ฝ่าวิกฤตประเทศด้วยการแก้รธน.

ฝ่าวิกฤตประเทศด้วยการแก้รธน. : เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่(พท.) พรรคเพื่อไทย สถาบันสร้างไทย จัดเสวนาระดมความคิด‘ฝ่าวิกฤตประเทศไทย ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ’

โดย 4 วิทยากรร่วมให้มุมมองเมื่อสารพัดวิกฤตถาโถมประเทศ จนกลายเป็นมหาวิกฤต อะไรคือทางออกของสังคมไทย

ยุทธพร อิสรชัย

ภาควิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

ฝ่าวิกฤตประเทศด้วยการแก้รธน.

ถ้าวันนี้มีโจทย์ตั้งต้นว่าฝ่าวิกฤตประเทศไทยด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ คงต้องกลับมาดูว่าสิ่งที่เป็นมหาวิกฤตของไทยมีอะไรบ้าง

ด้านแรกคือเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อเรื้อรัง ยังไม่ได้รับการแก้ไข ประชาชนเดือดร้อนถ้วนหน้า








Advertisement

เมื่อมองด้านสังคมทั้งปัญหาพีเอ็ม 2.5 ปัญหาโควิด-19 นี่คือปัญหาเฉพาะหน้า แต่มองปัญหาเชิงโครงสร้างจะพบว่าเกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม หลักที่บอกว่าทุกคนเข้าถึงได้จึงไม่เกิด

ด้านการเมือง การเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา เป็นสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องอยากเห็นอนาคตที่ก้าวต่อไป เมื่อย้อนดูปัญหาเชิงโครงสร้าง พบว่าโครงสร้างรัฐเป็นแบบรวมศูนย์อำนาจ เมื่อดูวิกฤตปัญหาของประเทศไทยทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและเชิงโครงสร้างล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์กันทั้งสิ้น

วิกฤตประเทศไทยเกิดขึ้นจากความไม่สมดุล ซึ่งเกิดจากการเมืองนอกสภาก้าวหน้า แต่การเมืองในสภาล้าหลัง ความไม่สมดุลเกิดขึ้นจากกติกาใหญ่ หรือรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมีปัญหาตั้งแต่ที่มา เนื้อหาและกระบวนการ

ตลอด 88 ปีของไทยในระบอบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ ในจำนวนนี้ไม่ยึดโยงกับประชาชน 9 ฉบับ ยึดโยงกับประชาชน 11 ฉบับ

ทำไมรัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็นปัญหาและควรได้รับการ แก้ไข เริ่มจากจุดแรกคือที่มาซึ่งเกิดขึ้นจากการรัฐประหาร 2557 รัฐธรรมนูญถูกร่าง ขึ้นเสมือนกล่องแห่งความฝันของคนในสังคม

ปัญหาประการที่สองคือกระบวนการร่างเกิดขึ้นในบรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมทางการเมืองต่างๆ น้อยลง องค์กรร่างก็ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน กฎหมายร่างโดยใครก็ตอบสนองคนกลุ่มนั้น แม้กระทั่งการมีมาตรา 44 คอยจำกัดการมีส่วนร่วม ล้วนสร้างให้บรรยากาศไม่เกิดความเป็นประชาธิปไตยในการกำหนดกติการ่วมกัน

ทั้งเรื่องกรอบกติกาในการร่างรัฐธรรมนูญ บรรยากาศการร่างที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งการลงประชามติบนความว่างเปล่า จึงทำให้รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นถูกบดบังในเนื้อหาสาระที่ควรมีและขาดการมีส่วนร่วม

โครงสร้างระบบรัฐสภาบิดเบี้ยว การเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสมเกิดปาร์ตี้ลิสต์พิสดาร ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เกิดรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ระบบการเลือกตั้งเช่นนี้ไม่ได้สะท้อนเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง ทำให้การสร้างพรรคการเมืองที่มีฐานจากประชาชนเกิดขึ้นยาก พรรคการเมืองถูกยุบง่ายแต่ตั้งยาก ทำให้สร้างเป็นสถาบันทางการเมืองได้ยาก

ผลของรัฐธรรมนูญลดทอนความมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น ลดทอนกระบวนการสะท้อนเจตจำนงจากการเลือกตั้ง

อีกด้านหนึ่งภูมิทัศน์ทางการเมืองของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป เช่น ทางโครงสร้างประชาชน คนต้องการความเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย แต่เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะถูกกติกาใหญ่กำกับอยู่ ทำให้เกิดภาวะของการไม่สมดุล

สุดท้ายทำให้เกิดภาวะว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นปัญหามากกว่าเป็นพื้นที่แก้ปัญหา ทางออกที่สำคัญคือทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญเกิดการมีส่วนร่วม ซึ่งเริ่มจากการที่รัฐธรรมนูญเป็นพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามาในกระบวนการ มากกว่าการเน้นผลลัพธ์ รวมทั้งการจัดดุลอำนาจให้สมดุล

สิ่งเหล่านี้คือหัวใจหลักของการแก้รัฐธรรมนูญ สามารถนำสังคมไทยให้พ้นจากวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

อนุสรณ์ ธรรมใจ

อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต

ฝ่าวิกฤตประเทศด้วยการแก้รธน.

 

การฝ่าวิกฤตประเทศไทย ทางออกหนึ่งคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมไม่เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการแก้แบบเล็ก หรือแก้บางมาตราจะแก้วิกฤตการณ์ของประเทศได้อย่างไร หากจะแก้ต้องแก้ใหญ่ แก้ด้วยพลังอำนาจของประชาชน

การแก้ครั้งนี้ไม่ใช่แก้การปัญหาปัจจุบันเท่านั้น แต่แก้ปัญหาในอนาคต รวมทั้ง อดีตด้วย เนื่องจากบรรดาฝ่ายปรปักษ์ ประชาธิไตย ฝ่ายเผด็จการได้วางกับดักไว้จำนวนมาก อยู่ที่ว่าผู้รณรงค์มีความ กล้าหาญและเจตจำนงทางการเมืองมาก ขนาดไหน

ปัจจุบันเราต้องหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช.ให้ได้ เหมือนที่ประชาชนเคยหยุดยั้งอำนาจ รสช. แต่รากเหง้าเผด็จการยังอยู่ในสังคมไทย ดังนั้น ถ้า ขุดรากเหง้าออกไป สถาปนาประชาธิปไตยเกิดขึ้นจริง เราจะไม่มีรัฐประหารอีกเลย

ผมมีโมเดลที่เสนอคือ 1.เสนอให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศ (สสร.ปป.) ผมเบื่อกับการที่ฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยบอกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่สนใจการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ ซึ่งกำลังบอกว่าเขาพูดผิดหรือไม่ เช่น สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร พยายามร่างยุทธศาสตร์ชาติ

2.อย่าบอกว่าฝ่ายประชาธิปไตยไม่สนใจการปฏิรูป ช่วงปี 2557 หลายคนจำได้ว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป แต่ทำงานไม่ได้ เพราะมีกลไกต่างๆ ทำให้ เดินหน้าต่อไม่ได้ ครั้งนี้จึงเสนอ สสร.รป. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ซึ่งก้าวหน้ากว่าปี 2540

องค์ประกอบ สสร.ปป.คือ 1.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามพื้นที่จังหวัด อย่างน้อยจังหวัดละ 1 คน หากจังหวัดไหนที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 1 ล้านคน ให้เพิ่มเป็นสัดส่วน

2.มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 15-20 คน โดยใช้ร่างของรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เช่น ฉบับ 2540 เป็นต้นแบบ ทำให้การร่างใช้เวลาไม่นาน

3.มีตัวแทนจากภาคประชาสังคม หรือสถาบันที่ทำงานเกี่ยวกับประชาธิปไตยร่วมขับเคลื่อนด้วย

เวลาเป็นเรื่องสำคัญ ต้องกำหนดกรอบเวลา มิฉะนั้นฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยจะยื้อเวลาไปเรื่อยๆ และไม่เกิดการเปลี่ยน แปลงที่สำคัญ จึงกำหนดไว้ว่าเดือน พ.ค.นี้ ต้องทำให้เสร็จทุกอย่างตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ

การเลือกตั้งสรรหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องเสร็จในเดือน ต.ค.

สสร.ปป.จะร่างให้เสร็จภายใน 4 หรือ 6 เดือนก็ได้ แล้วให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

โดยที่ ส.ว.ต้องหายไปตามการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก่อนจะนำไปสู่กระบวนการเลือกตั้ง แบบนี้ถึงจะไม่มีวิกฤตแน่นอน

สมชัย ศรีสุทธิยากร

อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ฝ่าวิกฤตประเทศด้วยการแก้รธน.

ดูจากหัวข้อที่มาพูดคุยกัน ผู้ร้ายคือรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดปัญหาวิกฤตของประเทศ ส่วนพระเอกคือการแก้รัฐธรรม นูญเพื่อให้วิกฤตหายไป

ถามว่ารัฐธรรมนูญเป็นผู้ร้ายจริงหรือเป็นเพียงแพะ ต้องพิสูจน์กันว่านายรัฐธรรมนูญทำให้เกิดวิกฤตหรือไม่

ขณะนี้เกิดวิกฤตอะไรบ้างในสภา ตอบว่าเกิดพรรคการเมืองที่หลากหลาย มีไม่กี่เสียงก็ได้เป็นส.ส. ได้รัฐบาลจากพรรค การเมืองจำนวนมาก ทำให้ไม่เกิดเสถียร ภาพ เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ จะโหวตในสภา แต่ละเรื่องหากป่วยก็ต้องลากกันเข้าไปในสภาให้ได้ เหล่านี้คือปรากฏการณ์ของความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล

วิกฤตเฉพาะหน้าขณะนี้ที่กำลังกลัว คือเรื่องหน้ากากอนามัยซึ่งกำลังขาดแคลนอย่างมาก เมื่อพ้นจากไวรัสโควิด-19 จะตามมาด้วยปัญหาภัยแล้ง

นอกจากนี้หน่วยวิจัยจากสถาบันการเงินต่างๆ คาดการณ์ว่าในช่วงปลายปี จีดีพีประเทศจะอยู่ในระดับ 0.5 ซึ่งไม่รู้จะต่ำแค่ไหนแล้ว ต้องบอกว่าปัญหาทั้งหมดมาจากนายรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นกลไกที่ออกแบบการเมืองไทยโดยได้รัฐบาลแบบนี้ ได้ส.ส. แบบนี้ ได้ส.ว.แบบสอพอ ไม่มี ล.ลิง ได้สภาหน้าตาแบบนี้ ดังนั้น ต้องคิดว่าจะร่วมกันออกแบบบ้านเมืองเพื่อแก้วิกฤตกันอย่างไร เพื่อร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นผู้ร้ายตัวจริง

เมื่อทุกฝ่ายเห็นแล้วว่ารัฐธรรมนูญเป็นปัญหา วิธีที่ง่ายเริ่มจากการแก้เล็กกับแก้ใหญ่ แก้ในกับแก้นอก

แก้เล็ก คือเอาประเด็นที่เห็นพ้องต้องกันโยนเข้าไปในสภา ให้ส.ส. และส.ว.ช่วยกันแก้ เช่น การแก้เรื่องบัตรเลือกตั้งใบเดียวให้เป็นบัตรเลือกตั้งสองใบเหมือนเดิม ซึ่งทุกฝ่ายต้องคุยกันว่าการแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ของประชาชน

ส่วนการแก้ใหญ่คือแก้กันทั้งฉบับ คนที่จะแก้คือรัฐสภา ต้องเห็นชอบและต้องทำประชามติสอบถามประชาชนทั้งประเทศว่าเห็นด้วยหรือไม่ซึ่งต้องใช้เวลา

ต่อมาคือ การแก้ในต้องอาศัยกฎกติกาที่เขียนในรัฐธรรมนูญ ถ้าจะแก้วิธีนี้ต้องอาศัยความเห็นพ้องต้องกันของ ครม. ส.ว.และประชาชน ซึ่งหวังได้ค่อนข้างลำบากพอสมควร

เชื่อว่าการแก้ในโดยธรรมชาติของตัวมันเอง ไม่เกิดขึ้นอย่าแน่นอน เพราะเขาพอใจที่จะอยู่อย่างนี้ต่อไป ใครจะบ่น ใครจะด่าก็ไม่สนใจ หูทวนลมแล้วอยู่ไปเรื่อยๆ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ใครจะมีโควตาหน้ากากกี่ล้านชิ้น ก็แล้วแต่ ก็ไม่เกี่ยว ไม่รู้จัก แถกันไปตามนั้นได้

ส่วนการแก้นอกคือคนในสังคมต้องเสียงดังพอ รู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ไม่สามารถรับสิ่งนี้ต่อไปได้อีกแล้ว เมื่อไปดูปรากฏการณ์นักศึกษาที่ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งขนาดเสียงดังไม่มากยังสร้างความหวั่นไหว แรงสั่นสะเทือน ถึงขั้นรองประธานกรรมาธิการแก้รัฐธรรมนูญ คนที่ 1 ชื่อย่อ พ.ท่าทีเปลี่ยน รีบเสนอให้ตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาทันที แถมจะเปิดสภาให้นักศึกษาเข้ามาเสนอแนะด้วย

ดังนั้น ถ้าเสียงดังๆ จากประชาชนรับรองว่าแก้รัฐธรรมนูญได้อย่างแน่นอน

เริ่มจาก 5 ข้อคือ รัฐบาลต้องลาออก เลือกตั้งใหม่ ไม่เอา ส.ว.ชุดนี้ ไม่เอาองค์กรอิสระชุดนี้ และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

โภคิน พลกุล

คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย

ฝ่าวิกฤตประเทศด้วยการแก้รธน.

ในอดีตที่ผ่านมามีการทำรัฐประหารโดยอ้างว่านักการเมืองไม่ดี

นักการเมืองไม่ดีมี แต่ก็มี ส.ส.ที่ลงไปหาชาวบ้าน ทันทีที่ เดือดร้อน ท่านอยากได้คนแบบนี้หรือคนที่ไม่ใส่ใจ เอาแต่ข่มขู่คน ไปวันๆ

วันนี้ท่านเห็นชัดเจนแล้วว่า ที่เลือกเผด็จการเข้าไปท่านได้สิ่งนี้ แต่จริงๆ ท่านไม่ได้เลือก เพราะเขาออกแบบบ้านให้เผด็จการอยู่ได้ ประชาธิปไตยอยู่ยากหรืออยู่ไม่ได้เลย ปัญหาจึงอยู่ที่ตัวบ้าน หลายคนที่เคยสนับสนุนก็เริ่มผิดหวัง เริ่มตีตนออกห่าง เพราะรู้แล้วว่าอย่างนี้ไม่ใช่บ้านที่ตัวต้องการ

ก่อนที่นิสิต นักศึกษาจะลุกขึ้นมามีบทบาท พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านผลักดันกันมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ตั้งแต่เริ่มตั้ง รัฐบาลใหม่ๆ เราบอกแล้วว่ารัฐบาลที่มีมากกว่า 19 พรรคอยู่ไม่ได้

ถ้าปล่อยไว้แบบนี้รัฐบาลหน้าน่าจะมีมากกว่า 30 พรรค เพราะแต่ละคนจะพากันไปตั้งพรรคเล็กพรรคน้อย ออกแบบให้กลไกของรัฐอ่อนแอหมด ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง องค์กรอิสระเอาของเดิมมา แต่ถ้าตั้งใหม่ก็ใช้ส.ว.ตั้ง ทั้งที่เมื่อก่อนใช้คนหลากหลายมาตั้ง

คนเราถ้าเป็นหนี้บุญคุณคนหลากหลาย ไม่กล้าเข้าข้างใครคนใดคนหนึ่ง แต่ถ้าตั้งโดยคนคนเดียวหรือกลุ่มเดียว ต้องตอบแทน คนกลุ่มนี้ ดังนั้นอย่ากลัวความหลากหลาย

ทุกอย่างอยู่ที่กติกาใหญ่ คือบ้าน ถ้าบ้านออกแบบไม่ดี ไม่ตอบโจทย์ประชาชน หรือตอบโจทย์อนาคตของประเทศ เราไม่มีอนาคต

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ก็เป็นตัวแทนของระบบนี้ แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะออกไปก็จะมีประยุทธ์ 2 ประยุทธ์ 3 ประยุทธ์ 4 ไม่จบสิ้น เชื่อว่าพี่น้องประชาชนเริ่มตระหนักแล้วว่าบ้านสำคัญที่สุด

รัฐธรรมนูญต้องทำให้การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เรื่องของคนที่อยู่กับการเมืองเท่านั้น

จากวันนั้นถึงวันนี้การเมืองเป็นเรื่องของคนกลุ่มหนึ่ง หนักกว่าเดิมอีก ซึ่งเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จึงเสนอว่าต้องมีบ้านใหม่ มีแบบอย่างมาแล้วในปี 2539 อาศัยความร่วมมือกันจากคนในสังคม ซึ่งต้องมีรัฐบาล เป็นแกนนำ ต้องมีบทบัญญัติหมวดหนึ่งที่ เปิดช่องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ จากนั้น เลือกตั้งคนขึ้นไปร่างรัฐธรรมนูญตามสัดส่วนประชากร แล้วนำไปเข้ากระบวน การประชามติ มาร่วมกันจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ฟรีและแฟร์

เชื่อว่าถ้าประชาชนเป็นคนร่าง คงไม่ร่างเพื่อสร้างบ้านเผด็จการ แต่ถ้าจะเอาเผด็จการก็ต้องอยู่กันแบบนั้น ต้องกล้ายุติธรรมต่อ สิ่งเหล่านี้

การจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือแก้ไขเป็นรายประเด็น ต้องเข้าสู่บทบัญญัติที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งคนที่จะเสนอได้คือมี ครม. ส.ส. และประชาชนเข้าชื่อกัน 20,000 คน จากนั้นจะพิจารณา 3 วาระ

แต่ที่ไปทำให้แก้ไม่ได้เลย คือในวาระ 1 กับ 3 ต้องมี ส.ว.เห็นชอบ 1 ใน 3 ดังนั้นใครก็ตามที่ควบคุม ส.ว.ไว้ไม่ให้เห็นชอบ ก็ตกหมดแล้ว

ขณะเดียวกันในวาระ 3 ถ้าพรรคใดที่ไม่มีใครเป็นประธานสภา หรือนั่งในรัฐบาล 20% ไม่เห็นด้วยก็ไม่ผ่านอีก สรุปคือแก้ไม่ได้ ถ้าไม่เห็นพ้องต้องกัน ถ้าฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วยในประเด็นใดๆ ก็แก้ไม่ได้ ปล่อยไว้แบบนี้มีแต่ประเทศจะพังพินาศ จึงต้องชักชวนทุกฝ่ายออกมาเห็นด้วย

ฝ่ายที่จะกดดันให้ฝ่ายที่ไม่ยอมต้องยอม ได้แก่ ภาคนักศึกษา และประชาชนทั้งหมด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน