40 ปีกึ่งประชาธิปไตย

ใบตองแห้ง

6 ตุลา 2519 เวียนมาครบ 40 ปี ในห้วงที่มีความหมายยิ่ง เพราะ “ระบอบกึ่งประชาธิปไตย” ซึ่งสถาปนาขึ้นหลัง 6 ตุลา ใกล้ถึงกาลอวสาน แต่สังคมไทยติดกับดัก ไม่สามารถก้าวต่อไปได้ ตกอยู่ในภาวะ “สิ่งเก่ากำลังจะตาย สิ่งใหม่ไม่สามารถเกิด” เราจึงเห็นความพยายามย้อนยุค “เปรมโมเดล” นำประเทศกลับไป Restart จากทศวรรษ 2520

6 ตุลาเกิดหลังประชาธิปไตยเบ่งบาน 14 ตุลา 2516 ประชาชนตื่นตัวเรียกร้องสิทธิกว้างขวาง กรรมกรทวงค่าแรงสวัสดิการ ชาวนาตั้งสหพันธ์เรียกร้องลดค่าเช่านา นักเรียนฮือ “ต้านเกรียน” ปัญญาชนฟอกล้างความคิด วิพากษ์จารีต “เผาวรรณคดี”

ชนชั้นนำ รัฐราชการ กลุ่มทุน หวาดวิตกว่าจะควบคุมไม่ได้ จึงปลุกความเกลียดชัง “ขวาพิฆาตซ้าย” ก่อการสังหารโหด นำไปสู่รัฐประหาร แต่รัฐบาลหอยสุดโต่งจะทำให้แพ้ภัย จึงถูกโค่นล้มเปลี่ยนเป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”

ประชาธิปไตยครึ่งใบทำให้เกิดสมดุลอำนาจ กองทัพค้ำรัฐบาล กลุ่มทุนร่วมมือกับเทคโนแครตรัฐราชการ นำประเทศก้าวกระโดดใหญ่ทางเศรษฐกิจ นักการเมืองได้เจือจาน เปิดให้ชาวบ้านเรียกร้องสิทธิได้บ้าง ภายใต้กรอบที่ควบคุมไว้

เมื่อทุกฝ่ายสมประโยชน์ 6 ตุลาและความยุติธรรมก็ “ถูกลืม” เพราะนักศึกษากับ พคท.พ่ายแพ้ กลับมาเป็น ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยตามนโยบาย 66/23

ประชาธิปไตยครึ่งใบใช้อยู่ 8 ปี รัฐบาลชาติชายเข้ามาสั้นๆ ถูกรัฐประหาร เกิดพฤษภา 35 เกิดนายกฯ จากเลือกตั้ง และเกิดรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ประเทศก็ยังไม่ได้ก้าวสู่ประชา ธิปไตยเต็มใบ หากเป็น “กึ่งประชาธิปไตย” ที่บ้างก็เรียกว่าประชาธิปไตยใต้อำนาจนำ บ้างก็เรียกว่าประชาธิปไตยแบบอำมาตย์ มีอำนาจบารมีอยู่เหนืออำนาจเลือกตั้ง

กระนั้น หลังรัฐธรรมนูญ 2540 เกิดความตื่นตัว “ประชา ธิปไตยกินได้” หลังรัฐประหาร 2549 เกิดความขัดแย้งยาว นาน จนนองเลือดซ้ำรอยเมื่อปี”53 ประกอบเงื่อนไขหลายอย่าง ระบอบกึ่งประชาธิปไตยก็ถึงจุดสิ้นสุด ไม่สามารถใช้ต่อไปได้

รัฐประหาร 2557 รัฐธรรมนูญ 2559 คือข้อพิสูจน์ ประเทศไทยไม่สามารถกลับสู่ระบอบนายกฯ จากเลือกตั้งที่เชื่อฟังผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ อันงดงาม นักการเมืองอาจหยวนยอมแต่ประชาชนอยากได้อำนาจ ต้องยกร่างรัฐธรรมนูญ Restart ยึดอำนาจเลือกตั้งเกือบทั้งหมด กระนั้นก็เป็นที่กังขาว่า ระบอบถอยหลังนี้ยังใช้ได้จริงหรือ

ภาวะที่ประเทศสะดุดหยุดอยู่นี้คือภาวะติดกับ อับจน อย่างที่ธงชัย วินิจจะกูล ชี้ว่าไม่ใช่แค่ติดกับดักรายได้ปานกลาง แต่ยังติดกับดักภูมิปัญญาปานกลาง และกับดักกึ่งประชาธิปไตย คือจะกลับไปสู่การเมืองแบบเดิมที่ใช้ตั้งแต่ปี”35 ก็ไม่ได้ จะก้าวไปข้างหน้าก็ไม่เห็นอนาคต

ผู้คนที่หวาดกลัวความไม่สงบ ความไม่มั่นคง จึงยอมรับร่างรัฐธรรมนูญไว้ก่อน ยอมรับอำนาจ คสช. “เฉพาะกาล” ทั้งที่รู้ ทั้งที่ไม่ได้อยากอยู่อย่างนี้ แต่เมื่อมองไม่เห็นทางออก ประเทศอยู่ในภาวะเสี่ยง ก็มีแต่กองทัพที่สามารถเป็น “อำนาจนำ” ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จด้วย ม.44

แต่การยอมรับนี้เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ในภาวะอับจน เหมือนคนตกน้ำต้องคว้าขอนไม้ผุ ขณะที่คนเชื่อมั่นประชาธิปไตยไม่ยอมรับ เพียงไม่สามารถลุกฮือต่อต้าน เพราะหนทางไปสู่ประชาธิปไตยต้องอาศัยฉันทามติ ไม่ใช่คิดว่า “โค่นเผด็จการ” แล้วจะฟ้าสีทองผ่องอำไพเหมือนในอดีต

พูดอย่างนี้ไม่ใช่ “กึ่งประชาธิปไตย” เลวร้ายเสียหมด กาลครั้งหนึ่งเคยสร้างสมดุลให้สังคมไทย แต่เมื่อพยายามเหนี่ยวรั้งไว้ ก็เกิดอุปสรรคทั้งในเชิงระบบ ภูมิปัญญา วิธีคิด วัฒนธรรม ที่เป็นรูปธรรมคือเกิด “รัฐพันลึก” เกิดพลังคนชั้นกลางจารีตที่ปฏิเสธประชาธิปไตย จนสังคมไม่สามารถหาฉันทามติได้

ในที่สุดสังคมไทยก็ติดกับดัก บอกว่าระยะ “เปลี่ยนผ่าน” ก็ไม่รู้เปลี่ยนสู่อะไร ที่แน่ๆ ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่จะเป็นอย่างไรต่อไป ไม่มีใครมองออก นอกจากรู้ว่าต้องอยู่อย่างนี้ ชั่วคราวๆๆๆๆๆ พร้อมกับหลอกตัวเองว่าทุกอย่างจะราบรื่น จะมีเลือกตั้งพิธีกรรม จะมีนายกฯ คนนอก เข้มแข็งมั่นคง ดีงาม 3 ชั่วโคตร นำประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ระหว่างนี้ก็สวดภาวนา อกสั่นขวัญแขวน อย่าเกิดอุบัติเหตุอะไร เพราะถ้าอำนาจนี้หัวคะมำก็ไม่รู้บ้านเมืองจะเละแค่ไหน

ต่อให้ไม่พอใจพฤติกรรม อยากให้ คสช.ยูไนเต็ดเปลี่ยนตัว ก็ติดกับดักจริยธรรม โค้ชไม่เปลี่ยนแล้วไง เชียร์ไม่เชียร์ เล่นดี เล่นแย่ ก็อยู่ต่อไป คุณมีตัวเลือกที่ไหน

40 ปี กึ่งประชาธิปไตยใกล้อวสาน แต่เปลี่ยนไม่ได้ ไปต่อไม่ได้ ก้าวไม่พ้น คิดถอยหลังก็ไม่เห็นหนทาง จึงยังติดอยู่ในกับดัก แย่อย่างไร แย่ลงๆๆ ก็ยังต้องอยู่ในกับดักอยู่ดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน