อนุกมธ.เด้งรับนักศึกษาเสนอแนวทางแก้รธน.-โวยหน่วยงานรัฐกดดันจัดแฟลชม็อบ

 

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมาธิการ(กมธ.) ศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น ในกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กล่าวถึงการรับความคิดเห็นของนิสิตนักศึกษาต่อแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ในเวทีรับฟังความเห็นนิสิตนักศึกษา 45 สถาบันเมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา หลายประเด็นที่นิสิต นักศึกษาได้สะท้อนออกมานั้น ไม่ใช่เรื่องที่เกินจริง เพราะเป็นข้อเรียกร้องแบบเสรีประชาธิปไตยที่เป็นเหตุเป็นผล

หลายเรื่องทำได้จริงในทางการเมือง และที่สำคัญยังสอดคล้องกับสิ่งที่อนุกมธ.ได้พิจารณาไว้ด้วย ทั้งวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มานายกฯ ที่มาและอำนาจส.ว. สิทธิและเสรีภาพ รวมไปถึงสิทธิในการเข้าถึงสิทธิในการศึกษา เป็นต้น ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าพอใจที่คนรุ่นใหม่ได้มาแสดงความเห็นที่น่าชื่นชม

สำหรับเรื่องสิทธิเสรีภาพ และการเข้าถึงสิทธิทางการศึกษา ถือว่าตรงกันมากที่สุด เพราะแม้จะมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่ด้วยข้อยกเว้นตามกฏหมายที่ว่าสิทธิเสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดกับศีลธรรมอันดีงาม ต้องเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อย และในรัฐธรรมนูญ 2560 ยังพิเศษกว่านั้น โดยเพิ่มคำว่า ความมั่นคงเข้าไปด้วย จึงกลายเป็นว่า เป็นเสรีภาพที่ไม่เป็นจริง โดยมีกุญแจล็อก 3 ชั้น อนุกมธ.เสียงส่วนใหญ่ได้เสนอให้ตัดเงื่อนไขในเรื่องความมั่นคงออกไป

ขณะที่เรื่องสิทธิทางการศึกษา 12 ปีนั้น แม้จะเป็นความปรารถนาดีของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่ตั้งใจให้รัฐเข้าไปดูแลเด็กก่อนวัยเรียน แต่ต้องยอมรับว่า ระยะเวลา 12 ปีก่อนวันเรียน ถือว่า ทำให้ไม่ครอบคลุมถึงชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งอนุกมธ.เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบร่วมกันว่า สิทธิทางการศึกษาต้องคลอบคลุมตั้งแต่ก่อนวัยเรียนไปจนถึงชั้นมัธยม แต่ประเด็นนี้ทางนักศึกษาได้เสนอให้ขยายไปถึงปริญญาตรี ซึ่งไม่ถือเป็นเรื่องเกินเลย แต่ด้วยการจัดการของรัฐ อาจจะยังไม่เป็นจริงได้ในขณะนี้ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณหากบัญญัติลงไปในรัฐธรรมนูญ

ส่วนเรื่องที่มานายกฯนั้น นิสิต นักศึกษาเสนอว่า ควรมาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งส.ว.ไม่ควรมีอำนาจในการโหวตเลือกนายกฯ สำหรับอนุกมธ.ได้พิจารณาเรื่องนี้เป็น 2 ทาง คือ ก่อนและหลังสิ้นบทเฉพาะกาล เพราะข้อเรียกร้องในส่วนนี้ เมื่อสิ้นสุดบทเฉพาะกาลแล้ว เงื่อนไขต่างๆที่นิสิต นักศึกษาเสนอจะหายไป ทั้งส.ว.สรรหา โควตาผบ.เหล่าทัพ อำนาจส.ว.ในการโหวตนายกฯ รวมไปถึงที่มานายกฯที่เปิดช่องไว้ในบทเฉพาะกาลด้วย โดยจะกลับไปยึดตามบทหลัก ให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม ซึ่งความเห็นของอนุกมธ.ในเรื่องนี้มี 2 ส่วน ส่วนแรกให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด กับ ส่วนที่สองให้มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม 200 คน แต่มีอำนาจเพียงแต่กลั่นกรองกฏหมาย โดยที่คณะกรรมการสรรหาต้องเข้มข้นชัดเจน

ขณะที่วิธีการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มีข้อเรียกร้องให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมา เพื่อรับฟังประชาชนโดยกว้าง เรื่องนี้ต้องยอมรับว่า ภาพเก่าของส.ส.ร.เป็นสิ่งที่ผู้คนประทับใจ แม้แต่ฝ่ายการเมืองก็เห็นด้วย แต่ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ ว่าจะสามารถทำได้จริงเพียงใด เบื้องต้นอนุกมธ.ยังไม่มีข้อสรุปร่วมกัน

“แม้วันนี้จะได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเหตุทำให้ต้องแก้ไข จากปัญหาในหลายเรื่อง แต่ต้องมาพิจารณาวิธีการแก้ไขที่ทำได้คืออะไร โดยในอนุกมธ.มีความเห็นแบ่งเป็น 3 แบบ 1.สนับสนุนให้มีส.ส.ร. 2.สนับสนุนให้แก้เฉพาะจุดสำคัญ เป็นหมวดไป โดยแก้ก่อนที่บทเฉพาะกาลจะสิ้นสุด และ 3.แก้เฉพาะจุดสำคัญ เป็นหมวดๆ โดยให้มีผลหลังจากที่บทเฉพาะกาลสิ้นสุดไปแล้ว ซึ่งในแบบที่ 3 เห็นว่า ถ้าให้มีผลทันทีอาจจะไม่ได้รับความร่วมมือจากส.ว. เพราะจำเป็นต้องได้เสียง ส.ว.มาสนับสนุน ซึ่งการจะแก้ไขโดยให้มีผลก่อนโดยตัดอำนาจของส.ว.ชุดนี้ทิ้งด้วย จะทำให้เขาไม่มาร่วม และสุ่มเสี่ยงที่จะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลย จึงได้เสนอให้ตัดเงื่อนไขต่างออกให้หมด โดยใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมกชิกทั้ง 2 สภาเป็นใบเบิกทางแรกก็น่าจะเพียงพอ และทำให้คนยอมรับได้ แม้น้องๆจะเสนอให้ใช้เสียงกึ่งหนึงก็พอ แต่คิดว่า มันง่ายไปสำหรับรัฐธรรมนูญ ซึ่งการเสนอแบบนี้ เพราะอยากให้แก้ได้ ค่อยๆเปลี่ยนผ่านไป ไม่สุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง” นายนิกร กล่าว

นายนิกร กล่าวว่า ยืนยันว่า ทุกความเห็นที่นักศึกษาเสนอเข้ามา จะไม่มีส่วนไหนตกหล่นหรือหายไป จะถูกรวบรวมบันทึกเป็นรายงานไว้อย่างละเอียด และจะอยู่กับสภาตลอดไปเพื่อให้ผู้แทนราษฎรได้นำมาใช้พูด เป็นปากเป็นเสียงแทนในสภา แม้ว่าทั้งหมดจะไม่ใช้ความเห็นโดยรวมของนิสิต นักศึกษา แต่ในฐานะรุ่นพี่ที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน เข้าใจในส่วนนี้ดี เพราะมีนิสิต นักศึกษาหลายคนยังได้ใช้เวทีในการรับฟังความคิดเห็นฟ้องต่อกมธ.ด้วยว่า จากการที่พวกเขาออกมาเคลื่อนไหวจัดแฟลชม็อบที่ผ่านมา ได้เกิดปัญหาคือมีหน่วยงานของรัฐไปกดดัน ที่สำคัญยังไปกดดันครอบครัวของพวกเขา จึงทำให้มีความไม่สบายใจเป็นอย่างมาก ถือเป็นความคับข้องใจที่พวกเขาได้สะท้อนออกมาในเวทีนี้

โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ ในฐานะประธานกมธ.ได้รับปากว่า จะไปประสานดูแลเรื่องนี้ให้ เพราะที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีคำสั่งแล้วว่า ห้ามไปกดดันนิสิต นักศึกษาเหล่านี้ที่ออกมาแสดงออก กมธ.จึงจะเป็นกลไกที่จะรับเรื่องราวนี้ไว้แล้วประสานงานเพื่อการแก้ไขต่อไป ถือเป็นเรื่องที่ดีมากในสถานการณ์นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน