จาตุรนต์ ชง 4 ข้อสู้โควิด ดึงอาสาสมัครติดตาม ผู้ติดเชื้อ-กลุ่มเสี่ยง ผ่านออนไลน์

โควิด – วันที่ 30 มี.ค. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ โพสต์เฟซบุ๊กระบุจะหลีกเลี่ยงความเสียหายใหญ่หลวงได้ ต้องเปลี่ยนแปลงว่า มาตรการปิดสถานที่ต่างๆ ลดการเดินทางและขอให้คนอยู่บ้านมาอาทิตย์กว่าๆ เริ่มมีคำถามว่าเราจะอยู่อย่างนี้อีกนานแค่ไหน เมื่อครบกำหนดวันที่ 30 เม.ย.แล้ว การแพร่ระบาดจะลดน้อยหรือไม่ หรือจะต้องเจอกับมาตรการที่เข้มข้นกว่าเดิม

ตัวเลขวันนี้ ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 136 คน เป็น1,524 คน เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 9.7 ต่อวัน ถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มด้วยอัตราร้อยละ 10 ในแต่ละวันอย่างนี้ อีก 1 สัปดาห์จะมีผู้ติดเชื้อ 3,000 คน ถึงวันที่ 30 เม.ย. เราอาจมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 29,000 คน หวังว่ามาตรการที่ใช้นี้ จะมีผลให้ตัวเลขไม่สูงอย่างที่คำนวณ

นายจารตุรนต์ ระบุด้วยว่า ถ้าศึกษาจากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและบทเรียนจากประเทศต่างๆ เรื่องหนึ่งที่ประเทศที่คุมสถานการณ์ได้ดีทำตั้งแต่เนิ่นๆ คือการห้ามชาวต่างชาติโดยเฉพาะจากประเทศเสี่ยงเข้าประเทศ เรื่องนี้เราทำช้าไปมากและขณะนี้ก็ไม่ใช่ประเด็นแล้ว ตนคิดว่ามี 4 เรื่องใหญ่ที่ต้องเปลี่ยนแปลงดังนี้

1.รณรงค์สร้างความรู้เข้าใจให้เกิดความตระหนักและการปฏิบัติที่จริงจังในการวางระยะห่างทางสังคม ให้มีผู้ปฏิบัติตามมากที่สุด

2.วางระบบการกักตัวที่มีประสิทธิภาพและมีขนาดมหึมา อาศัยบุคลากรเป็นแสนๆ ทั่วประเทศ เน้นการสอบสวนโรค สืบหาผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อ จัดหาสถานที่กักตัวสำหรับผู้ที่ไม่สามารถกักตัวเองที่บ้าน คัดเลือกผู้ที่ควรตรวจ (Testing) และรักษาโดยเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดเข้าในระบบออนไลน์แบบเรียลไทม์

ที่ผ่านมาการกักตัวเป็นจุดอ่อนมากโดยเฉพาะผู้ที่มาจากต่างประเทศเกือบจะไม่มีการกักตัวเลย เมื่อมีการแพร่ระบาดในประเทศก็จะเห็นประกาศเตือนผู้ที่เข้าไปอยู่ในจุดเสี่ยงต่างๆ แต่ไม่มีระบบติดตามรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ

แต่ก็มีหลายพื้นที่เกิดสิ่งที่ดีๆขึ้นโดยเฉพาะในต่างจังหวัด มีกรณีพบผู้ป่วยคนหนึ่ง ก็สืบหาผู้เข้าข่ายเสี่ยงติดเชื้ออย่างจริงจังจนได้รายชื่อหลายร้อยคน แล้ววางระบบติดต่อและส่งบุคลากรไปเยี่ยมทุกวัน มีอาการผิดปกติก็รีบส่งตรวจทันที บางจังหวัดมีการล็อกดาวน์หมู่บ้าน ใช้เจ้าหน้าที่เป็นร้อยส่งข้าวส่งน้ำดูแลจนกว่จะยกเลิกมาตรการ ในต่างจังหวัดมีความพร้อมที่จะวางระบบอย่างนี้ ถ้าใช้คนหมู่บ้านละ 5-6 คนก็คือใช้คน 400,000 คนแล้ว ในกทม.และชุมชนเมืองก็อาจจะยากกว่า นอกจากบุคลากรที่มีอยู่แล้วและคงต้องใช้อาสาสมัครจำนวนมากมาคอยติดต่อทางออนไลน์กับผู้ถูกกักตัว

ในบางประเทศเวลาประกาศหาอาสาสมัครมีคนสมัครเป็นล้านคน

ที่ผมใช้คำว่า “มหึมา” ก็คืออย่างนี้ ซึ่งระบบแบบนี้ใช้บุคลากรทางการแพทย์น้อยมาก แต่ลดผู้ป่วยไปสู่หมอได้มาก

เกาะติดข่าวโควิด กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account
เพิ่มเพื่อน

3.ตั้งเป้าหมายเพิ่มการตรวจ ผู้ที่ควรตรวจให้ได้จำนวนมากและเร็วใกล้เคียงกับประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น กี่แสนครั้งภายในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ไทยเราขาดน้ำยาที่ใช้ในห้องแล็บมาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ก่อน ขณะนี้น่ายินดีและมีความเป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหานี้เพราะมีการค้นพบเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งในต่างประเทศ เช่นที่ FDA เพิ่งรับรองและของไทยเช่น ที่จุฬาฯ เพิ่งส่งเครื่องตรวจโควิด-19 จำนวน 1 แสนเครื่องถึงมือนายกฯแล้ว เป็นต้น หากหาทางนำเข้าและส่งเสริมให้พัฒนาและผลิตเพิ่มในส่วนที่ทำเองได้อย่างจริงจัง จะเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์ได้

4.การจัดหาโรงพยาบาล ห้อง เตียง อุปกรณ์ เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับแพทย์พยาบาลและบุคลากรทางสาธารณสุขและประชาชน จะต้องทำอย่างเป็นระบบ มีศูนย์อำนวยการ รู้สภาพความต้องการในปัจจุบันและประเมินล่วงหน้า ตั้งเป้าหมายในทางปริมาณที่ชัดเจนและสนับสนุนงบประมาณให้ทุกส่วนอย่างไม่จำกัด ทั้งนี้ ไม่ควรปล่อยให้แต่ละฝ่ายต้องดิ้นรนแก้ปัญหากัน ทั้งที่ไม่มีอำนาจสั่งการและงบประมาณ รัฐบาลจำเป็นต้องวางระบบ มีศูนย์กลางวางแผนและอำนวยการ

หากกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ใน 4 เรื่องนี้ เรายังจะเปลี่ยนเกมได้ หลีกเลี่ยงความเสียหายใหญ่หลวงได้ สิ่งที่เสนอมานี้จำเป็นเร่งด่วนที่สุดคือต้องเปลี่ยนแปลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน