มุมมอง กังขา

กังขา สถานะ ของกกต.

โจทก์ หรือจำเลย

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

มุมมอง กังขา – ยิ่งใกล้ถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ มากเพียงใด ยิ่งทำให้สถานะระหว่าง 1 กกต. กับ 1 พรรคอนาคตใหม่ มีความไม่แน่นอน

เหมือนกับกกต.จะเป็น “โจทก์” เหมือนกับพรรคอนาคตใหม่จะเป็น “จำเลย”

เพราะว่ากกต. เป็นผู้รับเรื่องราวร้องเรียนและดำเนินการไต่สวนแล้วก็ส่งคดีของพรรคอนาคตใหม่ขึ้นฟ้องศาลจึงน่าจะดำรงอยู่ในสถานะอันเป็น “โจทก์”

พรรคอนาคตใหม่จะเป็น “จำเลย” เป็นผู้ถูกกล่าวหา

แต่หากฟังจากอดีตกกต.อย่าง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร แต่หากฟังจากอาจารย์สอนกฎหมายอย่าง นายแก้วสรร อติโพธิ สังคมเริ่มไม่แน่ใจ

เป็นความไม่แน่ใจในบทบาทของกกต. ตั้งแต่มีเอกสาร “หลุด” ออกมาจากภายในระบุว่า คณะกรรมการไต่สวนที่กกต.ตั้งขึ้นอย่างน้อย 2 คณะ

มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยกคำร้องกล่าวหาพรรคอนาคตใหม่

แทนที่กกต.จะยอมรับในคณะกรรมการไต่สวนซึ่งกกต.ตั้งเองมากับมือ กลับพยายามจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้น

แล้วจึงมีมติสวนกับคณะกรรมการชุดเดิม

หากพิจารณาบทบาทของกกต.ตั้งแต่ก่อนจัดการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 กระทั่งหลังการ เลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ก็ต้องเกิดความลังเล ไม่แน่ใจ

ยิ่งกว่านั้น ก่อนหน้าวันที่ 21 กุมภาพันธ์ จะเดินทางมาถึงในทางเป็นจริง เกิดปรากฏการณ์ในทางสังคมในทางการเมืองอันมากด้วยความละเอียดอ่อน

1 เกิดการล่ารายชื่อคัดค้านการยุบพรรคอนาคตใหม่

พิจารณาดูรายชื่อตั้งแต่ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นายโคทม อารียา กระทั่ง นายบรรยง พงษ์พานิช นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ก็ต้องอึ้ง

1 เกิดการเคลื่อนไหวจากศูนย์ประสานจังหวัด พรรคอนาคตใหม่ จะฟ้องกกต.

ฟ้องเพราะประเมินว่า กระบวนการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพและขาดความเที่ยงธรรมของกกต.ทำให้พวกเขาซึ่งเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ได้รับความเสียหาย

การขยับขับเคลื่อนเข้าไปสู่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ของ กกต.จึงเป็นการขยับขับเคลื่อนอันก่อให้เกิดความ

แคลงคลางกังขาอย่างเห็นได้ชัด

พลอยให้สงสัยต่อ “สถานะ” ของกกต.

เฉพาะหน้าที่ร้อนแรงเป็นอย่างมากก็คือ ตกลงระหว่าง กกต. ซึ่งเป็นผู้กล่าวหา กับ พรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็น ผู้ถูกกล่าวหา

ใครเป็นโจทก์ ใครเป็นจำเลย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน