“บิ๊กตู่”ไม่ตอบ ลงเลือกตั้ง บ่นอย่าเอาคำพูดนักการเมืองมาถาม บิ๊กป้อมปัดนั่งผจก.รัฐบาล ยันไม่มีพรรคทหาร นิพิฏฐ์ยันเลื่อนเลือกตั้งไม่ได้มโนเอง ซัดกลับปมสนช.ขัดกรธ.แค่”ลิเก2แม่น้ำ” สนช.โหวตผ่านร่างพ.ร.บ.กสม. ส่วนร่างกกต.ตั้ง 11 กมธ.ร่วมถกแล้ว วิษณุย้ำม.77 แค่ 19 ความเห็นผ่านเว็บถือว่ารับฟังแล้ว ส่งบทสรุปรับฟัง 17 ประเด็นแก้บัตรทองแล้ว

ตู่ชี้เก้าอี้นายกฯต้องนั่งไม่สบาย

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เยี่ยมชมศูนย์ทีซีดีซีซึ่งย้ายมาอยู่ที่อาคารไปรษณีย์กลาง ถ.เจริญกรุง เขตบางรัก โดยพล.อ.ประยุทธ์ได้ทดลองนั่ง “เก้าอี้นั่งไม่สบาย” ซึ่งออกแบบเพื่อพล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากมาบริหารประเทศโดยการรัฐประหาร ส่งผลให้ต้องนั่งทำงานโดยไม่สบายมากนัก

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เก้าอี้นั่งไม่สบายจริงๆ เหมือนกับประชาธิปไตยไทยที่มีอุปสรรค เก้าอี้นายกฯ นั่งไม่ต้องสบาย ซึ่งถูกต้อง ไม่อย่างนั้นอยากเป็นกันนัก ตนเองยังไม่นั่งเก้าอี้นายกฯ ที่เตรียมไว้ ซื้อเก้าอี้ตัวเล็กๆ มานั่งสบายกว่า เพราะถ้านั่งสบายก็ขี้เกียจ ฉะนั้นต้องให้ไม่สบาย คิดเยอะๆ คิดทุกวัน กลางคืนก็คิด ตื่นมาก็คิดเพราะปัญหามันยังไม่จบ ปัญหามีมากมายที่เกิดจากความคิดที่แตกต่างความขัดแย้งก็สูง ใครเป็นนายกฯ ก็ทำให้พอใจไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ขอเพียงความร่วมมือ ความเข้าใจ แล้ววันหน้าอยากให้ใครทำอย่างที่ต้องการ แต่ไม่ใช้วิธีการแบบที่ผ่านๆ มา ซึ่งวันนี้หลายๆ อย่างก็ดีขึ้น

ปัดตอบ”ปู”ชงลงเลือกตั้ง

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เรียกร้องให้ลงเลือกตั้งว่า ไม่ขอตอบคำถาม ไม่ใช่เวลา ตอบไปก็มีปัญหา อย่าเอาสิ่งที่นักการเมืองพูดมาถามตน ควรถามว่าจะทำอย่างไรกับระบบการเลือกตั้งแบบไพรมารี่โหวต

เมื่อถามว่าจะมีความชัดเจนที่พล.อ. ประยุทธ์จะลงเลือกตั้งหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่มี ให้นักการเมืองตอบด้วยตัวเขาเอง ส่วนยุทธศาสตร์ถ้าเขาไม่ทำตามก็ช่วย ไม่ได้ เพราะตนคงไม่แก้อะไรเพื่อให้นักการเมืองมาเห็นด้วย เนื่องจากได้ผ่านกลไกต่างๆ มาแล้ว ตนเองก็เป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติถามว่ามีอะไรหรือไม่ เมื่อสื่อได้อ่านยุทธศาสตร์แล้วได้บอกนักการเมืองหรือไม่ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้อย่างไร ถ้าเขาไม่เชื่อก็เอายุทธศาสตร์ 6 ข้อไปให้เขาดู แล้วถามว่ามีความเข้าใจหรือไม่ ถ้าเข้าใจก็ไม่มีข้อขัดแย้ง แต่เขากลัวว่าจะทำอะไรนอกกรอบนี้ไม่ได้โดยอ้างว่าประชาชนต้องการ หรือต้องการให้ประเทศกลับไปเป็นเหมือนเดิม เพราะถ้าประเทศกลับไปมีปัญหาคนไทยทั้งประเทศก็จะลำบากเดือดร้อน

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีเพจเฟซบุ๊กชื่อ “เปรี้ยง” เสนอข่าวที่สนับสนุนงานของรัฐบาลจนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเป็นทีมงานของรัฐบาลจัดตั้งเพจดังกล่าวขึ้นมา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่รู้จัก แต่อาจจะมีคนหวังดีกับรัฐบาล เลยสร้างเพจขึ้นมา

ป้อมยันไม่มีพรรคทหาร

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวกรณีความเห็นแย้งเรื่องร่างพ.ร.บ.พรรคการเมือง เกี่ยวกับไพรมารี่โหวต จะส่งผลต่อการเลือกตั้ง ว่า ยืนยันว่ายึดตามโรดแม็ป ส่วนเรื่องไพรมารี่โหวตก็ว่ากันไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการถกเถียงของ กรธ. และส่วนที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ได้ความชัดเจน คงต้องรอดูว่าจะดำเนินการอย่างไรให้ชัดเจน ตนยืนยันว่าการเลือกตั้งยังเหมือนเดินไม่เลื่อน

เมื่อถามถึงกรณีกลุ่มการเมืองเรียกร้องให้ คสช.ลงเลือกตั้ง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ตนไม่มีความคิดเห็นขอให้ติดตามกันต่อไป ขณะเดียวกันกรณี สปท.ลาออกมาลงเล่นการเมืองนั้น เขามีพรรคการเมืองของตัวเองอยู่แล้ว จะไปอยู่กับใคร สังกัดพรรคไหนก็เรื่องของเขา แต่จะไม่สังกัดพรรคทหารเพราะพรรคทหารไม่มีอยู่แล้ว ในส่วนตัวของตนไม่เล่นการเมืองแน่นอน สื่อก็ถามหลายครั้ง

อู้อี้ประยุทธ์อาจลงเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสวิจารณ์จะนั่งเป็นผู้จัดการรัฐบาล พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า พูดกันไปเอง ใครจะไปนั่งเป็นผู้จัดการ มาถามแบบนี้ได้อย่างไร หากมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งขอยืนยันว่า คสช.ก็หมดอำนาจไป

พล.อ.ประวิตรยังกล่าวถึงกรณีพรรค การเมืองเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ลงเลือกตั้ง ว่า นายกฯบอกอยู่แล้วว่าไม่เล่นการเมือง และที่ระบุว่านายกฯ พูดไม่ชัดเชนนั้นอยากให้ไปฟังอีกครั้ง ซึ่งในอนาคตหากสถานการณ์เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งนายกฯ อาจต้องลงก็ได้ เราก็ไม่รู้ ถือเป็นเรื่องส่วนตัวนายกฯ ไม่ขอออกความคิดเห็น จะเป็นอย่างไรนายกฯ รู้ตัวดี

พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงความคืบหน้าการส่งร่างสัญญาประชาคมให้คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) ชุดใหญ่ ว่า ยังไม่ได้ส่งร่างสัญญาประชาคมให้พล.อ.ประยุทธ์ เพราะต้องนำไปเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบในเวทีสาธารณะใน 4 กองทัพภาคก่อน จากนั้นค่อยนำส่งนายกฯ เชื่อว่าประชาชนจะให้ความร่วมมือและเห็นด้วยกับการสร้างความปรองดอง พร้อมทั้งคาดว่าร่างสัญญาประชาคมฉบับสมบูรณ์สามารถประกาศได้ช่วงก.ค.นี้

ยันไม่เกี่ยวคดี”พัชรวาท”

พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงกรณีศาลอาญานัดเเถลงคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ว่า เป็นเรื่องของพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ไม่ใช่เรื่องของตน จะมาถามตนทำไม มาถามไม่ได้เพราะตนไม่รู้เรื่อง แม้จะเป็นพี่ชายแต่ก็เป็นคนละคนกัน และตนไม่ได้เป็นคนไปสั่งโน้นสั่งนี้

เมื่อถามว่าได้เจอพล.ต.อ.พัชรวาทบ้างหรือไม่ และได้มีการพูดคุยปรับทุกข์กันหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มี เพราะแก่แล้วไม่มีเรื่องปรับทุกข์ ส่วนเรื่องคดีความก็เป็นเรื่องของพล.ต.อ.พัชรวาท เขาทำงานมาเขาคงจะรู้ว่าควรจะทำอย่างไรและทำได้แค่ไหน

พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์การสร้างหอชมเมืองว่า เรื่องนี้ภาคประชาชนเป็นคนสนับสนุนด้านการเงิน ไม่ได้มีการประมูล เพราะทำเพื่อประชาชนโดยตรง และมีประชาชนออกมาเสนอราคาเอง ส่วนที่มีความเป็นห่วงว่าจะเกี่ยวข้องกับภาคเอกชนที่เป็นกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ มีความเกี่ยวข้องกับ คสช.นั้นไม่เกี่ยวกัน ไม่มีใครเกี่ยวข้องเพราะทุกคนรู้จักกัน

กปปส.หนุนตู่กรุยทางนั่งนายกต่อ

วันเดียวกัน นายอิสสระ สมชัย อดีตเเกนนำกปปส. และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวกรณีมีกระแสข่าวเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งพรรคการเมือง ว่า ถ้าจะเป็นประชาธิปไตยเต็มตัว นายกฯต้องลงเลือกตั้ง เป็นนายกฯอย่างสง่างาม แต่ไม่รู้ว่านายกฯคิดแบบไหน ถ้าจะลงเลือกตั้งจริงๆ ก็ถือว่าเป็นนักการเมืองเต็มตัวแล้ว แต่ประชาชนจะนิยมเหมือนเป็นหัวหน้าคสช.หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อง ลึกๆ แล้วนายกฯคงไม่อยากอยู่ต่อแต่สถานการณ์วันนี้มีปัจจัยให้กลับมา โดยมีวิธีการทั้งตั้งพรรคเพื่อเลือกตั้ง หรือเป็นนายกฯที่มาจากคนนอกก็ได้ ถ้ามาแบบคนนอกก็ต้องทำให้ได้อย่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ต้องเด็ดขาดจัดการปัญหาให้ได้ ถ้าคนใกล้ตัวมีข่าวไม่ดีในทางทุจริตจะเอาออกไม่เอาไว้ แต่ทุกวันนี้คนรอบข้างนายกฯท่านก็เกินไป จะบอกว่านายกฯเองไม่รู้ก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องจัดการให้เด็ดขาด

นายอิสสระกล่าวว่า แม้วันนี้ประชาชนจะชอบนายกฯมากเพียงไร แต่ถ้าเรื่องปากท้องยังแก้ไม่ได้ประชาชนก็จะทนไม่ได้ ทั้งข้าว ปาล์ม ยาง มันสำปะหลัง ราคาตกต่ำ นายกฯไม่ใช้อำนาจเด็ดขาดมาแก้ปัญหา แต่กลับไปใช้มาตรา 44 ไปสร้างทางรถไฟ แม้จะมีผลประโยชน์ระยะยาว แต่ไม่ถึงปากท้องประชาชนในวันนี้ ทำไมถึงไม่ใช้มาตรา44 แก้ปัญหาปากท้องประชาชนบ้าง อย่ารอให้ประชาชนมองว่า ถูกรัฐทอดทิ้ง จึงขอให้นายกฯอย่าใช้มาตรา44 ในเรื่องที่ประชาชนไม่ได้อะไรเลย อย่าเปิดทางให้นายทุนใหญ่ใช้ความใกล้ชิดกับรัฐบาลมารังแกประชาชน เพราะวันนี้ประชาชนถึงจุดที่ทนต่อไปไม่ได้แล้ว มีอีกเรื่องที่นายกฯควรใช้มาตรา44 จัดการคือการปฏิรูปตำรวจ โดยเฉพาะเรื่องการซื้อขายตำแหน่งแลกเก้าอี้ ตนหวังดีกับรัฐบาลจึงออกมาให้ข้อมูล

นิพิฏฐ์ซัดกลับ”ลิเก 2 แม่น้ำ”

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า กรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุว่าตนคิดมากเรื่องการเลื่อนเลือกตั้งและผิดที่ออกมาพูดจนทำให้ตื่นตระหนกนั้น ยืนยันว่าพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันที่กำลังมีการออกกฎหมายลูกในหมวดการเลือกตั้ง 4 ฉบับ และตนมีเหตุผลรองรับที่วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองและตอบคำถามสื่อมวลชนที่ถามมาเช่นนั้นคือ 1.ตลอดกว่า 3 ปีที่ผ่านมา สนช.ออกกฎหมายเป็นร้อยฉบับ โดยไม่มีความเห็นขัดแย้ง หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรกับร่างของรัฐบาล หรือของกรธ. แม้แต่ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่เป็นกฎหมายการเงินสำคัญ ที่ต้องปรับลดตามความจำเป็น แต่ สนช.สามารถพิจารณาเสร็จสิ้นใน 1 วัน

“จึงเป็นที่น่าแปลกใจที่อยู่ๆ สนช.กล้าโต้แย้ง หรือเห็นต่างกับ กรธ.ในกฎหมายพรรคการเมืองจนต้องมีการตั้งคณะกรรมา ธิการร่วม 3 ฝ่าย ตนจึงยืนยันว่ากรณีนี้เป็นการแบ่งหน้าที่กันเล่นตามบทบาทที่ถูกกำกับมาแล้วเหมือนเล่นลิเกของ 2 แม่น้ำ ในแม่น้ำ 5 สาย” นายนิพิฏฐ์กล่าว

ยันเลื่อนเลือกตั้งไม่ได้มโนเอง

นายนิพิฏฐ์กล่าวต่อว่า 2.การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะหากย้อนไปดูช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ทุกฝ่ายต่างสนับสนุนทั้งรัฐบาล และคสช. แต่ชั่วเวลาแค่คืนเดียวร่างรัฐธรรมนูญก็ถูกคว่ำจน สปช.ต้องถูกยุบ และตั้ง สปท.มาแทน ถึงขนาดนายบวรศักดิ์ยังช็อกและพูดออกมาเองว่า ถูกหลอกใช้ ฉะนั้นกรณีนี้หลายฝ่ายที่ออกมาตอบโต้ตน อย่าใช้อารมณ์จนไร้เหตุผล แต่ ขอให้ดูข้อเท็จจริงและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตนไม่ตอบโต้อะไรขอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์เองว่าจะมีการเลื่อนเลือกตั้งออกไปอีกหรือไม่ หรือจะมีการอ้างเหตุผลอะไรก็แล้วแต่

“ถ้าจะมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก ส่วนตัวผมไม่มีปัญหาอะไรกับท่านทั้งหลาย เพียงแต่อยากบอกให้รู้ว่าอย่างน้อยก็มีคนในสังคมที่รู้เท่าทันเกมพวกคุณเหมือนกัน และที่พูดก็อยากให้สังคมรับรู้เพื่อดักทาง เผื่อบางทีอาจทำให้คนที่คิดจะเลื่อนเลือกตั้งรู้สึกกระดากตัวเองบ้างว่ามีคนรู้ทันเขาเหมือนกัน ส่วนใครที่ว่าผมมโนก็ขอให้ดูเหตุผล 2 ข้อแล้วทบทวนถึงปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเองว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ซึ่งผมยังยืนยันว่ามีความเป็นไปได้” นายนิพิฏฐ์กล่าว

สนช.โหวตผ่านร่างพรบ.กสม.

ที่รัฐสภา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ กรธ.เสนอ โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ชี้แจงว่า กสม.มีเหตุจำเป็นแตกต่างกับองค์กรอิสระอื่น ถูกลดเกรด เหตุผลสำคัญคือกระบวนการสรรหาไม่เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม กรรมการชุดนี้มาจากกฎหมายเดิมไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามเกณฑ์ จึงให้ต้องทำการสรรหาใหม่ทั้งหมด ยึดตามหลักการปารีส เดิมตามรัฐธรรมนูญ 2550 กสม.เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 กสม.คือองค์กรอิสระ กรธ.จึงมองว่าอดีตกรรมการไม่สามารถเข้ารับการสรรหาอีกได้ นายมีชัยกล่าวต่อว่า ส่วนข้อเรียกร้องให้มีมาตรการคุ้มกันเจ้าหน้าที่กสม. ตามหลักขององค์กรระหว่างประเทศ กรธ.มองว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำหน้าที่โดยสุจริต ย่อมได้รับการคุ้มกันอยู่แล้ว แต่หากสนช.จะเติมเรื่องนี้ให้ชัดเจน กรธ.ไม่ขัดข้องและสนับสนุน ขณะที่การเดิมทางศึกษาดูงานเราให้สำนักงานกสม.ดำเนินการได้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือ แต่ห้ามกรรมการรับประโยชน์อื่นใด

ต่อมาที่ประชุมสนช.มีมติ 190 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 เห็นชอบรับหลักการร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยกสม. วาระแรก เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา 24 คน แบ่งเป็น สนช. 18 คน ครม. 4 คน และกรธ. 2 คน กำหนดเวลาพิจารณา 45 วัน และแปรญัตติ 7 วัน

ตั้ง 11 กมธ.สางปมกฎหมายกกต.

จากนั้นนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานการประชุม แจ้งการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา (กมธ.) ร่วมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามมาตรา 267 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีกรอบเวลาพิจารณา 15 วัน เริ่มประชุมวันที่ 4 ก.ค. จำนวน 11 คน แบ่งเป็นจากสนช. 5 คนคือ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ นายตวง อันทะไชย นายศุภวุฒิ อุตมะ นายสมชาย แสวงการ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย จากกรธ. 5 คนคือ 1.นายมีชัย ฤชุพันธุ์ 2.นายประพันธ์ นัยโกวิท 3.นาย ศุภชัย ยาวะประภาษ 4.นายภัทระ คำพิทักษ์ และ 5.นายปกรณ์ นิลประพันธ์ และจากกกต. 1 คน คือ นานศุภชัย สมเจริญ

วันเดียวกัน นายกล้านรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมาธิการการเมือง สนช. แถลงว่า คณะกมธ.ได้กำหนดจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ต่อการพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ…. ที่รัฐสภา วันที่ 5 ก.ค.นี้ ระหว่างเวลา 08.30-15.00 น. การจัดสัมมนาต้องการรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องประมาณ 200 คน ทั้งจากสมาชิกสนช. สปท. กรธ. ตลอดจนศาล อัยการ กระทรวงที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นักวิชาการและสื่อมวลชน ว่าจะมีข้อเสนอแนะ หรือข้อสังเกตต่อร่างกฎหมายอย่างไร

วิษณุแจงปมม.77ให้ฟังประชาชน

ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวบรรยายพิเศษ หัวข้อ “ทิศทางของการดำเนินการตามมาตรา 77” ในการฝึกอบรมหลักสูตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่นักกฎหมายกฤษฎีกา รุ่นที่ 1 ตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มี 279 มาตรา 16 หมวด มีความสำคัญแตกต่างกันแต่ที่พูดถึงและเกิดความสับสนมากคือมาตรา 77 ซึ่งมีความสำคัญ 3 วรรค คือ นโยบายทั่วไป ที่กล่าวไว้ 3 เงื่อนไข ให้รัฐพึงออกกฎหมายเท่าที่จำเป็น เวลาออกกฎหมายต้องถามความจำเป็น และรัฐพึงปฏิรูปกฎหมายให้เหมาะสมทันสมัย สอดคล้องสภาพการณ์ปัจจุบัน การทำกฎหมายรัฐต้องเปิดทางให้ประชาชนเข้าถึงและเข้าใจกฎหมาย เช่น ภาษาง่าย เผยแพร่ผ่านโซเชี่ยลมีเดีย ซึ่งนายกฯกำชับเข้มงวดเรื่องนี้มาก

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนวรรคสองนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการออกกฎหมาย แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ 1.ก่อนตรากฎหมาย ต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง บางกฎหมายรับฟังก่อนวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ บางเรื่องพิจารณา 4 เม.ย.ที่ผ่านมาเพื่อให้ทัน แต่มีบางคนบอกผิดมาตรา 77 ทุกคนก็ไปคิดเอาเองว่าผิดหรือไม่ ที่ผ่านมาเราชินกับประชาพิจารณ์กับประชามติซึ่งมาตรา 77 ไม่ได้สั่งให้ทำทั้ง 2 อย่างแต่บอกให้รับฟังความเห็นเท่านั้น แล้วแต่ความสำคัญของกฎหมาย เพราะกฎหมายบางฉบับรับฟังเพียงความคิดเห็นของรัฐก็ทำได้แล้ว เช่นกฎหมายเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็ต้องรับฟังความเห็นของกรมธนารักษ์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ชี้ 19 ความเห็นผ่านเว็บคือฟังแล้ว

นายวิษณุกล่าวว่า รูปแบบการรับฟังความเห็นจึงมีตั้งแต่การเชิญคนมาประชุม กรอกแบบสอบถาม เว็บไซต์ เช่น กฎหมายยุทธศาสตร์ที่คนมาอ่าน 3,000 ราย แสดงความเห็น 19 ราย เมื่อขึ้นเว็บไซต์ไม่สามารถบังคับจำนวนคนดูได้ เราจึงต้องมีเว็บไซต์กลาง รัฐบาลจึงร่วมมือการสำนักงานอิเล็กทรอนิคส์ (อีจีเอ) ให้สร้างระบบเว็บไซต์กลางขึ้นมาแล้วนำกฎหมายของทุกกระทรวงไปขึ้นเว็บไซต์กลาง และยังคงขึ้นในเว็บไซต์กระทรวงด้วย ทำให้ประชาชนรู้ว่ามีกฎหมายกระทรวงอะไรบ้าง รวมถึงสามารถเข้าไปแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิ ติเตียนได้ ซึ่งถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นแล้ว

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนวรรคสามนโยบายเนื้อหาสาระกฎหมายคือสิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้วและให้ความสำคัญและเป็นห่วงกับ 5 เรื่อง คือ 1.การใช้รับกรรมการซึ่งไม่ได้ห้าม แต่ต้องใช้เท่าที่จำเป็นเพราะแง่ดีคือรอบคอบ แง่เสียคือไม่เกิดความรับผิดชอบมัวแต่ทะเลาะ รวมถึงหาผู้รับผิดชอบยาก 2.ระบบอนุญาตเปลี่ยนไปใช้การจดแจ้งจะดีกว่า เพราะการต่อใบอนุญาตอาจเปิดช่องให้ทุจริตได้ จึงขอให้ระบบอนุญาตเท่าที่จำเป็น 3.หลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจ 4.ระยะเวลา และ 5.การกำหนดโทษทางอาญา

ไต่สวนสลายม็อบปี”51นัดสุดท้าย

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลนัดไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้ายในคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 คดีนี้ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีต นายกฯ, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรอง นายกฯ, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผบช.น. เป็นจำเลยที่ 1-4 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 คดีนี้ องค์คณะผู้พิพากษาของศาลประทับรับฟ้องคดี ตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. 2559 เริ่มไต่สวนพยานนัดแรกวันที่ 8 เม.ย. 2559

วันนี้ศาลนัดไต่พยานนัดสุดท้าย 5 ปาก จำเลยทุกคนเดินทางมาศาล ยกเว้น พล.อ.ชวลิตไม่ได้มาโดยให้เหตุผลว่าป่วย มีทนายความมารับฟังการไต่สวนแทน ขณะที่อดีตแกนนำ พธม. และแนวร่วมจำนวนหนึ่งเดินทางมาร่วมรับฟังการไต่สวนพยานด้วย ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด

อดีตนายกฯแถลงปิดคดี

หลังการไต่สวนพยาน นายสมชาย จำเลยที่ 1 ขอแถลงปิดคดีด้วยตนเอง โดยยื่นคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรและแถลงปิดคดีด้วยวาจาต่อศาล โดยย้ำว่า ไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดย มิชอบตามที่ถูกกล่าวหา และไม่เคยคิดร้ายหรือเลือกปฏิบัติ พร้อมปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และยืนยันว่าไม่มีคำสั่งใดที่ละเมิดต่อกฎหมายและสั่งให้สลายการชุม

นายสมชายยังเเถลงถึงเหตุการณ์ในวันที่ 6-7 ต.ค. 2551 ว่าได้เรียกประชุม ครม.เพื่อประเมินสถานการณ์ในการเตรียมแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามขั้นตอน เนื่องจากประธานรัฐสภาระบุว่าไม่สามารถเลื่อนวันหรือเปลี่ยนสถานที่แถลงนโยบายได้ เนื่องจากขัดข้อบังคับรัฐสภา ซึ่งหลังจากการเเถลงนโยบายต่อรัฐสภาเเละกำลังเดินทางออกจากสภามีกลุ่มผู้ชุมนุมมาปิดทางเข้าออกไว้ เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีหน้าที่ดูเเลรักษาความสงบเรียบร้อยได้เเจ้งว่า จะเจรจาเพื่อขอเปิดทางเเต่หากไม่เป็นผลอาจต้อใช้เเก๊สน้ำตาเพื่อเปิดทาง ซึ่งตนได้กล่าวห้ามใช้แก๊สน้ำตาเเละย้ำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาควบคุมสถานการณ์อย่างละมุนละม่อม เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย เเละเหตุการณ์ลุกลามบานปลาย เเละสุดท้ายเดินทางออกจากรัฐสภาโดยวิธีการปีนกำเเพงฝั่งพระที่นั่งวิมานเมฆเเละขออนุญาตใช้เฮลิคอปเตอร์มารับโดยที่ไม่ได้ฝ่าผู้ชุมนุมออกไป ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนั้นไม่ได้รับรายงาน เรื่องการใช้เเก๊สน้ำตา ปะทะกับผู้ชุมนุมเนื่องจากการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของตำรวจ

ศาลนัดพิพากษาวันที่ 2 ส.ค.

นายสมชาย ชี้แจงถึงเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค.ว่า ในช่วงเกิดสถานการณ์ตนเองก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์และไม่ได้สั่งการใดๆ ทั้งสิ้น และหลังแถลงนโยบายเสร็จได้เดินทางไป กองบัญชาการกองทัพไทย ที่ผ่านมาได้ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและรับราชการมาหลายปี เป็นทั้งตุลาการ ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ไม่เคยมุ่งร้ายต่อฝ่ายใด มีแต่ทำงานด้วยความประนีประนอม ซึ่งเกิดเหตุการณ์ ในฐานะนายกฯ ก็ต้องดูแลประชาชนทุกคนไม่คิดทำร้ายคนไทยด้วยกัน

หลังจากนายสมชายเเถลงปิดคดีด้วยวาจาเสร็จเเละส่งคำเเถลงปิดคดีด้วยลายลักษณ์อักษรเเล้ว ศาลนัดให้คู่ความทั้งสองฝ่ายส่งคำเเถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร ภายใน วันที่ 20 ก.ค. หากไม่ส่งคำเเถลงภายในวัน ดังกล่าวให้ถือไม่ติดใจเเละนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 2 ส.ค.นี้ เวลา 09.30 น. พร้อมกำชับจำเลยที่ 2 พล.อ.ชวลิต ให้มาฟังคำพิพากษาตามนัด ทั้งนี้การที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาเกิน 7 วัน เนื่องจากคดีมีพยานและเอกสารจำนวนมากที่ต้องพิจารณา

นายสมชายให้สัมภาษณ์หลังการไต่สวนว่า การต่อสู้ตามขั้นตอนปกติเพราะเชื่อมั่นว่าตนไม่ผิด ส่วนการสืบพยานดำเนินไปอย่างเรียบร้อย เพราะทีมกฎหมายทำงานเต็มที่ ท้ายสุดการวินิจฉัยเป็นอำนาจของศาล อย่างไรก็ตามยืนยันว่ากระบวนการดำเนินไปตามปกติ ไม่มีวิธีใดแตกต่างจากคดีอื่นเป็นพิเศษ ทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายตนแสดงความบริสุทธิ์ตามพยานหลักฐานและเชื่อมั่นในคำตัดสินของศาล

ตู่แจงผลงานแก้การบิน-ประมง

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอนหนึ่งถึงการแก้ปัญหาการบินพลเรือนตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ว่า ภายหลังการเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาของรัฐบาลและคสช.ปัจจุบันมี 6 สายการบินที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน และได้ใบรับรองแล้ว ครอบคลุมเส้นทางการบินระหว่างประเทศรวมกัน ราวร้อยละ 80 จากเส้นทางการบินระหว่างประเทศของสายการบินสัญชาติไทยทั้งหมด ภายในก.ย.ปีนี้ คาด จะได้ใบรับรองเพิ่มเป็น 12 สายการบิน ส่วนที่เหลือก็จะตรวจสอบมาตรฐานให้แล้วเสร็จ ภายในม.ค.ปีหน้า ตรงนี้จะเป็นข้อพิจารณาสำคัญที่จะขอปลดล็อกธงแดง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ รัฐบาลนี้ยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ เฉพาะในส่วนของการประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU) ที่เชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์และแรงงานทาส หากไม่ดำเนินการแก้ไขอาจถูกกีดกันสินค้าประมงมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ต่อปี เมื่อรัฐบาลและคสช.เข้ามา ได้จัดการกับปัญหาอย่างครบวงจร ส่งผลให้รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ของประเทศไทย มีผลการจัดอันดับดีขึ้นในปีที่ผ่านมาและคงอยู่ในระดับเดิมในปีนี้ ซึ่งมีผลการดำเนินการคืบหน้ามาโดยลำดับ

“ในการร่วมกันแก้ปัญหาเรื้อรังของประเทศนี้ให้ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล เราต้องช่วยกันขจัดวงจรค้ามนุษย์ออกจากบ้านเมืองของเราให้ได้ รัฐบาลจะเข้มงวด ลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้อง ติดตามคดีทุกคดี โดยผู้ไม่สามารถทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ หากมีการเรียกรับผลประโยชน์ด้วยจะต้องมีการปรับย้าย สอบสวนในทันที เมื่อพบว่ามีการกระทำผิดจริงก็ต้องมีโทษทั้งทางอาญาและทางวินัย ไล่ออก ปลดออก ขอเตือนไว้ก่อน จากนี้เราต้องจริงจังในเรื่องที่ยังเป็นข้อสังเกตทุกเรื่อง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน