ไพรมารี่ใต้ยุทธศาสตร์ :คอลัมน์ ใบตองแห้ง

ไพรมารี่โหวตโคตรก้าวหน้า เราเอามาจากอเมริกานะ พรรครีพับลิกัน พรรคเดโมแครต ให้สมาชิกโหวตเลือกผู้สมัครทุกระดับจนถึงผู้สมัครประธานาธิบดี ไม่มีนายทุนพรรคบงการ เป็นไปตามเจตจำนงของสมาชิก เช่นชาวรีพับลิกันเลือกโดนัลด์ ทรัมป์ ถล่มทลาย

ใช่ครับ แต่ถามกลับ อเมริกามีส.ว.แต่งตั้งร่วมเลือกประธานา ธิบดีไหม อเมริกามีรัฐประหารไหม อเมริกามียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไว้บังคับนักการเมืองที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาไหม

ก่อนที่จะไชโยโห่ร้องสรรเสริญ แบบนักวิชาเกินหรือผู้นำม็อบ โปรดถ่างเนตรดูบ้างว่า โครงสร้างทั้งระบบเป็นอย่างไร ไม่ใช่ระบบไทยๆ แต่เอาอวัยวะเทียมมาปลูกถ่าย ยี่ห้อฝรั่งก็ดี ยี่ห้อจีนก็น่าใช้ จับยัดกันเข้าไป แบบเลือกตั้งเยอรมนี ใช้ระบบสัดส่วน แต่ใช้บัตรใบเดียว ด่าพรรคการเมืองอยู่ใต้ทุน แต่ ไม่ยอมให้มีผู้สมัครอิสระ เป็นทางเลือก

ภายใต้โครงสร้างรัฐธรรมนูญ ที่พรรคการเมืองไม่มีความหมาย การเลือกตั้งไม่มีความหมาย ชนะท่วมท้นก็ไม่ได้อำนาจ ชนะท่วมท้นก็ไม่สามารถผลักดันนโยบาย (เผลอๆ ติดคุกถ้านโยบายขัดยุทธศาสตร์ชาติ) ท่านยังหวังให้ประชาชนมีส่วนร่วม เสียสละ เสียค่าสมาชิกปีละ 100 บาท สร้างพรรคการเมืองจากรากฐาน เสียค่ารถค่าราเสียเวลาทำมาหากินมาไพรมารี่โหวตทั้งที่รู้ว่าเลือกไป ก็ไลฟ์บอย

ปัดโธ่ เอาเข้าจริง แค่หาคนสมัครก็ยากเต็มที อย่าคิดว่ามีใครอยากแข่งขัน แค่อาสาเป็น“นักการเมือง”ก็ถูกตราหน้าว่าชั่วเลว ไม่มีธรรมาภิบาล ต้องถูกตรวจสอบทุกอย่าง ต้องตรวจภาษีย้อนหลัง 5 ปี ทั้งที่ไม่เคยเบิกโอทีจากราชการ หาเสียงครั้งนี้ก็ต้องอยู่ใต้ ม.44 ต้องเสี่ยงกับ กกต.ที่แค่ “เชื่อได้ว่า” ทุจริตก็ถูกตัดสิทธิถูกใบแดง

อ้อๆ แถมเข้าไปเป็นส.ส.ก็ต้องระวังพฤติกรรม อย่าโดดร่ม อย่าขาดประชุม จะผิดจริยธรรม อยากออกกฎหมายก็ต้องทำประชาพิจารณ์ อย่าอ้างว่าแค่ลงข่าววิทยุทีวี ลงเว็บไซต์ มีคน มาแสดงความเห็นในเว็บ 8-9 คนก็พอแล้ว เผลอๆ จะโดนถอดถอนฐานไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

ไพรมารี่โหวตจึงไม่มีความหมายอะไร ภายใต้โครงสร้างที่พรรคการเมืองและประชาชนไม่มีส่วนร่วมในอำนาจ ตรงกันข้ามกลับสร้างภาพลวงตา เอาสิ่งที่อ้างว่าดีมาสร้างพันธนาการพรรค การเมือง ยืดเวลาเลือกตั้ง กว่าจะจัดตั้งสาขา กว่าจะหาสมาชิก ฯลฯ ถามจริง ท่านคิดออกมาด้วยยุทธศาสตร์อะไร อย่างน้อยถ้า กรธ.ไม่เห็นด้วยก็ต้องตั้งกรรมาธิการร่วม ใช้เวลาอีก (ไม่นาน)

แล้วในขณะที่ร่างกฎหมายเพื่อไปสู่เลือกตั้งยังไปไม่ถึงไหน ร่างกฎหมายเพื่อกระชับอำนาจ “ชนชั้นนำภาครัฐ” อย่างพ.ร.บ. ยุทธศาสตร์ชาติ ก็ลุล่วงอย่างฉับไว

ใช่เลยครับ ประเทศต้องมียุทธศาสตร์ แต่นี่คือการออกกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติโดยรัฐบาล คสช. ผ่าน สนช.ที่ คสช.แต่งตั้ง (จากทหารและข้าราชการเป็นหลัก) ให้จัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มี 2 องค์ประกอบสำคัญ คือกรรมการโดยตำแหน่งที่มี 6 ผบ.เหล่าทัพเป็นเสาค้ำ กับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐบาล คสช.เลือก (คุณสมบัติสำคัญอายุไม่เกิน 75 ปี) เมื่อจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแล้วจะมีผลบังคับ รัฐบาลหลังเลือกตั้งถ้าไม่ทำตาม หรือฝ่าฝืน ก็จะถูกวุฒิสภา (ที่ คสช.แต่งตั้ง และ 6 ผบ.เหล่าทัพเป็นโดยตำแหน่ง) ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถ้าศาลชี้ว่าทำผิด ก็ส่งให้ป.ป.ช.ถอดถอนเอาผิด

มือซ้าย มือขวา มือหน้า มือหลัง วนไปวนมายังกะทศกัณฐ์ ล้วนแต่แต่งตั้งจากรัฐบาลหรือ คสช. ก็น่าสงสัยอย่างที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชี้ว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 3 เพราะไม่มีตรงไหนยึดโยงอำนาจประชาชน

ประเทศต้องมียุทธศาสตร์ แต่ไม่ใช่เขียนไว้บังคับกระทั่งคนร่างอายุ 95 ปี ไม่ใช่เขียนไว้เพื่อเอาผิด หากจะเปลี่ยนแปลงตามเจตจำนงประชาชน ไม่ใช่เขียนเพื่อตรึงประเทศไว้กับรัฐราชการ แบบที่ประชาชนโดนไม้พะยูงล้มทับบ้าน 3 เดือนยังตัดไม่ได้

ก็แบบเดียวกับไพรมารี่โหวต เหมือนจะเขียนเพื่อความก้าวหน้า แต่กลายเป็นอุปสรรค เป็นอวัยวะเทียมที่แปลกปลอม ไม่เข้าพวก

แต่เอาเถอะ โปรดสังเกตว่านอกจากพรรคการเมือง ก็ไม่ค่อยมีใครสนใจคัดค้านหรือวิพากษ์วิจารณ์ ท่าทีอย่างนี้ไม่ใช่คนเห็นด้วยหมด แต่คนส่วนหนึ่งอาจรู้สึกว่าเอาที่สบายใจเลย ไหนๆ ก็ไหนๆ ขอดูซิจะลงเอยอย่างไร คนอีกส่วนหนึ่งก็อาจรู้สึกอย่างนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ว่ากว่าจะเลือกตั้งก็อีกนาน ปลายปี ’61 อาจยังไม่ใช่ ยังเล่นลิเกดาบไม้เสียบรักแร้กันไปพลางๆ

ซึ่งถ้าใช้เวลานานขนาดนั้นยังไม่สามารถไปสู่เลือกตั้ง ที่ร่างๆ กันมาก็ไม่มีความหมายหรอก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน