จังหวะ การเมือง

ญัตติ ต้าน “รัฐประหาร”

กับ สังคมไทย

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ญัตติ ต้าน “รัฐประหาร” – ไม่ว่าในที่สุดญัตติจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางมิให้เกิดการรัฐประหารอันเสนอ โดย ส.ส.พรรคอนาคตใหม่จะลงเอยอย่างไร

ผ่านความเห็นชอบ หรือไม่ผ่าน

แต่บทบาทและความหมายของญัตตินี้ในทางการเมืองก็จะยังดำรงอยู่และเสมอเป็นก้าวแรกที่สำคัญยิ่งต่อการเมืองในอนาคต

เหมือนกับจะเป็นไปได้ เหมือนกับจะเป็นความ เพ้อฝัน

เพราะในความเป็นจริง แม้ว่าสังคมเริ่มเห็นพิษภัยของรัฐประหาร แต่ก็ยังมีความเชื่อว่าทหารก็จะยังมีบทบาทในทางการเมืองไปอีกนาน

ความเชื่อต่อบทบาทของทหารเป็นความเชื่อจาก พื้นฐานในอดีตที่ทหารมีบทบาทและความสำคัญในลักษณะชี้ขาดต่อสังคมไทยในระดับที่แน่นอนหนึ่ง

และเชื่อว่าทหารจะไม่ยอมปล่อยมืออย่างง่ายดาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมองสายสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลปัจจุบันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับกองทัพในปัจจุบันที่วางเครือข่ายเอาไว้อย่างแนบแน่น

เพราะรัฐบาลปัจจุบันมีรากฐานมาจาก “รัฐประหาร”

กระนั้น ความพยายามของพรรคอนาคตใหม่ การยอมรับและเปิดให้มีการประชุมพิจารณา เรื่องนี้ในเวทีรัฐสภาก็ถือได้ว่าเป็นการเปิดหนทางสายใหม่ขึ้น

เมื่อมีพื้นที่ขึ้นในเวทีรัฐสภานั่นหมายถึงว่าประเด็นอันเกี่ยวกับกองทัพ ประเด็นอันเกี่ยวกับรัฐประหารก็จะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

เมื่อจะอภิปรายก็จำเป็นต้องมีการศึกษา

เมื่อมีการศึกษานั่นหมายถึงจะต้องมีการพลิกฟื้นแต่ละเปลาะแต่ละปล้องของกระบวนการรัฐประหารว่ามีความเป็นมาอย่างไร

บทเรียนจากรัฐประหาร 2 ครั้งภายใน 1 ทศวรรษสำคัญ

เพราะว่าสภาพการณ์ที่สังคมไทยกำลังประสบอยู่ในขณะนี้คือผลพวงอันเนื่องแต่การรัฐประหารโดยตรงเลยว่าเป็นผลดีหรือว่าเป็นผลเสีย

การเกิดขึ้นของญัตติจึงเป็นเงาสะท้อนของปัญหาอย่างแท้จริงซึ่งเกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายในสังคมไทยกลายเป็นคำถามว่าจะสามารถตีฝ่าไปได้อย่างไร

เป็นเสียงก้องจาก “นักการเมือง” กลุ่มหนึ่ง

ประสานกับสภาพความเป็นจริงของโลกที่กำลังแปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็วไปตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปตามแต่ละสภาพการณ์และผลกระทบ

เท่ากับเป็นสัญญาณ “เตือน” อันทรงความหมาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน