ตบเท้าเข้าสภา 26 คน บิ๊กตำรวจ 2 ผบช.น.-ผบช.ภ.1 พลเรือน 5 โพลระบุชาวบ้านหนุน องค์กรอิสระ เริ่มที่กกต.ก่อน “พรเพชร”กังวลเงื่อนเวลาบีบทำกม.ลูก สนช.ไม่ติดใจทริปฮาวาย เพื่อไทยจวก “ไก่อู”โยนกลุ่มการเมืองเก่าจ้องถล่มรัฐบาล ท้าชายชาติทหารกล้าทำต้องกล้ารับ แนะคนร่วมคณะโชว์พาสปอร์ต จวกแม่น้ำ 5 สายยำใหญ่ “แม้ว”พบเสื้อแดง ที่สหรัฐ เหน็บยังก้าวไม่พ้นทักษิณ ปชป. บี้สอบทุกคนที่เอี่ยวทุจริตข้าว จี้รัฐดูแลความปลอดภัยองค์กรตรวจสอบถูกข่มขู่ ป.ป.ท.ย้ำจ่อตั้งอนุกรรมการไต่สวนจำนำข้าวเจ๊ง 853 คดี คาด 6 เดือนส่งฟ้องได้

“บิ๊กตู่”ทูลเกล้าฯ 33 สนช.ใหม่

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า จากกรณีที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 เพิ่มจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จากเดิม 220 เป็น 250 คน มีผลบังคับใช้วันที่ 2 ก.ย.2559 นั้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกคุณสมบัติด้วยตนเอง โดยสมาชิก สนช.ที่เพิ่มอีกทั้ง 30 คนนี้ จะเข้ามาช่วยพิจารณากฎหมายที่ค้างอยู่ในสภา แต่เนื่องจากมีสนช.ที่เสียชีวิต และลาออกไปอีก 3 คน จึงได้แต่งตั้งในวาระเดียวกันนี้อีก 3 คน เป็น 33 คน

สำหรับรายชื่อสนช.ใหม่ ที่พล.อ.ประยุทธ์ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ มีจำนวน 33 คน มีทหารถึง 26 คน ตำรวจ 2 คน และพลเรือน 5 คน ประกอบด้วย พล.อ.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อ.สุทธิพงษ์ อินทรียงค์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ พล.อ.ท.จิรวัฒน์ มูลศาสตร์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน (อย.) พล.ต.ธรรมนูญ วิถี รองแม่ทัพภาคที่ 1

 

พล.ต.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2รอ.) พล.ต.วุฒิชัย นาควานิช ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) พล.ร.อ.สุชีพ หวังไมตรี ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ พล.ท.กนิษฐ์ ชาญปรีชญา รองเสนาธิการทหารบก พล.ต.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ พล.ท.ศิริชัย เทศนา ผู้บัญชา การหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ
ทหารตบเท้าพรึ่บ 26 คน

พล.อ.ศุภรัตน์ พัฒนาวิสุทธิ์ อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ พล.ท.สรรชัย อจลานนท์ เจ้ากรมกำลังพลทหารบก พล.ต.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ รองแม่ทัพภาคที่ 1 พล.ท.สุรใจ จิตต์แจ้ง ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพบก พล.อ.อ.สุรศักดิ์ ทุ่งทอง รองเสนาธิการทหารอากาศ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.อ.อ.ชูชาติ บุญชัย ผู้บัญชาการกรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ พล.ต.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์

 

พล.ร.อ.ทวีชัย บุญอนันต์ ประธานคณะ ที่ปรึกษากองทัพเรือ พล.อ.ธนดล สุรารักษ์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ พล.ร.อ.พลเดช เจริญพูล รองผู้บัญชาการทหารเรือ พล.ต.พัลลภ เฟื่องฟู ผู้บัญชาการกองพลทหารปืนใหญ่ พล.ร.ท.รัตนะ วงษาโรจน์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน พล.ท.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองเสนาธิการทหารบก พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช รักษาการผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) นายวิทยา ผิวผ่อง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และนายเจริญศักดิ์ ศาลากิจ อดีตสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

ปชช.หนุนเซ็ตซีโร่องค์กรอิสระ

วันเดียวกัน กรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจ ความคิดเห็นประชาชนเรื่อง ความหวังของประชาชนกับการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการ เมืองไทย โดยเก็บข้อมูลจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 1,221 คน ระหว่างวันที่ 4-6 ต.ค. พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 71.3 สนับสนุนให้มีการปฏิรูปการเมือง พรรค การเมือง นักการเมืองอย่างจริงจังก่อนการเลือกตั้งในปีหน้า ร้อยละ 74.1 เห็นว่า ควรเซ็ตซีโร่พรรค การเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้มีพรรค การเมือง นักการเมืองใหม่มากขึ้น

ขณะที่ร้อยละ 20.2 ไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้ต้องยุบพรรคใหญ่ ร้อยละ 78.5 เห็นด้วยกับแนวคิดจำกัดค่า ใช้จ่าย และการจำกัดการใช้สื่อในการหาเสียง ร้อยละ 17.3 ไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้การหาเสียงไม่คึกคัก ขาดสีสัน

 

ร้อยละ 67.8 เห็นด้วยที่จะให้มีการเซ็ต ซีโร่องค์กรอิสระทั้งหมด โดยเริ่มจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขณะที่ร้อยละ 25.2 ไม่เห็นด้วยเพราะระบบเดิมดีอยู่แล้ว และร้อยละ 7.0 ไม่แน่ใจ ตลอดจน ร้อยละ 60.3 เชื่อมั่นในรัฐบาล และคสช.ว่าจะปฏิรูปการเมืองให้มีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ ร้อยละ 62.7 คาดหวังอยากเห็นนักการเมืองหน้าใหม่ พรรคการเมืองใหม่ มากที่สุดหลังการปฏิรูป รองลงมาร้อยละ 57.4 อยากให้การเมืองไทยมีการแข่งขันอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ซื้อเสียง

กรธ.เล็งตั้งกก.จัดเลือกตั้งท้องถิ่น

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงแนวคิดเรื่องการลดอำนาจกกต.ในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า ก็ยังคิดต่อ เพราะยังไม่ได้ตกผลึกชัดเจน แต่แนวทางดังกล่าว กรธ.ศึกษาจากงานวิจัยต่างๆ และฟังจากการรับฟังความคิดเห็น พบว่า การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นทั่วประเทศที่ผ่านมามีการจัดกันเกือบทุกสัปดาห์ จึงเป็นภาระงานที่หนักมาก สำหรับกกต. ดังนั้น กรธ.จึงเห็นว่า ควรยกอำนาจในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นให้ท้องถิ่นต่างๆเป็นคนดำเนินการแทน โดยอาจจะตั้งคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น หรือประจำจังหวัดขึ้นมา โดยมีสัดส่วนจากภาคส่วนต่างๆในท้องถิ่นเข้ามาเป็นกรรมการร่วมก็ได้

“ที่ผ่านมา เวลาจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น จะมีการแต่งตั้งกรรมการประจำเขตเลือกตั้งนั้นๆอยู่แล้ว โดยใช้คนของจังหวัดหรือคนของท้องถิ่นนั้นๆเข้ามาทำงาน และใช้ข้าราชการประจำภูมิภาค กับเจ้าพนักงานประจำท้องถิ่น เข้ามาช่วยเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง เช่นเดียวกับ งบประมาณที่ผ่านมาก็เป็นของท้องถิ่นทั้งหมดอยู่แล้ว ขณะที่กกต.ไปมุ่งเน้นในการทำหน้าที่ในการเฝ้าระวังและกำกับดูแลไม่ให้การเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น มีการทุจริตน่าจะเหมาะสมมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น”นายชาติชาย กล่าว

“พรเพชร”ห่วง-เวลาบีบทำกม.ลูก

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวถึงการเตรียมการร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับว่า ขณะที่กำลังรอรับไม้ต่อจาก กรธ. ส่งมาเมื่อไหร่เราพร้อมทำ ต้องเริ่มจากกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองก่อน ตามด้วยกฎหมายลูกว่าด้วย กกต. กฎหมายลูกว่าด้วยที่มาส.ว. สุดท้ายกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เรากำลังให้ กมธ.สามัญ สนช.แต่ละคณะ รวบรวมรายชื่อคนที่รับอาสาร่วมร่างกฎหมายลูกให้ คณะ กมธ.สามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช. ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่หนึ่งเป็นประธานพิจารณาอีกครั้ง

ทั้งนี้ ที่กังวลคือหลังจาก กรธ.ส่งร่างกฎหมายลูกมา สนช.มีเวลา 60 วันตามรัฐธรรมนูญกำหนด ถือว่าเร่งมาก น่าจะต้องแปรญัตติ 7-15 วัน เพื่อความรอบคอบ แม้เราเตรียมพร้อมแต่เงื่อนเวลาเร่งเช่นนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ห่วงว่าจะกระทบกฎหมายสำคัญกำลังทยอยเข้ามาที่สนช.อีกหลายฉบับ เช่น กฎหมายจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และกฎหมายแผนขั้นตอนการปฏิรูปทั้ง 2 ฉบับ ที่มีกำหนดเส้นตายไว้ 120 วัน ยังไม่นับรวมกฎหมายปกติอีกหลายฉบับที่รออยู่ แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบโรดแม็ป เลือกตั้ง ต้องทำให้ทัน สนช.ไม่กังวลถอดถอนไม่ทันเวลา

ยันไม่ตั้งธงถอดถอนใคร

นพ.เจตน์กล่าวว่า ส่วนกรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ระบุว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สนช.ต้องเร่งดำเนินการเรื่องคดีถอดถอนให้เสร็จก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ หากพิจารณาไม่เสร็จจะถือว่าต้องยุติไปโดยปริยาย เพราะในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่มีเนื้อหาเรื่องการถอดถอนนั้นเป็นไปตามที่นายมีชัยพูด อะไรที่คั่งค้างต้องสะสางให้เสร็จ

“สนช.ไม่กังวล จะเสร็จทันหรือไม่ทันทั้งหมดไม่มีปัญหา แล้วแต่ป.ป.ช.ส่งมาเมื่อไหร่ค่อยทำต่อตามขั้นตอน ไม่ได้กังวล สนช.ไม่ได้ตั้งธงจะถอดถอนใครเป็นพิเศษ ดังนั้น จึงไม่กังวลว่าจะถอดถอนใครทันหรือไม่ทันตามเงื่อนเวลาร่างรัฐธรรมนูญใหม่” นพ.เจตน์กล่าว

ดึงสปท.-กกต.ร่วมร่าง

ด้านนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 กล่าวว่า การวางแผนร่างกฎหมายลูกของสนช. เท่าที่ฟังจาก กรธ.กำลังเร่งอยู่ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.พรรคการเมือง และพ.ร.บ.กกต. ส่วน สนช.อาจจะตั้ง กมธ.วิสามัญที่ให้คนนอกเข้ามาร่วมได้ขึ้นมา โดยปรับเพิ่มสัดส่วนที่จากเดิม กมธ.วิสามัญมีคณะละไม่เกิน 15 คน จะเพิ่มเป็น 21 คน เบื้องต้นอาทิ กฎหมายลูกว่าด้วย กกต. จะมี ตัวแทน กกต.กับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพิ่มเข้ามา

ทั้งนี้ วันที่ 24-25 ต.ค.จะวางแผนกันในงานประชุมสัมมนาเตรียมพร้อมทำงานรองรับกฎหมายลูกที่จะเข้ามาตามยังสนช. โดยนโยบายจากประธาน สนช.ต่อจากนี้จะพยายามกระจายรายชื่อสมาชิก ไม่ให้คนหนึ่งเป็น กมธ.ได้หลายคณะมากไป เพื่อเพิ่มความเห็นหลากหลาย ตัดปัญหาการซ้ำซ้อน ตนยืนยันออกกฎหมายสำคัญได้ทัน ไม่กระทบโรดแม็ป เลือกตั้งแน่

ไม่ติดใจเที่ยวบินฮาวาย

นายพีระศักดิ์ยังกล่าวถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้ สนช.ตั้งกระทู้ถามกรณีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ใช้งบประมาณ 20.9 ล้านบาท เช่าเครื่องบินเหมาลำ นำคณะไปร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีกลาโหมที่รัฐฮาวาย สหรัฐว่า เรื่องนี้อยู่ที่ดุลพินิจของสมาชิก สนช. แล้วแต่ใครจะเสนอหรือไม่ ถ้ามีก็ดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับ ไปบังคับใครไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงตามหน้าสื่อแล้ว ทั้งการบินไทย กระทรวงกลาโหม ส่วนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ตรวจสอบแล้ว มีผลเป็นอย่างไรน่าจะเพียงพอ น่าจะเป็นที่ยุติได้ และในวิป สนช.ไม่ได้มีหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาหารือกัน

นพ.วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า การตั้งกระทู้เป็นสิทธิส่วนบุคคล ที่ผ่านมา สนช.ก็ตั้งอยู่เนืองๆ ตนเคยตั้งมาเกือบสามสิบกระทู้ หลักๆ ต้องดูการตั้งกระทู้ถามเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากน้อยแค่ไหน สนช.ได้พูดคุยเหมือนกัน โดยนำค่าใช้จ่ายไปเทียบเคียงการเดินทางแต่ละยุครัฐบาล ซึ่งดูความชัดเจนรัฐบาลตอบได้ชัดแล้ว

เรื่องนี้ตนเชื่อไม่มีการทุจริต ระยะเวลาสั้นมาก คงไม่ได้ไปเที่ยวอะไร ถ้าจะเที่ยวต้องอยู่ยาวกว่านี้ อีกอย่างใช้สายการบินไทย งบประมาณแผ่นดินไม่ได้หายไปไหน ส่วนค่ากินค่าอยู่เป็นหน้าที่ สตง.ตรวจสอบถ้าใครเห็นว่าประเด็นเสียหายยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.สอบได้ ตอนนี้ สตง.ก็สอบแล้ว สนช.รอดูว่าผลจะออกมาอย่างไร

เพื่อไทยจวกกลับ “ไก่อู”

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเดินทางไปทริปฮาวายเพื่อประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน-สหรัฐ ที่สหรัฐ ของคณะพล.อ.ประวิตร นั้น ประชาชนให้ความสนใจอย่างยิ่ง ในเรื่องค่าใช้จ่าย 20.9 ล้านบาท กับรายชื่อผู้ร่วมคณะ เดินทางไปด้วย โดยเฉพาะการที่มีคนนำเอาข้อมูลผู้ร่วมคณะเดินทางมาเปิดเผยถึงขนาดที่นำเอาผังที่นั่งมาแสดงให้เห็นว่าใครนั่ง ตรงไหนบนเครื่องบิน ดังนั้น รัฐบาลควรต้องเปิดเผยและชี้แจงให้ประชาชนทราบ ถือเป็นเรื่องปกติภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ที่ฝ่ายบริหารจะต้องถูกตรวจสอบได้ เพื่อความโปร่งใส

ทั้งนี้การที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นายกฯออกมาให้คำแนะนำให้ พล.อ.ประวิตรชี้แจงให้สังคมได้รับทราบก็ถูกต้องแล้ว และการที่พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลออกมาโยนเรื่องนี้ให้เป็นการเมืองโดยพยายามกล่าวหากลุ่มการเมืองเก่าที่มีคดี ซึ่งเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจากคนของพรรคเพื่อไทย ก็อยากขอความเป็นธรรมให้กับพวกเราบ้าง

จี้คนร่วมทริปโชว์พาสปอร์ต

นายสุรพงษ์กล่าวว่า การเป็นชายชาติทหารนั้น ถ้ากล้าทำก็ต้องกล้ารับการตรวจสอบ อย่างตรงไปตรงมา ความจริงก็คือความจริง มันปิดบังกันไม่ได้อยู่แล้ว ข้อมูลต่างๆ ที่ถูกเผยแพร่ออกมานั้น ถ้าไม่ใช่คนในด้วยกันเองทำ เชื่อได้ว่าไม่มีทางที่คนนอกจะล้วงออกมาเปิดเผยได้อย่างแน่นอน

 

อยากเสนอว่าเพื่อเป็นการพิสูจน์ความจริงความบริสุทธิ์ ให้คนที่ประชาชนมีข้อกังขาอยู่ในใจว่าได้ร่วมเดินทางไปกับคณะจริงหรือไม่ เอาพาสปอร์ตหรือหนังสือเดินทางมาเปิดพิสูจน์กันดูเลย ว่ามีการแสตมป์ในหนังสือ เดินทางช่วงเวลา 29 ก.ย.-2 ต.ค.2559 ได้มีการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยและสหรัฐหรือไม่ก็เท่านั้นเอง ไม่เห็นต้องกลัวอะไร และอยากให้นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สืบเสาะหาความจริงด้วยวิธีนี้เช่นกัน เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์

จวก 5 สายรุมถล่ม”แม้ว”

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีคนในเครือข่ายแม่น้ำ 5 สายออกมาตอบโต้ด้วยถ้อยคำ ที่รุนแรงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พบปะตอบคำถามคนเสื้อแดงที่นครลอสแองเจลิส สหรัฐ เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ว่า ไม่เหนือความคาดหมายที่คนเหล่านี้ออกมาตอบโต้ในลักษณะนี้ ทั้งที่นายทักษิณพูดด้วยความห่วงใยประเทศ ไม่ได้เรียกร้องอะไรส่วนตัว พูดด้วยความปรารถนาดีอยากเห็นประเทศเดินหน้าได้

การออกมาตอบโต้อย่างรุนแรง เป็นการพิสูจน์ว่าผู้ถืออำนาจรัฐและเครือข่ายแม่น้ำ 5 สายยังไม่ก้าวข้ามนายทักษิณ การที่ใครจะชอบหรือไม่ชอบใครเป็นสิทธิ์ส่วนตัว แต่อยากจะให้แสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานของหลักการและเหตุผล ไม่จำเป็นต้องใช้ วาทกรรมสร้างเกลียดชังที่จะทำลายบรรยา กาศแห่งความปรองดองสมานฉันท์

“คสช.ยึดอำนาจมาและมีมาตรา 44 เป็นเครื่องมือพิเศษ ก็ขอให้แก้ไขปัญหาให้ได้ อย่าโทษคนอื่น หรือรำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง ที่บอกว่ายึดอำนาจเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศและสร้างความปรองดองสมานฉันท์ อยากถามว่ามีผลสัมฤทธิ์หรือความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ความขัดแย้งแตกแยกในประเทศลดน้อยลงหรือไม่ หรือผู้ถืออำนาจรัฐ และเครือข่ายเป็นผู้สร้างเงื่อนไขแห่งความขัดแย้งขึ้นมาใหม่เสียเอง ซึ่งที่สุดเชื่อว่าเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าที่อ้างเหตุผลยึดอำนาจเข้ามา แก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ประชาชนจะเป็นคนให้คำตอบผ่านการเลือกตั้งครั้งต่อไปแน่นอน” นายอนุสรณ์กล่าว

ปชป.อัดกลับ”ทักษิณ”

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายทักษิณกล่าวบรรยายในประเทศสหรัฐ ถึงการศึกษา กระบวนการยุติธรรมของไทยว่า ตนขอชี้แจงว่าการพูดในลักษณะที่ว่าประเทศไทยไม่มีอะไรดี ขอตอบโต้ว่าประเทศไทยมีคนไทยที่ดีและประเทศที่ดี

ส่วนที่บอกว่าจะมีการแก้ประวัติศาสตร์ว่านายทักษิณไม่เคยเป็นนายกฯ คงไม่มีใครไปแก้ได้ แต่ควรเพิ่มว่ามีนายกฯ หรือนักการเมืองคนใดทุจริต และทำลายประเทศ เพื่อไม่ให้คนรุ่นหลังประพฤติตัวเช่นนั้น

ขณะเดียวกันขอยืนยันว่าอำนาจตุลาการและกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเป็นไปตามหลักนิติธรรม ไม่มีการกลั่นแกล้งพวกของนายทักษิณ เพราะเมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของอัยการก็เป็นไปตามบทบัญญัติ ไม่มีใครสามารถวิ่งเต้นเพื่อเปลี่ยนผลของคดีได้ นายทักษิณอย่าห่วงกระบวนการยุติธรรมของไทย เนื่องจากอำนาจตุลาการเป็นสิ่งที่เชื่อถือได้มากที่สุดแม้สถานการณ์ประเทศอยู่ในภาวะไม่ปกติ และกระบวนการยุติธรรมรอนายทักษิณอยู่

นอกจากนี้ที่นายทักษิณระบุว่าใช้หัวหน้ายามเป็นซีอีโอบริหารประเทศนั้น เหมือนกับการว่านายกฯ และตนเองมองทุกอาชีพมีความสำคัญ การที่นายทักษิณกล่าวเช่นนี้สะท้อนว่านายทักษิณมองการบริหารประเทศแบบบริษัท หวังผลทางการเมือง ซึ่งเชื่อว่าประชาชนสามารถคิดเองได้

บี้สอบคนเอี่ยวทุจริตข้าว

นายราเมศยังกล่าวถึงการพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าว ว่า ตนขอเรียกร้องให้มีการไต่สวนและดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทุกคนทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะไม่มีการระงับยับยั้งความเสียหาย คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ที่มี รมว.พาณิชย์เป็นประธาน หากผู้ใดไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริตต้องกันไว้ เพื่อเป็นพยาน ส่วนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตทุกคนต้องถูกดำเนินคดีโดยไม่ได้รับการยกเว้น

นอกจากนี้กรณีความปลอดภัยขององค์กรต่างๆ ที่กำลังดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอัยการตุลาการศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คสช. และรัฐบาล ควรศึกษา ข้อเท็จจริงที่ผ่านมาว่ากลุ่มคนบางกลุ่มจะมีการข่มขู่ คุกคาม กดดันองค์กรต่างๆ ที่จะมาพิจารณาตัดสิน แล้วก็ประสบผลสำเร็จ ดังนั้น ขณะนี้รัฐบาลควรไปดูเรื่องความปลอดภัย ให้กับองค์กรต่างๆ ให้อุ่นใจว่ามีหน่วยงานต่างๆ คอยดูแลช่วยเหลือในเรื่องความปลอดภัยว่าเขาไม่ได้ต่อสู้อย่างลำพัง

ป.ป.ท.จ่อตั้งอนุกก.ไต่สวน

นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐบาล (ป.ป.ท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวอีก 80% กว่า 853 คดีว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาเบื้องต้นเพื่อสรุปเรื่องเป็นรายคดี ก่อนเสนอให้คณะกรรมการป.ป.ท.พิจารณาตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งป.ป.ท.มีอำนาจในการตั้งอนุกรรมการไต่สวน และเมื่อตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้วจะเป็นหน้าที่ของอนุกรรมการไต่สวนที่จะรวบรวมเอกสาร หลักฐานเพื่อสรุปข้อมูล ซึ่งจะต้องพิจารณาทั้งผู้กล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหา และพฤติการณ์อย่างรอบคอบก่อนส่งฟ้องศาล

ขณะนี้ป.ป.ท.ได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้แล้ว จากนั้นจะทยอยเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ท. คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะสามารถเสนอตั้งอนุกรรมการไต่สวนได้หลายคดี และมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการส่งฟ้องให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนได้
เอกซเรย์ตามโกดัง

นายประยงค์กล่าวว่า ด้วยความที่การเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวอีก 80% มีกว่า 853 คดี ป.ป.ท.จึงกังวลจะเกิดความล่าช้าในการดำเนินการส่งฟ้อง จึงเห็นว่าแม้จะไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ แต่จะอำนวยความสะดวกด้านธุรการให้ได้มากที่สุด เพื่อให้การทำคดีดำเนินการได้ทันตามกรอบเวลาที่ตั้งไว้ กรณีดังกล่าวจะมี 1 อนุกรรมการต่อ 1 คดี เมื่อมี 853 คดีจึงมี 853 อนุกรรมการ แต่เนื่องจากป.ป.ท.มีคนน้อย ดังนั้น คนหนึ่งคนอาจจะเป็นหลายอนุกรรมการเพื่อให้ทั่วถึง

ทั้งนี้ การตั้งอนุกรรมการไต่สวนจะพิจารณาตามโกดังข้าวที่มีอยู่ เช่น 1 อนุกรรม การต่อหนึ่งโกดังข้าว ในโครงการรับจำนำข้าวมีการเช่าคลังสินค้าหรือโกดังจำนวนมาก คดีจึงมากตามมา และต้องเรียนว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นต้นเรื่องมีอยู่ว่าองค์การคลังสินค้า (อคส.) กับองค์การตลาด ร้องโทษกล่าวทุกข์กับกองปราบปราม ว่ามีการกระทำความผิด ก่อให้เกิดความเสียหาย โดยพนักงานสอบสวนตรวจสอบแล้วพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงส่งเรื่องมาที่ป.ป.ท. ซึ่งโครงการรับจำนำข้าวจะมีกรณีเช่น ข้าวหาย ข้าวไม่มีคุณภาพ เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน