พปชร.ไม่จบ! แค่ลดกระแส เบรกขย่ม “อุตตม-สนธิรัตน์” หลังไปไม่ถึงฝั่งฝัน ไม่ตรงตามเป้า เล็งก่อคลื่นใต้น้ำรอบใหม่ รอ โควิด-19 สงบ เดินเกมรุกต่อเปิดหน้าสู้เต็มตัว

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. แหล่งข่าวระดับสูงในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึง ความเคลื่อนไหวของส.ส.บางกลุ่มในพรรค ช่วง1-2วัน ที่ผ่านมา ที่เดินเกมกดดันให้มีการเปลี่ยนตำแหน่งนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ออกจากหัวหน้าพรรค และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ออกจากเลขาธิการพรรค

ด้วยการสะท้อนปัญหาการบริหารงานในพรรค การปฏิบัติกับ ส.ส.ของทั้งสองคนที่ไม่เข้าใจธรรมชาติของพรรคการเมือง รวมถึงพฤติกรรมที่ทำตัวห่างเหิน ส.ส. ทำให้แกนนำบางส่วนต้องการผลักดันให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรค เข้ามาคุมพรรคอย่างเป็นทางการด้วยการนั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรค และลงมาคุมเกมด้วยตัวเอง และให้โอกาสทั้ง 2 คนตัดสินใจ แต่ล่าสุดก็ยังไม่มีท่าทีตอบรับการลาออกจากตำแหน่งของทั้ง 2 คน

แหล่งข่าวฯ กล่าวต่อว่า เมื่อนายอุตตม มีท่าทีแข็งขืนไม่ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ก็ทำให้แกนนำ ส.ส.ที่ต้องการบีบให้เปลี่ยนหัวหน้าและเลขาธิการพรรค ต้องเคลื่อนไหว แผน 2 ต่อด้วยการล่ารายชื่อให้กรรมการบริหารพรรคบางส่วนลาออกให้ได้กึ่งหนึ่งคือ 18 คน จาก 34 คน เพื่อเปิดทางให้เลือกกรรมการบริหารชุดใหม่ได้ตามข้อบังคับพรรค ด้วยการโทรศัพท์ติดต่อเป็นรายบุคคล

แต่ล่าสุดปรากฏว่าการเจรจาไม่เป็นผลไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะมีกรรมการบริหารพรรคยื่นใบลาออกไม่ถึง 10 คน ซึ่งมีเพียงแค่กลุ่มของ พล.อ.ประวิตร เท่านั้น ที่แสดงความจำนงจะลาออก ส่วนกรรมการบริหารคนอื่นๆ อาทิ กลุ่มสามมิตรของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ แกนนำภาคเหนือ ไม่ร่วมด้วย จึงต้องพับแผนดังกล่าวไว้ก่อน เพราะไม่สามารถใช้ข้อกฎหมายมาบีบนายอุตตม ให้พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคได้

ส่วนการจะขอให้มีการเปิดประชุมใหญ่สามัญ พรรคพลังประชารัฐ ที่เลื่อนจากเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ก็ยังทำไม่ได้ เพราะยังติดเงื่อนไขของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในเรื่องของการมาชุมนุมรวมตัวกันห้ามไว้อยู่ และที่ผ่านมายังไม่เคยเปิดประชุมและมีวาระไล่หัวหน้าพรรคออกจากตำแหน่งด้วย

แหล่งข่าวระดับสูง กล่าวต่อว่า ส่วนความเคลื่อนไหวของแกนนำ ส.ส.บางกลุ่ม ที่ต้องการเปลี่ยนมือผู้บริหารและเรียกร้องทวงสัญญาเก้าอี้รัฐมนตรีภายในพรรค เนื่องจากจะครบสัญญา 1 ปีที่ให้ไว้ จนเกิดความวุ่นวายในพรรค ในขณะที่ยังมีปัญหาของประเทศให้รัฐบาลต้องแก้ไขทั้งเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ

และเรื่องสำคัญที่สุด ณ เวลานี้คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การเตรียมเปิดสภาฯพิจารณาเรื่องสำคัญต่างๆ อาทิ พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อใช้แก้ปัญหาในระยะต่อไป รวมถึงความเดือดร้อนของประชาชน จนพรรคพลังประชารัฐถูกวิจารณ์อย่างหนักและเกิดภาพลบในสายตาประชาชน

ทำให้ พล.อ.ประวิตร ต้องส่งสัญญาณไปถึง แกนนำ ส.ส.ที่ออกมาเคลื่อนไหว กดดันทั้งเปลี่ยนผู้บริหารพรรค และ ปรับ ครม.ว่า “จะไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไร ทุกอย่างจบแล้ว” เพื่อลดการเคลื่อนไหว โดยให้ผ่านช่วงเวลาที่รัฐบาลต้องแก้ปัญหาประเทศพ้นไปก่อน และเวลานี้ก็ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้

“การที่ พล.อ.ประวิตร ออกมาให้สัมภาษณ์ ว่าไม่มีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค หรือ เลขาธิการพรรค เพราะเมื่อถึงเวลาเช็กกำลังในคณะกรรมการบริหารพรรค ปรากฎว่าฝั่งกดดันให้ลาออกได้เสียงไม่เกิน 18 คนตามที่ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ต้นตามที่คนใกล้ชิดบอก

เมื่อเช็กเสียงแล้วแพ้ จึงต้องยุติปัญหาเกาเหลาในพรรคก่อน ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่เร่งแก้ปัญหาโควิด-19 ไม่พอใจกับข่าวที่ออกมา ที่มีข่าวการแย่งเก้าอี้ในพรรคและการปรับ ครม. ในภาวะเช่นนี้ถือว่าไม่เหมาะสมอย่างมากและไม่รู้จักเวลา

ดังนั้นฉากหน้าจึงต้องแสดงท่าทีว่าปัญหาต่างๆในพรรคยุติแล้ว และเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เชื่อว่าคลื่นใต้น้ำในพรรคพลังประชารัฐก็จะระอุขึ้นมาอีกครั้งและอาจจะแรงกว่าเดิม ระหว่างขั้วของ พล.อ.ประวิตร และ นายสมคิด อย่างแน่นอนในการชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค และตำแหน่งรัฐมนตรี ” แหล่งข่าวระดับสูง กล่าว


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน