กล่าวตอนหนึ่งด้วยท่าทีแข็งกร้าว ในเวลานั้น จนเป็นที่กล่าวขานว่า ความสัมพันธ์ว่ากันทีหลัง ผมถือว่าเรื่องศักดิ์ศรีและชีวิตรับไม่ได้!

ต่อมา ที่ประชุมได้อนุมัติแผนช่วยเหลือพลเรือนไทยชื่อว่า “โปเชนตง 1” และนายทักษิณ ยังใช้อำนาจนายกรัฐมนตรี อนุมัติแผนสำรองชื่อ “โปเชนตง 2” เนื่องจากอาจจำเป็นต้องใช้กำลังทหารไทยเข้าควบคุมกรุงพนมเปญ อย่างไรก็ตามปฏิบัติการโปเชนตง 1 เป็นไปด้วยความสำเร็จ ด้วยความช่วยเหลือของรัฐบาลกัมพูชา

จากนั้นเวลา 05.00 น. ของวันที่ 30 ม.ค.2546 เครื่องบิน C-130 ลำแรก และอีก 5 ลำทะยานขึ้นฟ้า มุ่งสู่สนามบินโปเชนตง กรุงพนมเปญ โดยมีคอมมานโดและหน่วยรบพิเศษกระจายอยู่ทุกลำ พร้อมเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน

REUTERS/Sukree Sukplang SS/PB

เมื่อไปถึงสนามบินโปเชนตง เครื่องบิน C-130 ทั้ง 5 ลำที่ลงจอด ไม่มีการดับเครื่อง หน่วยคอมมานโดและทหารรบพิเศษไม่ต่ำกว่า 100 นาย พร้อมอาวุธครบมือและรถฮัมวี่ วิ่งลงจากเครื่องบินด้วยสมาธิและวินัย ออกกระจายโดยรอบสนามบินเพื่อรักษาความปลอดภัย ขณะที่คนไทยเดินเรียงแถวตอน 1 ขึ้นเครื่อง มีเจ้าหน้าที่ตรวจนับจำนวน

จากนั้น เครื่องบิน C-130 ทยอยออกจากกรุงพนมเปญ กลับมาลงจอดที่สนามบินกองทัพอากาศดอนเมือง ลำเเรกมาถึง เวลาประมาณ 07.50 น. และครบทั้ง 5 ลำ ในเวลา 09.40 น. โดยนายทักษิณ พล.อ.สุรยุทธ์ และคณะ เดินทางมารอรับคนไทยด้วยตนเอง

คนไทยชุดแรก 511 คน และชุดที่ 2 จำนวน 192 คน รวมทั้งเอกอัครราชทูตไทย ผู้ช่วยทูตและเจ้าหน้าที่สถานทูตไทย เดินลงเครื่องอย่างปลอดภัย ท่ามกลางเสียงปรบมือดังกระหึ่มและความดีใจของคนทั้งประเทศ โดยมีนายกรัฐมนตรีมารอรับด้วยตนเอง

หลังเหตุวุ่นวายสงบลง รัฐบาลไทยสั่งปิดพรมแดนประเทศที่ติดกับกัมพูชา และได้เปิดอีกครั้งเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2546 หลังรัฐบาลกัมพูชาจ่ายเงิน 6 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นค่าชดเชยสำหรับสถานทูตไทยที่ถูกเผาทำลาย

ขอบคุณข้อมูลจากบางส่วน จาก Voice TV


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน